การเมือง ‘ขั้วอำมหิต’ ฉากใหม่เพิ่งจะเริ่มต้น

ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเหมือนเดิม ทุกสรรพสิ่งต้องเปลี่ยนไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ก็หาใช่หมุนวนเป็นวัฏจักร หากแต่เป็น “วิวัฒน์”

การเมืองก็มีวิวัฒน์

การวิวัฒน์เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจบังคับได้

“ความไม่เชื่อ” ในกฎธรรมชาติข้อนี้ทำให้กลุ่มคนซึ่งถูกจัดว่า “ล้าหลัง” เกิดอาการมึนงงเมื่อต้องเผชิญกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งถ้าหากยังมีฤทธิ์ คนกลุ่มนั้นจะต้องลงมือ “ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”

ปรากฏการณ์เช่นว่านั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เช่น เมื่อครั้ง “พรรคไทยรักไทย” ชนะเลือกตั้งขาดลอยในปี 2548 ด้วยจำนวน ส.ส. 377 คน จาก 500 คน สามารถสร้างประวัติศาสตร์ “พรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาล” ได้เป็นครั้งแรก

คราวนั้นเริ่มประจักษ์ชัดว่า “การเมืองพลเรือน” จะเป็นภัยกับ “ทหารการเมือง” โดยเฉพาะในการแต่งตั้งโยกย้ายและการจัดสรรงบประมาณ

แต่ตราบใดที่เงื่อนไข “ยังไม่สุกงอม” พอ จะต้องรอ

รอไปพร้อมๆ กับ “สร้างเงื่อนไข”!

ปีเดียวหลังเลือกตั้งผ่านไป วันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพก็อ้างว่า นายกรัฐมนตรีก้าวล่วง ไม่จงรักภักดี และแทรกแซงกองทัพ

เบื้องหลังรัฐประหารทุกครั้งไม่มีอะไรซับซ้อน ปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวจากการแต่งตั้งโยกย้าย ตำแหน่ง อำนาจบังคับบัญชา การใช้งบประมาณ โอกาสความมั่งคั่งมั่นคง มิให้ตกไปอยู่ในมือกลุ่มอื่น

หลังรัฐประหารทุกครั้งต้อง “สืบทอดอำนาจ”

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านไปไม่นาน “พรรคไทยรักไทย” ที่ประชาชนกว่า 19 ล้านเสียงเทคะแนนให้ชนะเลือกตั้งในปี 2548 อย่างท่วมท้น ถูกยุบ!

ยิ่งเสียกว่าทุบกล่องดวงใจ นั่นคือ “การประหารชีวิต” พรรคการเมือง 1 ใน “สถาบันสำคัญ” ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

เกิดคำถาม…ประเทศเราปกครองด้วยระบอบใดกันแน่!?

 

“ไทยรักไทย” แปลงโฉมทันที กลายเป็น “พลังประชาชน” ลงสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2550

ประสบชัยชนะอีก ได้ ส.ส. 233 คน

แม้ทหารการเมืองกับ “ชนชั้นผู้ล้าหลัง” จะพยายามปั้นพรรคการเมืองพลเรือนขึ้นมาสู้ แต่ดูท่าแล้ว “คู่แข่ง” รายนั้นคงไม่ได้ผุดได้เกิด

ไม่นานนัก “สมัคร สุนทรเวช” ก็ถูกสอยร่วงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และ “พรรคพลังประชาชน” ก็ถูกยุบ ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่แม้แต่น้อย

20 กันยายน 2551 จึงกำเนิด “เพื่อไทย” ในอารมณ์แดงเดือด เมื่อส่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลงสนามเลือกตั้งปี 2554 จึงชนะอย่างท่วมท้นอีกครั้ง ได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง

นับเป็น “ครั้งที่ 2” ในประวัติศาสตร์ที่สามารถจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว”

แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถิติที่น่าอับอาย เกิดรัฐประหารมากที่สุดในโลก เฉลี่ยทุก 6.9 ปี แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มี “เงื่อนไขที่สุกงอม” ทหารการเมืองจะไม่ลงมือ

ผู้รักประชาธิปไตยจึงต้องหมั่นติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง สังเกตความเคลื่อนไหว การใช้วาทกรรม ใส่ร้ายป้ายสี ให้ร้ายทำลายรัฐบาลพลเรือน

ในปี 2557 แม้รัฐบาลจะถอยจนหลังชนฝา และ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” จะลาออกไปแล้ว แต่บรรยากาศก็เหมือนตกอยู่ในวงล้อมของ “ฮายีน่า”

“คสช.” ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยข้ออ้างเดิมๆ พร้อมผุดวาทกรรมมาเพื่อปรองดอง รักษาความสงบ คืนความสุขให้ประชาชน ขอเวลาไม่นาน ไม่เล่นการเมือง ไม่สืบทอดอำนาจ

ในทางปฏิบัติตระบัดสัตย์ทุกคำพูด!

ไม่ประนีประนอม ก้าวร้าวหยาบคาย ปิดกั้นและกำจัดคนเห็นต่าง สร้างกติกาขี้ฉ้อ ตั้งพวกพ้องบริวารเข้าไปนั่งในรัฐสภา รอยกมือให้ “นายกฯ” คนเดิมสืบทอดอำนาจ ไม่มีธรรมาภิบาล ทำลายองค์กรอิสระและการตรวจสอบถ่วงดุล แทรกแซงระบบยุติธรรม เกื้อกูลทุนผูกขาด ยาเสพติดระบาดหนัก การทุจริตคอร์รัปชั่นลุกลาม

อยู่มา 9 ปี นานหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทั้ง 2 ลุงก็ยังคงมุ่งมั่นว่าจะได้ “ไปต่อ” ด้วยความมั่นใจในสารพัดกลไกที่สร้างไว้

 

ก่อน 14 พฤษภาคม 2566 ไม่มีใครเชื่อว่า “โพลมติชน-เดลินิวส์” จะสะท้อน “เจตจำนง” ของคนส่วนใหญ่ ที่ “ไม่เอา 3 ป.”!

รอบแรกโพล “มติชน-เดลินิวส์” ทำขึ้น 1 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง

ผลออกมาชี้ว่า ประชาชนสนับสนุนให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงร้อยละ 29.42

“อุ๊งอิ๊ง” มาเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 23.23

“เศรษฐา” ร้อยละ 16.69 และ “ประยุทธ์”ร้อยละ 13.72

ส่วน “พรรคการเมือง” ที่ประชาชนสนับสนุน

อันดับ 1 เพื่อไทย ร้อยละ 38.89

อันดับ 2 ก้าวไกล ร้อยละ 32.37 ไล่ตามติดชนิดจ่อคอหอย

อันดับ 3 รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84 ถูกทิ้งห่าง

โพลรอบแรกทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหัวเราะเพราะเชื่อว่า “เป็นไปไม่ได้”!

“มติชน-เดลินิวส์” ทำโพลรอบ 2 ระหว่าง 22-28 เมษายน

คราวนี้หลายคนหัวร่อกันงอหาย เมื่อผลสรุปออกมาว่า ทั้งตัว “นายกรัฐมนตรี” และ “ปาร์ตี้ลิสต์” พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1

แล้วถ้าเอาแต้มทั้งสองพรรคมารวมกัน จะเกิดสภาวะ “แลนด์สไลด์” เพราะมีคะแนนสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ทีเดียว

เสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรี “พิธา” พุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 49.17

อุ๊งอิ๊ง ร้อยละ 19.59 เศรษฐา ร้อยละ 15.54

แทบไม่ต้องมอง “ประยุทธ์” ร้อยละ 6.52 และ “ประวิตร” ร้อยละ 2.35 เลย

ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค

ก้าวไกล ร้อยละ 50.29 เพื่อไทย ร้อยละ 33.65

ตอกย้ำล่วงหน้าว่า “รวมไทยสร้างชาติ” ร้อยละ 6 กับ “พลังประชารัฐ” ร้อยละ 2 นั้นไม่ควรจะดื้อด้าน 2 ลุงต้องกลับบ้าน

หยุดความกระหายใคร่อยาก ปล่อยให้การเมืองดำเนินไปตาม “เจตจำนง” ของคนส่วนใหญ่

ถึงอย่างนั้นก็มีคนบอกว่า “โพลมติชน-เดลินิวส์” เว่อร์

แต่เมื่อผลเลือกตั้งออกมา

“ก้าวไกล” กลายเป็นปีศาจตัวใหม่จริงๆ

“เพื่อไทย” ได้ลิ้มรสพรรคอันดับ 2 เป็นครั้งแรก

ส่วนคะแนนของ 2 พรรค ของ 2 ลุงนั้นรวมกันได้ราว 5 ล้านเสียง เทียบกับ “ก้าวไกล+เพื่อไทย” ที่รวมกันแล้ว 25 ล้านเสียง ควรจะกระจ่างใจว่า ระบอบ 3 ป.ได้กลายเป็น “แนวร่วมธรรมชาติ” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์

แต่ “ก้าวไกล” คลื่นลูกใหม่ทางการเมืองซึ่งเติบโตขึ้นมาจาก “ฉันทานุมัติ” และ “ความคาดหวัง” ของเสียงส่วนใหญ่ จะไปได้ไกลหรือไม่ คงต้องอาศัยพลังจาก 80% ที่ประกาศเลือกข้าง “ประชาธิปไตย” ฝัง 3 ป. ไม่เอาอำนาจนิยม!??!!