‘โมคา’ ไซโคลนมรณะ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Sai Aung Main/AFP/Getty Images

วันนี้ ประเทศไทยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หลังประชาชนรวมพลังไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กาบัตรให้กับพรรคการเมืองฝั่งเสรีนิยมชื่นชมในระบอบประชาธิปไตยรวมๆ แล้วกว่า 25 ล้านเสียง ถือได้ว่าเป็นเสียงสวรรค์ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และผลักดันให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ดีกว่า 8 ปีที่ผ่านมา

คราวนี้มาดูความเป็นไปของพายุไซโคลน “โมคา” กันดีกว่า พายุลูกนี้เพิ่งพัดผ่านชายฝั่งบังกลาเทศ พม่า และส่งอิทธิฤทธิ์มาถึงฝั่งไทยด้วย

“โมคา” กลายเป็นไซโคลนมรณะไปเรียบร้อยเพราะมีผู้เสียชีวิตทั้งจากกระแสลมและฝนตกหนักดินถล่ม ขณะที่ความแรงความเร็วของพายุสูงถึง 259 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความแรงของพายุขั้นสูงสุดระดับที่ 5

พายุลูกนี้มีอิทธิฤทธิ์ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 520 กิโลเมตร เทียบความกว้างได้เท่ากับกรุงเทพฯ เกือบถึงลำปาง

 

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม เป็นช่วงก่อนพายุจะเข้าหาชายฝั่ง กรมอุตุนิยมวิทยาของพม่าแจ้งว่า ทิศทางของพายุจะพุ่งตรงมายังรัฐยะไข่ กระแสลมอยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมง พายุเคลื่อนตัวเข้ารัฐชินและรัฐฉาน

ช่วงเวลานั้นระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเกิดปัญหาแล้วเนื่องจาก “โมคา” ออกฤทธิ์แรง กระแสลมพัดหอบเอาเสาไฟฟ้า เสาสัญญาณสื่อสารล้มระเนระนาด บริการอินเตอร์เนตเดี้ยง

เช้ามืดวันอาทิตย์เวลาประมาณตี 3 ฝนตกหนักมากในพื้นที่รัฐฉาน ดินอุ้มน้ำไม่ไหวไหลถล่มบ้านเรือนในเขตท่าขี้เหล็กมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และแถวๆ เมืองมัณฑะเลย์มีตำรวจเจอต้นไม้ล้มใส่เสียชีวิตเพิ่มอีกคน

รัฐยะไข่ซึ่งอยู่ริมอ่าวเบงกอลทางทิศตะวันตกของพม่าติดชายแดนบังกลาเทศเจอกระแสคลื่นจากอิทธิฤทธิ์พายุไซโคลน “โมคา” เต็มๆ คลื่นซัดเข้าชายฝั่งสูง 4 เมตร ส่วนกระแสลมแรงยกระดับขึ้นเป็น 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“โมคา” จึงเป็นพายุที่แรงฤทธิ์ที่สุดในรอบ 15 ปีที่พัดเข้าใส่ชายฝั่งรัฐยะไข่

ชาวยะไข่นั้นเป็นทุกข์หนักหนาสาหัสอยู่แล้วเพราะรัฐบาลเผด็จการพม่าใช้กำลังรุนแรงปราบปรามกลุ่มชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิม ทำให้รัฐยะไข่ปั่นป่วนอลหม่าน ผู้คนแตกแยกทางความคิดและแบ่งแยกชุมชนเป็นฝักเป็นฝ่าย ระหว่างชาวยะไข่กับชาวโรฮิงญา

พื้นที่หลายแห่ง เช่น เมืองสะเกง เมืองมะกเว กลายเป็นที่พักพิงของผู้อพยพกว่า 6 ล้านคน ที่หลบหนีสงครามสู้รบและความขัดแย้ง

มาวันนี้ชาวยะไข่ต้องมาเผชิญทุกข์กับพายุร้าย ทางการประกาศเตือนภัยและอพยพผู้คนออกจากจุดเสี่ยงภัยพายุ “โมคา” ซึ่งทวีกำลังแรงลมเป็น 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ระหว่างกระแสลมพัดผ่านพื้นที่พักพิงของผู้อพยพ ปรากฏว่าเพิงพักพิงซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ ถูกแรงลมพัดกระจุยกว่า 1,300 หลัง มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 5 คน

Sai Aung Main/AFP/Getty Images

อิทธิฤทธิ์ของพายุไซโคลนโมคาส่งผลกระทบมาถึงบ้านเราในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์เป็นช่วงเวลาเดียวกับทั่วประเทศกำลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.

หลายๆ พื้นที่เจอฝนกระหน่ำต้องย้ายหีบบัตรเลือกตั้งหนึอุตลุด จน กกต.ต้องเลื่อนนัดเวลาแถลงข่าวผลการเลือกตั้งในช่วงกลางคืนวันอาทิตย์เพราะบางหน่วยเลือกตั้งส่งผลการนับคะแนนไม่ได้

มีคำถามว่าทำไมพายุไซโคลน “โมคา” ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในอ่าวเบงกอล สามารถยกระดับความรุนแรงเข้าสู่ขั้นสูงสุดระดับ 5 ตามมาตรวัดเฮอร์ริเคน แซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson Hurricane Wind Scale) ได้อย่างรวดเร็ว

เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องควานหาคำตอบกันต่อไป

ตามมาตรวัดเฮอร์ริเคนฯ ที่ว่านี้ แบ่งเป็น 5ระดับ ตามความเร็วลมสูงสุดของพายุที่พัดต่อเนื่องใน 1 นาทีบนความสูงระดับ 10 เมตร ระดับ 1 ความเร็วลมสูงสุด 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระดับ 2 จะอยู่ที่ 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระดับ 3 จะอยู่ที่ 178-208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระดับ 4 จะอยู่ที่ 209-251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระดับสูงสุด มากกว่า 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การยกระดับความรุนแรงของพายุ “โมคา” เริ่มต้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำ เกิดขึ้นเป็นจุดเล็กๆ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอลเมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม อีกวันถัดมา หย่อมความกดอากาศนี้เพิ่มกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชั่นและเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลอันดามัน

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม ดีเปรสชั่นทวีกำลังแรง กระแสลมวัดได้ 106-141 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกระดับเป็นพายุไซโคลน ระดับ 1

เมื่อยกระดับเป็นพายุไซโคลน กรมอุตุนิยมวิทยาโลกจึงให้ชื่อพายุลูกนี้ว่า “โมคา” (Mocha) เป็นชื่อเมืองโมคาหรือมอคคา (Mokha) ประเทศเยเมน

บรรดาคอกาแฟทั้งหลายต้องรู้จักเมืองนี้ เพราะเป็นเมืองท่าค้ากาแฟมอคคาชื่อดังริมฝั่งทะเลแดง

พายุไซโคลน “โมคา” เป็นเป็นพายุไซโคลนลูกแรกที่ก่อตัวในฤดูไซโคลนปีนี้ของมหาสมุทรอินเดีย

“โมคา” ใช้เวลาเพียง 2 วัน สามารถทวีความแรงจากระดับ 1 จนกลายเป็นพายุไซโคลนระดับร้ายแรงเทียบเคียงได้กับ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” ความเร็วลมมากกว่า 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความแรงของกระแสลมตรงจุดศูนย์กลางพายุทำให้เกิดคลื่นในทะเลสูงกว่า 13.7 เมตร การเดินเรือในบริเวณดังกล่าวกลายเป็นอัมพาตไปชั่วคราว

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศตั้งข้อสงสัยการยกระดับความแรงของพายุลูกนี้มาจากภาวะโลกร้อนหรือไม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของพื้นผิวน้ำทะเลในอ่าวเบงกอล

การเกิดหย่อมความกดอากาศเล็กๆ ในอ่าวเบงกอลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พบว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลอ่าวเบงกอล ในพื้นที่ที่เรียกว่า “แบมบู แฟลต” (Bamboo Flat) พุ่งสู่จุดสูงสุดวัดได้ 31.1 องศาเซลเซียส และจุดที่เย็นสุดอยู่ในพื้นที่ “ปูริ” (Puri) วัดได้ 28.1 องศาเซลเซียส

หากย้อนดูสถิติความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลในอ่าวเบงกอลสูงขึ้นต่อเนื่องมากว่า 2 เดือนแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลอ่าวเบงกอล จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้หย่อมความกดอากาศเล็กๆ กลายเป็นพายุไซโคลน “โมคา” มีระดับความแรงสู่ขั้นสูงสุดในเวลาเพียง 5 วันหรือไม่นั้น เชื่อว่าอีกไม่นานผู้เชี่ยวชาญคงจะไขปริศนาเรื่องนี้ได้

แต่สถิติวันนี้ไซโคลน “โมคา” มีความรุนแรงเทียบเท่ากับพายุนาร์กีสที่เคยพัดถล่มเมืองย่างกุ้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น 1.3 แสนคน

และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของมหันตภัยพายุโซโคลนฝั่งอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันหรือไม่ ต้องตามดูอย่ากะพริบตา เพราะเมืองไทยมีสิทธิเจอลูกหลงก็ได้ •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]