ซูเปอร์ ‘ส้ม’ ซูเปอร์ ‘เปลี่ยน’ พิธา-ก้าวไกล

ย้อนกลับไปกลางเดือนมีนาคม ผลสำรวจนิด้าโพลครั้งที่ 1 บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี

อันดับ 1 คือ แพทองธาร ชินวัตร ด้วยคะแนน 38.20% ทิ้งห่างอันดับ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้ 15.75% (คะแนนพิธาใกล้เคียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

แต่ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน ความนิยมของพิธาและพรรคก้าวไกล พุ่งขึ้นแซงแพทองธารจากพรรคเพื่อไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ในการสำรวจของนิด้าโพลครั้งที่ 3 ที่พิธาคะแนนพุ่งเป็น 35.44% แพทองธาร 29.20%

และก็เป็นดังคำทำนายของนิด้าโพล และอีกหลายโพล ผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลสามารถชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนอันดับ 1 ทั้ง ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต. 99.44% ของการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. 152 คน เพื่อไทย ได้ ส.ส. 141 คน พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส. 70 คน พลังประชารัฐ ได้ ส.ส. 40 คน รวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. 36 คน และประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 24 คน

ถือเป็นคะแนนแลนด์สไลด์ให้พรรคการเมือง “ฝ่ายค้าน” เฉพาะแค่พรรคก้าวไกลรวมกับเพื่อไทย ก็คว้า ส.ส.ไป 293 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ไปมากโข ถือเป็นมติมหาชนที่มอบอำนาจให้ฝ่ายค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาลด้วยชัยชนะเด็ดขาด

พรรคก้าวไกลคว้าคะแนนบัตรเลือกพรรคได้ถึง 14.23 ล้านคะแนน ตามมาด้วยเพื่อไทย 10.8 ล้านคะแนน ทิ้งห่างรวมไทยสร้างชาติอันดับ 3 ที่ได้ 4.6 ล้านคะแนน และภูมิใจไทยอันดับ 4 ที่ได้ 1.1 ล้านคะแนน

เป็นผลคะแนนที่มอบความพ่ายแพ้ให้กับพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลเดิมชนิดขาดลอย ในศึกเลือกตั้งครั้งที่มีประชาชนมาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดการเลือกตั้ง

 

จุดเด่นของการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคก้าวไกล คือการเปลี่ยนกระแส ทั้งทางโซเชียลมีเดีย ทั้งทางสื่อหลัก ให้เป็นคะแนนจริงได้สำเร็จ

ต้องยอมรับว่า ก้าวไกลเป็นพรรคที่ใช้การดำเนินการการเมืองแบบใหม่ ต่างกับการเมืองในอดีตชัดเจนที่สุด

ในเชิงรูปธรรม จะเห็นก้าวไกลไม่เหมือนใครทั้งเรื่องการหาเสียง การจัดการบุคลากร การระดมทรัพยากร ไปยันกระทั่งรูปแบบการจัดเวทีปราศรัย การจัดคาราวานปราศรัย

ในเชิงนามธรรม ก้าวไกลขับเน้นเรื่องอุดมการณ์การเมืองเป็นหลัก ชูจุดเน้นที่ความตรงไปตรงมา “มีเราไม่มีลุง” การกระจายอำนาจ การต่อต้านและลดอิทธิพลทุนผูกขาด การหยุดอำนาจกองทัพแทรกแซงการเมือง แม้แต่การเลิกเกณฑ์ทหาร ก็พูดว่า “เลิก” ตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องปรับคำให้ดูซอฟต์ลง แม้กระทั่งเรื่อง 112 ก้าวไกลก็เป็นพรรคเดียวที่ประกาศจุดยืนชัดแต่แรกว่า ไม่เสนอเลิก แต่ต้องมีการแก้ไขและพูดคุยเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะ

ต้องยอมรับว่า “พิธา” มีบุคลิกโดดเด่นในการพูด ไม่ได้มีลักษณะเบาจนล่องลอย หรือแข็งจนไม่น่าฟัง

บนเวทีปราศรัยทุกจังหวัดที่ไป พิธาเป็นหัวหน้าพรรคที่ปราศรัยไม่เหมือนใคร เพราะมีการทำการบ้าน การพูดที่แสดงการเข้าใจปัญหา ยกสถิติขึ้นมาพูดตามบริบทของจังหวัดต่างๆ

