เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์ / รสชาติคู่จอทีวี

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

รสชาติคู่จอทีวี

เดี๋ยวนี้มีพฤติกรรมเกิดขึ้นในหมู่ผู้ชมคนไทย

เป็นพฤติกรรมที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการสื่อสารที่ตอบสนองผู้นิยมโลกออนไลน์ นั่นคือการแชตไปพร้อมๆ กับการชมทีวี

เดี๋ยวนี้รายการต่างๆ ที่ออกอากาศทางช่องดิจิตอล พากันเพิ่มช่องทางการรับชมมากขึ้น โดยดูผ่านการ live ทาง facebook หรือ youtube เป็นการแย่งชิงผู้ชมในทุกช่องทาง

และเป็นการตอบสนองความต้องการชมรายการทางทีวี แต่ไม่สามารถอยู่หน้าจอโทรทัศน์ได้ให้เข้าถึงรายการโปรด ละครฮิต ได้พร้อมๆ กับคนดูทีวีโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ

เมื่อถ่ายทอดสดผ่าน facebook สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงพฤติกรรมคนไทยได้อย่างดีคือ “ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม” ซึ่งมากับความรู้สึกของการ “แสดงตัวตน” ว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งของรายการนี้ ละครนั้นนะจ๊ะ

นี่เองคือ “รสชาติ” ใหม่ที่เกิดขึ้นคู่จอทีวี

อย่างละคร “ละอองดาว” ที่เจเอสแอล ผลิตให้กับช่อง 7 สี จะมีแฟนๆ ละคร 7 สีติดตามชมผ่านทาง facebook / bbtvchannel ไม่น้อยเลย แล้วก็ขยันเม้าธ์ ขยันวิจารณ์ ติติง อวยพระเอก ชมนางเอก หมั่นไส้นางร้าย

และมีอารมณ์ร่วมไปกับละครตลอดเวลา

อย่างเช่น

“ว้าย กรกฎมาแล้ว หล่ออออออ”

“คืนนี้จะได้ฟินกับละอองดาวไหมน้า”

“เหวี่ยงจริงๆ พี่กฎเรา”

“กรี๊ด กรี๊ด อยากตบนังผดาลำไย”

แล้วพอตัวละครได้รับผลกรรมจากที่ได้ทำไม่ดีไว้ เท่านั้นแหล่ะเหล่าแฟนๆ จะกระหน่ำซ้ำเติมกันมาเป็นชุด แบบสะใจมาก

การแสดงความรู้สึกผ่านข้อความที่ว่าส่วนใหญ่ก็จะไปในทิศทางเดียวกัน หากมีใครที่โผล่มาแหวกเหล่าแหวกกอหน่อย ก็จะมีการตอบโต้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับหัวหมู่ทะลวงฟัน หรือนักรบกองโจรในการทำสงครามอย่างนั้น อาทิ

“ดูซะบ้าง นี่มันคนละช่อง ไปเลยไป”

“มาได้ไงยะ กินยาผิดซองหะป่าว”

จนบางทีรู้สึกว่าเหมือนได้ดูละครอีกเรื่องหนึ่ง ควบคู่ไปกับละครในจอ บางทีดุเด่นเผ็ดมัน แซบซ่าส์ยิ่งกว่าในจอด้วยซ้ำ

หรือถ้าเป็นรายการอย่างพวกเกมโชว์หรือการแข่งขันต่างๆ ก็มักจะพากันทายคำตอบ ทายผลควบคู่ไปด้วย สนุกราวกับเป็นผู้แข่งขันเสียเอง

ส่วนถ้าเป็นการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกับกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลล่ะก็ ใครที่เป็นนักฟุตบอลอย่าได้มาอ่านทีเดียว เพราะถ้าผลการแข่งขันไม่เป็นที่พอใจของท่านๆ แล้วละก็ ท่านจะระบายความคับแค้นออกมาชนิดลากมาทั้งโคตรเหง้าศักราชกันเลยก็มี บางท่านก็ด่าหยาบๆ คายๆ เสียๆ หายๆ ชนิดผู้โดนด่าอยากจะไปเกิดใหม่เลยทีเดียว

คำเตือนอย่างหนึ่งเวลาที่อ่าน ข้อความเหล่านี้ ต้องอ่านด้วยจิตที่นิ่ง ไม่วอกแวก ไม่งั้นมันจะเกิดอารมณ์เคลิ้มเหมือนโดนป้ายยาตามป้ายรถเมล์ยังไงยังงั้น เราจะรู้สึกคล้อยตามเอาง่ายๆ พลอยชื่นชมโสมนัสกับเขาไปด้วยอย่างสุดตัว ไม่ก็พลอยเกลียดชังโทมนัสแบบสุดลิ่มได้เช่นกัน

นอกจากรสชาติจากการมีส่วนร่วมที่ว่าแล้ว มีรสชาติหนึ่งที่มักจะไม่เข้ากับใครเลย คือ กูไม่สนใจหรอกว่าเมิงจะแชตกันเรื่องอะไร กูจะขายของอย่างเดียว

“กรี๊ดพระเอก หล่อ สุดสุด”

“ขายเครื่องดักหนู รับรองผล 100%”

“หมั่นไส้ทำเป็นงอนนางเอก แหวะ”

“ซื้อ 1 แถม 1 ติดต่ออู๊ด พระประแดง ส่งถึงที่”

นอกจากนั้นแล้ว เชื่อไหมมีแม้แต่การ “ทวงเงิน” ในที่สาธารณะ

“อีอ๊อด เมิงเอาเงินคืนกูเสียที แค่ 500 เมิงค้างเป็นปี”

และที่มีให้เห็นบ่อยๆ คือการประกาศ “หาคู่” เพราะความเป็นพื้นที่สาธารณะนั่นเอง

“โสดครับโสด”

“เพิ่งอกหัก อยากรักใหม่ สนใจแอดมาได้”

เอากับเขาสิ…

อารมณ์อย่างนี้ น่าจะเป็นพวกเดียวกันกับ “ลำปางหนาวมาก” ที่มักจะปรากฏให้เห็นใน sms ที่ส่งมาตามรายการข่าวสมัยหนึ่ง

และต้องยอมรับว่า ไทยแลนด์เราก้าวสู่อาเซียนแล้ว เพราะผู้มาทำการแชตไม่ได้มีเฉพาะพี่น้องคนไทย แต่มีแฟนๆ ละครชาวกัมพูชา ชาวพม่า ไม่น้อยเลย แถมแชตเป็นภาษาประจำชาติซะด้วย เก๋ไหมล่ะ

เรื่องนี้สะท้อนได้ถึงพฤติกรรมของผู้รับคอนเทนต์ในยุคนี้ ที่ชอบการมีส่วนร่วม และลึกไปกว่านั้นคือการได้แสดง “ตัวตน” ออกมาให้คนอื่นได้ทราบว่า เราอยู่ในกระแสและกลุ่มเดียวกัน อันเป็นหลักธรรมชาติของพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ต้องการการยอมรับและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งนานแล้ว คงจำได้ว่าบรรยากาศการชมละครของแฟนทีวีไทยสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลใดๆ ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ชม ก่น ด่า เชียร์ แช่ง กันหน้าจอเป็นประจำ แต่ยังทำได้เฉพาะในบ้านตัวเอง ไม่มีโลกโซเชียลให้ร่วมแชร์เป็นวงกว้างขนาดนี้

เรื่องนี้เลยใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับขายสินค้า หรือบริการต่างๆ หรือจะสร้างการรับรู้ สร้างกระแสให้ดัง คือ ต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย “ได้มีส่วนร่วม” ให้มากๆ

ซึ่งเมื่อเขาได้มีส่วนร่วมมากๆ แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด จนกลายเป็นลูกค้า หรือแฟนคลับไปโดยปริยาย

กรณีของ “ตูน บอดี้สแลม” กับการวิ่งในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” อย่างที่เขียนถึงไปในฉบับที่แล้วก็ใช่ ที่มีกระแสโด่งดังมากขนาดนี้ก็เพราะโซเชียลมีเดียเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วม การรับรู้ในวงกว้าง ดูสิใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วมกับการวิ่งของพี่ตูนกันเป็นแถว

และหากได้อ่านถึงความเห็นต่างๆ ที่แชตกันในกรณีของตูน เราก็จะได้เห็น “รสชาติ” ที่หลากหลาย เป็นรสชาติเฉพาะตัวของสังคมไทยที่ชอบดราม่า ไม่ได้บอกว่าดีไม่ดี แต่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเราจริงๆ

ที่มีการเชิญชวนให้ตอบ “คำถาม 6 ข้อ” ก็เป็นการให้คนมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ แต่ถ้าจะให้ดีควรให้เป็นความ “เต็มใจ” อยากมีส่วนร่วมมากกว่าจะเป็นการกะเกณฑ์

แต่ก็ไม่อาจแนะนำให้ขนาดถึงกับเปิดให้ แชตคำตอบกันได้ในโลกโซเชียล เพราะเชื่อเหลือเกินว่าจะต้องมีรสชาติระดับ “ซูเปอร์ดราม่า” นานาประการเกิดขึ้นแน่นอน ดีไม่ดีอาจถึงขั้นลากโคตรเหง้าศักราชกันเหมือนแฟนๆ บอลที่เล่าไปแล้ว

ถ้าอย่างนั้นก็ตัวใครตัวมันแล้วกัน จบน่ะ