ความเห็นแย้ง ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน สถาปัตยกรรมไทย (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความเห็นแย้ง

ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน

สถาปัตยกรรมไทย (3)

 

“เอกลักษณ์และความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรม” คือสิ่งที่สังคมไทย (โดยเฉพาะภาครัฐและชนชั้นนำ) คาดหวังให้เกิดมีขึ้นในงานออกแบบมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี แต่ถึงแม้จะอยากมีแค่ไหน สิ่งนี้ก็ไม่เคยได้รับการนิยามอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทางสังคมแต่อย่างใด

เมื่อใดก็ตามที่มีการถามผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอำนาจทั้งหลายที่อยากนิยามความเป็นไทยว่าสิ่งนี้คืออะไรในทางสถาปัตยกรรมกันแน่ คำตอบที่ได้จะมีลักษณะสำคัญอยู่สองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง (มักปรากฏในกลุ่มผู้มีอำนาจที่ชอบแช่แข็งความเป็นไทย) คำอธิบายจะพุ่งตรงลงไปที่รูปแบบ รูปทรง และองค์ประกอบบางประการที่เคยถูกสร้างสรรค์ไว้ในงานสถาปัตยกรรมแบบจารีต เช่น หลังคาจั่ว ชาน ช่อฟ้า กาแล ลายไทย เสาลอย การย่อมุม ทรงจอมแห เขาพระสุเมรุ ฯลฯ

กลุ่มสอง (มักปรากฏในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ) คำอธิบายจะเน้นลักษณะในเชิงนามธรรมที่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่อาจเข้าใจได้ง่ายนักว่ามันคืออะไรกันแน่

เช่น ความเบาลอย ความอ่อนช้อย คุณลักษณะที่งอกขึ้นมาจากดินจากถิ่นที่ทางวัฒนธรรม ความสว่าง สะอาด สงบในทางธรรม ฐานานุศักดิ์ ฯลฯ

ภาพเปรียบเทียบหลังคาสถาปัตยกรรม และหมวก ของชนชาติต่างๆ ในปาฐกถาเรื่อง สถาปัตยกรรมไทย โดย นิจ หิญชีระนันทน์ เพื่อใช้ประกอบในการอธิบายว่า หลังคายอดแหลมแบบทรงจอมแห คือส่วนที่สำคัญที่สุดในการบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทยในทางสถาปัตยกรรม

คําตอบของกลุ่มแรก เป็นที่นิยมในอดีตมาก (แต่ปัจจุบันก็ยังปรากฎไม่น้อย) และถูกบังคับใช้ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาหนึ่ง

อาคารราชการที่ต้องสร้างขึ้นโดยมีหลังคาจั่วเป็นสัญลักษณ์ ไม่ว่าแผนผังการใช้งานจะสลับซับซ้อนอย่างไรก็ต้องเอาหลังคาจั่วที่มีลายไทยมากบ้างน้อยบ้างมาสวมครอบทับลงไป หรือกาแลที่เคยถูกใส่ในอาคารที่สร้างในพื้นที่ภาคเหนือจนเกร่อเพราะคิดว่านี่คือสัญลักษณ์ของความเป็นสถาปัตยกรรมภาคเหนือ ทั้งสองกรณีนี้ เป็นตัวอย่างคลาสสิคของการสร้างความเป็นไทยในกลุ่มหนึ่ง

วิธีการแบบกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันยอมรับกันมากขึ้นแล้วว่าเป็นการกำหนดมาตรฐานที่ตื้นเขินและขาดความเข้าใจในพลวัตที่เลื่อนไหลไม่รู้จบของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม

และเป็นความพยายามที่จะใช้อำนาจมากำหนดบังคับสร้างมาตรฐานที่ไม่มีอยู่จริง บนแรงผลักดันทางอุดมการณ์ที่ชื่อว่า “ชาตินิยมไทย”

 

ในขณะที่คำตอบของกลุ่มสอง (มักปรากฏอยู่ในหมู่อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมไทย) โดยภาพรวมมักจะรังเกียจการนิยามที่ตายตัวของกลุ่มหนึ่ง

แต่ขณะเดียวกัน ด้วยแรงผลักดันจากอุดมการณ์ชาตินิยมไทย (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ไม่ต่างกัน กลุ่มนี้เลยพยายามเลี่ยงไปอธิบายเชิงนามธรรมที่ล้นไปด้วยลักษณะเลื่อนลอย เต็มไปด้วยการตีความ

ถามว่าแนวทางแบบที่สองนี้ผิดไหม?

