ชวนรู้จัก ‘กัสต์นาโด’ ที่อาจมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
กัสต์นาโดที่รัฐแคนซัส เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.2011 ที่มาของภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gustnado

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เราก็ต้องคอยรับมือกับอิทธิฤทธิ์ของเมฆฝนฟ้าคะนอง อย่างเช่น ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และลมกระโชก แต่ที่ไม่ค่อยทราบกันก็คือ ลมกระโชกนี่ยังสามารถทำให้เกิดพายุหมุนแบบพิเศษแบบหนึ่งได้อีกด้วย

ก่อนอื่นลองดูพฤติกรรมของเมฆฝนฟ้าคะนองกันครับ

เมฆฝนฟ้าคะนองมีกระแสอากาศ 2 แบบอย่างนี้ครับ

แบบแรกเป็นกระแสอากาศอุ่นที่ไหลเข้าสู่ฐานเมฆ พาความชื้นเข้าไปเติมในก้อนเมฆทำให้เมฆเติบโตขึ้น เรียกว่า อัพดราฟต์ (updraft) ซึ่งในแผนภาพระบุว่า Warm Air

ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นกระแสอากาศเย็นที่พุ่งออกมาจากฐานเมฆ เรียกว่า ดาวน์ดราฟต์ (downdraft) ซึ่งในแผนภาพระบุว่า Cool Air

ดาวน์ดราฟต์ หรือกระแสอากาศเย็นที่พุ่งลงมานี่แหละครับที่เป็นพระเอกของเราในบทความนี้ คือเมื่อมันที่พุ่งออกมาจากฐานเมฆแล้วปะทะกับพื้นก็จะแผ่กระจายออกไป เกิดเป็นลมกระโชก เรียกว่า gust (กัสต์) หรือ gust wind (กัสต์วินด์)

โดยนิยามแล้ว ลมกระโชก คือลมที่มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกินราว 20 วินาที เมื่อลมกระโชกพุ่งออกไปก็จะเกิดแนวรอยต่อระหว่างลมกระโชก (ที่ค่อนข้างเย็น) กับอากาศโดยรอบ (ที่อุ่นกว่า) แนวรอยต่อดังกล่าวเรียกว่า แนวปะทะลมกระโชก (gust front)

ลมกระโชกที่เร็วกว่า 60 น็อต หรือราว 111 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจทำให้เกิดการหมุนวนของอากาศในแนวดิ่งตามบริเวณแนวปะทะลมกระโชก การหมุนวนนี้เรียกว่า กัสต์นาโด (gustnado) หรือหากสะกดให้ใกล้เคียงกับเสียงของฝรั่งมากขึ้นก็เขียนว่า ‘กัสต์เนโด’ ก็ได้

กัสต์นาโดเริ่มหมุนขึ้นจากผิวพื้นและอาจพุ่งสูงขึ้นได้มากถึง 300 ฟุต หรือราว 100 เมตร ทั้งนี้ บริเวณที่เกิดกัสต์นาโด ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวปะทะลมกระโชก อาจอยู่ห่างจากเมฆฝนฟ้าคะนองได้ถึงราว 3.7-5.6 กิโลเมตร เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี กัสต์นาโดมักคงตัวอยู่ไม่นานนัก คือ เพียงแค่ไม่กี่วินาที หรืออย่างเก่งก็ระดับหลายนาที

แผนภาพแสดงการเกิดกัสต์นาโด
ที่มา : https://www.skybrary.aero/articles/gustnado

ควรทราบด้วยว่า แม้คำว่า gustnado มาจากคำว่า gust front + tornado ก็จริง แต่กัสต์นาโดมีกลไกการเกิดแตกต่างไปจากทอร์นาโดแท้ๆ อย่างสิ้นเชิง

เล่าย่อๆ ก็คือ ถ้าเป็นทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์ (supercell tornado) ก็จะมีกระแสลมหมุนวนในแนวดิ่งในตัวเมฆซูเปอร์เซลล์ กระแสลมหมุนวนนี้เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดงวงหย่อนลงมาจากฐานเมฆ หากงวงนี้แตะพื้นเมื่อใด ก็จะเรียกว่าเกิดทอร์นาโด

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ทอร์นาโดไม่ได้เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์ (nonsupercell tornado) นั้นเกิดจากการที่กระแสอากาศเริ่มหมุนวนบริเวณเหนือผิวพื้น ซึ่งอาจเป็นพื้นดินหรือผืนน้ำ แล้วเกิดงวงพายุหมุนวนขึ้นไปเชื่อมต่อกับเมฆก้อนขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบน หากเกิดเหนือพื้นดิน เรียกว่า แลนด์สเปาต์ (landspout) แต่หากเกิดเหนือผืนน้ำ จะเรียกว่า วอเทอร์สเปาต์ (waterspout) หรือในภาษาไทยเรียกว่า นาคเล่นน้ำ หรือพวยน้ำ

มีข้อสังเกตแบบง่ายๆ ว่า ด้านบนของกัสต์นาโดมักไม่มีเมฆ ซึ่งต่างจากทอร์นาโดแท้ๆ ไม่ว่าแบบใด

