หัวลำโพงรำลึก และอดีตแห่งโรงแรม ‘ราชธานี’

ผมมีความทรงจำในช่วงปฐมวัยที่บ้านคุณก๋ง, คุณยายที่ซอยรองเมือง เห็นฝั่งตรงข้ามถนนข้ามคลองไปคือทางรถไฟสายปากน้ำ ยังจำภาพขบวนรถไฟที่วิ่งผ่านไปมาได้ดี

ถ้าคุณวิ่งมาตามถนนพระราม 4 จากหัวลำโพงสู่สามย่าน เส้นทางรถไฟจะอยู่ริมถนนฝั่งขวามือ ทอดยาวไปจนถึงปากน้ำ

นั่นคือทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

สาเหตุที่มีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปปากน้ำ เป็นเพราะการเดินทางระหว่างประเทศสมัยก่อนมีแต่ทางเรือ เรือกลไฟจะเข้าสู่สยามที่ปากน้ำ

แต่การเดินทางจากปากน้ำเข้าสู่บางกอกยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกพอ จึงมีการให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศสร้างทางรถไฟเป็นบริษัทจากเดนมาร์ก แล้วเปิดการเดินรถไฟสายแรกเป็นเวลา 50 ปี จาก พ.ศ.2429-2479 ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดเดินรถเมื่อปี พ.ศ.2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีเริ่มการก่อสร้าง และได้เสด็จไปในพิธีเปิดการเดินรถด้วยการขึ้นนั่งโดยสารบนรถไฟขบวนแรก เส้นทางนี้ยาว 21.3 ก.ม. มี 12 สถานี

เมื่อสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟสายปากน้ำได้ตกมาอยู่ในกิจการของ “กรมรถไฟ” ด้วยการซื้อเส้นทางรถไฟมาบริหารงานต่อ จนถึงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2503 แล้วถมคลองสร้างถนนแทนเป็นถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

มาถึงทุกวันนี้ รถไฟฟ้า BTS ก็วิ่งเกือบถึงปากน้ำแล้ว ต้องยอมรับว่าคนโบราณคิดอะไรไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อนหน้านี้

รถไฟสายปากน้ำจึงเป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย ที่ก่อตั้งก่อนการเดินรถไฟหลวงสายกรุงเทพฯ-อยุธยาถึง 3 ปี

 

นั่นคือการกล่าวอารัมภบทในรายการ “กิจกรรมเดินชมขบวนรถไฟพิเศษ และสถานที่พิเศษในสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Unfolding Bangkok ในธีม Living Old Building – สถานีหัวลำโพง เมื่อไม่นานมานี้

ผมเข้าชมสถานีหัวลำโพงโดยมีวิทยากรผู้บรรยายของ ร.ฟ.ท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เล่าถึงประวัติเริ่มต้นรถไฟในประเทศไทยด้วยกำเหนิดรถไฟสายปากน้ำ

แล้วเล่าถึงการก่อสร้างสถานีหัวลำโพงว่า เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2453 การก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินรถเข้าสู่ชายชาลาสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2450

แต่เดิมเมื่อสถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อเริ่มเปิดเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ-อยุธยา เป็นเพียงอาคารไม้ 2 ชั้นหลังเล็กๆ

ส่วนสถานีกรุงเทพแห่งใหม่เป็นอาคารที่ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ “นีโอ-คลาสสิค” โดยฝีมือการออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาเลียน – ‘มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno)’ คนนี้คือคนเดียวกับสถาปนิกที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและอาคารชั้นนำของบางกอกในสมัยนั้น เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน สะพานมัฆวานรังสรรค์ วังปารุสกวัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานีรถไฟสวนจิตรลดา บ้านพิษณุโลก ตึกกระทรวงพาณิชย์เดิม ตึกไทยคู่ฟ้า

มาริโอ ตามาญโญ คือตำนานสถาปนิกผู้รังสรรค์อาคารนีโอ-คลาสสิคของกรุงเทพฯ

หลังจากเริ่มเปิดสถานีหัวลำโพง ต่อมาก็มีการขยายใช้พื้นที่ซ่อมบำรุง ขยายเป็นสถานีรถไฟสมบูรณ์แบบ

โรงงานมักกะสันเคยสร้างตู้รถไฟใช้เองระหว่างปี 2510-2516

วิทยากรยืนบรรยายที่ช่องตีตั๋วรถไฟ หันหน้าไปด้านทางเข้าของสถานีรถไฟ เขาชี้ชวนให้ดูกระจกตรงด้านบนของทางเข้า ถ้าเป็นตอนกลางวันจะเล่นเงาแสงแดดเห็นเป็นลวดลายสวยมาก

ส่วนต่อลงมาคือซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านบนมีระเบียงติดตั้งรูปปั้นเทพเจ้า 6 องค์ เรียงบนแท่นเป็นแถว

ความคลาสสิคของตัวอาคารหัวลำโพงคือ โถงอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่มีเสากลางรับน้ำหนัก จุดรับน้ำหนักอยู่ที่เสาด้านซ้ายขวา เป็นเสาหล่อฉาบปูนสวยงาม ตรงหัวเสาที่ค้ำกับเพดาน แกะเป็นลายปูนปั้นรูปใบไม้สวยงามนัก

