ปรากฏการณ์ “มดล้มช้าง” ความพ่ายแพ้บ้านใหญ่บางบอน สะท้อนอะไร

จากผลการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเมืองไทยได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มผลิดอกออกผลให้ผู้คนได้ชมเป็นขวัญตาแล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่าพูดถึงและเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งปีนี้คือการแลนด์สไลด์กรุงเทพฯ ของพรรคก้าวไกลที่เอาชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเกือบทั้งเมือง

ปรากฏการณ์ครองกรุงเทพฯ ของพรรคก้าวไกลสร้างความประหลาดใจให้แก่หลายคนพอสมควร

หนึ่งเขตการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่ดุเดือดคือเขตที่ 28 บางบอนเหนือ, จอมทอง-แขวงบางขุนเทียน, หนองแขม ซึ่งเป็นสนามการแข่งขันของนักการเมืองหน้าใหม่ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ตัวแทนพรรคก้าวไกล

และอีกสองบ้านใหญ่ย่านบางบอนคือ วัน อยู่บำรุง แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย และตระกูลม่วงศิริที่ส่ง วณิชชา ม่วงศิริ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์

ปรากฏว่าศึกการเลือกตั้งนี้จะจบลงตรงที่ชัยชนะเป็นของรักชนกที่คว้าคะแนนไปได้กว่า 4.7 หมื่นคะแนน ทิ้งห่างจากอดีต ส.ส.ปี 2562 วัน อยู่บำรุง ที่ได้คะแนนไป 2.6 หมื่นคะแนน

ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้จึงนับว่าเป็นปรากฏการณ์ มดล้มช้าง ที่หน้าใหม่สามารถล้มบ้านใหญ่ทางการเมืองทั้ง 2 ตระกูลได้อย่างราบคาบ

ในฐานะคนบางบอนที่เกิดและเติบโตมากับการเมืองบางบอนมาเกือบ 30 ปี ผู้เขียนมองว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันของนักการเมืองต่างเจเนอเรชั่นเท่านั้น

แต่ยังสะท้อนให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างในมิติทางการเมือง

ทั้งการตีความบทบาทการเป็น ส.ส.จากคนต่างเจน

บทบาทความสำคัญของตระกูลทางการเมืองระดับท้องถิ่นภายในกรุงเทพฯ

กลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แข่งขันทางการเมือง

และความพ่ายแพ้ของตระกูลทางการเมือง

ความพ่ายแพ้
ของบ้านใหญ่เขตบางบอน
สะท้อนอะไร

หากพูดถึงบ้านใหญ่เขตบางบอนเราคงต้องพูดถึงครอบครัวทางการเมือง 2 ตระกูลที่แข่งขันกันตลอดมาคือตระกูลม่วงศิริและตระกูลอยู่บำรุง

หากแนะนำโดยย่นย่อ ตระกูลม่วงศิริถือเป็นตระกูลนักการเมืองที่อยู่คู่ฝั่งธนฯ มานานหลายรุ่น นับตั้งแต่ราวปี 2522 ที่ ปลิว ม่วงศิริ จากพรรคประชากรไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ข้อมูลจากวิกิพีเดียกล่าวว่า ม่วงศิริเป็นตระกูลทางการเมืองที่ได้รับการเลือกเป็น ส.ส.มากที่สุดของประเทศ ซึ่งมี ส.ส.ทั้งหมด 5 คนด้วยกัน ได้แก่ ปลิว, ประเสริฐ, สุวัฒน์, สากล และ สามารถ รวมถึงสนามการเลือกตั้ง ส.ก.ปี 2565 ณรงศักดิ์ ม่วงศิริ ก็สามารถคว้าชัยชนะตำแหน่ง ส.ก.ไปได้ สำหรับผู้เขียนแล้วไม่มีช่วงไหนในชีวิตเลยที่ครอบครัวม่วงศิริหายไปจากการเมืองฝั่งธนฯ (ยกเว้นตอนรัฐประหารปี 2557)

และในศึกการเลือกตั้งใหญ่ปีนี้พรรคประชาธิปัตย์ลงทุนส่งผู้สมัครจากครอบครัวม่วงศิริมาลงสนามฝั่งธนฯ พร้อมกันถึง 3 เขต (เขต 26 – สุวัฒน์, เขต 27 – สากล, เขต 28 – วณิชชา) แต่กลับคว้าน้ำเหลวไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์และครอบครัวม่วงศิริอีกด้วย

นอกเหนือจากกระแสประชาชนไม่ต้องการรัฐบาล 3 ป.แล้ว ผู้เขียนมองว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์บ้านม่วงศิริถูกมองในแง่ลบคือข่าวเฟกนิวส์ที่นำภาพคู่แข่งอย่างรักชนกไปบิดเบือนและเผยแพร่ลงกรุ๊ปไลน์ทีมม่วงศิริในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่กี่วัน

การพลาดท่าของแชมป์เก่า

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 หลายคนรู้จัก ส.ส.วันในแง่สีสันของสภา ความโด่งดังของวันนอกเหนือจากการเป็นทายาทรัฐมนตรี เฉลิม อยู่บำรุง วันยังสร้างพื้นที่สื่อของตนเอง ทั้งจากอภิปรายด่ารัฐบาลแบบจัดจ้าน การตั้งสโลแกน ‘ใจถึงพึ่งได้’ การมีช่องทางกรุ๊ปเฟซบุ๊กสื่อสารกับแฟนคลับ และการหมั่นไลฟ์พูดคุยกับลูกเพจหรือคนที่ติดตามเป็นเนืองนิตย์

รวมถึงกิจกรรมที่วันทำตามค่านิยมนักการเมืองรุ่นเก่าอย่างการเข้าหาชาวบ้านในพื้นที่ด้วยการไปเป็นประธานงานบวช งานแต่ง หรือการส่งพวงหรีดแสดงความเสียใจในงานศพ

ซึ่งการเข้าถึงประชาชนลักษณะนี้ของนักการเมืองถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตระกูลการเมืองบ้านใหญ่อย่างชัดเจน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายถึงในรายการพอดแคสต์ นอกBangKOK ถึงกลไกที่ทำให้วัฒนธรรมตระกูลการเมืองแบบบ้านใหญ่ยังอยู่ในสังคมไทยไว้ดังนี้

“ตระกูลการเมืองทุกๆ จังหวัดจะเป็นผลผลิตของความบิดเบี้ยวของระบบรัฐราชการไทย โครงสร้างดังกล่าวมันลงตัวกับวิถีวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น มันก็เลยทำให้เกิดคนที่เป็นที่พึ่งหวังของชุมชนนั้นได้ บางครั้งชาวบ้านจำนวนมากจำเป็นต้องพึ่งพาระบบราชการ ต้องพึ่งพากลไกของรัฐ แล้วปรากฏว่ากลไกของรัฐมันไม่ตอบสนองเขา

สอง-ปัญหาในทางเศรษฐกิจ บางครั้งชาวบ้านไม่มีเครดิต ไม่มีสลิปเงินเดือน เวลามีปัญหาทางเศรษฐกิจ 3,000-5,000-7,000 บาท พึ่งพาใครไม่ได้ ซึ่งโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยวแบบนี้มันดูแลประชาชนไม่ได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องเบียดเสียดตัวเองเข้าหาโบรกเกอร์หรือว่าตัวกลางที่สามารถทำให้เขาเข้าถึงกลไกอำนาจบางอย่างของรัฐ และเข้าถึงการพึ่งพาในทางเศรษฐกิจ”

ถึงแม้ว่าวันจะเป็นขวัญใจชาวบ้านและชาวเน็ต แต่ข้อเสียเปรียบที่ทำให้เขาพ่ายต่อศึกการเลือกตั้งในครั้งนี้คือการเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งใหม่ของ กกต. ที่เดิมเมื่อปี 2562 พื้นที่การเลือกตั้งของบางบอนมีเพียงเขตบางบอนและหนองแขมเท่านั้น

แต่ในปี 2566 เขตการเลือกตั้งบางบอนถูกแบ่งใหม่ให้ไปรวมบางส่วนของจอมทองและตัดแขวงบางบอนใต้ออกทำให้ฐานเสียงเดิมของวันมีน้อยลง

การใช้ตัวเองเป็นมีมของรักชนก

ชัยชนะของรักชนกสะท้อนอะไร

แม้ว่ารักชนกจะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งลงสนามการเลือกตั้งนี้เป็นครั้งแรก ทว่า เธอก็ไม่ได้เป็น Nobody ที่ไม่มีใครรู้จักเสียทีเดียว

ก่อนหน้าที่จะได้รับการทาบทามจากพรรคก้าวไกล รักชนกโด่งดังจากโลกโซเชียลในผู้ก่อตั้งห้องพูดคุยประเด็นทางการเมืองต่างๆ ในคลับเฮาส์ และเคลื่อนไหวทางการเมืองทวิตเตอร์

จุดแข็งหนึ่งของรักชนกที่ถือเป็นความสามารถโดดเด่นของเธอ คือการมีทักษะความเป็น Content Creator ที่ใช้กลยุทธ์หาเสียงผ่านวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย

เช่น การนำตัวเองไปเป็นมีมถือกระดาษเปล่าให้ชาวเน็ตมีส่วนร่วมเขียนข้อความอะไรก็ได้ลงไปจนเป็นที่รู้จัก

ซึ่งการใช้มีมเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นเหมือนมีมชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เดินถือถุงแกง (ที่ถึงแม้เจ้าตัวไม่ได้เป็นคนทำเองก็ตาม) เมื่อภาพกลายเป็นมีมและส่งต่อกันจนกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียล คนที่อยู่ในมีมถูกจดจำไปโดยปริยาย ก็นับว่าเป็นการโฆษณาแบบหนึ่งที่สร้างสรรค์ไม่น้อย

นอกเหนือจากการใช้มีมแล้ว ทักษะหนึ่งของรักชนกคือการทำคอนเทนต์เป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ เข้าใจง่ายผ่านติ๊กต็อก (https://www.tiktok.com/@nanaicez/video/7193993792465177882)

ที่สำคัญจากสถิติการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ มีผู้หญิงที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ แบบแบ่งเขตมากถึง 83 คน โดย 39 จังหวัดจะมี ส.ส.หญิงอย่างน้อย 1 ราย และมี 38 จังหวัดที่ไม่มี ส.ส.หญิงเลย

และพรรคที่มี ส.ส.เขตเป็นผู้หญิงมากที่สุดคือพรรคก้าวไกล

 

บางบอนสำคัญอย่างไร
สำหรับกรุงเทพมหานคร
และประชากรแฝงและคนที่ถูกลืม

ถ้าพูดในแง่ตำแหน่งที่ตั้งบางบอนเป็นเขตที่มีถนนเอกชัยซึ่งเป็นเส้นทางที่ขนานคู่กับถนนพระรามสองมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนถนนบางบอน 1-5 เป็นเส้นทางที่สามารถทะลุออกไปเขตบางแคและภาษีเจริญได้

เมื่อพูดถึงพื้นเพของประชากร ส่วนมากประกอบไปด้วยชาวสวนที่อยู่มานานหลายชั่วอายุคน คนชนชั้นกลางตามหมู่บ้านจัดสรร เจ้าของโรงงานขนาดเล็ก

แต่ประชากรที่ผู้เขียนอยากพูดถึงเป็นพิเศษนอกคือ พลเมืองแฝง และ กลุ่มชนชั้นล่างที่ถูกหลงลืม

ตัวอย่างคนเหล่านี้คือใคร? หากคุณยังจำข่าวเหล่านี้ได้ นี่คือพวกเขา

ข่าวแก๊งวัยรุ่นบุกเข้าไปภายในโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ขณะสอบ GAT-PAT เมื่อปี 2562

ข่าวแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 จากแพกุ้งมหาชัย เมื่อปี 2563

ข่าวออง ซาน ซูจี เยี่ยมเยียนแรงงานพม่าที่ตลาดทะเลไทย เมื่อปี 2559

ประชากรแฝงเหล่านี้หลายคนที่มีตัวตนอยู่ที่บางบอนแต่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในพื้นที่ บ้างก็เป็นคนบ้านนอกที่เข้ามาทำโรงงานขนาดเล็กหรือทำโรงงานในมหาชัย บ้างก็เป็นแรงงานต่างด้าวที่อาศัยรวมกันเป็นชุมชนบริเวณแยกบางบอน

ท้ายที่สุดผู้เขียนวาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า…

ในวันที่มดล้มช้างได้ เสียงของมดงานทุกตัวรวมกันจะสำคัญและดังกว่าเสียงของช้างในสภา เราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นค่าและช่วยให้มดงานกลุ่มนี้มีสิทธิ์มีเสียง มีตัวตน และมีชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้นเท่าที่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีพึงจะมีได้

 


อ้างอิง

– EP03 ทำไม ‘กำนันเป๊าะ’ ถึงเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ในชลบุรี? – โอฬาร ถิ่นบางเตียว” รายการ นอกBangKOK จาก The Matter

– สถิติ ส.ส.หญิงแบบแบ่งเขต ; [2023] Women Electorate MPs – cities with WMP รวบรวมข้อมูลโดย เฌอทะเล สุวรรณพานิช

https://docs.google.com/spreadsheets/d/1m15MuiLoxXJnKzrSJZNOj8kVA9562jmNQSidzV-bq1o/edit#gid=0

– ข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3