AI โคลนนิ่ง ไม่ใช่ตัวจริงแต่ก็ใกล้เคียง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

AI โคลนนิ่ง

ไม่ใช่ตัวจริงแต่ก็ใกล้เคียง

 

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์นอกจากจะต้องคอยอัพเดตชีวิตตัวเองให้แฟนๆ ได้ติดตามอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็จะต้องมีวินัยในการตอบข้อความที่แฟนๆ ส่งมาทางอินบ็อกซ์ด้วย

ซึ่งสำหรับอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ที่มีผู้ติดตามหลักแสนหลักล้าน การจะทำเช่นนั้นให้ได้ทุกวันแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจแฟนๆ อินฟลูฯ บางคนอาจจะต้องมีผู้ช่วยไว้คอยตอบข้อความบ้าง แต่ในยุคที่เทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เฟื่องฟูอย่างในตอนนี้จึงมีทางออกที่ดียิ่งกว่าการให้คนอื่นมาช่วยตอบข้อความแทน

และทางออกนั้นก็คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า AI clone ของตัวเองขึ้นมา

คาริน มาจอรี (Caryn Marjorie) วัย 23 ปีเป็นอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ที่มีผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านคนบนโซเชียลมีเดีย Snapchat ฐานแฟนของเธอเป็นผู้ชายมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ และมักจะตอบกลับภาพและวิดีโอที่เธอโพสต์ในแต่ละวันด้วยข้อความปริมาณมหาศาลที่คารินพิมพ์จนมือหักก็ยังตอบไม่หมด

คารินสร้างกลุ่มบนแอพพลิเคชั่นส่งข้อความ Telegram เพื่อให้แฟนๆ ที่พร้อมจ่ายได้เข้ามาพูดคุยกับเธอได้อย่างใกล้ชิด เธอใช้เวลากว่าห้าชั่วโมงในการตอบคอมเมนต์ทุกวัน จนมาถึงจุดที่คารินทำไม่ไหวอีกต่อไปและต้องหาตัวช่วย

CarynAI เป็นแชตบ็อตที่ใช้ขุมพลัง GPT-4 ของ OpenAI มาช่วยในการเลียนเสียง กิริยา และบุคลิกของเธอเพื่อให้สามารถเซอร์วิสแฟนๆ ได้อย่างทั่วถึงและสมจริง

แฟนๆ ของคารินสามารถจ่าย 1 ดอลลาร์ต่อนาทีเพื่อคุยกับแชตบ็อตคารินได้โดยการันตีว่าจะรู้สึกเหมือนได้คุยกับเจ้าตัวจริงๆ

ภายในสัปดาห์แรกที่เปิดตัว เธอสามารถสร้างรายได้จากแชทบ็อทตัวเองได้ถึง 100,000 ดอลลาร์ และคาดว่าหลังจากนี้จะสามารถทำเงินได้ราวๆ 5 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนโดยตัวเธอเองแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

นี่สิ passive income ที่แท้จริง!

 

เจ้าตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าแฟนๆ ของเธอล้วนมีความรู้สึกผูกพันที่แกร่งกล้ามากเป็นพิเศษทำให้พวกเขาส่งข้อความหาเธอทุกวัน สองแขนและยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวันที่มีก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เธอตอบข้อความเหล่านั้นได้หมด แต่พอไม่ตอบเธอก็รู้สึกผิดที่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง

แชตบ็อตปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่แทนเธอได้จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้พอดิบพอดี

แชตบ็อต CarynAI นี้เป็นผลงานของบริษัทชื่อ Forever Voices ซึ่งเคยสร้างแชตบ็อตเหมือนจริงของคนมีชื่อเสียงมาแล้วหลายคน อย่างเช่น Steve Jobs, Kanye West, Donald Trump และ Taylor Swift ซึ่งก็ทำออกมาได้สมจริงน่าประทับใจแต่ก็ไม่ได้เป็นการร่วมมือในฐานะพาร์ตเนอร์กับคนดังเหล่านั้นอย่างเป็นทางการ บริษัทบอกว่าแชตบ็อตของคารินนี้นับเป็นโปรดักต์ที่ซับซ้อนสมจริงยิ่งกว่าทั้งหมดที่เคยทำมา

เบื้องหลังบริษัทนี้น่าสนใจทีเดียว ซีอีโอชื่อ John Meyer เล่าว่าเขาก่อตั้งบริษัทขึ้นมาหลังจากที่พยายามหาวิธีที่จะสื่อสารกับคุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้วให้ได้

