คณะทหารหนุ่ม (41) | “ขาลง” ของเกรียงศักดิ์ กับส.ว.ที่ “ตั้งมากับมือ”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

แปรอักษร “นรม.มาแล้ว”

“พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ ยุทธการยึดเมือง” โดย พ.ท.รณชัย ศรีสุวนันท์ ขยายความ “การเดินเกมจะเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล” ว่า

“ภาพของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกมาในขณะนั้นก็คือความซื่อสัตย์ คนดี ในชุดพระราชทานที่สง่างาม คือความหวังใหม่ของประชาชนและของกลุ่มทหารหนุ่ม ด้วยการไปปรากฏตัวตามสถานที่ต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ศึกษาของปัญญาชน

“การไปบรรยายเรื่องภาวะความมั่นคงภายในประเทศที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในต้นเดือนมกราคม 2523 ก็ดี และการปรากฏตัวที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ตาม ล้วนเป็นการจุดกระแสการยอมรับให้ประชาชนที่มีต่อ พล.อ.เปรม ชนิดที่ไม่มีอะไรหยุดยั้งแล้ว”

“และแม้กระทั่งการไปเป็นประธานแข่งขันกีฬาภายในกองทัพบกที่ พล.อ.เปรมไปเป็นประธานแล้วได้ปรากฏมีการแปรอักษรคำว่า ‘นรม.มาแล้ว’ เป็นต้น”

“ดังนั้น ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2523 การที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันก็ไม่ได้รับการสนองตอบจากภาคประชาชน หรือแม้แต่กลุ่มทหารหนุ่มก็ไม่สนับสนุนด้วย”

 

“ขาลง” ของเกรียงศักดิ์

เกษม ศิริสัมพันธ์ ก็บันทึกบทบาทของคณะทหารหนุ่มในช่วงปลายรัฐบาลเกรียงศักดิ์ 2 ไว้ใน “เหลียวมองหลัง” ดังนี้

“สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นยุค ‘แกงเขียวหวานใส่บรั่นดี’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ชอบเข้าครัวทำกับข้าวเลี้ยงแขก และอาหารที่ท่านชอบทำก็คือแกงเขียวหวาน ซึ่งต้องเติมบรั่นดีลงไปด้วย บรั่นดีเป็นเครื่องดื่มโปรดปรานของท่าน”

“คุณจำลอง (ศรีเมือง) ชอบมาคุยการเมืองกับผม เฉพาะอย่างยิ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ตอนนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้ง 2522 แต่ไม่สามารถได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่างไม่เข้าร่วมรัฐบาล รัฐบาลเกรียงศักดิ์ 2 จึงเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มั่นคงนัก”

“ต่อมาผมได้ทราบจากคุณจำลองว่า กลุ่มยังเติร์กกำลังบีบและกดดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

“แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่ากลุ่มนายทหารหนุ่มกลุ่มนี้จะสนับสนุนผู้ใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งพรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยกิจสังคมได้เสนอญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะลงมืออภิปรายในการจประชุมสภาในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พอเย็นวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ ก็มีข่าวมาว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้เดินทางไปกับนายทหารคนหนึ่งไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่”

“อันที่จริงผมไม่ทราบว่านายทหารที่เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ที่เชียงใหม่กับนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์เป็นใคร เพิ่งมาทราบจากบทความเรื่อง ‘อดีตแห่งปัจจุบัน’ ของ ‘ดวงเดือนประดับดาว’ ในมติชนรายวันฉบับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2544 ว่า นายทหารผู้นั้นคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

 

ทางเลือกของเกรียงศักดิ์

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เชื่อมั่นในเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาซึ่ง “ตั้งมากับมือ” มากกว่าเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จีงไม่เอาพรรคขนาดใหญ่เข้าร่วมรัฐบาล ทำให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยความยากลำบาก

รัฐบาลเข้ารับหน้าที่เมื่อเมษายน พ.ศ.2522 เพียงต้นปีถัดมา เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 รัฐบาลก็ประกาศขึ้นราคาน้ำมันอันสืบเนื่องมาจากวิกฤตพลังงานโลก

ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนและประชาชน จนมีการเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งมีทั้งพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523

ในขณะนั้นทางเลือกของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งตกเป็นรองทางการเมือง มีอยู่ 3 ทางคือ 1.ยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ 2.ลาออก ให้รัฐสภาออกเสียงหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ 3.ปฏิวัติตัวเอง แบบที่จอมพลถนอม กิตติขจร เคยทำ

คณะทหารหนุ่มกับนายทหารระดับสูงของกองทัพบกโดยเฉพาะตัวผู้บัญชาการทหารบกคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และจะไม่นำกำลังเข้าร่วมหากมีความพยายามปฏิวัติตัวเอง นอกจากนั้น คณะทหารหนุ่มยังได้แสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งว่าต้องการให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง

ในเอกสารที่แจกจ่ายเฉพาะกลุ่มของคณะทหารหนุ่มต่อมาในภายหลังเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ.2523 พ.อ.มนูญ รูปขจร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงจุดยืนของคณะทหารหนุ่มในช่วงปลายรัฐบาลเกรียงศักดิ์ 2 ว่า

“สืบเนื่องมาจากการผลักดันของกลุ่มเราที่ทำให้ผู้นำประเทศคนเดิมซึ่งกำลังสูญเสียศรัทธาของประชาชนลงอย่างมากในตอนนั้นตระหนักในข้อเท็จจริงแล้วลาออกไปอย่างราบรื่น ก่อนที่จะเกิดปฏิกิริยาจากฝูงชนจนเกิดความวุ่นวายขึ้น”

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกกลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 แล้วได้มีการซาวด์เสียงในรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งได้แก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตามความคาดหมายของทุกฝ่าย

 

“ผมจะไปจัดการให้เอง”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เล่าไว้ในหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ว่า นอกจากจะมีกระแสจากนักการเมืองทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย ที่ปฏิเสธ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และต้องการเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้วยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากสมาชิกวุฒิสภาสายทหารหนุ่ม

“ก็มนูญนี่แหละเป็นคนโทรศัพท์มาบอกในเช้าวันหนึ่งที่บ้านว่า ป๋าครับ ตอนนี้พี่เกรียงคงไม่ไหวแล้ว ให้ป๋าเป็นเถอะ ผมก็ตอบไปว่า ผมเป็นไม่ได้หรอก เพราะผมไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นนายกฯ และก็ไม่อยากเป็นด้วย แล้วมนูญเขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมจะไปจัดการให้เอง ผมจะดูแลให้เป็น ซึ่งผมก็บอกเขาไปอีกว่า อย่าไปจัดการอะไร เพราะว่าผมไม่อยากเป็น”

 

เข้าเฝ้าฯ พร้อม พล.อ.เปรม

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เชิญรัฐมนตรีบางท่าน สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลไปประชุมที่ กรป.กลาง สนามเสือป่า โดยอ้างว่าเพื่อเตรียมรับมือญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นการประชุมเพื่อประเมินกำลังและสถานการณ์ของรัฐบาลในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเพื่อกำหนดทางเลือก และในคืนนั้นเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ พร้อมกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เล่าถึงเหตุการณ์เข้าเฝ้าฯ เมื่อคืน 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ว่า

“วันที่พี่เกรียงไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ภูพิงค์ ผมก็ไปกับพี่เกรียงด้วย ในตอนเช้าผมไปบ้านพี่เกรียง ท่านก็เอาใบลามาให้ผมดูและบอกว่า พี่จะลาออกแล้ว ผมก็บอกว่า อ้าวทำไม ท่านก็บอกว่ามันคงลำบาก ถ้าไม่ลาออกแล้วก็จะมีปัญหา ก็ชวนผมไปเข้าเฝ้าฯ ผมก็ไปเข้าเฝ้าฯ ก็ไปด้วยกัน 2 คน มี 2 คนเท่านั้นที่ไป พี่เกรียงไม่ได้บอกใครเลย พอมาถึงกรุงเทพฯ ลงจากเครื่องบินประมาณ 2-3 ทุ่มแล้วมั้ง แล้วท่านก็ไปร่างอะไรของท่านเพื่อที่จะไปอ่านในสภา เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ทราบเลย”

การเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 นับว่ามีความหมายอย่างยิ่ง…

คนหนึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี วันรุ่งขึ้นก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ

คำกล่าวของ พ.อ.มนูญ รูปขจร ที่ว่า “ไม่เป็นไร ผมจะไปจัดการให้เอง” จึงเสมอเป็นเพียง “ปัจจัยหนึ่ง” สำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น มิใช่เป็นปัจจัยอันมีลักษณะชี้ขาด

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก