รัฐประหาร-ยังไม่มา | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักการเมืองบางคน และพรรคการเมืองบางพรรคคิดว่า หากประเทศถูกเปลี่ยนแรงและเร็วไป ก็จะทำให้ชนชั้นนำตระหนกและใช้กองทัพยึดอำนาจอีก

บรรยากาศทางการเมืองในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้กลุ่มคณาธิปไตยไทยหวั่นไหวได้เหมือนกัน เพราะหลายต่อหลายประเด็นที่เคยทำให้ปลอดพ้นจากการเมือง กลับถูกดึงกลับมาอยู่ในอาณาบริเวณการเมือง ซึ่งหมายความว่าตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมของคนกลุ่มอื่นๆ นอกคณาธิปไตย และอาจกว้างถึงประชาชนในวงกว้างด้วย หากไทยสามารถบรรลุถึงระบอบประชาธิปไตยได้กว้างขวางและลึกกว่านี้

บรรยากาศการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ชนชั้นนำคณาธิปไตยหวั่นไหวมากขึ้น เพราะดูเหมือนพรรคการเมืองที่ประกาศปฏิรูประบบต่างๆ อย่างจริงจัง จะได้รับคะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำจากผู้เลือกตั้ง

และถ้าพรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งมากจริง ก็นับว่าน่าตระหนกแก่กลุ่มคณาธิปไตยมากทีเดียว เพราะถ้าดูจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พวกเขาร่างขึ้นเอง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำไม่คาดคิดเลยว่าสังคมไทยได้เปลี่ยน และเปลี่ยนไปแล้วอย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้

ดังนั้น ถ้าพรรคปฏิรูปการเมืองได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วยจำนวนที่นั่งในสภาที่มากพอสำหรับการต่อรองนโยบาย ภัยคุกคามต่อกลุ่มคณาธิปไตยก็จะเริ่มขึ้นทันที ผมคิดว่าเราอาจสรุปภัยคุกคามที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นเหล่านั้นได้สี่ประการด้วยกันคือ

 

1.พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ซึ่งไม่ชัดเจนนัก ทั้งในกฎหมายและแบบปฏิบัติเชิงประเพณี ให้โอกาสแก่กองทัพในการแทรกแซงทางการเมือง สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าความคลุมเครือเกี่ยวกับพระราชอำนาจในทางกฎหมายและประเพณียังดำรงอยู่เหมือนเดิม แต่ในความคาดหวังของคนจำนวนไม่น้อยกลับชัดเจนและมีขอบเขตที่แน่นอนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังร่วมกันผลักดันให้ตรากฎหมายขึ้นรองรับด้วย

2. นับจาก 2475 เป็นต้นมา อำนาจการควบคุมกองทัพได้หลุดจากมือผู้บริหารการเมือง ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทหารซึ่งเป็นสมาชิกหรือพันธมิตรของคณะราษฎร (เป็นความจำเป็นในช่วงนั้นเพื่อทอนกำลังของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติในกองทัพ) นับแต่นั้นมา กองทัพซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เข้มแข็งที่สุด กลายเป็นองค์กรทางการเมืองและสังคมที่เป็นอิสระจากทุกฝ่าย ความเป็นอิสระนี้กำลังจะร่อยหรอลง จนถึงอาจหมดไปได้ในอนาคต กลับตกอยู่ในความควบคุมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

3. นอกจากกองทัพจะกลายเป็นหน่วยราชการปรกติของรัฐ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของนักการเมืองซึ่งต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว อำนาจของกองทัพในการกำกับและแทรกแซงการเมืองตามทิศทางแห่งผลประโยชน์อิสระของกองทัพก็จะสูญสิ้นไปด้วย

