อดีต กกต. มองเส้นทางนายกฯ ‘พิธา’ เจอหลายด่านสกัด แนะ ส.ว.อย่ากังวล ‘ก้าวไกล’ เกินไป

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินประเด็นการเมืองหลังจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ผ่านพ้นไป

ด่านที่หนึ่งคือการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งต้องดูว่า กกต.จะสามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ครบถ้วนหรือไม่ เพราะว่ายังมีประเด็นร้องเรียนเรื่องของการทุจริตการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ตลอดเวลา

แต่ดูจากการประพฤติปฏิบัติของ กกต.ชุดนี้ การออกใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง ยาก คือไม่ค่อยมี คราวที่แล้วมีใบส้มใบเดียวแล้วก็เสียหายกลายเป็นว่ามีการฟ้องร้องกัน 60 กว่าล้าน เพราะฉะนั้น น่าจะค่อนข้างไม่มีการแจกใบต่างๆ เมื่อดูจากสถิติที่ผ่านมา

ด่านที่สองคือเรื่องของการร้องเกี่ยวกับเรื่องของคุณสมบัติของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของทาง กกต.ว่าจะมีการพิจารณาได้ช้าหรือเร็วเพียงไร

แต่ถ้าดูจากสปีด ความเร็วของ กกต. ในการทํางานในเรื่องนี้คิดว่าน่าจะใช้เวลาสักประมาณ 2 เดือน

คือหมายความว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการที่มีการรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว คุณพิธาจะอยู่ในสถานะที่เป็น ส.ส.แล้ว

พอเป็นผู้แทนฯ ถ้าไปปรากฏว่าคนคนนั้นขาดคุณสมบัติ กกต.ก็จะลงมติ แล้วส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติจริงหรือไม่

ถ้าขาด ก็จะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เขาเป็น ส.ส. และเมื่อไม่ได้เป็น ส.ส.ก็จะมีด่านต่อๆ ไป คือขาดคุณสมบัติที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งขาดคุณสมบัติในการที่จะเป็นรัฐมนตรีด้วย

ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะเกิดขึ้นในจังหวะใกล้ๆ กับการที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี

ฉากต่อไปถ้าหากว่าผ่านด่านของการประกาศผลไปมี ส.ส. 95% แล้ว ก็จะมีการประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องเกิดขึ้นภายใน 15 วัน

อันนั้นก็จะเป็นเรื่องของการช่วงชิงกันว่าการประชุมสภาครั้งที่หนึ่ง พรรคไหนตกลงกันในตําแหน่งประธานสภาอย่างไรบ้าง รองประธานสภาคนที่ 1 รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นใคร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพรรคที่เป็นเสียงข้างมากจะยึดตําแหน่งดังกล่าวไว้ก่อน ไม่เผื่อแผ่ให้กับพรรคอื่น

ยกเว้นคราวที่แล้ว พรรคที่ได้เสียงข้างมากในฝั่งรัฐบาลก็ไปยกให้กับพรรคประชาธิปัตย์อันนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องข้อตกลงกันภายนอก

แต่โดยปกติแล้ว ประธานสภามักจะเป็นคนของพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดแล้วก็อยู่ในฝั่งรัฐบาล แล้วก็ส่วนที่เหลือ เป็นรอง 1-2 ก็อยู่ในฝั่งรัฐบาลเช่นเดียวกัน

ก็จะเห็นแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลได้ว่าเป็นใครพรรคไหน หลังจากที่ได้ประธานแล้ว ขั้นต่อไปประธานสภาก็จะเรียก ส.ส.และ ส.ว. เพื่อนัดลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ตรงนี้ก็จะเป็นฉากที่น่าตื่นเต้นว่าทาง ก้าวไกล จะไปถึงฝันหรือไม่

 

สมชัยบอกว่า โดยส่วนตัวประเมินว่าการตั้งนายกฯ จะพอดีกันในจังหวะที่คุณพิธามีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ

แต่ถ้าหากว่าไม่เกิดขึ้นในแง่ของการไปโหวตและมีชื่อคุณพิธาในการลงมติ ให้ผมประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผมใช้คําว่า แม้ว่าจะมีเสียงกดดัน แรงกดดันจากประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการมากเพียงใด แต่วิธีการคิดในการลงมติของ ส.ว.จากเดิมที่รักษาระบอบประยุทธ์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโจทย์รองไปแล้ว การตอบแทนบุญคุณคนที่ตั้งเข้ามา คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว

เพียงแต่ว่าหลักคิดของคนเป็น ส.ว.ต้องยอมรับว่าคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือเป็นอดีตทหาร ตํารวจเป็นส่วนใหญ่น่าจะเกินกว่าร้อยคน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. วิธีการคิดเขาก็จะคล้ายๆ กัน แล้วก็เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง ที่อาจจะมีวิธีการคิดแบบข้าราชการประจํามีมุมมองว่าเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง

ขณะเดียวกันก็อยู่ในซีกฝั่งของคนซึ่งมีอํานาจในการปกครองมาตลอด จนมองการเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกแล้วอาจจะรับไม่ได้ ทัศนคติและโลกทัศน์ของคนเหล่านี้ไม่ค่อยยอมรับพรรคการเมืองในสไตล์แบบพรรคก้าวไกล

แล้วเวลาเราพูดถึงพรรคอนุรักษนิยม เช่น พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ไทยภักดี นี่ยังไม่อนุรักษนิยมที่สุด เท่าพรรค ส.ว.ที่มีวิธีการคิดแบบอนุรักษ์ที่สุด ทำให้คนเหล่านี้แสดงท่าทีคัดค้าน และแสดงออกเรื่องของความเป็นชาติ จงรักภักดีต่อสถาบันเป็นหลัก

จึงเป็นด่านยากพอสมควรที่คุณพิธาจะผ่านไปได้ ถ้าตั้งรัฐบาลจาก 310 เสียง (ส.ส.) ประเมินจากขณะนี้น่าจะได้สักไม่เกิน 40 แน่

ยกเว้นแต่ว่าสังคมมีแรงกดดันมากๆ แล้วทำให้คนจํานวนหนึ่งยอมตัดสินใจที่จะโหวตให้

กรณีสมมุติอีกฝ่ายหนึ่งแม้จะเอาเสียงที่เหลือไปรวมกับ ส.ว.เขาก็สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมาได้ โดยการโหวตให้จบในครั้งแรก แข่งกัน ระหว่างฝั่งนี้ที่เสนอคุณพิธา อีกฝั่งหนึ่งสมมุติว่าเสนอคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นมา มี 190 เสียงไปบวก ส.ว.อีกประมาณสัก 200 เสียงก็เกินแล้ว เป็น 390 เสียงสามารถฝืนตั้งรัฐบาลเสียงพรรคน้อยได้

นี่คือการโหวตแบบจบในครั้งที่ 1 อาจจะเกิดการไปดึง ส.ส.จากอีกฝั่ง (ฝ่ายค้านเดิม) มาร่วมเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อเป็นเสียงข้างมากในเวลาถัดมา

อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจับมือของทางฝ่ายค้านว่าจะจับมือกันเหนียวแน่นแค่ไหน ซึ่ง ณ วันนี้เชื่อว่าจับมือกันเหนียวแน่นพอสมควร

สมชัยบอกอีกว่า อีกภาพหนึ่ง ก็คือต้องนัดโหวตกันใหม่ ดําเนินการรวบรวมเสียงกันใหม่เพิ่มเติมแล้วก็เข้ามาโหวตใหม่ อาจจะภายใน 15 วันข้างหน้าถัดไป โดยอาจจะไปพิจารณาว่าจะดึงเอาพรรคอื่นเข้ามา โดยที่ไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว.เลยหรือไม่ หรืออาจจะเป็นลักษณะของการที่ว่าเมื่อพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว พรรคอันดับ 2 จะมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แล้วเขาจะดึงเอาพรรคไหนเข้ามา

ถ้าดึงเอาพรรคที่ก้าวไกลไม่เห็นด้วย ก้าวไกลก็อาจจะกลับกลายเป็นฝ่ายค้านก็ได้มันก็เป็นอีกซีนหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ ตราบใดถ้าไม่สามารถโหวตได้สักที คุณประยุทธ์ก็ยังคงรักษาการต่อไปเรื่อยๆ จะโหวตกี่ครั้งโหวตกี่เดือน หรือจะโหวตไปจนกระทั่ง ส.ว.หมดวาระในเดือนมิถุนายน 2567 ก็เป็นไปได้ พอถึงเวลานั้น ส.ว.ไม่มีอํานาจแล้วหรือพ้นไปแล้วเพราะรัฐธรรมนูญนั้นกําหนดเงื่อนไขเพียงแค่ใน 5 ปีแรก

ส่วนโอกาสของ 2 ลุง ไม่น่าจะมีโอกาสอะไรอีกแล้ว เพราะว่าจํานวนเสียงของเขาไม่ใช่อันดับสองไม่ใช่อันดับสามแต่ไหลไปไกลพอสมควร ในกรณีแบบนี้โอกาสที่จะกลายเป็นผู้นํารวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก

คุณประยุทธ์ถึงตอนนี้ต้องตอบว่าจบ แต่คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น โอกาสที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังอาจพอมีอยู่ ถ้าหากว่าเปลี่ยนแกนนําในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็อาจจะมีอํานาจในการต่อรองบ้าง แต่ไม่ถือว่าเป็นอํานาจในการต่อรองสูงสุด

โอกาสที่เพื่อไทยไปจับมือกับพลังประชารัฐจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลนั้น มองบนพื้นฐานของความเป็นนักการเมือง ซึ่งเพื่อไทยแม้มีลักษณะของการเจือนักการเมืองแบบเดียวกันกับพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย แต่ถ้าเพื่อไทยเล่นเกมนี้คือการจบอนาคตของตัวเอง

ผมจึงคิดว่าเกมที่เพื่อไทยจะเล่นคือเกมที่จะต้องอยู่กับฝั่งที่เป็นประชาธิปไตยเดิม ฝั่งที่เป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่

เพราะผมคิดว่าไม่มีคําอธิบายใดๆ กับประชาชน หรือแม้กระทั่งในกลุ่มที่เป็นแฟนคลับได้เลยว่าทําไมเมื่อก่อนนี้บอกว่าไม่เอาลุง แต่จะไปจับมือกับเขาอ้างประเทศชาติ ประชาชนก็ไม่รับฟังแล้วก็ไม่น่าจะให้อภัย

ดังนั้น ในเชิงการจินตนาการของชาวเน็ต คิดว่าเพื่อไทยฉลาดพอที่จะไม่เลือกแนวทางนั้น

 

สมชัยฝากทิ้งท้ายถึง ส.ว.ว่า เราจะไปเปลี่ยนวิธีการคิดของเขาในการที่อยากให้ประเทศเป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องเชื่อว่าคนเหล่านี้มีความสุจริตใจ ในการที่จะปกป้องประเทศ ด้วยวิธีการคิดแบบของเขา ก็อยากจะขอให้ท่านมีโอกาสที่จะฟังสังคมบ้าง แล้วก็เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ว่าเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาเลือกเขาตัดสินใจมาแบบนี้แล้ว ถ้าหากว่ายังติดขัดทําให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป ก็จะทําให้การพัฒนาประเทศเกิดความล่าช้าตามไปด้วย

เมื่อประชาชนเลือกพรรคไหนเข้ามาก็ว่าตามประชาชนไปก่อน แล้วหลังจากนั้นหากว่าเขาทําอะไรที่มันผิด พวกคุณก็ยังมีกลไกของรัฐสภาในการที่จะจัดการหรือแม้กระทั่งกลไกในยุทธศาสตร์ชาติที่ท่านร่างขึ้นมา สามารถไปจัดการได้

หรือท่านกลัวการแก้มาตราใดๆ ยังไงสิ่งเหล่านี้ก็ต้องทําในสภา สุดท้ายต้องอาศัยเสียงทั้ง ส.ส.แล้วยังต้องไปผ่าน ส.ว.ในขั้นที่สองอีก

เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปกังวลมากเกินไป ปล่อยให้กลไกของประชาธิปไตยเขาทํางานอย่างเต็มที่น่าจะดีกว่า

ปล่อยให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองน่าจะดีกว่า แล้วก็ท่านก็ใช้กลไกของท่านที่มีอยู่แล้วในการตรวจสอบจัดการกับรัฐบาลได้