‘อยุธยา’ ถูกทำลาย เพราะโลกยังไม่รู้คุณค่าของเมืองเก่า แต่ ‘อโยธยา’ จะถูกทำลายด้วยอำนาจเผด็จการ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

‘อยุธยา’ ถูกทำลาย เพราะโลกยังไม่รู้คุณค่าของเมืองเก่า
แต่ ‘อโยธยา’ จะถูกทำลายด้วยอำนาจเผด็จการ

 

ในคืนวันที่กรุงเสียอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 นั้น มีการยิงปืนใหญ่ถล่มเข้ากรุงโดยรอบทุกด้านตลอดทั้งวัน กระทั่งกำแพงเมืองพังทางด้านหัวรอ ทำให้ฝ่ายพม่าอังวะรุกเข้ามาในเกาะเมือง อันเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของกรุงศรีอยุธยาได้

จากนั้นก็เริ่มเผาบ้านเรือน (ในการสงครามจะมีใครบ้างที่ไม่ใช่ไฟ ในการจู่โจมข้าศึกศัตรูของตนกันบ้างเล่าครับ?) เพื่อให้ประชาชนแตกตื่นออกจากที่หลบ ถูกกวาดจับเป็นเชลย (ดังนั้น จึงเป็นการเผาในคนละจุดประสงค์ และมีขนาดความเสียหายของเมืองแตกต่างจากที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยพยายามกล่าวอ้าง)

เพราะการฆ่าไม่ใช่เป้าหมายของสงครามโบราณในยุคสมัยนั้นการกวาดต้อนคนไปเป็นทาสเชลยสงครามที่พม่าต่างหากคือจุดมุ่งหมายสำคัญเพราะเป็นการเอาต้นทุนคืน บวกด้วยกำไรจากสงคราม

เอกสารฝ่ายพม่าบันทึกเอาไว้ว่า ได้กวาดเชลยศึกชาวอยุธยากลับไปเป็นทาสที่อังวะกว่าแสนคน ในจำนวนนี้เป็นคนในวังต่างๆ ราว 2,000 คน รวมทั้งเจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์สุดท้ายอยุธยาจำนวนมาก

สงครามกับพม่าอังวะในครั้งนั้นจึงได้ทำลายชนชั้นนำอยุธยาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานลงไปอย่างราบคาบ จนยากจะมีเครือข่ายพลิกฟื้นราชวงศ์เดิมขึ้นมาได้ โดยเมื่อหลังจากที่ได้รับชัยชนะแล้ว กองทัพของอังวะได้ตั้งค่ายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอีกเพียงระยะเวลาสั้นๆ แล้วค่อยยกทัพพร้อมทาสเชลยและทรัพย์สินที่กวาดเก็บได้กลับคืนไปยังพม่าอังวะ

และนับจากนั้นเป็นต้นมา การสร้างราชอาณาจักรที่อ้างว่า สืบเนื่องจากอยุธยาขึ้นมาใหม่ หลังจากการเสียกรุงในปี 2310 เป็นต้นมาต่างหาก ที่เป็นกระบวนการสร้างเมืองใหม่จากทรัพยากรเดิมของกรุงศรีอยุธยา อันทำให้เกิดการทำลายองคาพยพต่างๆ ของความเป็นกรุงศรีอยุธยาในอดีต อย่างที่สงครามในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่สามารถเทียบเคียงได้เลย

 

หลักฐานของชาวตะวันตก ในสมัยกรุงธนบุรีอ้างว่า มีขโมยขุดและเผาหลอมพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก เพื่อนำเอาโลหะมาขาย ซึ่งน่าจะหมายถึงพระพุทธรูปทองสำริด ที่หลอมแล้วจะได้ทองแดง ดีบุก หรือตะกั่ว

ในแง่นโยบายของพระเจ้าตากสินเองก็ให้มีการสัมปทานขุดค้นหาสมบัติในกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำเงินรายได้ไปซื้อข้าวจากต่างแดนมาหล่อเลี้ยงประชากรในเมืองใหม่ และในการบริหารกรุงธนบุรีด้วยเช่นกันนะครับ