4. ไม่แต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น สื่อ, องค์กรภาคประชาชน และพลังกดดันทางสังคมอีกนานาชนิด ก็จะสามารถเข้าไปมีส่วนในการกำกับควบคุมกองทัพด้วย (เหมือนสังคมประชาธิปไตยทั่วไป) กองทัพซึ่งเคยเป็นแดนสนธยาที่ไม่มีใครเข้าถึงได้เลย นอกจากทหารด้วยกัน ก็จะกลายเป็นแดนเปิด ที่ผู้เป็นเจ้าของชาติย่อมสามารถเข้าถึงได้เสมอ

กองทัพในฐานะองค์กรทางสังคมและการเมืองที่เป็นอิสระในตัวเอง อย่างที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาตั้งแต่ 2475 ก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

หลายคนอาจคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นบ่อนทำลายผลประโยชน์ของกองทัพถึงเพียงนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพ (และชนชั้นนำ) จะอยู่เฉย โดยไม่ก่อรัฐประหารเพื่อขัดขวางการเมืองไทยที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่กองทัพ (และชนชั้นนำ) ไม่เห็นชอบด้วย

ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้มีอยู่เสมอ แต่ก็ลดน้อยถอยลงจนกระทั่ง การเลือกตั้งที่ผิดคาดเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะใช้อ้างเป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจเสียแล้ว ต้องไม่ลืมด้วยว่า ความสำเร็จในการรัฐประหารของกองทัพขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สั้นและรวดเร็วในการสถาปนา “อาญาสิทธิ์ใหม่” ขึ้นในบ้านเมือง เพราะเวลาที่เนิ่นนานและไม่ลงเอยอย่างชัดเจนทำให้พลังของการต่อต้านแข็งกล้าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากประชาชนร่วมกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ (ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองเท่านั้น แต่มีองค์กรภาคประชาชนสนับสนุนอย่างแข็งขันด้วย เช่น พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง) หรือการต่อต้านจากบาง “มุ้ง” (faction) ของกองทัพที่ประเมินแล้วว่า หากการยึดอำนาจทำได้สำเร็จ “มุ้ง” ของตนจะไม่เหลืออนาคตในกองทัพอีกเลย

หากกองทัพยึดอำนาจในช่วงหลังเลือกตั้งที่ผิดคาด กองทัพจะสามารถสถาปนา “อาญาสิทธิ์ใหม่” ได้ใน 48 ชั่วโมงหรือไม่? ผมคิดว่าโอกาสที่จะทำไม่ได้มีมากกว่า

มีเหตุผลหลายอย่างที่กองทัพไม่สามารถสถาปนา “อาญาสิทธิ์ใหม่” ขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียงพอหลังการรัฐประหาร

 

ในการรัฐประหารสองครั้งสุดท้าย ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันต่อต้าน แม้เป็นจำนวนไม่มากพอจะหยุดยั้งกองทัพได้ ก็เฉียดเข้าใกล้ภาวะที่กองทัพจะต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปราม และอันที่จริงในการยึดอำนาจ 2557 มีการรวมตัวของประชาชนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอย่างยืดเยื้อ ต้องใช้กำลังตำรวจและทหารเข้าจับกุมเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้การชุมนุมกลับกระจายออกไปจากอนุสาวรีย์ฯ จำเป็นต้องเที่ยวไล่จับกุมกว้างขวางออกไปตามสี่แยกในกรุงเทพฯ หลายแห่ง

จึงค่อนข้างแน่ชัดว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีก อย่างไรเสียก็จะมีการประท้วงต่อต้านจากประชาชน เพียงแต่ไม่มีใครทำนายได้ว่า ฝ่ายต่อต้านจะยืนระยะไปได้นานเพียงใด และจำนวนจะเพิ่มขึ้นจนเต็มถนนอย่างใน 2535 หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ฝ่ายกองกำลังรัฐประหารซึ่งกำลังกลายเป็นกองกำลังกบฏ จะใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาดโดยการยิงผู้ประท้วงอย่างไม่เลือกหน้าอย่างที่เคยทำให้ 2535 หรือไม่

การใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาด (ประหนึ่งคนไทยผู้ประท้วงคือข้าศึกต่างชาติ) จะทำให้เกิดความสงบในเวลาอันสั้น หรือทำให้การประท้วงยิ่งยืดเยื้อต่อไป?

