กรองกระแส / รวมพลังต้าน คสช. ข้อเสนอ ‘เป็นไปไม่ได้’ แต่ก็มีความหมาย

กรองกระแส

รวมพลังต้าน คสช.
ข้อเสนอ ‘เป็นไปไม่ได้’
แต่ก็มีความหมาย

ข้อเสนอในเชิงหลักการที่เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองสามัคคีกันเพื่อคัดค้าน ต่อต้านนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจาก “คนนอก” ไม่ว่าจะเสนอโดยใครก็มักจะถูกต่อต้าน คัดค้านเสมอ
คัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ คัดค้านว่าเป็นความเพ้อฝัน
ไม่ว่าจะเสนอมาด้วยความปรารถนาดีจาก นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในเวทีอภิปรายอัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคเพื่อไทย กับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วม
น่าสังเกตว่าทุกครั้งที่ความคิดในแนวทางนี้ได้รับการเอ่ยถึงก็จะตามมาด้วยเสียงคัดค้าน ต่อต้านอย่างทันทีทันควัน
ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย
แม้จะถูกคัดค้าน ต่อต้าน แต่ก็คาดได้เลยว่าข้อเสนอนี้จะยังไม่ยุติ จบสิ้น หากแต่จะมีผู้หยิบยกขึ้นมาเสมอในวาระอันเหมาะสมในทางการเมือง ทั้งๆ ที่รู้อยู่เป็นอย่างดีว่ามีความเป็นไปได้น้อยอย่างยิ่ง เพราะความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ดำรงอยู่และยากที่จะมีผู้ใดสามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อเสนอนี้มีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์” หากแต่ดำรงอยู่อย่างสะท้อนความเป็น “ยุทธวิธี” ภายในตัวมันเอง

อย่างไร ยุทธศาสตร์
อย่างไร ยุทธวิธี

ไม่ว่า นายพิชัย รัตตกุล จะเสนอแนวทางนี้บนพื้นฐานในทางความคิดอย่างไรก็ตาม แต่พลันที่มันปรากฏต่อสังคมและได้รับการอภิปราย ถกเถียงกันในสาธารณะมันก็ดำรงอยู่อย่างเป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของสังคม
ที่ว่าข้อเสนอรวมพรรคมีลักษณะเป็น “ยุทธศาสตร์” เพราะมีเป้าหมายอย่างแจ่มชัดว่าเพื่ออะไร นั่นก็คือเป็นเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาล
และก็มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์อันเป็นวาระซ่อนเร้นอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ที่ว่าข้อเสนอรวมพรรคมีลักษณะเป็น “ยุทธวิธี” เพราะมีความจำเป็นต้องผ่านปฏิบัติการทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองภายในเวลาที่แน่นอน ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ในบั้นปลาย
เป้าหมายในทางยุทธศาสตร์อาจต้องการกีดกันและไม่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ที่มิได้ผ่านกระบวนการเลือกของประชาชนมาชุบมือเปิบ และเพื่อให้พรรคการเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์อยู่กับประชาชนสำแดงพลังของตนออกมา
ภายในกระบวนการเคลื่อนไหวทางความคิด ไม่ว่าในทางยุทธศาสตร์ ไม่ว่าในทางยุทธวิธี นั้นเองที่พลานุภาพที่ดำรงอยู่ภายในข้อเสนอนี้จะสำแดงพลังออกมา
เป็นพลังในทางความคิด และค่อยๆ แปรเป็นพลังในทางการเมือง

ธรรมชาติ พื้นฐาน
การต่อสู้ การเมือง

ไม่ว่าจะเป็นปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพรรค ทันทีที่ลงมือต่อสู้ในทางการเมืองจำเป็นต้องมีความแจ่มชัดในทางยุทธศาสตร์ ในทางยุทธวิธี
โดยพื้นฐานอย่างที่สุดก็คือ ต้องทำความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริง
ยิ่งเมื่อจะต่อสู้เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง อาสาตนเองให้ประชาชนเลือกเพื่อที่จะได้เข้าไปบริหารบ้านเมือง ยิ่งต้องเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงของสังคมอย่างสมบูรณ์ รอบด้าน
โดยพื้นฐานก็คือ เข้าใจให้ได้ว่าสังคมเป็นอย่างไร
สังคมไทยในปัจจุบันเป็นผลสะเทือนจากรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ทำให้อยู่ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่เป็นอำนาจนิยม
ผู้ครองอำนาจซึ่งเคยมีส่วนในรัฐประหารเมื่อปี 2549 และมีส่วนอย่างสำคัญในรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แม้จะครองอำนาจมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ยังต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปอีก และใช้เงื่อนไขที่สังคมมีความขัดแย้ง แตกแยกมาเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจและรักษาอำนาจ
ตรงนี้คือสภาพความเป็นจริงที่ทุกพรรคการเมืองจักต้องทำความเข้าใจ หากต้องการดำรงอยู่ในเวทีแห่งการต่อสู้ทางการเมืองอย่างมียุทธศาสตร์

ต้องรู้จักมิตร
ต้องรู้จักศัตรู

การทำความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา จึงเป็นความจำเป็น
ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย
การทำความเข้าใจนั่นแหละจะทำให้พรรคการเมืองรู้ว่าพรรคของตนกำลังต่อสู้อยู่กับใคร และคู่ต่อสู้ใดถือว่าเป็นคู่ต่อสู้หลัก คู่ต่อสู้ใดเป็นคู่ต่อสู้รอง
แน่นอน ในทางหลักการจำเป็นต้องรวมศูนย์กำลังไปยังคู่ต่อสู้หลัก
ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับคู่ต่อสู้รอง แม้ว่ามีความจำเป็นต้องต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง แต่โอกาสที่จะร่วมมือและช่วยเหลือกันก็มีความเป็นไปได้
นี่คือการกำหนด “ยุทธวิธี” เพื่อบรรลุเป้าหมายในทาง “ยุทธศาสตร์”
หากพรรคการเมืองใดไม่สามารถแยกมิตร แยกศัตรู ออกได้อย่างแจ่มชัด กระบวนการในการต่อสู้ก็จะสะเปะสะปะ ไม่มีทิศทางที่แน่นอน โอกาสที่จะได้ชัยชนะย่อมเป็นไปได้ยาก