ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันก่อน มีผู้ใหญ่คนหนึ่งโทรศัพท์มาขอให้ช่วยเรื่องการตั้งชื่อ
ภรรยาของเขาจะลงสมัครเป็นกรรมการในองค์กรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
อยากให้ผมช่วยตั้งชื่อทีมให้ภรรยา
ผมรับปากทันที
ผู้ชายย่อมเข้าใจผู้ชายด้วยกัน
เรื่องของ “ภรรยา” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
เวลาคิดเรื่อง “ชื่อ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรืออะไรก็ตาม ผมจะเริ่มจากการตั้งคำถามก่อน
อยากได้เรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
ยิงคำตอบมาเรื่อยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพราะ “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว”
จากนั้นก็ใช้กระบวนการแบบพี่เสถียร จันทิมาธร เคยใช้ตอนเป็นบรรณาธิการบริหาร “มติชนสุดสัปดาห์”
คือ ให้ทุกคนพ่นไฟไปเรื่อยๆ
คิดคำอะไรได้ก็พูดออกมา
บางครั้งทุกคนเริ่มตัน “พี่เถียร” ก็จะหยิบพจนานุกรมขึ้นมา เปิดหาคำแปลกๆ
หรือท่องบทกวีเก่าๆ ที่จำได้
พักหนึ่ง เราก็จะเจอ ” ไม้ขีดไฟ” ที่ใช้ได้
พอเกิดประกายไฟเล็กๆ คราวนี้ก็ช่วยกันเอากระดาษมาต่อ เอาเศษไม้จากคำที่พ่นไฟไปมาสุม
ในที่สุด เราก็จะได้ “กองไฟ”
กลายเป็นคำโปรยบนปก “มติชนสุดสัปดาห์”
พอผมได้ประเด็นจากผู้ใหญ่ท่านนั้น ก็เริ่มพ่นไฟด้วยการพิมพ์คำต่างๆ ไปเรื่อยๆ
คิดอะไรได้ก็พิมพ์ไป
ผมเคยเห็นกระดาษที่ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์ ตั้งชื่อวง “เฉลียง” จากเพจของ “จุ้ย” ศุ บุญเลี้ยง
ในกระดาษแผ่นแรกเต็มไปด้วยคำอะไรมากมาย
ที่ไม่เกี่ยวกับ “เฉลียง” เลย
ถ้าเห็นคำต่างๆ ในกระดาษแผ่นแรก เราจะไม่มีทางนึกออกเลยว่านั่นคือที่มาของชื่อ “เฉลียง”
ผมก็ใช้วิธีการแบบนี้ เขียนไปเรื่อยๆ
เจอคำไหนแล้วรู้สึกสะดุด ก็เริ่มตะไบพลิกคำ พลิกเหลี่ยมไปเรื่อยๆ
พอคำนี้เริ่มใช้ได้แล้วก็ใส่กระชอนวางทิ้งไว้ก่อน
แล้วเปลี่ยนไปคิดในมุมอื่น
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
คัดไปคัดมา
สุดท้ายก็ได้ชื่อที่เราพอใจ
เมื่อถึง “เดดไลน์”
อีกกระบวนการหนึ่งที่ผมใช้ประจำ ก็คือ หา “สัญลักษณ์” อ้างอิง
อย่างเรื่องนี้ ผมก็นึกถึงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับความยุติธรรม
ภาพแรกที่นึกถึง คือ “ตราชั่ง”
หันไปถาม “ห้องสมุดเคลื่อนที่” ของผมว่ามีสัญลักษณ์อื่นอีกหรือเปล่า
ตอนนี้เธอมีอาชีพดูซีรีส์เกาหลีทุกวัน และชอบหนังเกี่ยวกับสืบสวนสอบสวนมาก
“ห้องสมุดเคลื่อนที่” ของผมบอกว่าในซีรีส์เกาหลีที่เกี่ยวกับเรื่องศาล จะเห็นรูปปั้นผู้หญิงปิดตา ถือดาบ และตราชั่ง เป็นประจำ
“ไม่รู้ว่ารูปอะไร”
ฟังแล้วสะดุดเลย
ผมรีบเข้าไปค้นใน “กูเกิล”
โห…ลึกซึ้งมาก
ประติมากรรมนี้มีชื่อว่า “Lady Justice” ครับ
เป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม
ผู้หญิงคนนี้ชื่อว่า “เทพีเธมิส” ในเทพปกรณัมกรีก
เธอเป็นที่ปรึกษาของมหาเทพซีอุส
เป็นเทพีแห่งกฎระเบียบ กฎหมายและจารีตประเพณี
ชาวโรมันเรียกเธอว่า “เทพีจัสติเทีย” หรือเทพีแห่งความยุติธรรม “Lady Justice”
เป็นรูปผู้หญิงที่ถูกปิดตา มือหนึ่งถือตราชั่ง และมืออีกข้างหนึ่งถือดาบ