ส่วนพื้นห้องโถงขาเข้าปูด้วยหินอ่อนนำเข้าจากอิตาลี

จุดเด่นอีกแห่งในสถานีหัวลำโพงคือ นาฬิกาเรือนกลมใหญ่ติดตั้งอยู่ด้านบนซุ้มทางเข้า เป็นนาฬิกาเรือนแรกของประเทศไทยที่บอกเวลาหมุนเวียน 24 ชั่วโมงแบบสากล ขณะเดียวกันก็มีตัวเลขบอกโมงยามแบบไทยกำกับอยู่ด้วย

นาฬิกาเรือนนี้สั่งทำจากบริษัทซีเมนต์ เยอรมนี ติดตั้งใช้งานตั้งแต่วันแรกเปิดสถานีหัวลำโพง

เดินตรงเวลามา 106 ปี ใช้งานได้จนทุกวันนี้

 

เมื่อมีอาคารสถานีรถไฟ ก็ต้องมีที่พักแรมของผู้เดินทาง นั่นคือโรงแรม

ในสมัยนั้น กรุงเทพฯ มีโรงแรมทันสมัย 3 แห่ง คือ โรงแรมรถไฟหัวหิน ที่ยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน โรงแรมพญาไทที่ปัจจุบันคืออาคารวังพญาไทในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ และโรงแรมราชธานีในบริเวณสถานีหัวลำโพง

เหตุผลที่ต้องมีการสร้างโรงแรมในสถานีรถไฟหัวลำโพงเพราะการเดินทางในสมัยก่อนไม่มีการวิ่งรถช่วงกลางคืน เนื่องจากจะไม่ปลอดภัยจากบรรดาสัตว์ร้ายและอุบัติภัยต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีโรงแรมให้ผู้เดินทางได้ค้างคืน

โรงแรมราชธานีออกแบบโดยสถาปนิกอิตาเลียนผู้ปราดเปรื่องคนนั้น

ผู้บรรยายพาเดินมายังบันไดด้านข้างขึ้นสู่อาคารด้านบน เขาเล่าว่าบนบันไดหินอ่อนนี้ยังมีรูตอกหมุด 2 รูตรงกลางด้านซ้ายขวาอยู่ทุกขั้นบันไดเพื่อใช้ตรึงพรมแดงปูขึ้นสู่ห้องพักด้านบน แสดงว่าลูกค้าที่มาพักแรมล้วนเป็นคนสำคัญทั้งนั้นจึงต้องเดินบนพรมแดง

โรงแรมนี้มีห้องพัก 10 ห้อง เรียงไปตามแนวชานชาลา เป็นห้องธรรมดา 9 ห้อง หัองสุดท้ายเป็นห้อง Suite สุดหรู มีห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องพักคนติดตาม

ค่าเช่าห้องพัก คืนละ 1 บาท

ห้อง Suite คืนละ 1.50 บาท

พื้นทางเดินโรงแรมปูด้วยหินอ่อนนำเข้าจากมลายู

ห้องด้านขวาก่อนขึ้นบันไดเคยเป็นห้องล็อบบี้ของโรงแรม ปัจจุบันคือห้องน้ำชาย มีทั้งห้องสุขาและห้องอาบน้ำ

ส่วนด้านซ้ายมือก่อนขึ้นบันไดเป็นห้องอาหารกว้างใหญ่ เคยมีวิวผ่านกระจกมองเห็นชานชาลา ปัจจุบันทำเป็นห้องน้ำหญิง

ผู้บรรยายพาผู้ชมเดินผ่านประตูเข้าสู่ชานชาลาด้านใน ผ่านสายหมอกของน้ำแข็งแห้งในแสงไฟหลากสี ให้ความรู้สึกเหมือนเดินย้อนเวลาสู่อดีต

ที่พื้นชานชาลามีไฟสปอตไลต์ดวงกลม 2-3 ดวงฉายลงพื้น ให้คนมานั่งถ่ายรูป มีวิวหัวรถจักรไอน้ำเป็นองค์ประกอบฉากหลัง

พื้นชานชาลา สมัยก่อนเป็นก้อนแผ่นไม้สักอัดบล็อก ใช้รองรับซับคราบน้ำมันที่อาจกระเด็นเปื้อนพื้น แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นพื้นกระเบื้องแล้ว

เดินเข้าไปบริเวณชานชาลา จะเห็นด้านบนของตัวอาคารที่เป็นห้องพัก 10 ห้องของโรงแรมราชธานี คืนนั้นตามไฟไว้สวยงาม อาคารด้านบนทาสีเหลืองปูนจนถึงครึ่งล่างของอาคารด้านล่างจะทาสีปูนน้ำตาล เพราะคนโบราณสมัยนั้นเคี้ยวหมาก จะมีการบ้วนน้ำลายเป็นปูนออกมา จึงทาสีอาคารด้านล่างเป็นสีปูนป้องกันรอยเปื้อนจากน้ำหมาก

