E-DUANG : ยุทธศาสตร์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการเผชิญหน้า ระบอบคสช.

หากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ได้นำสังคมประเทศไทย ก้าวไปสู่มิติใหม่ในทางการเมือง โดยมีพรรคไทยรักไทย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวรถจักร

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กำลังจะกลายเป็นอีกมิติที่สำคัญอันส่งผลสะเทือนในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

เพียงแต่ครั้งใหม่นี้มีพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวรถจักรและอยู่ในห้วงแห่งการรอคอยเหมือนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เคยรอคอยมาแล้วว่าจะสามารถตีฝ่าด่านคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ในกรณีซุกหุ้นที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

เพียงแต่เมื่อมองแต่ละพันธนาการอันร้อยรัดอยู่โดยรอบพรรคก้าวไกล รอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะหนักหนาสาหัสยิ่ง กว่าพรรคไทยรักไทย ยิ่งกว่า นายทักษิณ ชินวัตร หลายเท่า

อย่างน้อยที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อันได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมี ความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

 

อย่าแปลกใจหากจะเห็นอาการกระเหี้ยนกระหือรืออันมาจากภายใน 250 ส.ว. อย่าได้แปลกใจหากจะเห็นการตั้งป้อมอย่างชนิดจังก้าจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ

นอกจาก 250 ส.ว.ที่ยืนทะมื่นอยู่เบื้องหน้าแล้ว ยังมีอำนาจจาก”องค์กรอิสระ”ไม่ว่าจะเป็น กกต. ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกรงเล็บซึ่งง้างรออยู่ผ่าน”ยุทธศาสตร์ชาติ”

เบื้องหน้าสภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็เช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไม่แตกต่าง ไปจาก นายทักษิณ ชินวัตร นั่นก็คือ ต้องหวนกลับไปหาพื้นฐานอันเป็นรากที่มาอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ประชาชนที่ให้ความไว้วางใจเลือกเข้ามา ไม่มีอื่น

 

การเดินสายแสดงความขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นที่ลานคนเมือง เพียง 1 วันหลังวันที่ 14 พฤษภาคม จึงสำคัญสำคัญพอๆกับการเดินทางไปนนทบุรี ไประยอง ไปชลบุรี

เนื่องจากผนังทองแดง กำแพงเหล็กอย่างแท้จริงของพรรคก้าวไกล และของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่มีอะไรไหนอื่นนอกจากประชาชนเท่านั้น

การอยู่กับประชาชน แนบสนิทชิดใกล้กับประชาชนจึงทรงพลัง