สัญลักษณ์ “ผ้าปิดตา-ตราชั่ง-ดาบ” แฝงไว้ด้วย “ความหมาย” ที่ลึกซึ้งมาก
“ผ้าปิดตา” หมายถึง การปราศจากอคติใดๆ ในการบังคับใช้กฎหมาย
ไม่เลือกปฏิบัติ
ไม่สนใจว่าใครเป็นใคร
ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ
และปราศจากอารมณ์ความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง
ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
“ตราชั่ง” หมายถึงความเที่ยงธรรมในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่างๆ ให้เที่ยงธรรมที่สุดก่อนตัดสินคดี
ส่วน “ดาบ” หมายถึง อำนาจ ความเด็ดขาด
ที่น่าสนใจก็คือ มือของ “เทพีจัสติเทีย” ที่ถือดาบจะไม่ชูขึ้น
แต่จะลดดาบลงชี้ปลายลงพื้น
มันมี “ความหมาย” ครับ
เพราะ “ดาบ” เป็นอาวุธที่สามารถประหัตประหารชีวิตคนได้
เหมือนอำนาจในการตัดสินคดีความ
เป็นการเตือนสติผู้พิพากษาทุกคนถึงพลานุภาพของการใช้อำนาจนี้
เพราะคำตัดสินของเขา เหมือน “ดาบ” ที่ฆ่าคนได้
ไม่ว่าจะเป็น “คนดี” หรือ “คนเลว”
ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
ผมชอบความหมายที่ซ่อนไว้ในประติมากรรม “เทพีจัสติเทีย” มาก
แต่ชื่อ “จัสติเทีย” มันยากไป คงมีคนรู้จักน้อย
ดังนั้น แม้จะชอบแค่ไหน แต่เมื่อต้องตัดสินใจ
เราก็ต้องเอา “ผ้าผูกตา”
แล้วโยนชื่อนี้ทิ้งไป
เรื่องความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่ผมชอบมาก
อย่างเรื่อง “โต๊ะกลม” ในร้านสตาร์บัคส์
เขาได้แรงบันดาลใจจากผลวิจัยทางจิตวิทยาเมื่อประมาณปี 1950
จิตแพทย์พบว่าคนไข้ที่นั่งโต๊ะกลมมีแนวโน้มจะพูดคุย หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังมากกว่าการนั่งโต๊ะสี่เหลี่ยม หรือรูปแบบอื่น
แนวคิดของร้านสตาร์บัคส์ตั้งแต่เริ่มต้นนั้นต้องการให้เป็นร้านกาแฟที่มีบรรยากาศการพูดคุยเหมือนร้านกาแฟในอิตาลี
“โต๊ะกลม” จึงเหมาะสมมาก
นอกจากนั้น “โต๊ะกลม” จะทำให้ลูกค้าที่มาคนเดียวไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยม
แม้จะถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนที่นั่งกันเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มหลายๆ คน
ในขณะเดียวกัน “โต๊ะกลม” ยังแสดงถึงความเท่าเทียมกัน
“โต๊ะสี่เหลี่ยม” จะมีตำแหน่ง “หัวโต๊ะ” ที่บ่งบอกถึงสถานะที่เหนือกว่า
ถ้ามีการประชุม “หัวหน้า” จะต้องนั่งหัวโต๊ะ
แต่ถ้าเป็น “โต๊ะกลม” คุณจะนั่งตรงจุดไหนก็เท่าเทียมกัน
ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ “ประชาธิปไตย” ที่ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน
ผมนึกถึงการกินอาหาร “โต๊ะจีน” ที่เป็น “โต๊ะกลม”
มันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมเช่นเดียวกัน
เพราะอาหารจะวางไว้ตรงกลางโต๊ะ
ระยะตักอาหารของทุกคนเท่าเทียมกัน 555
น้องคนหนึ่งบอกว่าตอนเป็นลูกน้อง เขาชอบไปร้านอาหารที่มีโต๊ะสี่เหลี่ยม
เพราะหัวหน้าจะนั่งหัวโต๊ะ
และ…คนนั่งหัวโต๊ะจ่าย
แต่พอเป็นหัวหน้า เขาจะชอบไปกินร้านที่มี “โต๊ะกลม”
เพราะไม่มีหัวโต๊ะให้หัวหน้านั่ง
เมื่อไม่มีคนนั่งหัวโต๊ะ
ทุกคนก็ต้องจ่ายเท่าเทียมกัน •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022