อาคารสถานีรถไฟไทยทั้งประเทศจึงเป็นสีทูโทนของสีเหลืองปูนและสีน้ำตาลน้ำหมาก รวมตลอดถึงสีของตัวตู้โบกี้โดยสารก็ใช้สีทูโทนเช่นกัน เป็นเอกลักษณ์ถึงทุกวันนี้

ที่เห็นเด่นเป็นสง่าเบื้องหน้า คือป้ายสถานีกรุงเทพ

 

ชั้นล่างของบริเวณอาคารโรงแรมราชธานีเป็นที่ทำการนายสถานีและห้องด่านศุลกากร ถ้ารถไฟวิ่งมาจากต่างประเทศ ผู้โดยสารจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านนี้

ส่วนที่จอดโชว์อยู่ที่ชานชาลาคือ หัวรถจักรไอน้ำ 4 คันสุดท้ายที่ยังใช้งานได้ ทุกคันได้รับการซ่อมบำรุงทาสีไว้สวยงาม

หัวรถจักรไอน้ำคันที่ 5 กำลังซ่อมอยู่ในโรงงานมักกะสัน

หัวรถจักรไอน้ำคันที่เก่าแก่ที่สุดจอดโชว์อยู่ด้านซ้ายมือ เป็นหัวรถจักรหมายเลข 713 เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 8 เดิมเป็นหัวรถจักรที่กองทัพญี่ปุ่นนำมาใช้ขนส่งในการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวรถจักรรุ่นนี้สร้างปี 2477 ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง

ผมยังจำรถไฟสายแม่กลอง-คลองสานยุคโบราณที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงได้ดี เวลาขึ้นรถไฟ ต้องใส่เสื้อตัวเก่าที่สุดเพราะลูกไฟจะปลิวเข้าหน้าต่างมาไหม้เสื้อผ้าเป็นจุดๆ ขืนใส่เสื้อสวยตัวใหม่มาเป็นต้องสูญเสียแน่นอน

หัวรถจักรไอน้ำหมายเลข 713 จอดพ่วงขบวนโบกี้รถไฟเด่นเป็นสง่าภายใต้แสงไฟขับให้สวยงาม ผู้คนพากันเข้าไปถ่ายรูปกับหัวรถจักร

ส่วนด้านขวามือที่จอดอยู่เคียงคู่กันคือหัวรถจักรไอน้ำหมายเลข 715 แบบ Pacific (Japanese Pacific Locomotive) ที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นทดแทนหัวรถจักรที่ถูกทำลายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวรถจักรรุ่นนี้นำเข้าสู่ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังใช้งานได้ในปัจจุบัน หัวรถจักรรุ่นนี้ใช้น้ำมันเตา ออกวิ่งปีละ 6 ครั้ง

เช่นกันที่หัวรถจักร 715 ก็จอดพ่วงต่อกับขบวนโบกี้ตู้โดยสาร โดดเด่นเป็นสง่าในแสงไฟ ไม่ห่างไกลจากป้ายสถานีกรุงเทพ ผู้คนต่างพากันถ่ายรูปคู่กับหัวรถจักรเป็นที่ระลึก

ขณะที่กำลังชื่นชมหัวรถจักรไอน้ำทั้ง 2 หัวอยู่นั้น หัวรถจักรไอน้ำรุ่นแปซิฟิกอีก 2 หัวต่อพ่วงกัน ก็ลากจูงตู้โบกี้โดยสารเข้าเทียบชานชาลาหัวลำโพงในรางถัดไป เสียงหวูดรถไฟดังก้องกังวานก่อนที่ขบวนรถจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าเทียบชานชาลา

นั่นคือขบวนรถไฟนำเที่ยวสถานีแม่น้ำและเส้นทางรถไฟสายมรณะแห่งจังหวัดกาญจนบุรี ที่ออกเดินทางจากสถานีหัวลำโพงในตอนเช้า

หัวรถจักรทั้งสองปล่อยควันไอน้ำพวยพุ่งในแสงไฟสาดส่อง บ่งบอกความมีชีวิตชีวาของสถานีหัวลำโพง เสียงเครื่องยนต์ดังก้องกังวานบอกถึงพลังไอน้ำที่อัดแน่นในหัวรถจักร

 

ปิดท้ายรายการด้วยผู้ว่าการการรถไฟฯ คุณนิรุฒ มณีพันธ์ มายืนแจกโปสเตอร์รูปหัวรถจักรรถไฟให้ผู้มาร่วมงาน

ผมเข้าไปรับโปสเตอร์จากผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.แล้วเรียนท่านว่า ผมมาร่วมงานจากเมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

คุณนิรุฒตอบว่า รู้จักเมืองเรดดิ้งดีเพราะเคยไปช้อปปิ้งที่ Outlet ที่นั่น สมัยที่เรียนอยู่ที่ Temple University เมืองฟิลาเดลเฟีย

คุณนิรุฒจบ Master of Laws (LLM) Temple University

ผมมีโอกาสฝากผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ว่า “อย่าให้ใครมาทุบหัวลำโพง”

ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ตอบยืนยันว่า

“ผมไม่ยอมให้ใครมาทุบหัวลำโพงโดยเด็ดขาด”