แต่ในยุคกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินยังไม่มีนโยบายรื้อป้อมกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาทิ้ง ต่างจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้มีนโยบายรื้อป้อมกำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยาโดยรอบลง เพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เมืองกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองป้อมเพื่อบุกโจมตีกรุงเทพฯ ได้

จนอาจจะกล่าวได้ว่า กำแพงเมืองและป้อมรวมทั้งกำแพงและวัดของกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายพังลงอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยขนย้ายทางเรือลงมาสร้างเป็นกำแพงเมืองและป้อมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพระราชวังหลวงวังหน้าวัดวาในพระนครใหม่ด้วย

 

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของกรุงศรีอยุธยาก็ถูกอัญเชิญลงไปยังกรุงเทพฯ ในสมัยนี้ เช่น พระศรีสรรเพชญดาญาณ และพระพุทธโลกนาถ สองพระพุทธรูปสำคัญในวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ ซึ่งบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า การอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ นั้นเท่ากับเป็นการยุติจิตวิญญาณของกรุงศรีอยุธยา ในฐานะของการเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอย่างเด็ดขาด

พร้อมกับที่เป็นการแสดงให้เห็นว่า วัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรียุธยา เพราะเป็นวัดในพระราชวังของกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ ไม่ได้ถูกเผาทำลายโดยทัพของพม่าอังวะอย่างที่มักกล่าวอางกันอีกด้วย

ส่วนวัดที่เคยสำคัญของกรุงศรีอยุธยาหลายๆ แห่ง ต่างก็ถูกปล่อยให้ทิ้งล้าง จนพังทลายลงไปในช่วงเวลาถัดจากนั้น เช่น พระปรางค์วัดพระมหาธาตุ ที่พังลงในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนอพยพกลับมาอยู่อาศัยสร้างบ้านเรือน ตามแม่น้ำลำคลองโดยรอบพระนครตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี

ดังนั้น วัดวาอารามหลายแห่งที่มีชุมชนราษฎรโดยรอบของกรุงศรีอยุธยาบางส่วนก็กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยมีชุมชนการค้าขายขนาดใหญ่ขึ้นๆ ที่ ตลาดหัวรอ ผ่านมายังวังหน้า ลงมาจนถึงตลาดเจ้าพรหม

 

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่พระราชวังหลวงกรุงเทพฯ แล้วมีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.2438 ก็มีการตั้ง “มณฑลเทศาภิบาลกรุงเก่า” โดยมีเมืองในสังกัดได้แก่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อินทร์บุรี พระพุทธบาท พรหมบุรี และมีเมืองกรุงเก่า หรือเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์บริหารมณฑล

และก็แน่นอนด้วยว่า นับแต่นั้นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ของเกาะอยุธยาก็มีมากขึ้น โดยมีตัวอย่างสำคัญก็คือ แนวกำแพงเมืองโดยรอบเกาะพระนครซึ่งเคยถูกรื้อย้ายอิฐกำแพง และป้อม ออกไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ถูกทำให้เป็นแนวถนน และฟุตบาตที่ตอนนี้เรียกว่า ถนนอู่ทอง โดยรอบเกาะพระนคร ดังนั้น แนวกำแพงที่น่าจะมีเหลืออยู่จึงพังทลายลงไปอย่างสิ้นเชิงในคราวนี้เอง โดยเหลือเพียงแนวกำแพงสั้นๆ ตรงด้านเหนือพระราชวังหลวงให้ดูเป็นที่ระลึก

พร้อมกันกับที่กรุงศรีอยุธยาได้กลายเป็นทั้งตัวอย่าง และตัวแบบสำคัญของนโยบายทุบทำลายป้อมกำแพงเมืองเก่า ในการจัดการพื้นที่ในเมืองเก่าต่างๆ ทั่วประเทศไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น คณะราษฎรได้พยายามรักษาไว้ซึ่งมรดกด้านโบราณสถานและถาวรวัตถุของชาติอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ด้วยการตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2476 โดยได้มอบหมายให้หน่วยงงานดังกล่าว สำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดอาณาเขตโบราณสถานทั่วประเทศ

