‘ซูเปอร์ เอลนินโญ’ วิกฤตการณ์ระดับโลก

เมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) องค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่ถ้อยแถลงเตือน 191 ชาติสมาชิกให้เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกในปีนี้

ที่ต้องเตือนกันนั้น เนื่องจากสภาพอากาศรูปแบบใหม่ดังกล่าวคือปรากฏการณ์ “เอลนินโญ” ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาวะอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งขึ้นควบคู่กันไปด้วย กระทบต่อทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก

ตามข้อมูลของดับเบิลยูเอ็นโอ เอลนินโญ กับ ลานินญา คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่ง “เป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนระบบภูมิอากาศของโลก” ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ลานินญาขึ้นและเป็นตัวกำหนดสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคต่างๆ โดยรอบแปซิฟิก

บัดนี้ ลานินญากำลังสิ้นสุดลง และโลกอาจต้องเผชิญหน้ากับเอลนินโญ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ตามการพยากรณ์ของศูนย์เพื่อการพยากรณ์ระยะยาว และจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญของดับเบิลยูเอ็มโอ โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้มีถึง 60 เปอร์เซ็นต์

และจะเพิ่มเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วงมิถุนายน-สิงหาคม

ก่อนที่จะทวีโอกาสเกิดสูงสุดในช่วงระหว่างกรกฎาคม-กันยายน เป็น 80 เปอร์เซ็นต์

สัญญาณที่ส่อให้เห็นถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและทางด้านตะวันออกสูงขึ้นอย่างชัดเจน

และจะเป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกระแสลม ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบภูมิอากาศในภูมิภาคไปในที่สุด

 

ศาสตราจารย์แพทเทอรี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 8 ปีระหว่างปี 2015-2022 อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีอยู่ 3 ปีหลังที่เกิดปรากฏการณ์ลานินญาขึ้น ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ห้ามล้อ” โดยธรรมชาติไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นกว่านั้น

แต่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นการพัฒนาระบบภูมิอากาศแบบเอลนินโญขึ้นมา เป็นไปได้มากอย่างยิ่งที่จะทำให้อุณหภูมิโลกยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นสถิติใหม่ได้เลย

ในช่วงระหว่างปี 2014-2015 เกิดปรากฏกรณ์เอลนินโญ “ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง” ขึ้น เมื่อผสมผสานกับภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ก่อนแล้ว ก็ส่งผลให้ปี 2016 กลายเป็นปีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล

ศาสตราจารย์ทาลาสเชื่อว่า เอลนินโญครั้งใหม่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด ด้วยการผลักดันให้อุณหภูมิโลกทวีขึ้นจนถึงจุดสูงสุดได้ในปี 2024

และย้ำว่า นานาประเทศในภูมิภาค “ควรเตรียมตัวให้พร้อม” ในการรับมือกับเอลนินโญครั้งนี้ ที่สามารถก่อให้เกิดภาวะอากาศแบบสุดโต่งขึ้น

ทั้งฮีตเวฟ หรือคลื่นความร้อน, ภาวะฝนตกหนักผิดปกติจนก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือภาวะแล้งจัดจนขาดแคลนน้ำและพืชผลเกษตรเสียหาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆ ตั้งอยู่ในส่วนใดของโลก

เอลนินโญจะก่อให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นหนักหน่วงรุนแรง ในพื้นที่ตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณเอเชียกลางและตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

ในเวลาเดียวกัน บริเวณออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และพื้นที่บางส่วนในภูมิภาคเอเชียใต้ จะเผชิญกับภาวะ “แล้งจัดรุนแรง” จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย

ดังนั้น นอกจากนานาประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้อง “จับตาอย่างใกล้ชิด” ต่อปรากฏการณ์เอลนินโญแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้มีข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการเพื่อบรรเทาหรือหลีกเลี่ยงจากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ที่น่ากังวลก็คือ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกในยามนี้ ไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าดังกล่าว

 

องค์การอาหารและการเกษตร (เอฟเอโอ) แห่งสหประชาชาติ ยอมรับว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการผลิตอาหารของทั้งโลก เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นแหล่งผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญ

ผลผลิตอาหารของโลกอาจลดลงอย่างมาก ไม่เพียงเพราะภาวะแล้งจัดจนพืชผลเสียหาย แต่ยังเป็นเพราะคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเกษตรกรรมในพื้นที่เหล่านี้

นั่นทำให้เอฟเอโอต้องสำรวจตรวจสอบบรรดาประเทศในแอฟริกาตอนใต้, อเมริกากลางและบางส่วนในเอเชียอย่างถี่ถ้วน เพราะนี่คือพื้นที่ที่น่าวิตกสูงสุดจากเอลนินโญในครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ความมั่นคงทางอาหารในประเทศเหล่านี้ก็เป็นปัญหาอยู่ก่อนแล้ว และผลผลิตในฤดูกาลเพาะปลูกหลังๆ มานี้ก็ลดลงอย่างชัดเจนเพราะรูปแบบภูมิอากาศแห้งและแล้งจากปรากฏการณ์เอลนินโญ

ประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก อย่างออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ เป็นอาทิ เสี่ยงต่อการเผชิญภาวะแล้งจัดรุนแรง ในขณะที่อาร์เจนตินา ตุรกี และสหรัฐอเมริกา เสี่ยงกับการเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกหนักมากจนเกินพิกัด

 

องค์การเพื่อการบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) ของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงยืนยันว่า มีโอกาสเกิดเอลนินโญขึ้นได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนกันยายนปีนี้เท่านั้น แต่ยังบอกเป็นนัยด้วยว่า เอลนินโญในครั้งนี้อาจรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาส่วนหนึ่ง ใช้แบบจำลองภูมิอากาศเพื่อคาดการณ์ถึงปรากฏการณ์นี้ พบว่า เป็นไปได้ที่เอลนินโญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะร้ายแรงจนถึงระดับ “ซูเปอร์ เอลนินโญ”

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนว่า ได้ตรวจสอบแบบจำลองสภาพภูมิอากาศจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของ 7 ชาติ รวมทั้งสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พบว่า อุณหภูมิพื้นผิวของแปซิฟิก จะย่างเข้าสู่ภาวะเอลนินโญเต็มตัวในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

พอถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิดังกล่าวจะทวีขึ้นจนถึงระดับเดียวกันกับที่เคยเป็นเมื่อครั้งเกิดเอลนินโญระดับรุนแรงสุดโต่งเมื่อปี 2016 ที่ทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันรุนแรง, ภาวะแล้งจัดต่อเนื่อง 12 เดือน และเป็นชนวนของการระบาดของโรคระบาดครั้งใหญ่ติดตามมา

ในเอเชีย เอลนินโญส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นทำลายสถิติเดิมในหลายประเทศรวมทั้งไทย ทำให้หลายคนเสียชีวิตในอินเดียและที่มาเลเซียเด็กชายเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำพร้อมกับที่อีกหลายสิบคนอาการหนักจากภาวะขาดน้ำแบบเดียวกัน ที่บังกลาเทศร้อนจัดจนผิวถนนละลาย

ในฟิลิปปินส์เกิดความกังวลว่าจะเกิดขาดแคลนน้ำสำหรับทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรมเสียหาย ส่วนที่อินโดนีเซียทางการกำลังวิตกหนักว่า ภาวะร้อนและแล้งจัดจะทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควันพิษเกิดขึ้นอีกครั้ง ซ้ำรอยเมื่อปี 2015

ที่ว่ากันว่าส่งผลทำให้ชาวอินโดนีเซียกว่า 100,000 คนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร