ไขปริศนา ‘ร้อนสุดขีด’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คนใหม่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หรือไม่ และคุณพิธาจะตั้งรัฐบาลชุดใหม่แทนรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้สำเร็จหรือเปล่า ยังไม่มีใครตอบได้ แม้พรรคก้าวไกลได้สิทธิ์เป็นแกนจัดตั้งเพราะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด คว้าเก้าอี้ ส.ส. 152 ที่นั่งก็ตาม แต่ต้องผ่านด่านสำคัญคือ ส.ว. ที่รัฐธรรมนูญวางล็อกให้มาร่วมโหวตด้วย

คุณพิธาจะเป็นนายกฯ คนใหม่ได้ต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด วันนี้คุณพิธารวมเสียงจากพรรคอื่นๆ ได้แล้ว 313 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันกำหนดให้มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน และวุฒิสมาชิก 250 คน ฉะนั้น เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็คือ 376 ที่นั่ง คุณพิธาต้องไปควานหาคะแนนสนับสนุนเป็นนายกฯ อีก 63 เสียง

การจะไปดึงคะแนนเสียงจากฟากรัฐบาล “ประยุทธ์” ค่อนข้างริบหรี่ เพราะมีอย่างน้อย 2 พรรค คือพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงปฏิเสธเรียบร้อยแล้ว

เหลือฝั่งวุฒิสมาชิกซึ่งคุณพิธาคงหวังอยู่ลึกๆ ว่าในจำนวน ส.ว. 250 คน จะมี ส.ว.อย่างน้อยๆ 63 คนมีจิตสำนึกสาธารณะร่วมยกมือสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

ถ้า ส.ว.ยกมือสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ประเทศไทยจะเดินหน้าเต็มสูบ ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัด แต่หาก ส.ว.ยังอยากเห็นประเทศไทยเดินอยู่ในวงจรอุบาทว์ สังคมเสื่อม เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ มีแต่เหตุโกงบ้านโกงเมืองอย่างที่เป็นอยู่วันนี้ ก็เชิญคัดค้านการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล

พูดถึงการบ้านการเมืองรู้สึกตงิดๆ ขุ่นข้องหมองใจ มาพูดเรื่องอากาศร้อนๆ กันเถอะ

 

คราวที่แล้วได้นำเสนอข้อมูลอุณหภูมิในพื้นที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านร้อนสุดขึด แต่เวลานั้นยังไม่รู้ว่ามาจากสาเหตุอะไรกันแน่

มาวันนี้ World Weather Attribution ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการนานาชาติเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สภาวะภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากสถาบันชั้นนำ อาทิ สถาบันแกรนธัม อิมพีเรียลคอลเลจ ประเทศอังกฤษ สถาบันปิแอร์ ไซมอน ลาพลาส มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส ศูนย์วิทยาศาสตร์บรรยากาศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเดลลี ประเทศอินเดีย ส่วนบ้านเราก็มี ดร.ชยา วรรธนะภูติ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง

ข้อมูลนำมาวิเคราะห์นั้นมีทั้งจากสื่อและหน่วยงานต่างๆ เช่น เดอะ การ์เดี้ยน ซีเอ็นเอ็น ยูเอสเอทูเดย์ วอชิงตันโพสต์ อาหรับนิวส์ ฮินดูสถานไทม์ เดอะสเตรต ไทมส์ ศูนย์ข้อมูลของนาซ่า กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียและไทย

เบื้องต้นพบว่าช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2-สัปดาห์ที่ 4 พื้นที่ส่วนใหญ่ของบังกลาเทศ อินเดีย จีน ไทยและลาว มีสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติเก่าๆ

กรุงธากา บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 16 เมษายน วัดอุณหภูมิได้ 40.6 ํC วันที่ 17 เมษายน อุณหภูมิที่เมืองประยาคราช รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย อุณหภูมิอยู่ที่ 44.6 ํC อีกหลายๆ เมืองทางตอนเหนือและตะวันออกของอินเดีย ร้อนจัดค่าเฉลี่ยสูงกว่า 44 ํC

เฉพาะวันที่ 16 เมษายน ชาวนาวี มุมไบ ในรัฐมหาราษฏระ อินเดีย เสียชีวิตเพราะอากาศร้อนจัด 13 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 650 คน เป็นสถิติใหม่ล่าสุดของรัฐแห่งนี้

ที่ จ.ตาก อุณหภูมิเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาวัดได้ 45.4 ํC สูงกว่าสถิติเก่าที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีอุณหภูมิสูงสุด 44.6 ํC เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559

อุณหภูมิสูงสุดที่ จ.ตากคราวนี้ น่าสังเกตว่าสูงกว่าสถิติเดิมถึง 0.8 ํC

กรมอุตุฯ ยังรายงานช่วงเดือนเมษายนปีนี้ค่าดัชนีความร้อนทะลุ 54 ํC

เมืองไชยะบุรี ฝั่งลาว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 วัดได้ 42.9 ํC ทำสถิติสูงสุด เมืองหลวงพระบาง 42.7 ํC และนครเวียงจันทน์ 41.4 ํC