คำตอบคือ ไม่ผิดนะครับ และจะว่าไปแล้วในหลายกรณีก็เป็นสิ่งที่ควรทำด้วย เพราะการตีความคือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญต่อกระบวนการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม สถาปนิกอาจประทับใจต่อลักษณะนามธรรมบางอย่างและยากที่จะแปลงหรือตีความมันออกมาให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ผู้คนได้สัมผัสจริง

ผลของการตีความ แน่นอน ย่อมมีทั้งคนที่รับรู้ไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ออกแบบและชื่นชมตื่นเต้นคล้อยตาม คนที่รู้สึกเฉยๆ (สถาปนิกอยากมโนว่า space นี่สื่อถึงลักษณะพลุ่งพล่านล่องลอยขนาดไหนก็ตามใจ ไม่ว่ากัน แม้จะไม่รู้สึกอะไรด้วยเลยก็ตาม) ไปจนถึงไม่ยอมรับและคิดว่าเป็นอาการของคนเพ้อเจ้อ

บรรยากาศที่มองแตกต่างกัน มีทั้งผู้คนที่เห็นด้วย, เฉยๆ, ไปจนถึงบ่นด่าว่าเพ้อไร้สาระ เป็นสิ่งดีงาม สะท้อนความหลากหลาย และเป็นบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ใครสักคนหรือสักกลุ่มอยากเอาคุณลักษณะนามธรรมที่ตัวเองยึดถือหรือเชื่อว่าคือความเป็นไทยที่แท้จริง มากำหนดสร้างเป็นมาตรฐานและบังคับใช้ หายนะทางความคิดสร้างสรรค์ก็จะบังเกิดในทันที ไม่ต่างจากที่กลุ่มแรกทำ

และอาจเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะทำไปในนามของกลุ่มที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ในฐานะที่อยู่ในวงการนี้มาพอสมควร ไม่เคยเห็นด้วยเลยนะครับว่า เบาลอย, สงบในทางธรรม, อ่อนช้อย, ฐานานุศักดิ์ ฯลฯ คือคุณลักษณะที่แท้จริงของความเป็นไทย

 

หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์สิ่งก่อสร้างในอดีต ในงานที่เรานิยามเรียกว่าเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไทย เราจะพบว่า มีสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเบาลอย บางอาคารไม่อ่อนช้อย และหลายอาคารประดับตกแต่งลวดลายอย่างล้นจนไม่สามารถสร้างความรู้สึกสงบเมื่อเข้าไปใช้สอยได้

พูดให้ชัดก็คือ นิยามทั้งหลายที่ผู้เชี่ยวชาญมักยืดถือว่าเป็นลักษณะนามธรรมของไทยนั้นก็ไม่จริงเสมอไป และไม่ใช่ลักษณะร่วมที่งานสถาปัตยกรรมไทยทุกหลังตลอดระยะเวลายาวนานมากกว่า 700 ปี (ตามมาตรฐานช่วงเวลาที่ภาครัฐชอบใช้) จะต้องมีร่วมกัน

ผมเคยพูดหลายที่ในหลายโอกาสแล้ว แต่ก็อยากจะพูดซ้ำในที่นี้อีกครั้งว่า

ความเป็นไทยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่จริงคืออารมณ์และความรู้สึกที่คิดว่ามีความเป็นไทยจริงๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง เป็นเคล็ดวิชาความเป็นไทยที่ช่างในอดีตใช้เป็น “สูตรลับ” ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย

สูตรลับดังกล่าว คือสิ่งที่วงการสถาปัตยกรรมไทยพยายามค้นหา แต่ในทัศนะผม สูตรลับนี้ไม่มีอยู่จริงหรอกนะครับ สิ่งที่วงการสถาปัตยกรรมไทยทำมาโดยตลอดร่วมศตวรรษที่ผ่านมา เป็นแค่เพียงการตีความสูตรลับขึ้นมาเอง จากหลักฐานบางอย่างในอดีตผสมเข้ากับรสนิยมทางสุนทรียภาพของตนเองเข้าไป

