ส่ง ‘สองนคราประชาธิปไตย’ เข้านอน | อภิชาต สถิตนิรามัย

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

บทความนี้จะเสนอว่า คำอธิบายทางการเมืองในชื่อ ‘ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย’ ที่โด่งดังมานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 2530 นั้น ถูกการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งเข้านอนตลอดกาลพร้อมๆ ไปกับบทบาททางการเมืองของผู้คิดค้นคำอธิบายชุดนี้

‘ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย’ เสนอว่า สังคมการเมืองไทยมีเส้นแบ่งทางการเมืองระหว่างเมืองและชนบท

คนเมือง เช่น คนกรุงเทพฯ มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบชนชั้นกลาง มีทั้งการศึกษาและรายได้ที่สูงกว่าคนชนบท ดังนั้น จึงพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ของ ‘ผู้ใหญ่’ หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ตรงกันข้ามกับคนชนบท ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบชนชั้นล่าง เป็นคน “โง่ จน เจ็บ” ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ จึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ของอิทธิพลท้องถิ่น

ดังนั้น พฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้งจึงเป็นไปตามระบบหัวคะแนนและการซื้อเสียง

ในขณะที่คนเมืองซึ่งเป็น ‘เสรีชน’ ลงคะแนนเลือกนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ (กระแส vs กระสุน)

แต่เนื่องจากคนเมืองมีจำนวนน้อยกว่าคนชนบทมาก ดังนั้น คนชนบทจึงเลือก ส.ส.ได้จำนวนมากกว่าคนเมือง คนชนบทจึงเป็นผู้เลือกพรรครัฐบาล

ในขณะที่คนเมืองจะเป็นผู้ประท้วงล้มรัฐบาลคอร์รัปชั่นที่มาจากการเลือกตั้ง

เช่น เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือกระทั่งใช้อธิบายขบวนการเป่านกหวีดของ กปปส. ซึ่งจบลงด้วยการรัฐประหาร 2557

 

อิทธิพลของชุดคำอธิบายนี้ได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ออกแบบอย่างจงใจเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเมืองให้แก่การเติบโตของนักการเมืองตัวบุคคล ในขณะเดียวกันก็ลดทอนความเข้มแข็งของตัวพรรคการเมือง

เห็นได้ชัดในกรณี ส.ส. ‘งูเห่า’ เป็นต้น

และเป็นกติกาที่เป็นโทษต่อพรรคขนาดใหญ่ แต่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดเล็กและจิ๋ว ทำให้การเลือกตั้งชนะกันไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อให้เกิดรัฐบาลผสมที่พรรคสืบทอดอำนาจของคณะ คสช. เป็นแกนนำ ซึ่งก็สมประสงค์ในการเลือกตั้ง 2562

และในการเตรียมการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ แข่งกันสร้างพลัง “ดูด” ส.ส.บ้านใหญ่เข้าสังกัด

สี่ปีที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดข้อกังขาย้อนกลับไปว่า พฤติกรรมทางการเมือง/เส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทจะกลับมาครอบงำการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่

 

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กลับตอกตะปู ปิดฝาโลง คำอธิบายแบบสองนคราประชาธิปไตยไม่ให้กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยไปตลอดกาล

ผลคะแนนการเลือกตั้งแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อบ่งชี้ชัดเจนว่า สังคมไทยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเมืองและชนบท หากถือว่าคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นตัวแทนของการเลือกนโยบายและ/หรืออุดมการณ์ของพรรคการเมืองแล้ว

เห็นได้ว่าเขตเลือกตั้งทั้งในเมืองและชนบทไม่ได้มีรูปแบบการลงคะแนนที่แตกต่างกัน โดยพรรคก้าวไกลได้ 39%, (14.23 ล้านเสียง) พรรคเพื่อไทยได้ 29% (10.86 ล้านคะแนน) ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 13% (4.67 ล้านคะแนน)

ส่วนความแตกต่างของความนิยมแต่ละพรรคนั้นมีลักษณะแบ่งตามภูมิภาค กล่าวคือ ก้าวไกลชนะในภาคกลาง เหนือ และ กทม.

ส่วนพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมในภาคอีสาน

ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้มากในภาคใต้

หลักฐานที่หนักแน่นกว่าคือ กระทั่งในจังหวัดหรือเขตเลือกตั้งที่รู้กันดีว่าเป็นเขตของ ‘บ้านใหญ่’ ‘เจ้าพ่อ’ หรือตระกูลการเมือง เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์ ซึ่งกลุ่มการเมืองชื่อดังเหล่านี้ยังคงชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตอยู่ก็ตาม แต่กลับพ่ายแพ้ในระบบบัญชีรายชื่ออย่างสิ้นเชิง

หลักฐานข้อนี้คือบทพิสูจน์ว่ากระทั่งคนชนบทในเขตเหล่านี้ ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่า “โง่ จน เจ็บ” ยังเลือกตั้งแบบ ‘เสรีชน’ เฉกเช่นกับคนเมือง

ดังนั้น เส้นแบ่งทางการเมืองระหว่างเมืองกับชนบทจึงไม่เป็นจริง

 

หากถือว่าการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ เป็นการเลือกพรรคตามนโยบายหรืออุดมการณ์แล้ว ข้อเท็จจริงที่บ้านใหญ่ยังคงชนะเลือกตั้งในระบบ ส.ส.เขตของจังหวัดหรือเขตเหล่านั้น ก็ไม่ได้แปลว่าระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่และทำงานอย่างเข้มแข็ง

ชาวบ้านในเขตเลือกตั้งเหล่านี้ไม่ได้เลือกตั้งตามตรรกะ “โง่ จน เจ็บ” จึงไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลระบบอุปถัมภ์แต่อย่างไร

ตรงกันข้ามชาวบ้านเลือกตั้งแบบ ‘ฉลาด’ (rational man) เช่นเดียวกับคนเมือง

เหตุที่เขาเลือก ส.ส.เขตจากคนของบ้านใหญ่นั้น เพราะเขาต้องการบริการทางการเมืองของนักการเมืองเหล่านี้ ซึ่งเก่งกาจในการดึงงบประมาณจากส่วนกลางมาสู่พื้นที่ของตัวเอง

เช่น ได้วัคซีนป้องกันโควิดพร้อมกับจังหวัดภูเก็ตเพราะอ้างว่าจังหวัดบุรีรัมย์ก็เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเช่นกัน หรือจังหวัดสุพรรณบุรีมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าจังหวัดอื่นๆ เป็นต้น

การเลือกบริการจากบ้านใหญ่นี้ จึงไม่สะท้อนว่าชาวชนบทอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์

แต่สะท้อนว่าโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นต้นตอของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน (uneven development) ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง ทำให้เขาต้องพึ่งพาบริการเหล่านี้ของ ส.ส.เขต

กล่าวอีกแบบคือ ชาวชนบทไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์มานมนานแล้ว ดังเช่นที่ผู้เขียนและคณะ (2556) อธิบายไว้ในงาน ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เมื่อ 10 ปีก่อน

การเลือกตั้ง 2566 นี้จึงเป็นหลักฐานที่ตอกตะปู ปิดฝาโลง ‘ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย’ ไปสู่สุคติอย่างถาวรเสียที