ความชอบธรรมที่ล่มสลาย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้พูดถึงเนื้อหาในบทความนี้ในรายการสนทนาหนึ่งของมติชนทีวีไปแล้ว แต่ผมอยากบันทึกไว้สำหรับงานในอนาคตอีกชิ้นหนึ่ง ต้องขออภัยท่านที่บังเอิญได้ชมรายการนั้นไปแล้ว

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ต้องการคำอธิบาย และหลายท่านก็ให้คำอธิบายไปบ้างแล้ว เช่น ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์, การทุ่มเทเดินสายปราศรัยทั่วประเทศและทำให้กลายเป็นข่าวออนไลน์ที่คนเฝ้าติดตาม, ความพากเพียรของผู้สมัครในการลงพื้นที่, ความคิดหรือการกระทำของก้าวไกลเข้าถึงคนหนุ่มสาวได้ดี (บนสมมุติฐานว่าผู้เลือกก้าวไกลคือคนหนุ่มสาวเป็นหลัก ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าจริง) ฯลฯ

คงไม่มีข้อใดผิดหรอกครับ แต่ผมคิดว่ายังมีเหตุที่ใหญ่กว่านั้น ที่ทำให้คนไทยประมาณ 14 ล้านคน เทคะแนนให้ก้าวไกล นั่นคือรัฐไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง อันที่จริง นอกจากก้าวไกลแล้ว พรรคเพื่อไทยก็เสนอประเด็นความเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้ารวมผู้คนที่ร่วมกันเลือกทั้งสองพรรคนี้ก็จะตกอยู่ใกล้ๆ 30 ล้านคน

30 ล้านเสียงไม่ใช่เสียงทั้งหมดของสังคมไทยแน่ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า ในบรรดาผู้คนหลากหลายความคิด (เช่น อนุรักษนิยม, กษัตริย์นิยม, พัฒนานิยม ฯลฯ) กลุ่มที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย นับเป็นกลุ่มความคิดใหญ่สุด

แต่การที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มใหญ่สุดต้องการเห็นประเทศไทยเปลี่ยน ยังอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงได้ที่นั่งในสภามากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงหนาแน่นอย่างสืบเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจถึงการพังสลายของความชอบธรรมที่ผดุงความเป็นรัฐของไทย

 

รัฐนั้น นอกจากมีอำนาจในการเก็บภาษี, ออกกฎหมายที่ใช้บังคับอย่างได้ผล, ผูกขาดการใช้ความรุนแรงแต่ผู้เดียว ฯลฯ แล้ว ยังต้องมีอีกด้านหนึ่งที่ทำให้อำนาจของรัฐมีความชอบธรรม อันเป็นเหตุให้ประชาชนยอมรับอำนาจนั้น รวมทั้งสนับสนุนเมื่อรัฐใช้อำนาจนั้นๆ ด้วย

(ผมอยากจะเรียกความชอบธรรมตามความหมายกว้างๆ อย่างนี้ว่า metanarratives หรือนิทานที่เหนือนิทานทั้งปวง แต่คงต้องอธิบายกันยาวกว่านี้ จึงเก็บไว้ในงานที่หวังว่าจะได้เขียนก่อนตาย)

รัฐที่มีแต่อำนาจดิบ (กองทัพ, ตำรวจ, ศาล, คุก, กฎหมาย ฯลฯ) ดำรงอยู่ไม่ได้หรอกครับ เพราะมันไม่ต่างอะไรจากซ่องโจร เนื่องจากทุกคนมีชีวิตอยู่บน “ทีเผลอ” ของอำนาจ

นับตั้งแต่เมาแล้วขับ และชนแล้วหนี เพราะแน่ใจว่าข้างหน้าไม่มีด่านตำรวจ, เลี่ยงภาษีเพราะรู้ว่าสรรพากรไล่ตามไม่ทัน หรือกูซื้ออำนาจที่ใหญ่กว่าสรรพากรไว้แล้ว, ค้ายาเสพติดจนรวยพอจะติดสินบนกระบวนการยุติธรรมได้ทุกระดับ ฯลฯ ทั้งนี้ รวมการทำรัฐประหารรัฐบาลที่กูเหม็นขี้หน้าด้วย