 

ใน 2535 ความรุนแรงที่ถนนราชดำเนินสลายการชุมนุมได้ก็จริง แต่พลันก็เกิดการชุมนุมใหม่ที่รามคำแหง ถึงจะใช้กองกำลังของนายพลบุ่มบ่ามปราบปรามอีก จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการชุมนุมจะไม่กระจายไปยังที่อื่นๆ ต่อไป

ยิ่งกว่านั้น การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จสองครั้งคือ 2549 และ 2557 ต้องอาศัยการปูพื้นทางสังคมอยู่นานพอสมควร กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสองครั้ง (พันธมิตรฯ และ กปปส.) ต่างแสดงสายสัมพันธ์โดยนัยะกับบางส่วนของชนชั้นนำคณาธิปไตย จึงเป็นเหตุให้กลไกรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของชนชั้นนำคณาธิปไตย (มากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) เรรวนอย่างมาก ที่จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ประท้วง ในบางกรณีแทบจะมีคำพิพากษาเพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากตำรวจเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด จนถึงการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ยังไม่มีการ “ปูพื้น” ทางสังคมอย่างที่เคยทำมาแล้ว จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ความจำเป็นที่จะต้อง “ปูพื้น” แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ความเห็นชอบของชนชั้นนำคณาธิปไตยเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะประกันว่า การรัฐประหารจะประสบความสำเร็จ หากไม่มีเหตุ “ทางสังคม” บางอย่างหนุนช่วยอยู่บ้าง

หนึ่งในเหตุผลที่ไม่มีการปูพื้นสำหรับการยึดอำนาจก็คือ นับตั้งแต่การวางอาวุธของ พคท.ในทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา แม้ว่างบประมาณและกำลังคมของ กอ.รมน.ไม่ได้ลดลง แต่ศักยภาพของกองทัพในการแทรกเข้าไปจัดตั้งหรือกำกับควบคุมองค์กรภาคประชาชนถดถอยลงอย่างยิ่ง ดังนั้น การสร้างขบวนการ “มวลชน” เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจ จึงต้องอาศัยคนกลุ่มอื่นในคณาธิปไตยเป็นหลักยิ่งกว่ากองทัพ ไม่ว่าพันธมิตรฯ หรือ กปปส.ก็ไม่ได้เกิดจากกองทัพ

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า อันที่จริงกองทัพได้สูญเสียอำนาจตัดสินใจอิสระของตนเองในการก่อรัฐประหารไปนานแล้ว ครั้งสุดท้ายที่กองทัพทำเช่นนั้นได้คือการทำรัฐประหารซ้อนใน 2520 หลังจากนั้นการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จของกองทัพ ต้องได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากชนชั้นนำอย่างเป็นปึกแผ่น

กองทัพเองก็มีความแตกต่างจากสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างมาก ในสมัยที่กองทัพยังเป็นองค์กรทางการเมืองที่อิสระ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองทัพเกิดจากการเลือกสรรตามธรรมชาติ กล่าวคือ นายทหารที่นอกจากสามารถรวบรวมผู้สนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาหน่วยรบทั้งหลายแล้ว (ด้วยศรัทธา, บุคลิกส่วนตัว หรือการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงก็ตาม) ยังแสดงความสามารถแหลมคมในการรักษาผลประโยชน์และอำนาจต่อรองของกองทัพในท่ามกลางกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นนำที่ถืออำนาจทางการเมืองอยู่ด้วย และนั่นคือเหตุผลหลักที่กองทัพเป็นองค์กรที่อิสระเต็มที่ทางการเมืองได้ แต่ในภายหลัง 14 ตุลา การไต่เต้าไปสู่ผู้บัญชาการกลับขึ้นกับอำนาจภายนอกกองทัพมากขึ้นทุกที ซ้ำยังเป็นอำนาจที่ไม่ต้องเวียนเข้าเวียนออกดังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารอีกด้วย กองทัพจึงขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปมาก

ในการยึดอำนาจ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณาธิปไตย เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้การยึดอำนาจทำได้สำเร็จ โดยไม่ต้องปะทะกันเอง ซึ่งจะทำให้ “จังหวะ” ของการทำรัฐประหารเรรวนไปหมด

ที่น่าสงสัยอย่างยิ่งก็คือ ในปัจจุบัน คณาธิปไตยไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่?

 

ผมไม่ทราบแน่ชัด แต่ใคร่ตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคณาธิปไตย (ในทุกสังคมที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก) เกิดและดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยสองประการ หนึ่ง การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำ (ทรัพย์, เกียรติยศ, อำนาจ, อภิสิทธิ์) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ไม่ได้หมายความว่าเท่าเทียมกันนะครับ แต่ลดหลั่นกันไปตาม hierarchical structure หรือโครงสร้างของชั้นชนที่ชนชั้นนำในสังคมนั้นยอมรับ และสอง มีหลักการนามธรรม – ที่อาจปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะ ศาสนา, บุคคลศักดิ์สิทธิ์, ประเพณี ฯลฯ – ที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในของกลุ่มคณาธิปไตยเป็นไปอย่างราบรื่น

8-9 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญสองอย่างนี้เสื่อมคลอนลง เช่นกลุ่มทุนใหญ่ที่สนับสนุน คสช.ได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากเกินไป จนกระทั่งทุนใหญ่อื่นเสียโอกาส ในขณะเดียวกัน หลักการนามธรรมที่สร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มคณาธิปไตยกลับสูญสิ้นลง

แม้ว่าอำนาจทางการเมืองของกองทัพดูเหมือนไม่ได้ลดลงเลย แต่ขอให้สังเกตด้วยว่าอำนาจของกองทัพในการรับมือและจัดการกับสถานการณ์ทางการเมืองหลังรัฐประหารลดลง ก่อให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนใน พ.ศ.2519 และ 2535 การต่อต้านรัฐประหารของกองทัพในหลายลักษณะตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา จนเกิดการสังหารหมู่อีกใน 2552 และ 2553 ซ้ำร้ายเมื่อจำเป็นต้องจัดให้มีเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ชนะขาดคือพรรคการเมืองที่กองทัพขจัดออกไปในการก่อรัฐประหาร

ที่เคยเชื่อกันในหมู่ชนชั้นนำไทยว่า ในการเมืองไทย ทหารอยู่ตลอดไป แต่นักการเมืองเข้ามาแล้วก็ไป ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว

 

ทั้งหมดนี้ไม่มีเจตนาจะทำนายว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในการเมืองไทย เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารของกองทัพกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพสำหรับคณาธิปไตยไทยเสียแล้ว (แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ยังใช้ได้อยู่ ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเอาข้างหน้า หวังผลให้เกิดตามความต้องการของตนไม่ได้เสียแล้ว)

ด้วยไพ่ที่เหนือกว่าทางการเมือง (เช่น มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง ซ้ำ ส.ว.ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองอย่างได้ผล บวกกับข้อกำหนดอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับอัปรีย์) คณาธิปไตยจึงยังอาจควบคุมความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้ในระดับสูง แน่นอนไม่สูงกว่าที่เคยควบคุมมาได้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น ต่อรองกับพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากสุด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่คณาธิปไตยพอรับได้คือไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบทรัพย์, เกียรติยศ, อำนาจและอภิสิทธิ์ของตน

โชคดีที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในเมืองไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับพลเมืองที่ “ตาสว่าง” แล้ว มีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการเมืองมากนัก ดังนั้น ถึงคณาธิปไตยอาจชะลอความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการต่อรองทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ในสังคมไทยก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และอาจในจังหวะที่เร่งเร้าขึ้นด้วย อย่างไรเสียความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ต้องมาถึงจนได้อย่างหลีกไม่พ้น ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ก็อาจผ่านหนทางอื่น