เมนูข้อมูล : เหตุผลที่ห่างความจริง

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะประกาศไปแล้วทำนองอนุญาตให้ประเทศมีการเลือกตั้งได้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยจะกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในเดือนสิงหาคม 2561

เป็นการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดภาพว่าประเทศไทยเรากลับคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสายตานานาชาติ แม้จะรับรู้กันเกิดขึ้นหลังจากทีมงานของ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบฉบับใหม่ที่กำหนดโครงสร้างอำนาจไปในทางให้สิทธิในอำนาจกับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าที่จะอยู่ในกรอบของความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ

ด้วยเหตุผลที่แม้ไม่ได้นำมาอ้างอย่างเปิดเผย แต่เป็นที่รู้กันว่าเพราะคนที่เข้ามากำหนดความเป็นไปของประเทศเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีคุณภาพพอที่จะเข้าร่วมกำหนดอย่างเท่าเทียมกับคนที่ได้รับการสถาปนาว่าเป็นคนดีมีคุณภาพทั้งหลาย

แต่ไม่ว่าจะเหลือสิทธิความเป็นประชาชนประเทศเดียวกันสักเท่าไร

ดูเหมือนว่าขณะที่กลุ่มผู้ได้รับการสถาปนาว่าเป็นคนดีมีคุณภาพได้รับสิทธิเหนือกว่าแต่กลับมีท่าทีไม่ค่อยอยากจะให้มีการเลือกตั้งสักเท่าไร อาจจะเพราะระบบที่ใช้การแต่งตั้งเต็มรูปในปัจจุบันสนองความมักง่ายในการเข้าสู่อำนาจได้ดีกว่า ด้วยเพียงแค่แสดงให้เห็นว่าพร้อมจะสอพลอเพื่อเป็นพวกเดียวกัน พร้อมจะรับใช้เป็นฝักถั่ว หรือไม้กันหมาให้ก็เสพวาสนาได้สบาย ไม่ต้องไปหาเสียงเลือกตั้งให้ยุ่งยาก และเสี่ยงจะเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับส่วนแบ่งอำนาจให้น้อยนิดเสียอีกที่โหยหาการเลือกตั้งตามกติกาที่ไม่เห็นค่าพวกเขา

ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ล่าสุดเรื่อง “ปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ทำขึ้นหลัง นายวิษณุ เครืองาม กุนซือใหญ่ของผู้กำหนดความเป็นไปประเทศออกมาเล่าให้ฟังว่าจะ “เลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่”

ในคำถามที่ว่า “การจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรจัดในรูปแบบใด” ร้อยละ 53.9 ตอบว่า “จัดพร้อมกันทุกระดับทั่วประเทศ” ร้อยละ 33.2 บอกให้จัดบางระดับก่อน เช่น เขตปกครองพิเศษ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร้อยละ 12.9 ตอบว่าให้จัดเฉพาะในส่วนที่หมดวาระก่อน คสช. เข้ามาบริหารประเทศ

เมื่อถามว่า “หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจะทำให้บรรยากาศการเมืองไปในทิศทางใด” ร้อยละ 63.0 ตอบว่าน่าจะดีขึ้น ร้อยละ 32.5 เห็นว่าน่าจะเหมือนเดิม มีร้อยละ 4.5 เท่านั้นที่เห็นว่าน่าจะแย่ลง

และเมื่อถามว่า “การปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะส่งผลอย่างไรต่อบ้านเมือง” ร้อยละ 48.1 เห็นว่าทำให้ได้ผู้นำที่ดีมีคุณสมบัติตรงกับรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 16.6 เห็นว่าจะได้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาบริหารท้องถิ่นเหมือนเดิม

ร้อยละ 15.7 เห็นว่าจะกลับไปสู่การซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนเดิม

เป็นคำตอบที่แม้จะไม่บ่งบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยตรง แต่สามารถสะท้อนความศรัทธาประชาชนต่อการเลือกตั้ง

คำตอบจากทุกคำถามสะท้อนว่าประชาชนยังปรารถนาที่จะใช้การเลือกตั้งมาเป็นระบบบริหารจัดการประเทศ

สะท้อนว่าแม้มีความพยายามที่จะให้เห็นประสิทธิภาพของระบบอื่น โดยพยายามชี้ให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พยายามให้เกิดความหวังในรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมากมายเพียงใด

ประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง

ภาพสะท้อนนี้คงวิเคราะห์กันไปหลากหลายเหตุผล

อาจจะเป็นเพราะประชาชนไทยเราปลูกฝังความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยมายาวนานจนกระทั่งศรัทธานั้นหยั่งรากลึกในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยไปแล้ว

หรืออาจจะเพราะ 3 ปีกว่าที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า “รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” เทียบไม่ได้กับ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่

เพียงแต่ธรรมชาติของอำนาจนั้น มักชักจูงให้เกิดความคิดหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง

เป็นธรรมชาติที่ทำให้ห่าง และมองไม่เห็นความเป็นจริง