รัฐแสดงความชอบธรรมของตนออกมาด้วยกลไกรัฐที่มีประสิทธิภาพ และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่รัฐไทยไม่เคยมีสมรรถนะจะทำอย่างนั้นได้จริง ถึงกระนั้นก็ดำรงอยู่ได้ด้วย “ท่าที” ว่า จะสามารถฟื้นฟูหรือสถาปนาประสิทธิภาพและความชอบด้วยกฎหมาย ในการปฏิบัติงานของกลไกรัฐได้ในอนาคต

แต่ความฟอนเฟะของกลไกรัฐที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น ตำรวจเข้าไปมีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์, การพนัน, ยาเสพติด, การเรียกสินบนจากธุรกิจผิดกฎหมายทั้งหลาย ฯลฯ กองทัพปล่อยให้เครื่องบินพม่าล่วงล้ำเขตแดนได้เป็นเวลานาน ซื้ออาวุธในราคาแพงอย่างไม่โปร่งใสทั้งเป้าหมายทางการทหารและงบประมาณ, การขายวีซ่าและขายบัตรประชาชน, การใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มของหน่วยราชการและ อปท.ภายใต้การกำกับของมหาดไทย ฯลฯ

ไม่เฉพาะแต่กลไกของรัฐ องค์กรหรือสถาบันที่ผมขอเรียกกว้างๆ ว่ากลไกสังคมก็ฟอนเฟะไม่น้อยไปกว่ากัน ข่าวอื้อฉาวนานาชนิดของวงการสงฆ์, วงการครู, สื่อและการ “ซื้อสื่อ” หลายรูปแบบ, “เกียรติยศ” เกือบทุกอย่างในสังคมถูกสงสัยว่ามาจากการเล่นพวกหรือกำลังทรัพย์ ฯลฯ

ถ้าตำรวจ, ทหาร, มหาดไทย, ศุลกากร, พระภิกษุ, ครู ฯลฯ ออกมาพูดว่า ในวงการไหนๆ ก็มีทั้งคนดีคนชั่ว เราพยายามขจัดคนชั่วออกไป หน่วยงานของเราก็จะกลายเป็นกลไกรัฐหรือสังคมที่ดีเอง

ใครจะเชื่อ? ก็คงมีแหละครับ แต่น้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนจำนวนมากขึ้น (ไปเรื่อยๆ เหมือนกัน) คงได้แต่ยิ้มเพราะได้ฟังนิทานหลอกเด็กเมื่อโตเสียแล้ว

 

คําปลอบประโลมซึ่งเคยใช้ได้ผลเมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า คน-ดีหรือชั่ว-เป็นเงื่อนไขสำคัญเพียงอย่างเดียวของการบริหารรัฐ (และกิจการส่วนรวมอื่นๆ) นับว่าสอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาแบบไทย ซึ่งไม่เน้นความสลับซับซ้อนของ “ดี-ชั่ว” อันเป็นเพียงธรรมที่เกิดจากการสมมุติขึ้นเองของมนุษย์ในแต่ยุคสมัยและสถานการณ์

และเพราะเข้าไม่ถึงความสลับซับซ้อนของ “ดี-ชั่ว” จึงเท่ากับยกการชี้ขาดเรื่อง “ดี-ชั่ว” ให้แก่คนที่มีอำนาจเท่านั้น

ที่คนในปัจจุบันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่อาจยอมรับว่า ความเสื่อมโทรมของกลไกรัฐอาจแก้ไขได้เพียงด้วยการขจัดคนชั่วออกไป ก็เพราะพวกเขาเริ่มมองเรื่อง “ดี-ชั่ว” ต่างจากผู้มีอำนาจ กรณีคุณทักษิณ ชินวัตร อาจมีส่วนอย่างมากที่กระตุ้นให้เกิดความเห็นต่างในเรื่องนี้ระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นกลางระดับล่าง