แม้ทางกรมศิลปากรจะอ้างว่า หน่วยงานของตนเองกำเนิดขึ้นมาก่อนแล้วในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ภารกิจนั้นมุ่งเน้นไปยังเรื่องของการสังคีต และนาฏศิลป์เป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อถึงยุคของคณะราษฎรแล้ว พลังแนวคิดชาตินิยมที่คณะราษฎรได้นำมาใช้ก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการพิทักษ์รักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติ พร้อมกับที่มีการวางผังเมืองให้ประชาชนและชุมชนยังอยู่ร่วมกับพื้นที่โบราณสถานด้วย

 

อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตัวเมืองเก่าของกรุงศรีอยุธยาก็ได้เสียหายเพราะอะไรต่างๆ อย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นไปมากแล้ว

แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของใครที่เคยเอาอิฐหักกากปูนทั้งหลายของกรุงศรีอยุธยามาใช้เพื่อสร้างเมืองกรุงธนฯ-กรุงเทพฯ หรือของผู้คนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในตัวเมืองเก่าของกรุงศรีอยุธยา หลังการเสียกรุงหรอกนะครับ

เพราะแนวคิดในการอนุรักษ์ตัวเมืองเก่า รวมไปถึงโบราณวัตถุสถานให้คงลักษณะรูปร่างเหมือนกับลักษณะดั้งเดิมให้มากที่สุดนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเรือน พ.ศ.2461 ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงในปี พ.ศ.2488 เท่านั้นเอง

ดังนั้น ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2310 ที่กรุงศรีอยุธยาแตก จนถึงช่วงระยะเวลาที่ว่านี้ จึงยังไม่มีใครคิดว่าตนเองกำลังทำลายเมืองเก่า โบราณสถาน หรือแม้กระทั่งมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีต อย่างที่คนในยุคสมัยของเราคิด

ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดแนวความคิดดังกล่าว เกิดจากความเสียหายที่สงครามโลกในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดขึ้น ตึกรามบ้านช่องและเมืองโบราณต่างๆ ถูกระเบิดจนพังย่อยยับไปพร้อมๆ กับความภาคภูมิใจของความเป็นชาติ

ตัวอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งพื้นที่เมืองเก่าของเมืองวอร์ซอ ได้ถูกระเบิดจนเสียหายเสียยิ่งกว่าเมื่อคราวสงครามโลกครั้งแรก จึงทำให้รัฐบาลโปแลนด์ได้ทำการบูรณะพื้นที่เมืองเก่าทั้งหมดตามรูปแบบดั้งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าความภาคภูมิใจของชาติ

จนเกิดเป็นกฎบัตรเอเธนส์ และกฎบัตรเวนิส ที่ว่าด้วยเรื่องการรักษาและบูรณะโบราณวัตถุสถาน และเมืองโบราณ อย่างเป็นสากลของโลกสมัยใหม่ตามลำดับ

ช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น คาบเกี่ยวอยู่ช่วงที่กลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปศึกษาอยู่ที่ทวีปยุโรป และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศสยามสำเร็จ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีแนวคิดในการจัดการกับเมืองเก่าและโบราณวัตถุสถานต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า

แต่ที่แปลกก็คือใครที่ยังไม่เห็นค่าของโบราณวัตถุสถาน และเมืองเก่า โดยพร้อมที่จะทำลายทิ้งอย่างไม่เห็นค่า ทั้งที่วันเวลาล่วงเลยจากยุคสมัยที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองมามากกว่า 90 ปีแล้ว

 

ทางรถไฟความเร็วสูงกำลังจะถูกสร้างตัดผ่านเมืองเก่าอโยธยา ข้างเกาะเมืองอยุธยา แต่มีมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893

ด้วยอำนาจสั่งการผ่านกฎหมาย ม.44 ในช่วงเริ่มแรกของโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้

ทั้งที่ทุกวันนี้อยุธยาไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของชาติ ตามลัทธิชาตินิยมคลั่งชาติเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษก่อน

แต่เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมอันเป็น “มรดกโลก” คือเป็นของมวลมนุษยชาติแล้ว

“อยุธยา” อาจถูกทำลายเพราะโลกยังไม่รู้จักถึงคุณค่าของความเป็นเมืองเก่า แต่ “อโยธยา” กำลังจะถูกทำลายลงด้วยอำนาจเผด็จการของคนเพียงบางกลุ่ม •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