เขาสร้างแชตบ็อตเสียง AI ขึ้นมาโดยให้มันเลียนเสียงและบุคลิกของพ่อและพบว่าเมื่อได้พูดคุยกับ AI ที่มีความใกล้เคียงพ่อของตัวเองมันสามารถช่วยเยียวยาความรู้สึกได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ

จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เดินหน้าสร้างสรรค์เทคโนโลยีแบบนี้ต่อไป

 

ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาทดแทนสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ก็จะต้องมีการแสดงความเป็นห่วงว่าจะนำมาซึ่งปัญหาอะไรในอนาคตหรือไม่

อย่างแชตบ็อตของคารินเองก็ดำเนินไปตามเส้นทางที่พอจะคาดเดากันได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจากความรักชอบในตัวอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งไปเป็นการแสดงออกด้านเพศ

เจ้าตัวเข้าใจดีว่ามีโอกาสสูงมากที่แชตบ็อตที่เธอปล่อยไปจะถูกใช้เพื่อให้บริการทางเพศแบบออนไลน์แน่นอน

แต่เธอก็หวังว่ามันจะไม่ได้กลายเป็นฟีเจอร์หลักไปเสีย และทีมงานกำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขเรื่องนี้

เพื่อไม่ให้แฟนๆ หมกมุ่นกับการแชทกับ CarynAI มากเกินไป แชตบ็อตจึงถูกตั้งโปรแกรมมาให้ค่อยๆ ตัดบทสนทนาเมื่อใกล้ครบเวลาหนึ่งชั่วโมง และบอกให้ผู้ใช้งานกลับมาคุยกันใหม่คราวหน้า

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การตัดฉึบทันทีเมื่อครบชั่วโมง ดังนั้น ถ้าผู้ใช้ยืนยันจะคุยต่อก็สามารถทำได้ ซึ่งผู้ใช้จำนวนหนึ่งก็ไม่สนใจ เดินหน้าคุยต่อไปวันละหลายๆ ชั่วโมงอยู่ดี

ข้อดีของการใช้แชตบ็อตมาคุยกับแฟนๆ นอกจากจะช่วยให้แฟนๆ รู้สึกได้เข้าถึงคนที่พวกเขาชื่นชอบได้อย่างใกล้ชิดแล้วก็ยังส่งผลดีต่อตัวอินฟลูเอนเซอร์เองที่ไม่จำเป็นต้องติดหนึบกับสมาร์ตโฟนเพื่อสร้างคอนเทนต์และเซอร์วิสแฟนๆ ตลอดทั้งวัน แถมยังสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวได้ด้วย

ข้อเสียนั้นเราอาจจะยังไม่เห็นชัดมากในตอนนี้เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และเพิ่งใช้งานในรูปแบบนี้ได้ไม่นานนัก

แต่ก็พอจะคาดการณ์กันได้ว่าความสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบคนในที่สุดก็อาจจะทำให้คนรู้สึกสับสนระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกออนไลน์

 

ฉันคิดว่าน่าจะคล้ายๆ กับเวลาที่เราฝันถึงใครสักคนหนึ่งแบบโรแมนติกโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ต่อให้ชีวิตจริงเราจะไม่ได้อินังขังขอบอะไรกับคนๆ นั้นสักเท่าไหร่ แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่ความรู้สึกวาบหวามนั้นจะตามติดตัวเรามาด้วยจากความฝัน และค่อยๆ จางหายไปเมื่อเราเริ่มทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ

แต่หากเราฝันย้ำๆ แบบนั้นทุกคืนก็อาจจะทำให้ความรู้สึกในโลกนอกความฝันเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยก็ได้

คารินบอกว่าตั้งแต่เปิดตัวแชตบ็อตมาเธอได้รับเสียงก่นด่าและคำข่มขู่จากคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่อยๆ

โดยพวกเขามองว่าการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาจะทำให้มนุษย์ไม่ต้องการมนุษย์ด้วยกันอีกต่อไปและจะเป็นจุดจบของมนุษยชาติในที่สุด

เธอก็ได้แต่หวังว่าความโกรธขึ้งนั้นจะค่อยๆ หายไปเมื่ออินฟลูเอนเซอร์คนอื่นเปิดตัว AI แบบเดียวกันนี้บ้างจนกลายเป็นเรื่องปกติ

เชื่อได้เลยว่านี่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแน่นอน