พิธายังใช้มุขลูกล่อลูกชนแพรวพราว ปลุกความเป็นท้องถิ่นนิยม สอดแทรกเรื่องราวจุดยืนการเมืองของพรรค การเมืองประเทศ การเมืองโลก อย่างแยบยล

เช่น การพูดว่า “สมุทรปราการ ปราการของคุณ แตกแล้ว” ก่อนพูดเรื่องปัญหาแรงงานเพราะเป็นเมืองแรงงาน

“จันทบุรีมาเยอะขนาดนี้ จันทร์โอชาจะไปอยู่ไหน” ก่อนพูดสถิติเรื่องผลไม้และปัญหาช้างป่า

“ฉะเชิงเทรา ดูเชิงแล้ว เหมาทั้งจังหวัด” ก่อนจะพูดเรื่องปัญหาขยะอุตสาหกรรม

“มากันเยอะขนาดนี้ ทั้งระยอง ผมจองแล้วนะ” ก่อนพูดเรื่องสถิติผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศและมลพิษทางทะเล

หรือการใช้ลูกอ้อนอย่าง “ภูเก็ต เด็ดทั้งเกาะ” ตามด้วยปัญหาท่องเที่ยว, “สงขลาจ๋า พิธามาแล้ว” ก่อนพูดเรื่องปัญหาด่านสะเดาที่ยังไม่เปิดใช้งาน

ทั้งหมดทำให้เห็นว่าอย่างน้อยพิธาทำการบ้านและนำเรื่องราวในท้องถิ่นมาหาเสียง

 

ในทุกเวทีดีเบต หรือหาเสียง พิธายังใช้พื้นที่ตรงนั้นจุดประเด็นสำคัญ

เช่น เวทีดีเบตมติชน ที่พิธาประกาศโรดแม็ป 100 วัน 1 ปี และ 4 ปีของรัฐบาล ครั้งแรก

หรือการจุดประเด็น มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา ในคราวดีเบตช่อง 3

เช่นเดียวกับการใช้เวทีปราศรัยที่นนทบุรีประกาศวิ่งสู่ 150 เก้าอี้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางกระแสที่มองว่าก้าวไกลได้ไม่ถึง 100 ที่นั่ง

มากกว่าพิธา คือแกนนำ-ผู้ช่วยหาเสียงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้ก่อตั้งอนาคตใหม่ที่ทุ่มเทเดินทางปราศรัย ขึ้นเวทีดีเบตช่วย ด้วยความแหลมคมทางความคิดจากการทำงานการเมืองตลอดหลายปีที่ถูกตัดสิทธิ์

ตามด้วยปิยบุตร แสงกนกกุล ภูมิปัญญาสำคัญคนหนึ่งของพรรค ที่มีลีลาปราศรัยและความแหลมคมทางการเมืองยิ่งกว่าเลือกตั้งในปี 2562 และ “ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค ที่คมความคิดไม่แพ้ใคร

ยังมี “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” ตัวแม่นักฟาดของพรรค สู้ทุกเวทีดีเบต ประชันกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ของทุกพรรคได้, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ฉายาตัวตึงก้าวไกล, ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ได้รับความนิยมคู่มากับพิธา ฉายแววมากที่สุดจากคาราวานภาคใต้, รังสิมันต์ โรม ที่ยิ่งปราศรัยยิ่งเข้มข้น, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปราศรัยทิ้งทวนการเมืองดุเดือดและเรียกเสียงเฮทุกเวที แม้แต่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ตัวตึงสายทหารคณะก้าวหน้า ก็มาช่วยปราศรัยเรื่องทหาร

นี่คือตัวอย่างบรรดา “ตัวตึง” ของพรรคก้าวไกล ที่แม้เราจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับว่าบรรดา “ตัวตึง” เหล่านี้ ทำงานปักธงความคิด ไม่ว่าจะบนเวทีดีเบต และเวทีปราศรัยทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ “ตัวตึง” ลักษณะนี้ยังมีอีกมากในพรรค ขยายลงไปยัน ส.ส.เขต หลายคนลีลาการปราศรัยหาเสียงโดดเด่นกลายเป็นดาวโซเชียลตั้งแต่ยังไม่เข้าสภา

 

ทั้งหมดสะท้อนรากฐานสำคัญ คือ ความตรงกันทาง “อุดมการณ์”

