ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
‘ก้าวไกล’ สานฝัน ‘บ้านหลังแรก’ ผุดบ้านพัก ‘ตั้งตัว 3.5 แสนหลัง’ รัฐช่วยผ่อน ‘อสังหาฯ’ ยกมือเชียร์
ชะตากรรมเศรษฐกิจไทย ในมือ “รัฐบาลใหม่” ซึ่ง “ก้าวไกล” กำลังฟอร์มทีม ยังคงลุ้นระทึกจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่
ปัจจุบันภายใต้บรรยากาศที่อึมครึม ทั้ง “การเมือง-เศรษฐกิจ” ทำให้เอกชน นักลงทุนไทยและต่างชาติ wait and see ดูทิศทางนโยบายรัฐบาลใหม่
ถึงแม้การเลือกตั้งจบแล้ว แต่จนถึงวินาทีนี้ ยากที่จะคาดเดา สุดท้ายโฉมหน้า “รัฐบาลชุดใหม่” จะนำโดยพรรคก้าวไกล มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะก้าวขึ้นนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือจะพลิกขั้วเป็น “เพื่อไทย” และนายกรัฐมนตรีมาจาก 1 ใน 3 ที่พรรคส่งเป็นแคนดิเดต ไม่ว่า “แพทองธาร-เศรษฐา-ชัยเกษม”
เพราะที่นี่ไทยแลนด์โอนลี่ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูที่ถาวร ไม่ว่าในแวดวงการเมืองและธุรกิจ ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์กระดานการเมือง ยังฝุ่นตลบอบอวล ทั้งเกมใต้ดิน เกมบนดิน จึงยังมีความไม่แน่นอนสูง
สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะไม่ได้คิดนั่นเอง
แต่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็น “รัฐบาลใหม่” สิ่งที่นักธุรกิจหลากวงการ อยากจะให้ลงมือทำทันที คือ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน
ซึ่งนโยบายลดค่าไฟแบบด่วนจี๋ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถือว่าถูกใจธุรกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน “ค่าไฟแพง” ของทุกภาคส่วน ที่โอดครวญอย่างหนักกันมาหลายเดือน
ขณะที่นโยบายขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท หรือ 600 บาท ภายในปี 2570 แม้จะผวา แต่มองว่า ยังพอรับไหว หากทยอยขึ้นแบบขั้นบันได น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ ด้วยเมื่อไรค่าแรงขยับแต่ละครั้ง จะมีผลทั้งบวกทั้งลบ
ที่สำคัญ เมื่อขึ้นแล้วลงยาก กลายเป็นค่าใช้จ่ายถาวรภาคธุรกิจในที่สุด
จาก “เศรษฐกิจปากท้อง” มาถึงเรื่องทำให้ผู้มีรายได้น้อยหรือมนุษย์เงินเดือน มีบ้านหลังแรกได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ภาคธุรกิจอยากจะให้รัฐบาลใหม่มีการผลักดันให้เป็นรูปธรรมและจริงจัง
เมื่อพลิกดูนโยบายด้านที่อยู่อาศัยของทั้งพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลใหม่ ที่ชัดเจนที่สุดคือ นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ได้นำเสนอนโยบาย “บ้านตั้งตัว” จำนวน 350,000 หลัง
โดยรัฐบาลจะช่วยค่าผ่อนบ้าน สำหรับผู้ซื้อบ้าน และที่พักอาศัยใหม่เป็นหลังแรก ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท จำนวน 100,000 ราย ในอัตรา 2,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 30 ปี และช่วยค่าเช่าบ้านและห้องพักสำหรับผู้เช่าบ้านและหอพัก จำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับบ้านเช่าและห้องเช่าที่มีราคาไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพัฒนาระบบค่าโดยสารร่วม กำหนดราคาค่าโดยสารเที่ยวละ 8-25 บาทตลอดสายสำหรับรถเมล์ และเที่ยวละ 8-45 บาทตลอดสาย สำหรับรถเมล์และรถไฟฟ้า โดยใช้งบประมาณจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้ผู้ให้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า 7,170 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยโดยตรง นอกจากเร่งรัดการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ลดค่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เหลือ 20 บาทตลอดสาย และเปลี่ยนรถเมล์กรุงเทพฯ เป็นรถไฟฟ้า
ถามว่านโยบายบ้านตั้งตัวจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน
“อิสระ บุญยัง” กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เขามองว่า “ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัยของแต่ละพรรคการเมือง แต่ดูแล้วถือว่าของพรรคก้าวไกลจับต้องได้มากสุด เพราะมีรายละเอียดชัด ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการเดินทางนั้น จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน”
