‘ธงชัย วินิจจะกูล’ คว้ารางวัลใหญ่ ‘ฟุกุโอกะไพรซ์ 2023’

คนมองหนัง

“ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชาวไทยวัย 65 ปี คือ ผู้ได้รับรางวัล “ฟุกุโอกะไพรซ์” สาขา “แกรนด์ไพรซ์” (รางวัลใหญ่ที่สุด) ประจำปี 2023

โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ร่วมกับธงชัยอีกสองราย คือ “คัทธารยา อุม” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เชื้อสายกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ที่ได้รับรางวัลในสาขา “วิชาการ” และ “จางหลู่” ผู้กำกับภาพยนตร์จากจีน ที่ได้รับรางวัลในสาขา “ศิลปะและวัฒนธรรม”

คณะกรรมการตัดสินรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ ระบุว่า ศาสตราจารย์ธงชัยเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อแวดวงวิชาการสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในระดับโลก ผ่านการตั้งคำถามถึงวิถีทางที่วิธีคิดในยุคสมัยใหม่เรื่องชาติและความเป็นพลเมืองของชาติ ได้รุกคืบเข้าสู่หัวจิตหัวใจของผู้คนและฝังรากหยั่งลึก จากประสบการณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ธงชัยได้มุ่งเน้นความสนใจอย่างเฉพาะเจาะจงไปยังประเด็นที่ว่าด้วยการสร้าง “แผนที่” และการใช้สอยมันในฐานะทัศนวัสดุรูปแบบหนึ่ง เขายังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่างชาติกับประชาชาติ เพราะทั้งสองแนวความคิดนี้ล้วนเป็นประดิษฐกรรมที่ถูกสร้างขึ้น

ธงชัยมีความพยายามอย่างจริงใจที่จะนำเอาผลลัพธ์จากงานศึกษาวิจัยของตน และความเข้าใจลึกซึ้งที่เขาได้รับ มาช่วยสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปทางสังคม

นอกจากนั้น นักวิชาการผู้นี้ยังพยายามเชื่อมโยงโลกของมหาวิทยาลัยเข้ากับสังคมอันกว้างขวางภายนอก และมุ่งก่อร่างสร้างสังคมที่ดีกว่าให้แก่บรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

คณะกรรมการตัดสินรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ ได้บอกเล่าถึงประวัติชีวิตของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เอาไว้ว่า เขาถือกำเนิดในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ และศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย

ภายหลังจากเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) และสอนหนังสือที่นั่นเป็นเวลาสามปี ธงชัยก็ย้ายไปทำงานวิชาการที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

โดยได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ค.ศ.1991-1995 หรือ พ.ศ.2534-2538), รองศาสตราจารย์ (ค.ศ.1995-2001 หรือ พ.ศ.2538-2544) และศาสตราจารย์ (ค.ศ. 2001-2016 หรือ พ.ศ.2544-2559) ตามลำดับ

ในช่วงเวลานั้น ศาสตราจารย์ธงชัยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกในสถาบันศิลปะและวิทยาการของอเมริกัน และได้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมเอเชียศึกษาระหว่าง ค.ศ.2013-2014 (พ.ศ.2556-2557) รวมทั้งทำหน้าที่กรรมการบริหารของสมาคมดังกล่าวใน ค.ศ.2012-2016 (พ.ศ.2555-2559)

ใน ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ธงชัยได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิจัยรับเชิญที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค ประเทศสิงคโปร์

ระหว่าง ค.ศ.2017-2019 (พ.ศ.2560-2562) ธงชัยได้ดำรงตำแหน่งนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น และสร้างคุณูปการต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในระดับนานาชาติมากมาย

 

ย้อนไปเมื่อ ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ที่ความวุ่นวายหลังยุคสงครามเวียดนามได้เข้าปกคลุมประเทศไทย ธงชัยมีสถานะเป็นผู้นำขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519 (ค.ศ.1976) เขาได้จัดการชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อประท้วงต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของผู้นำเผด็จการทหาร

ก่อนที่นักศึกษาที่มาชุมนุมกันจะถูกโจมตีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนและมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวา และมีผู้ชุมนุมเกือบ 50 ชีวิต ซึ่งถูกสังหารในบรรยากาศทารุณป่าเถื่อนอันน่าสยดสยอง ซึ่งถูกเรียกขานว่า “วันพุธเลือด”

ต่อเนื่องจากสถานการณ์นั้น ได้มีคณะนายทหารก่อการรัฐประหาร ส่วนธงชัยก็ถูกจับกุมและนำตัวไปคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่เขาจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวออกมา

เมื่อได้รับอิสรภาพ ธงชัยได้หวนคืนสู่โลกวิชาการ และมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ใน ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ธงชัยได้ติมพ์หนังสือชื่อ “Siam Mapped : A History of the Geo-body of a Nation” ซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา

ในหนังสือเล่มนี้ ธงชัยได้ทำการสำรวจตรวจสอบประวัติศาสตร์ โดยใช้ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา ก่อนจะสรุปความว่า แนวคิดที่ใช้อธิบายตัวตน เช่น เรื่องชาติและความเป็นพลเมืองของชาตินั้น แท้จริงแล้วคือสิ่งที่ถูกสร้างและกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ ผ่านการจัดทำและแพร่กระจายของ “แผนที่”

หนังสือของธงชัยได้สร้างคุณูปการต่อการศึกษาประเด็นเรื่องชาตินิยม โดยไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับการยกย่องจากนักวิชาการอาวุโสหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (หนึ่งในผู้เคยได้รับรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์) รวมทั้งยังได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์ จากการประกาศรางวัลหนังสือแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 16

ในหนังสืออีกหนึ่งเล่มของธงชัย ซึ่งใช้ชื่อว่า “Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok” (ค.ศ.2020/พ.ศ.2563) เขาได้ศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์โดยใช้แนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการสำรวจตรวจสอบโศกนาฏกรรมเมื่อ พ.ศ.2519 ด้วยการนำเอาประสบการณ์ของตนเองมาทบทวน-พิจารณาใหม่

หนังสือเล่มล่าสุดนี้ได้รับรางวัลหนังสือมนุษยศาสตร์ยอดเยี่ยมประจำ ค.ศ.2022 (พ.ศ.2565) จากสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งยุโรป และรางวัลจอร์จ แมคที. เคฮิน ประจำ ค.ศ.2023 (พ.ศ.2566)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธงชัยได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาไทยของตนเองจำนวน 8 เล่ม ซึ่งมุ่งถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์, สถานภาพในปัจจุบันและอนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย, รัฐชาติและหลักนิติธรรม

ผ่านผลงานหนังสือเหล่านี้ ธงชัยได้แสดงบทบาทสำคัญในการนำและสนับสนุนพัฒนาการของการทำกิจกรรมและการตระหนักรู้ทางการเมือง ในหมู่นักเรียนนักศึกษาและพลเมืองไทย

พันธกิจในการสนับสนุนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยและประชาสังคม ซึ่งดำเนินเคียงคู่ไปกับการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานวิชาการระดับนานาชาติ ได้ส่งผลให้เขามีสถานะเป็นแบบอย่างของเหล่าปัญญาชนในภูมิภาคเอเชีย

ด้วยคุณูปการทั้งหมดนี้ ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล จึงมีคุณค่าที่คู่ควรกับรางวัลฟุกุโอกะในสาขาแกรนด์ไพรซ์ อย่างแท้จริง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ยืนหยุดขังประเทศไทย

ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลอย่างธงชัยได้เขียนบรรยายความในใจหลังรับทราบข่าวดีนี้ว่า

“มันเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายถึงความรู้สึก เมื่อผมได้ทราบข่าวว่าตนเองได้รับรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ มันทั้งตื้นตัน, ประหลาดใจ และปลาบปลื้ม

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างแท้จริงที่ได้รับรางวัลจากประชาชนชาวฟุกุโอกะ

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลฟุกุโอกะและประชาชนชาวเมืองฟุกุโอกะได้ตระหนักถึงการอุทิศตนต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของผม รวมถึงพันธกิจที่ผมมีต่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมของประเทศไทย

“ผมเชื่อว่าภารกิจในการเสาะแสวงหาความรู้ แม้กระทั่งความรู้ที่ดูเหมือนจะไม่มีความข้องเกี่ยวใดๆ เลยกับความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ในด้านหนึ่ง และการสนับสนุนประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม ในอีกด้านหนึ่ง ต่างเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน”

 

ก่อนหน้านี้ เคยมีคนไทยได้รับรางวัล “ฟุกุโอกะไพรซ์” มาแล้ว 9 ครั้ง (จำนวน 10 ราย) คือ

พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (รางวัลเพื่อการระลึกถึงเป็นกรณีพิเศษ) ใน ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (รางวัลแกรนด์ไพรซ์) ใน ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542)

ถวัลย์ ดัชนี (รางวัลสาขาศิลปะและวัฒนธรรม) ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ศ. (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555)

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (รางวัลสาขาศิลปะและวัฒนธรรม) ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ (รางวัลแกรนด์ไพรซ์) ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) และปราบดา หยุ่น (รางวัลสาขาศิลปะและวัฒนธรรม) ค.ศ.2021 (พ.ศ.2564)

 

ข้อมูลจาก https://fukuoka-prize.org/en/laureates/detail/d335273d-b6ba-4076-a8ed-9f808fd7f702