ซึ่งตราบใดที่ไม่มีใครพยายามยัดเยียดสูตรลับจากการตีความของใคร (แม้ว่าสูตรลับนั้นจะถูกคิดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญก็ตาม) ให้ขึ้นมาเป็นมาตรฐานกลางเพียงหนึ่งเดียว บรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ก็จะไม่มีปัญหาอะไร

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีใครอยากผลักดันสูตรลับของใครขึ้นมา ให้กลายเป็นความจริงหนึ่งเดียวที่ต้องทำตาม อันตรายต่อความคิดสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นทันที

 

ผมอยากเรียนถามคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยสภาสถาปนิก ที่กำลังกำหนดนิยามมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทยอีกประเด็นนะครับว่า

แน่ใจจริงๆ หรือว่า คุณลักษณะหรือมาตรฐานอะไรก็ตามที่จะกำหนดขึ้นมามันคือความเป็นไทยในสถาปัตยกรรมที่ “แท้จริง”

แน่ใจจริงๆ หรือว่า มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ รสนิยมทางรูปแบบ รสนิยมทางปรัชญา รสนิยมทางสุนทรียภาพ หรือเป็นเพียงสูตรลับในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยที่นิยมกันในกลุ่มพวกพ้องของตนเองเท่านั้น

 

ย้อนกลับไปที่เนื้อหาในวงเสวนา “ระดมความคิดฯ” อีกครั้ง

ผู้อภิปรายบนเวทีหลายท่านพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพูดว่า การกำหนดมาตรฐานนี้จะไม่ลงไปควบคุมที่รูปแบบ รูปทรง หรือลวดลายในการออกแบบ ขออย่าได้กังวลใจ

ซึ่งคำกล่าวนี้ ก็คือ การบอกว่า คณะอนุกรรมการจะไม่ทำตามแนวทางแบบ “กลุ่มที่หนึ่ง” ที่ชอบยึดติดกับรูปแบบ (หลังคาจั่ว, ลายไทย, กาแล, ย่อมุม ฯลฯ) ซึ่งเป็นเรื่องดีนะครับ

แต่เมื่อการอภิปรายดำเนินไปเรื่อยๆ เราจะได้ยินการยกลักษณะนามธรรมตามการตีความของผู้อภิปรายขึ้นมาและบอกว่าสิ่งนี้คือมาตรฐานที่งานสถาปัตยกรรมไทยควรยึดถือ และอาจจะถูกผลักดันเป็นกฎระเบียบต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล

บนเวทีมีการพูดถึงการให้ความสำคัญกับศิลปะและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นว่าคือหัวใจหลักประการหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง สถาปัตยกรรมที่สร้างในวัดอีสานหรือภาคใต้ ก็ควรออกแบบให้มีลักษณะสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของอีสานหรือภาคใต้ ซึ่งในอดีตมีลักษณะเฉพาะโดดเด่นของตัวเอง

ผู้อภิปรายยังพูดต่อไปว่า เราไม่ควรออกแบบโดยนำลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ไม่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ มาสร้าง เพราะจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เราไม่ควรนำวัดแบบภาคกลางไปสร้างในวัดภาคใต้ เป็นต้น

ฟังเผินๆ ดูดีใช่ไหมครับ แต่ถ้าลองนึกตามอย่างซีเรียสดู มันก็น่าสงสัยนะครับว่า สุดท้ายมันก็คือเรื่องของรูปแบบนั่นแหละ เพียงแต่ไม่มีการพูดอย่างเจาะจงลงไปที่ช่อฟ้า กาแล ทรงจอมแห หรือการย่อมุม

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ทำไมเราจะใช้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมข้ามท้องถิ่นกันไม่ได้ ตราบใดที่มันตอบสนองประโยชน์ใช้งาน สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ และคนในพื้นที่พอใจ

ความคิดว่าด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ควรจะปรากฏอยู่แต่ในท้องถิ่นนั้นๆ ตกลงมันคือ “เอกลักษณ์และความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรม” ที่ “แท้จริง”

หรือเป็นเพียงรสนิยมทางการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของสถาปนิกบางกลุ่มเท่านั้น