“เนื่องจากการทำบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทได้ ต้องเป็นการพัฒนาโครงการในทำเลชานเมืองที่ต้นทุนราคาที่ดินไม่สูงมากอย่างใจกลางเมือง เพื่อทำให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การที่สามารถทำให้ค่าเดินทางถูกลงได้ จะจูงใจให้คนย้ายไปอยู่ชานเมืองและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้ประโยชน์ทั้งกระจายความเจริญของเมือง แก้ปัญหาลดติด ลดมลพิษได้อีกด้วย ส่วนจะเป็นจริงได้แค่ไหน คงต้องให้รัฐบาลใหม่ได้มีโอกาสทำงานก่อน”
ฟาก “วสันต์ เคียงศิริ” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองในเรื่องนี้ว่า “การส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัยได้ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคไหนถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่และเป็นการสร้างฐานรากที่มั่นคงให้คนทุกลุ่มได้มีบ้านหลังแรก”
“สำหรับนโยบายบ้านตั้งตัวของพรรคก้าวไกล ต้องดูจะทำได้จริงหรือไม่ หากภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมจะทำให้เป็นจริง แม้การทำบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท จะไม่ใช่บทบาทเอกชน แต่ปัจจุบันต้นทุนที่ดินและค่าก่อสร้างสูงขึ้น การทำบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทอาจจะไม่ได้แล้ว”
ขณะที่ “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยกมือหนุนสุดตัว เพราะนโยบายบ้านตั้งตัวของพรรคก้าวไกล ตรงกับนโยบายของสมาคมที่กำลังจะเดินหน้าขอขยายเพดานราคาบ้านบีโอไอจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้าสายรองได้ เช่น สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง
รวมถึงจะเสนอรัฐบาลใหม่สนับสนุนให้คนมีบ้านหลังแรก สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 10% ของราคาที่ซื้อ โดยกรุงเทพฯ ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ต่างจังหวัดไม่เกิน 3 ล้านบาท เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาท ได้ลดหย่อน 300,000 บาท หรือปีละ 100,000 บาท ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ 3 ปี และต้องมีรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 60,000 บาทต่อเดือน
แล้วปัจจุบันการอยู่อาศัยของคนทุกชนชั้นนั้น ส่วนใหญ่อยู่ทำเลไหน
ข้อมูลผลสำรวจจาก “โสภณ พรโชคชัย” ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยทำเลของเศรษฐียังคงอยู่ราชดำริ เพลินจิต วิทยุ สุขุมวิท ไม่เกินทองหล่อและพหลโยธินช่วงต้น ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และเปลี่ยนจากบ้านเดี่ยวเป็นอาคารชุดราคาแพง
สำหรับผู้มีรายได้สูงจะนิยมอยู่ชานเมือง หรือเป็นกลุ่มที่ย้ายออกจากใจกลางเมือง จะซื้อบ้านในทำเลฝั่งธนบุรี และมีถนนตัดใหม่ เช่น กาญจนาภิเษก พุทธมณฑล ราชพฤกษ์ ศรีนครินทร์ ราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นคนทำงานบริษัท จะเช่าอพาร์ตเมนต์ย่านกลางเมือง เพื่อลดต้นทุนการเดินทาง เช่น ย่านสาธุประดิษฐ์ นราธิวาสราชนครินทร์ พระราม 3
ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย จะอยู่ใกล้ที่ทำงานเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เช่น บางพลี ปากน้ำ สมุทรปราการ รังสิต นวนคร อ้อมน้อย โดยเช่าอพาร์ตเมนต์ราคาถูก หรือซื้อบ้าน ทาวน์เฮาส์ราคาถูก และใกล้ที่ทำงาน
พร้อมกับย้ำว่า ทั้งหมดเป็นทำเลยอดฮิตตลอดกาลของผู้มีรายได้ที่แตกต่างกัน หรือชนชั้นที่แตกต่างกัน และการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย มักจะเลือกทำเลที่คุ้นชิน ไม่ย้ายข้ามห้วยไปทำเลอื่น จึงทำให้เกิดมีอาการติดที่ ติดทำเลเดิมๆ นั่นเอง
เมื่อ “รัฐบาลก้าวไกล” เข้ามาด้วยความคาดหวังของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้กว่า 14 ล้านเสียง การสานฝันให้คนได้มีบ้านหลังแรก ในราคาที่เอื้อมถึง คงไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022