ผลจากอากาศร้อนจัดทำให้เกิดภัยอันตรายร้ายแรงอื่นๆ ทั้งด้านไฟป่าและปัญหาสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 13-20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่อินเดียเกิดไฟป่ากว่า 1,156 จุด ทำลายระบบนิเวศน์ ผู้คนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ยังมีเขม่าควันพิษด้วย

หลายพื้นที่ของประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน สภาพอากาศร้อนจัดเกิดฝุ่นควันที่มาจากการเผาป่า ควันพิษจากรถยนต์ ปกคลุมท้องฟ้า ชาวบ้านกว่า 2 ล้านคนได้รับผลกระทบต้องเข้าโรงพยาบาลตรวจรักษากันวุ่นวาย

ค่าดัชนีความร้อนในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พุ่งสูงสุดในช่วง 4 วัน ระหว่าง 17-20 เมษายน 2566 เป็นข้อมูลที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสภาวะภูมิอากาศนำไปวิเคราะห์ประมวลผลชี้แนวโน้มในอนาคตภูมิภาคนี้จะเจออากาศร้อนสุดๆ มากขึ้น (ที่มา : Scientific Report South Asia Heatwave/Imperial College London)

รายงานของ World Weather Attribution รวบรวมข้อมูลแล้วสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ ไว้ดังนี้

ในเรื่องคลื่นความร้อน เป็นสาเหตุทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตนับพันคนซึ่งถือได้ว่ามีผลรุนแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน แต่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าคนที่เสียชีวิตนั้นมาจากสาเหตุคลื่นความร้อนมีน้อยมาก กว่าจะมีผลชันสูตรศพพบว่ามีสาเหตุจากฮีตสโตรกใช้เวลาหลายสัปดาห์ หลายๆ พื้นที่ไม่ได้เก็บข้อมูลสาเหตุคนเสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนจัด

ประเด็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนและอุณหภูมิความชื้นกับผู้คนที่แต่ละช่วงอายุ และอาชีพ เช่น คนงานที่ทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อนสุดๆ มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มากระทบทางสุขภาพ เช่น มลพิษทางอากาศ จากไฟป่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หรือสภาพความร้อนในเขตเมือง ที่มีชุมชนอยู่หนาแน่น

การประเมินดัชนีความร้อน (heat index) ตั้งแต่ 41 ํC ถือว่าเข้าสู่แดนอันตราย ปรากฏข้อมูลว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชียตอนใต้อยู่ในระนาบดังกล่าว ในบางพื้นที่เข้าขั้นอันตรายสุดๆ คือมีค่าดัชนีความร้อนเกินกว่า 54 ํC สูงเกินอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายอยู่ที่ 37 ํC

ปกติแล้วร่างกายสามารถทนอากาศร้อนๆ ได้ 40-41 ํC ถ้าร้อนกว่านี้ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ เกิดอาการเครียด กล้ามเนื้อทำงานช้าลง หัวใจเต้นแรง เหนื่อยล้า หายใจไม่สะดวก ถ้าร้อนกว่า 41 ํC โอกาสช็อกหรืออวัยวะทำงานล้มเหลวและเสียชีวิต

การเปรียบเทียบข้อมูลและใช้แบบจำลองผลกระทบจากคลื่นความร้อนในช่วงเดือนเมษายนปีนี้กับข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่อุณหภูมิผิวโลกเย็นต่ำกว่า 1.2 ํC ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกและคลื่นความร้อนนั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์

ในรอบ 200 ปี ประเทศไทยและลาว โอกาสเกิดคลื่นความร้อนมีเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ มาวันนี้ทั้งสองประเทศมีค่าดัชนีความร้อนสูงขึ้นถึง 2.3 ํC เหตุการณ์เช่นนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ใช่เป็นเพราะภาวะโลกร้อน

แนวโน้มอากาศร้อนสุดๆ ในไทยและลาวจะเกิดต่อเนื่องสูงกว่าปัจจุบัน 10 เท่า

อินเดียและบังกลาเทศ มีสภาพอากาศร้อนจัดเหมือนในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะมีโอกาสเกิดซ้ำ 3 เท่าตัว หรือเกิดคลื่นความร้อนทุกๆ 1-2 ปี

ในภาพรวมแล้ว จากข้อมูลที่มีค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย แต่ World Weather Attribution ทำนายอนาคตภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งอินเดีย บังกลาเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเทศไทยด้วยจะเจอเหตุคลื่นความร้อนบ่อยครั้งกว่าอดีต เป็นคลื่นความร้อนที่นานขึ้นและอุณหภูมิก็สูงขึ้นด้วย

คลื่นความร้อนที่มีความถี่บ่อย ช่วงเวลาเกิดนานขึ้นและร้อนสุดๆ มีสาเหตุโดยตรงจากฝีมือมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่ปรากฏการณ์ “โลกร้อน” เช่นนี้ คาดว่ากระทบกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวเอเชียกว่า 590 ล้านคน •