ในสภาวะที่พื้นฐานของประเทศไทยไม่ค่อยจะดีนัก หนี้สาธาณะและหนี้ครัวเรือนสูงปรี๊ด คนมองไม่เห็นอนาคต ภายใต้ผู้นำรัฐบาลคือคนเดิมที่ครองอำนาจมานานกว่า 9 ปี ท่วมท้นไปด้วยปัญหาการเมืองที่งอกงามผลิดอกออกผลมามากมายจากรัฐธรรมนูญ 2560

พลังของความไม่ชอบขั้วอำนาจเดิมยิ่งพุ่งสูง

สะท้อนจากการเลือกพรรคก้าวไกล-เพื่อไทยแค่ 2 พรรค รวมกันกว่า 25.1 ล้านเสียง มากกว่าขั้วรัฐบาลเดิม 4 พรรคใหญ่ ที่รวมกันได้เพียง 7.2 ล้านคะแนน

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย เน้นเรื่องยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง กินข้าวทีละคำ มากกว่าความตรงไปตรงมา ก่อนรู้ว่าตัวเองเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง แม้จะรีบประกาศความชัดเจนทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง ก็ถือว่าช้าไปแล้ว

จนกลายเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เสียงเลือกตั้งมากที่สุด

 

ก้าวไกลหักปากกาเซียนครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์กวาด ส.ส.ยกจังหวัด และเกือบยกจังหวัด ตั้งแต่ กทม.ที่กวาดไป 32 เขต จาก 33 เขต เหลือให้เพื่อไทย 1 เขต โดยมีคะแนนห่างแค่ 4 คะแนน ยกจังหวัดเช่น นนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุครสงคราม, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ภูเก็ต

เกือบยกจังหวัด เช่น เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, ปราจีนบุรี หลายจังหวัดก็แบ่งกับเพื่อไทย-ภูมิใจไทย หลายเขตก็แพ้ไปหลักสิบ หลักร้อย

ทั้งยังล้มบ้านใหญ่จำนวนมาก เซอร์ไพรส์ในพื้นที่อย่างมาก สุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้ารวมไทยสร้างชาติ ถึงกับอุทานกับสื่อมวลชนว่า ช็อก… ลงพื้นที่ก็รู้ว่าก้าวไกลมีกระแส แต่ไม่คิดว่าจะมาขนาดนี้

เจาะไปที่คะแนนเลือกพรรค ก้าวไกลชนะทุกภาค ไม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ ไม่เว้นจังหวัดที่ดูเหมือนเป็นฐานเสียงพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรี, บุรีรัมย์

ผลการเลือกตั้งสะท้อนความเบื่อต่อรัฐบาลเดิมสูงสุด แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้ยับเยิน ได้ ส.ส.เขต 22 คน ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 2 คน

ส.ส.เขตของอนาคตใหม่เดิม ที่ไม่เป็นงูเห่า ได้รับเลือกตั้งกลับมาหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพิษณุโลก, จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ จากฉะเชิงเทรา, ญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี, ศักดิ์ชัย นุ่มหนู จาก จ.ตราด / เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ จาก กทม. เป็นต้น ทั้งหมดชนะด้วยคะแนนขาดลอย

ส่วนงูเห่าอื่นๆ ที่ลง ส.ส.งวดนี้ ล้วนปิดตำนาน หายวับ ไม่ได้มาสักคน

ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์การสื่อสาร ทั้งโลกอะนาล็อกและโลกดิจิทัล ที่ก้าวไกลสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผสานกับเนื้อหา, วาระ, ข้อเสนอที่แข็งขัน หนักแน่น บนเวทีประชันนโยบาย, เวทีดีเบต, เวทีปราศรัย ยิ่งทำให้ก้าวไกลกลายเป็น “ไวรัล”

นั่นจึงทำให้ก้าวไกลแน่นไปด้วยผู้คนมารอต้อนรับทุกการปราศรัย-ปรากฏตัวที่สาธารณะของหัวหน้าพรรค

 

ก้าวไกลเปลี่ยน “กระแส” ให้กลายเป็น “คะแนน” ได้จริง ลบคำสบประมาท “นายกฯ โซเชียล” ได้สำเร็จ

การเติบโตของก้าวไกลจึงสะท้อนความผิดพลาดทางการเมืองจากการใช้กลไกกฎหมายปิดฉากพรรคอนาคตใหม่ วันนี้ ชัดเจนว่าเมล็ดพันธุ์นี้ยิ่งเหยียบให้จมดิน ยิ่งเติบโต

และทั้งหมดคือสัญญาณว่า การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว