พาราลิมปิก เกิดขึ้นมาอย่างไร? ประวัติศาสตร์ ความหมาย ที่ควรรู้

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันพาราลิมปิก 2016 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-18 กันยายน ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

การแข่งครั้งนี้มีนักกีฬาคนพิการเข้าแข่ง 4,350 คน ชิงเหรียญรางวัลใน 23 ประเภทกีฬา มียอดนักกีฬาไทย 46 คน ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันกีฬา 10 ประเภท

ไปคราวนี้ทีมชาติไทยตั้งเป้าคว้า 4 เหรียญทอง เท่ากับที่ได้ในพาราลิมปิก ปี 2012 ที่กรุงลอนดอนจากเจ้าของเหรียญทองเดิม คือ สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม นักกีฬาเทเบิลเทนนิส, พัทธยา เทศทอง กีฬาบอคเซีย และจาก เรวัตร์ ต๋านะ วีลแชร์เรซซิ่ง

พิธีเปิดการแข่งขันพาราลิมปิก 2016 จะเริ่มขึ้นเวลา 5 โมงครึ่งของวันที่ 7 กันยายน ตามเวลาของนครริโอ เดอ จาเนโร ตรงกับเวลาในเมืองไทยตี 3 ครึ่งของวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน

พาราลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากโอลิมปิก จัดแข่งครั้งแรกในปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ครั้งนั้นมีนักกีฬา 400 คนจาก 23 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน

พาราลิมปิก 2016 เป็นการจัดแข่งขันครั้งที่ 15

คําว่า “พาราลิมปิก” (Paralympic) ไม่ได้มีความเกี่ยวของกับคำว่า พาราไลซิส (Paralysis) หรือพาราพลีเจีย (Paraplegia) ที่หมายถึงภาวะอัมพาต

ในภาษากรีก “para” แปลว่า นอกจากนี้ (Besides) หรือ เคียงคู่กัน (Alongside) ซึ่งเป็นการสื่อว่าการแข่งขันนี้จะจัดคู่กับโอลิมปิกทุกครั้ง ดังนั้น เจ้าภาพโอลิมปิกต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดแข่งพาราลิมปิกในปีเดียวกันด้วย

ก่อนหน้านี้ประเทศเจ้าภาพจะจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกคนละที่กัน

แต่นับจากปี 1988 ที่กรุงโซลเป็นต้นมา ทางคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ตกลงร่วมกันว่าพาราลิมปิกและโอลิมปิกจะแข่งเมืองเดียวกันและใช้สถานที่เดียวกันในการจัดแข่งขัน

โดยแข่งโอลิมปิกก่อนแล้วต่อด้วยพาราลิมปิก ซึ่งมักจะจัดหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกสิ้นสุดลงประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อใช้เวลาปรับสนามแข่งขันให้เหมาะกับนักกีฬาผู้พิการ

สัญลักษณ์ของการแข่งพาราลิมปิกเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว 3 ชิ้น มีสีแดง น้ำเงิน และเขียว ซึ่งเป็นสีสามัญประจำธงชาติของเกือบทุกประเทศทั่วโลก

ตัวพระจันทร์เสี้ยวเรียกว่า อาจิโต (Agito) ในภาษาละตินแปลว่า ฉันเคลื่อนไหว (I move) และคำขวัญของพาราลิมปิกคือ “Spirit in Motion” หรือ จิตวิญญาณในการเคลื่อนไหว

เป็นการสื่อว่าถึงแม้ร่างกายอาจจะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี แต่จิตวิญญาณพร้อมจะเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่

พาราลิมปิก มีการมอบเหรียญรวม 2,642 เหรียญ เป็นเหรียญทอง 877 เหรียญ, เหรียญเงิน 876 เหรียญ และเหรียญทองแดง 889 เหรียญ

ด้านหน้าเหรียญพาราลิมปิก มีใบกระวานพาดอยู่มุมซ้ายของโลโก้พาราลิมปิก เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และตัวอักษร เบรลล์ (Braille) สำหรับนักกีฬาที่ตามองไม่เห็นว่า Rio 2016 Paralympic Games

ที่น่าสนใจคือ เหรียญพาราลิมปิกเขย่าแล้วมีเสียงเพื่อให้นักกีฬาตามองไม่เห็นได้ยิน และน้ำหนักของเหรียญต่างกัน เหรียญทองหนักที่สุด หนักรองลงมาคือเหรียญเงิน และหนักน้อยที่สุดคือ เหรียญทองแดง ซึ่งนักกีฬาตามองไม่เห็นถือแล้วจะสามารถแยกออกว่าเป็นเหรียญอะไรจากน้ำหนักที่ต่างกัน

วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเปิดการแข่งขัน ทีมนักกีฬาไทยลงแข่งเทเบิลเทนนิส, กรีฑา, ยิงปืน และยูโด โดยตั้งความหวังว่าจะคว้าเหรียญรางวัลได้ทุกประเภทกีฬาที่ลงแข่ง

ประเทศไทยเริ่มส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันพาราลิมปิก ตั้งแต่ปี 1984 นับจากนั้นก็เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกทุกสมัย

เหรียญรางวัลพาราลิมปิกเหรียญแรกของไทยคว้ามาได้เมื่อปี 1988 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้

เป็นเหรียญเงินจาก สกุล คำตัน ในการแข่งขันพุ่งแหลนชาย

หลังจากนั้นทีมนักกีฬาไทย ก็สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้สำเร็จทุกครั้งที่เข้าร่วมแข่งขัน

จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นพาราลิมปิกในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขันสโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ (Stoke Mandeville Games) ซึ่งเป็นความคิดของ เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ (Sir Ludwig Guttmann) นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันที่ถือสัญชาติอังกฤษ

ช่วงปี 1939 เซอร์ ลุดวิก อพยพหนีสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอยู่ประเทศอังกฤษ

ในปี 1944 เขาได้ก่อตั้งศูนย์ผู้บาดเจ็บกระดูกสันหลังแห่งชาติ ณ โรงพยาบาลสโต๊ก แมนเดวิลล์ (Stoke Mandeville Hospital) ที่บักกิ้งแฮมเชียร์ประเทศอังกฤษ จากความเชื่อที่ว่ากีฬาเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยบำบัดทหารที่บาดเจ็บกระดูกสันหลัง ทั้งยังช่วยเสริมสร้างพละกำลังและความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับพวกเขาอีกด้วย

ปลายเดือนกรกฎาคม 1948 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการแข่งขันโอลิมปิก 1948 ที่ลอนดอน เซอร์ ลุดวิก ได้จัดการแข่งขันกีฬาสำหรับทหารผ่านศึกที่นั่งรถวีลแชร์ และตั้งชื่อการแข่งขันว่า สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ มีทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บจากสงคราม ทั้งหญิงและชายร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 คน (หญิง 2 ชาย 14 ) แข่งกีฬายิงธนูประเภทเดียว

นับจากนั้น เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ ได้จัดแข่งกีฬาทุกๆ ปี มีการเพิ่มประเภทกีฬาให้หลากหลายขึ้น มีผู้ร่วมแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งในปี 1952 สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ ได้กลายเป็น International Stoke Mandeville Games เพราะมีนักกีฬาชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นทหารผ่านศึกเข้าร่วมการแข่งขันด้วย

ในปี 1960 เป็นครั้งแรกที่สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ จัดแข่งในต่างประเทศ ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยจัดคู่ขนานกับโอลิมปิกเกมส์ มีนักกีฬา 400 คนจาก 23 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน

ปีนั้นเป็นการแข่งขันครั้งที่ 9 ของ International Stoke Mandeville Games ภายหลังทางคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลได้ถือให้ปี 1960 เป็นการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรก

พาราลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักกีฬาพิเศษจากทั่วโลก แสดงให้เห็นความสามารถของคนที่มีร่างกายแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ตามองไม่เห็น ไม่มีแขน ไม่มีขา แต่มีความสามารถเล่นกีฬาได้เหมือนคนร่างกายปกติ หรืออาจเล่นได้ดียิ่งกว่า

การได้มีส่วนร่วมแข่งขันกีฬา คือสิ่งสำคัญในการเยียวยาด้านจิตใจและสร้างความหวังให้กับนักกีฬาพิเศษได้อย่างน่ายกย่อง