กัสต์นาโดอาจมีกำลังแรงในระดับ EF-0 (105-137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หรืออาจมากถึงแค่ EF-1 (138-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตัวย่อ EF มาจากคำว่า Enhanced Fujita ซึ่งเป็นมาตราที่ใช้ระบุความเร็วลมของทอร์นาโดแบบแท้ๆ

ในประเทศไทยเคยเกิดกัสต์นาโดแล้วเป็นระยะในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง โดยชาวบ้านหรือสื่อสารมวลชนอาจเรียกว่าง่ายๆ ว่า ‘ลมหมุน’ ‘ลมบ้าหมู’ หรือแม้แต่ ‘พายุงวงช้าง’

แต่ทว่า คำที่ว่ามานี้มีความหมายกว้างแคบต่างกันไป กล่าวคือ ลมหมุน เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกกระแสลมที่พัดวนรอบบริเวณๆ หนึ่ง

ส่วนคำว่า ลมบ้าหมู นั้น หากยึดตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ “ลมหมุนที่เกิดในบริเวณแคบๆ มีความรุนแรงไม่มากนัก มักหอบเอาของเป็นวงขึ้นไปในอากาศ” น่าจะใกล้เคียงกับ ดัสต์ดีวิล (dust devil) ซึ่งเป็นลมหมุนที่เกิดบนพื้นร้อนๆ มากที่สุด

และคำว่า พายุงวงช้าง ควรจะเก็บไว้เรียกทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์ อันได้แก่ แลนด์สเปาต์ และวอเทอร์สเปาต์ (หรือนาคเล่นน้ำ) เพราะมีลักษณะเป็นลำงวงชัดเจน

น่าสังเกตว่าคำว่า ‘พายุงวงช้าง’ เป็นคำที่ติดปากคนไทยจำนวนมาก

 

มีกรณีกัสต์นาโดที่เป็นข่าวชัดๆ คือ กัสต์นาโดที่เกิดที่สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ข่าวจาก Thai PBS ออนไลน์ ที่ https://news.thaipbs.or.th/content/284894 ระบุว่า

“…เกิดพายุหมุน หรือที่เรียกว่า พายุงวงช้างในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในซอยมังกร-นาคดี ตำบลแพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ ความรุนแรงของพายุได้พัดพาเม็ดทราย ฝุ่นละออง สิ่งของ ป้ายโฆษณา รวมทั้งกรงนก ไปตกกระจายทั่วบริเวณ ส่งผลให้ฝ้าเพดานของห้องที่อยู่ระหว่างตกแต่ง เพื่อเปิดเป็นร้านค้าในปั๊มน้ำมันได้รับความเสียหาย

นายเอกพงษ์ ชอบใช้ เจ้าของคลิป เปิดเผยว่า เห็นพายุพัดหมุนด้วยความแรงจากฝั่งตรงข้ามปั๊มน้ำมัน ก่อนจะหอบเอาสิ่งของหลายอย่างเข้าไปวงพายุ จากนั้นได้เคลื่อนตัวเข้ามาในปั๊ม ทำความเสียหายในหลายจุด ก่อนจะเกิดฝนตกหนักตามมา” และ “ความรุนแรงของพายุลูกนี้ ยังทำความเสียหายให้กับหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ติดด้านหลังปั๊มน้ำมัน โดยพายุพัดเอากระเบื้องหลังคาบ้าน ได้รับความเสียหาย 11 หลัง รถยนต์ถูกกระเบื้องหลังคาตกใส่ ทำให้กระจกหลังแตก เสียหาย 1 คัน นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ล้มขวางถนนในหมู่บ้าน”

ลักษณะที่ว่ามานี้ทำให้มั่นใจว่าพายุหมุนในข่าวดังกล่าวเป็นกัสต์นาโดด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่

(1) ข้อความ “…ก่อนจะเกิดฝนตกหนักตามมา” เพราะกัสต์นาโดจะเกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงเท่านั้น

(2) พายุในข่าวมีความรุนแรงที่สร้างความเสียหายได้พอสมควร และ

(3) ภาพที่ปรากฏในคลิปซึ่งไม่เป็นลำงวงยาวอย่างชัดเจน เนื่องจากถ้าเป็นแลนด์สเปาต์ก็จะเห็นเป็นลำงวงยาวอย่างชัดเจน อีกทั้งท้องฟ้าในคลิปก็ปกคลุมไปด้วยเมฆ จึงมั่นใจว่าไม่ใช่ดัสต์ดีวิล (dust devil) ซึ่งเป็นพายุหมุนที่เกิดเหนือพื้นร้อนๆ และแดดจ้าท้องฟ้าใส

สุดท้ายขอบันทึกไว้เล็กน้อยด้วยว่า ผมเป็นผู้ให้ข้อมูลชื่อเรียกพายุหมุน “กัสต์นาโด” กับสื่อค่ายต่างๆ ผ่าน facebook ส่วนตัว, กลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆใน facebook และการโทรศัพท์สัมภาษณ์ ตัวอย่างเช่น เว็บของ Thai PBS ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/284933 และเว็บข่าวสดที่ https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2949926

กรณีกัสต์นาโดในบ้านเรา เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยควรใส่ใจกับความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติให้ชัดเจนและแม่นยำกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