ส่อง ‘เกจิเกมการเมือง’

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งว่าไปไม่เลยทีเดียวที่ทั้งสถาปนาตัวเอง และถูกสถาปนาให้เป็น “นักวิเคราะห์การเมือง”

บางคนเป็นนักวิชาการ บางคนเป็นสื่อมวลชน บางคนเป็นนักการเมือง หลายคนไม่ได้เป็นอะไรมาก่อน เพียงแต่ถือโอกาสนี้ขยับบทบาทจากคนทั่วไปมาเป็นนักวิเคราะห์

วิธีการทำงานของคนกลุ่มนี้มีหลากหลาย เริ่มจากใช้ประสบการณ์ความรู้เดิมๆ มาเป็นฐานทางความคิด หรือค้นหาข้อมูลจากฐานต่างๆ ที่ปัจจุบันหาได้ไม่ยากนักในโลกออนไลน์ ใส่ความคิดแล้วประเมินแนวโน้มออกมา

หรือมีไม่น้อยที่เอาความคิด เอาความเชื่อของตัวเองเป็นตัวตั้งแล้วทุบโต๊ะเปรี้ยงปร้างว่า “ผลการเลือกตั้งจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

ที่ระมัดระวังเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของตัวเองในระยะยาวไว้หน่อยคือคนที่เงี่ยหูฟังคนอื่น ประเมินจากผลสำรวจของสำนักโพลต่าง ระมัดระวังไม่ยืนยันในผลหนักแน่นอะไรนัก เพียงชี้ให้เห็นแนวโน้มตามแหล่งที่มาของข้อมูล

แล้วแต่ว่าใครจะกล้าหาญในการขายความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การเมืองของตัวเองแค่ไหน

 

ที่น่าสนใจอยู่ที่ หลังการเลือกตั้ง “ผลออกมาพลิกความคาดหมายดังกล่าวถล่มทลาย” แทบจะเรียกได้ว่า “นักวิเคราะห์” แบบทุกสายถอยตั้งหลักกันแบบไม่ทัน

โดยฉพาะพวกที่ทุบโต๊ะ คิดเอาเอง โชว์ความเก๋าในฐานะผู้คร่ำหวอดมายาวนาน ระดับกล้าพอที่จะหัวเราะเยาะข้อมูลที่ใครไม่เห็นพ้องกับที่ตัวเองคิด

หากย้อนไปดูที่เคยพูด เคยฟันธงไว้ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องละอาย ว่าตัวเองไม่ได้มีความเข้าใจความคิดความอ่านของผู้คนในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเลย

ทว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น คนเหล่านี้ยังลอยหน้าลอยตาบอกว่า โดยแค่อ้างว่า “ไม่เป็นไปตามคาด” หรือ “หักปากกาเซียน”

ในความหมายแบบ “มีเงื่อนไขให้ไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น” หรือพวกเขา “ยังเป็นเซียนอยู่” เพียงครั้งนี้ถูกหักปากกาเท่านั้น

ทำนอง “ประชาชนไม่น่าจะตัดสินใจอย่างนั้น”

 

ตรงนี้น่าคิด เพราะเมื่อ “นิด้าโพล” ไปทำสำรวจหลังการเลือกตั้งเรื่อง “ประชาชนพอใจกับผลการเลือกตั้งหรือไม่” โดยใช้ 3 คำถาม

หนึ่ง พอใจผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของท่านหรือไม่ ร้อยละ 59.08 พอใจมาก, ร้อยละ 26.87 ค่อนข้างพอใจ ที่ไม่ค่อยพอใจมีแค่ร้อยละ 8.86 และร้อยละ 5.19 ไม่พอใจเลย

สอง พอใจกับผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในภาพรวมของประเทศหรือไม่ ร้อยละ 59.39 พอใจมาก, ร้อยละ 30.07 ค่อนข้างพอใจ, ร้อยละ 8.86 ไม่ค่อยพอใจ, ร้อยละ 5.19 ไม่พอใจเลย

สาม หากวันนี้ให้ไปลงคะแนนใหม่อีกครั้ง ท่าจะทำอย่างไร ร้อยละ 86.49 บอกเลือกเหมือนเดิมทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแค่ร้อยละ 6.03 จะเลือกใหม่ทั้งหมด, ร้อยละ 3.13 เลือกเหมือนเดิมเฉพาะ ส.ส.เขต, ร้อยละ 2.37 จะไม่ไปใช้สิทธิ, ร้อยละ 1.98 เลือกเหมือนเดิมเฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

คำตอบทั้งหมดเป็นการยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าจะเลือกอย่างไร

ไม่ควรจะเป็นเรื่อง “ผิดคาด” ของใครเลย หากคนนั้นเข้าใจประชาชน

แต่ที่เหวอกันเป็น เพราะไม่เป็นอย่างที่พากันทุบโต๊ะชี้นิ้วว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไว้ ไม่มีอะไรมากกว่า “ไม่เข้าใจความคิดของประชาชน” แล้วยังกล้าโมเมเอาเอง

แต่นั่นก็ว่ากันไป

ที่น่าประหลาดใจคือ จนป่านนี้คนเหล่านั้นยังเสนอหน้ามาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ชี้ทิศฟันธงกันเป็นคุ้งเป็นแคว เหมือนไม่เคยทบทวนให้รู้ตัวเองขึ้นมาเลย ว่าความรู้ ความคิดที่เอามาทุบโต๊ะฟันธงกันอยู่ปาวๆ เป็นการละเมอที่สร้างปัญหาให้คนติดตามฟังเสียมากกว่า