“พิธา 1” กับ “บทเฉพาะกาล” | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

“สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26” ของประเทศไทย จำนวน 500 คน ที่มาจาก “ประกาศิต” ของประชาชนพลเมือง 52 ล้านคน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม รู้แจ้งแทงทะลุเรียบร้อยแล้ว

พลิกล็อกวินาศสันตะโร ดุจภูเขาถล่ม “พรรคก้าวไกล” วัยรุ่นคะนองเดช ปาดหน้ากำชัยชนะ ทั้ง 2 ระบบ “เขตเลือกตั้ง-บัญชีรายชื่อ” 152 ที่นั่ง เบียดแทรกเต็งจ๋า “เพื่อไทย” เข้าป้ายในลำดับที่ 2 จำนวน 141 ที่นั่ง ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก

ตามด้วย “ภูมิใจไทย” 70 ที่นั่ง “พลังประชารัฐ” 41 ที่นั่ง “รวมไทยสร้างชาติ” 36 ที่นั่ง “ประชาธิปัตย์” 24 ที่นั่ง “ชาติไทยพัฒนา” 10 ที่นั่ง “ประชาชาติ” 9 ที่นั่ง “ไทยสร้างไทย” 6 ที่นั่ง “ชาติพัฒนากล้า” 2 ที่นั่ง “เพื่อไทรวมพลัง” 2 ที่นั่ง ที่เหลือ ปลาซิว ปลาสร้อย สอยไป 1 ที่นั่งสี่ซ้าห้าพรรค

ตามกฎข้อบังคับ-กริยา-มารยาท-หลักการของการเมือง พรรคที่ได้รับเลือกตั้งชนะมาลำดับที่ 1 ต้องได้ออปชั่นฟอร์มรัฐบาลก่อนโดยอัตโนมัติ ขนาดเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 “พรรคเพื่อไทย” ชนะมาจากเขตเลือกตั้ง 134 ที่นั่ง มากกว่า “พลังประชารัฐ” ที่ได้มาเพียง 118 เสียง แต่ฝ่ายหลังอ้างความชอบธรรมจาก “ป๊อปปูลาร์โหวต” ที่ได้คะแนนมากกว่า รวบหัวรวบหางชิงลงมือฟอร์มรัฐบาล ขัดสีผิว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติ-ยึดอำนาจ เป็นมาจากประชาธิปไตยทางตรง สะอาดเอี่ยมอ่องดุจสำลี ให้ดูชมมาแล้ว

ภายหลัง “กกต.” ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ การเมืองไทยทำท่าว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่าน หอบเอา “สีส้ม” ปกคลุมทั่วทุกหย่อมย่าน ไม่ทันไร “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศปักธง จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง “ขั้วประชาธิปไตย” ประกอบด้วย “ก้าวไกล” 152 เสียง “เพื่อไทย” 141 เสียง “ประชาชาติ” 9 เสียง “ไทยสร้างไทย” 6 เสียง “เสรีรวมไทย”  “เป็นธรรม” “พรรคเพื่อไทรวมพลัง” และ “พรรคพลังสังคมใหม่” พรรคละ 1 ที่นั่ง รวมฐานเสียง “พิธา 1” จำนวน 313 ที่นั่ง

มากกว่า “ฝั่งอนุรักษนิยม” หรือฟากรัฐบาลชุดเดิม จาก “ภูมิใจไทย” 70 ที่นั่ง “พลังประชารัฐ” 41 ที่นั่ง “รวมไทยสร้างชาติ” 36 ที่นั่ง “ประชาธิปัตย์” 24 ที่นั่ง “ชาติไทยพัฒนา” ที่นั่ง 10 “ชาติพัฒนากล้า” ที่นั่ง 2 เสียง “เพื่อไทรวมพลัง-พลังสังคม-ครูไทย” พรรคละ 1 เสียง รวม 190 ที่นั่ง

“กระเบื้องน่าจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยน่าจะถอยจม” สงครามควรจะจบเร็ว เพราะฐานเสียงรัฐบาลใหม่ที่มี “ก้าวไกล” เป็นแกนนำห่างกันถึง 60 เสียง ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความปลอดภัยหายห่วง

 

แต่ในทางปฏิบัติ “พิธา 1” ขึ้นเขากลับเจอเสือ ตามกรอบข้อบังคับ “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แห่งมาตรา 272 ที่ระบุมัดตราสังเอาไว้ว่า

“ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ยกยอดสมาชิกผู้ทรงเกียรติจาก “สภาผู้แทนราษฎร” ที่เพิ่งผ่านศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ทั้ง 2 ระบบ 500 ที่นั่ง บวกด้วย “วุฒิสมาชิก” หรือ “ส.ว.ลากตั้ง” 250 คน “สองสภา” รวมกัน 750 ที่นั่ง

“กึ่งหนึ่งเท่าที่มีอยู่” เต็มอัตราศึก 376 เสียง ซึ่งบังเอิญว่า “วุฒิสมาชิก” ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” จาก 3 ภาคส่วนด้วยกัน ล็อตแรก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จังหวัดจัดให้มีการเลือกตั้งกันเองจำนวน 50 คน

จากคณะกรรมการสรรหา ซึ่ง “คสช.” เป็นผู้แต่งตั้ง เลือกเข้ามา 194 คน และโดยตำแหน่ง 6 คน จากผู้บัญชาการเหล่าทัพ “ผบ.สส.-ผบ.ทบ.-ผบ.ทอ.-ผบ.ทร.-ผบ.ตร.” และ “ปลัดกระทรวงกลาโหม” รวมเป็น 250 คน

สรุป แม้จะมีที่ไปที่มา 3 ช่องทาง แต่ “ส.ว.” ชุดปัจจุบัน การปฏิบัติภารกิจที่ผ่านมามีความเป็นเอกภาพ เวิร์กมากซะด้วย ซึ่งดังที่ทราบกันโดยนัยว่า วุฒิสมาชิกชุดนี้ มาจากฝีมือวัดครึ่งกรรมการครึ่งระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่เป็นผู้มีอำนาจทำคลอดมาด้วยกัน และไม่ผิดหวังทำงานเข้าตาแบบไม่ตกไม่หล่นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

แม้จะเอ็กซ์ปาย กลายเป็นนมบูดในปี 2567 ใกล้อยู่หลัดๆ แต่ก่อนจะโดนล้างท่อ “ส.ว.ชุดนี้” ยังสามารถโชว์พาวได้อีกก๊อกเดียวคือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

และส่อเค้าเล่าอาการสูงว่าจะทำหน้าที่ “กขค.-ก้างขวางคอ” สกัดดาวรุ่งที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ให้หยิบชิ้นปลามันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สะดวกโยธิน ด้วยกลวิธี “งดออกเสียง” เพื่อไม่ให้ผ่านด่านกึ่งหนึ่งสองสภารวมกันคือ 376 เสียง

ดูตามไทม์ไลน์ ในการคว้าดาวของ “พิธา” นับหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษาภาคม ลำดับถัดไป วันที่ 13 กรกฎาคม ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ปล่อยผีก่อน ตามสอยย้อนหลังได้ ให้เข้าเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 60 วัน

เพื่อก้าวข้ามไปเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ครั้งแรก ในวันที่ 27 กรกฎาคม ตามกติกา 15 วัน และเลือกประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาทำหน้าที่ในที่ประชุม

โหมดสำคัญสุดคาดว่า ช่วงต้นเดือนสิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรที่มีประธานสภาเรียบร้อยและกดปุ่มเปิดประชุมนัดแรก เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 159 พ่วงด้วย “บทเฉพาะกาล” ของมาตรา 272

“วุฒิสมาชิก” ต้องมีส่วนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี เสียงต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ “376 เสียง”

เมื่อดูหน้างาน ตามที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประกาศฟอร์มรัฐบาล 8 พรรค มีฐานเสียงจำนวน 313 ที่นั่ง หากหยิบยกความเคลื่อนไหวของบรรดา ส.ว.ที่ออกมาสะท้อนผ่านสื่อกระแสหลัก และความชัดเจนของ 6 ส.ว.โดยตำแหน่ง จาก “คนกองทัพ” แล้ว ยังไม่หวานหมู

เว้นเสียแต่ก่อนจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก “ก้าวไกล” ต้องคิดสูตรร่วมรัฐบาลใหม่ หาแนวร่วมเพิ่ม เพื่อความปลอดภัย ต้องได้ฐานเพิ่มไม่น้อยกว่า 30 ที่นั่ง อย่างน้อยๆ เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคพลังฝ่ายจารีตให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

ด้วยการดึงพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดมาเติมฝันให้เป็นจริง