เผยแพร่ |
---|
22 พฤษภาคม คือวันที่ พรรคก้าวไกล นัดหมายพรรคพันธมิตร 7 พรรคเซ็น เอ็มโอยู จัดตั้งรัฐบาล
ที่เลือก 22 พฤษภาคม ก็ชัดเจนว่า ตั้งใจจะให้ตรงกับวาระ 9 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เป็น 9 ปีอันยาวนาน กว่าที่ ฝั่งฟากประชาธิปไตย จะเริ่มต้น “เปิดสวิตซ์ประชาธิปไตย”อีกครั้ง
แต่ก็ยังมีภาวะแห่งความไม่แน่นอนสูงยิ่ง
เพราะ”สิ่งตกค้าง”จากการรัฐประหาร ยังคงมีพิษสง
สามารถพลิกสถานการณ์กลับไปสู่บรรยากาศของ 9 ปีที่ผ่านมาได้ตลอดเวลา
โดยสิ่งตกค้าง ที่พูดถึงกันมากในตอนนี้ ก็คือ พรรควุฒิสภา 250เสียง ที่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่ก็อาจสามารถ ทำให้ ฉันทามติของประชาชน ที่มอบให้พรรคก้าวไกล เป็น “ซูเปอร์สีส้ม” เข้ามาเป็น”ซูเปอร์การเปลี่ยนแปลง”สะดุดลงได้
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถือเป็นความอัดอั้นตันใจของมวลหมู่ประชาชนอย่างมาก
เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงเจตนารมย์ ต้องการให้”ประชาธิปไตย”กลับคืนสู่ภาวะ”ปกติ” อย่างสงบ สันติ ผ่าน”บัตรเลือกตั้ง”
มิได้ใช้”ปืน-รถถัง” มาหักชิง อย่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำขึ้น เมื่อ 9 ปีก่อน
หากแต่มากด้วยความ “เปิดกว้าง”
โดยเปิดโอกาส บุคคล และพรรค ที่ สืบเนื่อง มาจากการรัฐประหาร ให้สามารถเข้ามาแข่งขันในการเลือกตั้ง ได้อย่างเสรี เท่าเทียม
หรือมีแต้มต่อที่เหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ จากการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ที่กุมกลไกรัฐเอาไว้ในมืออย่างเต็มที่
แต่ประชาชนและพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม ก็ยอมรับในกฏกติกานั้น และเดินหน้าหาเสียงเพื่อขอการสนับสนุนจากประชาชนตามศักยภาพ
ซึ่งที่สุด พรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม ก็สามารถกุมเสียงข้างมาก โดยตามหลักการพื้นฐานที่สุด ย่อมได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล ตามเจตนารมย์ที่ประชาชนมอบให้นั้น
ขณะที่ฝ่ายที่พ่ายแพ้ คือขั้วรัฐบาลเดิม ก็ต้องยอมรับและเล่นบทบาทใหม่ คือฝ่ายค้านต่อไป
ส่วน 3 ป. คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งแล้ว จะทำอย่างไร คงว่าไปตามอัธยาศัย
ในเบื้องต้น พล.อ.อนุพงษ์ คงเลือกไม่ไปต่อ
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ถ้าจะตัดสินหน้าทางการเมืองต่อ ก็ต้องไปสร้างพรรคที่ตนสังกัด ให้กลับมาได้ใจประชาชนอีกครั้ง
หรือหากเห็นว่า ผลการเลือกตั้ง ประชาชนได้ตัดสินแล้วว่า ไม่ต้องการให้ 3 ป.อยู่ในอำนาจต่อ ก็อาจจะถือโอกาส “วางมือ”จากการเมืองเลย ก็คงไม่มีใครขัดข้อง
ซึ่ง อยากให้ข้อสังเกตุสำคัญประการหนึ่ง ว่า ไม่ว่า 3 ป.จะเลือก “อนาคต”ของตนเองแบบไหน
ล้วนเป็นการเลือกได้โดยสมัครใจ
จะไปต่อ ก็ไปได้
หรือหากจะวางมือ ก็เป็นการวางมือแบบมี”บันได”มาทอดวางให้ก้าวเดินลงอย่างราบรื่น สงบ สันติ
ซึ่งนี่คือจุดเด่นอันสำคัญของ”ระบอบประชาธิปไตย”
ที่เมื่อมีการ”เปลี่ยนผ่าน” ก็จะพบว่ามีการเปิดหลายช่องทางให้เลือกเดินหรือเลือกไป
ไม่คับแคบ แตกหัก เหมือน การรัฐประหาร
ที่เมื่อเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้ว จะไม่มีทางเลือก นอกจากถูกหักโค่นลง ในฐานะศัตรูเท่านั้น
นี่จึงถือเป็นคุณูประการของ”ประชาธิปไตย” ที่จะต้องตระหนักถึง
และเมื่อ ประชาชนแสดงเจตนารมย์ “เปิดสวิตซ์ประชาธิปไตย”หลังมืดมิดมาร่วมทศวรรษแล้ว
ทุกฝ่ายจึงควรเคารพและสนับสนุน
คำถามจึงพุ่งตรงไปถึง อดีตคณะรัฐประหาร และบุคคลหรือองค์กรที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร อย่างวุฒิสภา”ลากตั้ง”
จะร่วม”เปิดสวิตซ์ประชาธิปไตย”ด้วยการเคารพเจตนารมย์ของประชาชนอย่างไร!