‘กิน’ สร้างชาติ : การส่งเสริมโภชนาการสมัยจอมพล ป. (1)

ณัฐพล ใจจริง

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระบายความรู้สึกที่มีต่อการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ผ่านมาว่า

“เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจแล้ว รู้สึกว่า ประเทศชาติของเราได้รับความทรุดโทรมมาจนสุดขีด สภาพการที่ได้กระทำมาแล้วเป็นเวลา 150 ปีนั้น เกือบจะกล่าวได้ว่า ราษฎรส่วนมากมีผ้านุ่งเพียง 1 ผืนต่อครอบครัว เงินมีเกือบไม่ถึง 10 สตางค์ต่อครอบครัว โรคภัยไข้เจ็บมีประจำอยู่เกือบทั้งสิ้น ท่านจะเห็นความหรูหราแต่เฉพาะในพระนครเท่านั้น ส่วนในชนบทนั้น มีสภาพน่าสังเวชอย่างสุดแสนจะทนอยู่ได้”

(จอมพล ป., “ปาฐกถา 24 มิถุนายน 2477”, 2477)

รัฐบาลมุ่งส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่พลเมืองและตำราวิชาอาหาร (2482)

การปลดปล่อยให้พลเมืองเป็น “เจ้า”
ในชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน

แม้นว่ารัฐสมัยใหม่ครั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเริ่มรับความเป็นสมัยใหม่ทางวิทยาการจากตะวันตก มีการนำเข้าการศึกษา การแพทย์ ฯลฯ เข้ามา รวมทั้งรัฐได้ขยายบทบาทหน้าที่ไปมากกว่าครั้งรัฐสมัยโบราณที่ทำแต่เพียงงานเวียง วัง คลัง นามา เริ่มเข้ามาควบคุมสังคมมากขึ้น เช่น การควบคุมโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดเพื่อป้องกันมิให้ราษฎรต้องล้มตายไปมากจนกระทบต่อแรงงานในการทำงานจนกระทบต่อยอดการเก็บภาษีของรัฐ

เมื่อรัฐจึงเข้ามาจัดการงานสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าฯ เช่น การจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นเพื่อดูแลความสะอาดในชุมชน และการเริ่มเข้ามาจัดการสถานที่ขับถ่ายของผู้คนกลาดเกลื่อนจนก่อโรคระบาดที่สร้างความตายจำนวนมากให้กับอาณาประชาราษฎร์ (มนฤทัย ชัยวิเศษ, 2542)

รัฐสมัยใหม่ครั้งระบอบเก่าเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์ การควบคุมโรคมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “รัฐเวชกรรม” (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2550)

อย่างไรก็ตาม อาณาประชาราษฎร์ผู้ถูกปกครองครั้งนั้นถูกมองเพียงเป็นผู้อาศัย เป็นทรัพย์สิน และผู้พึ่งพาบารมีตามแต่การลิขิตของผู้ปกครอง ด้วยเหตุนี้ อาณาประชาราษฎร์ครั้งนั้นจึงมิได้เป็นเจ้าของชีวิตตนเองและยังไม่ใช่สิ่งสำคัญเทียบเท่าชนชั้นปกครอง

จวบจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475 ที่ปลดปล่อยและยกฐานะของอาณาประชาราษฎร์ให้เป็นเจ้าของประเทศ เป็นพลเมืองผู้ทรงอำนาจอธิปไตยตามการปกครองแบบประชาธิปไตย พลเมืองจึงมีสิทธิเสรีภาพเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเหนือเนื้อตัวร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินที่พวกเขาหามาได้เอง

อีกทั้งเกิดกระแสการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงให้กับพลเมือง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษที่เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจการบำรุงสุขภาพพลามัยให้คนไทยด้วยการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์

โดยยกตัวอย่างรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่แต่เพียงเข้ามาส่งเสริมการบริโภคของประชาชนให้ถูกหลักโภชนาการเท่านั้น แต่รัฐบาลยังค้นคว้าการแปรรูปอาหารจากวัตถุต่างๆ ที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพของประชาชนด้วย (สุภาพบุรุษ, 18-19 สิงหาคม 2482)

ในปี 2482 ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ ข้าราชการกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ เขียนหนังสือวิชาอาหารขึ้น มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องอาหารกับสุขภาพ การทำอาหารให้สุก ระบบการย่อยอาหาร อาหารประเภทต่างๆ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันและน้ำ โปรตีนจากนม ถั่วเหลืองและเนื้อสัตว์ เกลือแร่ วิตามิน ผัก น้ำกาก ผลไม้ เครื่องดื่มชูรส การจัดอาหารให้เหมาะสม ถนอมอาหาร คติที่ผิดเกี่ยวกับอาหาร ของแสลง

เขาเห็นว่า แม้นไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์ในการเกษตรก็ตาม แต่ความรู้และมาตรฐานการกินของคนไทยนั้นมิได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ เลย โดยเฉพาะภาวะทุพโภชนาการในการกินโปรตีน เกลือแร่และวิตามิน ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง สมที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไป (ปุ๋ย, 2482, 21-22)

ร่างกายของพลเมืองครั้งระบอบเก่า

ร่างกาย คือ จักรกล
มิใช่สังขารตามที่เขาหลอกลวง

ความรู้สึกนึกคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ หาใช่เพียงแค่ประเด็นในความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น แต่คือ การมีพลเมืองที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมมีส่วนในการสร้างชาติให้แข็งแกร่งด้วย ดังในคู่มือชีวิตอนามัย (2483) ย้ำว่า

“ทุกคนเป็นกำลังของชาติ ชาติของเราจะมีแสนยานุภาพอันแข็งแกร่งได้ ก็เพราะมีพลเมืองที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายของมนุษย์จะสมบูรณ์แข็งแรงไม่อ้อนแอ้นนั้น ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารป็นส่วนใหญ่” (กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการกับการออกกำลังกายคือ การช่วยสร้างชาติในอีกทางหนึ่งด้วย

ในหนังสือเล่มนี้นำหลักวิทยาศาสตร์มาอธิบายการเจ็บป่วยว่าเกิดจากการบริโภคอาหาร มิใช่เกิดจากภูตผีปีศาจ ดังความรู้เก่าที่สืบต่อกันมาว่า

“ร่างกายของมนุษย์จะสมบูรณ์แข็งแรงไม่อ่อนแอนั้น ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่ ถัดจากนั้นจึงถึงการบริหารร่างกาย แต่มนุษย์ในสมัยโบราณยังไม่ทราบถึงความจริงข้อนี้ เมื่อร่างกายอ่อนแอทรุดโทรม เจ็บป่วยก็มักจะโทษภูตผีปีศาจหรือสิ่งลึกลับต่างๆ ว่าเป็นผู้ทำ…”

(กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

ภาพโฆษณาให้ชายหญิงกินข้าวอนามัย (2483) และธงไตรรงค์กลายเป็นธงที่มีความสำคัญสูงสุด

รวมทั้ง ความไม่รู้ การยอมจำนนต่อชะตากรรม ยอมต่อการเอารัดเอาเปรียบของคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้สุขภาพร่างกายของพลเมืองคนไทยย่ำแย่ บริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์น้อย เช่น ชาวนาและกรรมกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกินแต่อาหารที่มีประโยชน์น้อย เช่น กินอาหารรสจัดเพื่อให้กินข้าวได้มากๆ ดังนั้น ภาวการณ์ขาดสารอาหารจึงเกิดขึ้นทั่วไป (หลวงกาจสงคราม, 2484, 19-22)

ช่วงเวลานั้น ปรากฏการสร้างมโนทัศน์ว่า ร่างกายเป็นจักรกลที่มิใช่กายสังขารอันเป็นผลรวมแห่งกรรมที่มาจากชาติปางก่อนสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สมัยใหม่และความเข้าใจในหลักวิทยาศาสตร์ว่า หากจะให้สร้างร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้นจำเป็นต้องกินอาหารที่ดี

ดังว่า “ร่างกายของมนุษย์เราก็เหมือนกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ ธรรมดาของเครื่องยนต์ ถ้าเราให้แต่น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียวย่อมจะเดินให้สะดวกเท่าที่ควรจะเป็นไม่ได้ เราจำเป็นต้องให้น้ำเพื่อบรรเทาความร้อนและน้ำมันหยอดเครื่องเพื่อให้หมุนได้คล่องแคล่วจนมีกำลังพอที่ใช้ทำการงานได้” (กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

การส่งเสริมการกินอาหารให้ครบหมู่เพื่อสุขภาพแข็งแรงที่ไม่เน้นแป้ง

สำนึกอย่างใหม่
เกี่ยวกับการดูแลตนเอง

การดูแลร่างกายมนุษย์กับจักรกลเปรียบได้ว่า ร่างกายจำต้องกินอาหารให้ครบหมู่ตามหลักโภชนศาสตร์อย่างเพียงพอ

“เครื่องยนต์ยังต้องการอาหารหลายอย่างฉันใด ร่างกายของมนุษย์เราก็ฉันนั้น ร่างกายย่อมต้องการอาหารประเภทเชื้อเพลิง โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นต้น ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย หรือน้อยเกินไป ร่างกายก็จะอ่อนแอ ขัดข้องไม่แข็งแรง” (กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. ที่มุ่งสร้างชาติ ด้วยการสร้างพลเมืองที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ด้วยอาหารนั้น

เขาย้ำว่า “…อาหารนอกจากจะเป็นเครื่องยังชีพแก่ร่างกายแล้ว ยังเป็นสิ่งสามารถทำให้พลเมืองมีอนามัยมั่นคง มีกำลังวังชาแข็งแรงพอที่เป็นกำลังของชาติให้ก้าวหน้าเจริญขึ้นโดยลำดับ เหตุฉะนั้น การเรียนรู้เรื่องวิชาอาหารจึ่งควรนับเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาความจำเป็นทั้งหลาย” (จอมพล ป., 2482, ค.)

อาหารของเรา 2482

หมอประวัติ ตัณฑ์สุรัตน์ เขียนบทความเรื่อง “ความสมบูรณ์แห่งร่างกายและใจ” ในสมุดคู่มือชีวิตอนามัย (2483) เพื่อชี้ให้ผู้อ่านซาบซึ้งถึงประโยชน์ของการเพาะกาย คุณค่าของการเพาะกายหรือการบริหารมิใช่แค่เพียงทำให้กล้ามเนื้อใหญ่โตเท่านั้น แต่ยังทำให้มีความมานะอดทน ไม่กลัวต่อความลำบาก มีจิตใจที่แน่วแน่ กล้าหาญ ทรงตัวดี คล่องแคล่ว (45)

ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป.ส่งเสริมให้คนไทยบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย ควรบริโภคอาหารตามปกติที่ปลูกหรือเพาะเลี้ยง เช่น หมู่ เป็ด ไก่ ไข่ และปลา (ก้องสกล, 72)

นอกจากนี้ รัฐบาลสร้างคำขวัญส่งเสริมสุขภาพพลานามัยให้กับสังคมไทย เช่น “การรับประทานอาหารต้องเป็นเวลาแน่นอนและเลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย” และ “จงกินแต่อาหารที่ต้มสุก ไม่มีแมลงวันตอม” (อุทัยวรรณ, 71) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ เป็นต้น

พลเมือง คือ ชาติ และพลเมืองที่แข็งแรง คือ ชาติที่เข้มแข็ง รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับพลเมืองในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของชาติด้วย ดังนั้น พลเมืองที่แข็งแรงจึงหมายถึงการทำให้ชาติมีความเข้มแข็งไปด้วย และการทำให้พลเมืองแข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารให้ถูกหลักอาหาร 5 หมู่นั่นเอง