การล่มสลายของกลไกรัฐและกลไกสังคมย่อมกระทบถึงสถานะทางอาญาสิทธิ์ของสถาบันทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมของสถาบันตามประเพณีทั้งหมดด้วย ถ้าครูสูญเสียอำนาจอันเป็นที่ยอมรับเพราะฉ้อฉลอำนาจ (abusal of power) เสียเอง ย่อมทำให้โรงเรียนซึ่งเคยเป็นสถาบันสาธารณะที่ได้รับความนับถือจากชุมชน สูญเสียสถานะที่เคยมีไป หากจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและความสัมพันธ์ของตนกับชุมชนเสียใหม่

ลองคิดถึงสถาบันตามประเพณีอื่นๆ เถิดครับ จะเห็นได้ว่าสูญเสียหรือกำลังสูญเสียสถานะตามประเพณีของตนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นวัด (ทั้งวัดบ้านและวัดป่า), สมาคมศิษย์เก่า, มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยต่างๆ, พรรคการเมือง, สมาคมวิชาชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์และสถาบันครอบครัวด้วย

ผมชอบคลิปโฆษณาหาเสียงของพรรค รทสช.ที่พยายามต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะมันเชย แต่เพราะมันจริง และจริงสองระดับด้วย

ระดับแรกคือพะโล้ จริงเลยครับ ในสมัยหนึ่ง ครอบครัวไทยถือว่าเด็กมีเสียงแต่ไม่ต้องนับ เช่น ร้องไห้โยเย, หรือนอยด์เต็มที่ ก็ต้องปลอบโยนหลอกล่อหรือใช้ไม้เรียว เสียงของเด็กที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านอาหารจึงเป็นสิ่งแปลกปลอม และชี้ให้เห็นหายนภัยของโลกที่ยอมฟังเสียงเด็ก

ความจริงระดับที่สอง คือชี้ให้เห็นทัศนคติของคนที่ออกสตางค์ทำคลิป คือจมปลักอยู่กับอดีตที่ตายไปนานแล้ว เพราะในครอบครัวไทยจำนวนมากปัจจุบัน (ผมเชื่อว่าเกินครึ่งด้วย) ยินดีให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องอาหาร

 

ในสภาวะล่มสลายของความชอบธรรมต่างๆ ที่รัฐเคยใช้อ้างในปฏิบัติการอำนาจของตน หรือที่สังคมเคยยึดถือร่วมกัน ความเปลี่ยนแปลงที่คนจำนวนมาก (และมากขึ้นเรื่อยไป) คาดหวังจากพรรคการเมือง จึงไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงแบบขจัดคนชั่วออกไปจากระบบ นำคนดีและผู้ชำนัญการเข้ามาจัดการด้านเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมอย่างรวดเร็ว ช่วยให้คนจนเข้าถึงรายได้ที่รัฐแจกจ่ายในรูปเงินหรือบริการจำเป็นอย่างทั่วถึง ฯลฯ

ผมคิดว่า ผู้เลือกตั้งจำนวนมากคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้นอีกมากนัก เช่น ทำอย่างไรผลิตภัณฑ์มวลรวมที่จะขยายตัวจะกระจายไปถึงผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่กระจุกอยู่กับเจ้าสัวไม่กี่ราย เป้าหมายเช่นนั้นไม่อาจบรรลุผลได้ โดยไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจด้านทรัพยากร (ทั้งงบประมาณและทรัพยากรด้านอื่น) โดยปล่อยให้หน่วยงานส่วนกลางเช่นกองทัพดึงงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในสิ่งที่ไม่เร่งด่วน (เช่น อยากได้เอฟ 35 โดยมี ฮ.เพื่อดับไฟป่าไม่เพียงพอ ปล่อยให้คนกว่าครึ่งประเทศสูดดมฝุ่นระดับ PM 2.5 ไปเป็นเดือนๆ)

มันไม่ใช่เรื่องคนดีได้บริหารบ้านเมือง และกันคนชั่วไม่ให้มีอำนาจ แต่สิ่งที่ต้องรีบจัดการคือโครงสร้างที่มุ่งแต่จะผดุงอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการต่อรองของคนทุกกลุ่มในสังคม เช่น ไม่มีใครถือสิทธิ์เด็ดขาดแต่ผู้เดียวที่จะขีดเส้นป่าอุทยานตามใจชอบ (แม้ถือปริญญาด้านวนศาสตร์สักกี่ฉบับก็ไม่ควรปล่อยให้มีอำนาจเช่นนั้น เพราะเสี่ยงที่ป่าอุทยานจะถูกนำไป “ขาย” ให้แก่นายทุนรีสอร์ต… โครงสร้างชักนำหรือ “เปิด” ให้คนดีทำชั่ว)

อาจเป็นด้วยอคติส่วนตัวก็ได้ ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศว่า “เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เปลี่ยนทันที” กับเมื่อพรรคก้าวไกลประกาศว่า “เลือกก้าวไกล เปลี่ยนไปด้วยกัน” เพื่อไทยไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนระดับโครงสร้าง แต่ก้าวไกลคิดถึงการเปลี่ยนแปลงระดับนั้น

และอาจไม่ใช่อคติเพียงอย่างเดียว เพราะเอกสารนโยบายของสองพรรคเท่าที่ได้อ่านหรือฟังจากการหาเสียง ก็ชี้ให้เห็นไปในทิศทางอย่างนั้นไม่ใช่หรือ

นี่คือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภามากกว่าพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในปัจจุบัน คนไทยที่เห็นว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนแปลงลึกไปถึงระดับโครงสร้างเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุด และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ มีเพียงพรรคเดียวที่เสนอทางเลือกเช่นนั้น (ไม่นับพรรคเล็กที่อาจมีนโยบายเฉพาะเพียงเรื่องเดียว เช่น เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ควรยุบหน่วยงาน ศอ.บต.เสีย พูดอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งลงลึกในเรื่องใดในประเทศไทยก็ตาม ก็ยิ่งเห็นชัดว่าปัญหาอยู่ที่โครงสร้างมากกว่าคน)

 

ดังที่แสดงให้เห็นหลายครั้งในบทความนี้ ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้น ผมจึงคาดเดาว่า ประเด็นที่การเมืองไทยจะหันมาเล่นในอนาคต น่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้าง ควรทำอะไร, แค่ไหน, อย่างไร, เมื่อไร, โดยใคร คงเป็นประเด็นปัญหาที่พรรคการเมืองต้องถกเถียงกัน เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน

และในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ก้าวไกลทั้งหมด ผมเห็นว่าพรรคที่มีศักยภาพจะปรับเปลี่ยนตนเองให้มารองรับนโยบายที่แรงขนาดนี้ได้คือพรรคเพื่อไทย

ถึงเวลาแล้วที่พรรคเพื่อไทยควรวาง “จุดยืน” (position) ของตนใหม่ โดยการผลักดันให้ “คนรุ่นใหม่” (ไม่จำเป็นต้องจำกัดความด้วยอายุเพียงอย่างเดียว) ได้เข้าไปร่วมวางนโยบายและ “จุดยืน” ของพรรคมากขึ้น พรรคควรพร้อมจะเผชิญหน้ากับอำนาจนานาชนิดที่ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยเสียเปรียบตลอดมา แต่อาจด้วยวิธีการซึ่งได้ผลกว่าพรรคคู่แข่ง

วันใดที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นโชคของพรรคก้าวไกล เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลขาดในเวลานี้ และอาจจะขาดมากขึ้นในอนาคต คือคู่แข่งบนเส้นทางของการเปลี่ยนประเทศไทยระดับโครงสร้าง

พรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีคู่แข่งย่อมเป็นอันตราย ทั้งต่อตนเองและต่อสังคมโดยรวม