ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เรื่องสั้น |
เผยแพร่ |
เรื่องสั้น | ธารา ศรีอนุรักษ์
นมพระ
เหลือเวลาไม่ถึงเดือน เทศกาลออกพรรษาจะมาถึง ท่านย้อย ภิกษุวัยสี่สิบเศษๆ หัววัดหนองปรือ เที่ยวปัดๆ เหมือนแม่ไก่รังทัง ไม่ใช่ฤทธิ์ต้มหนางวัวมื้อเพลที่กดแอพพ์มือถือสั่งซื้อจากร้านอาหารในตลาดทำพิษหรอก แต่เพราะมองไปทางโรงจอดเรือพระเหลือเวลาไม่ถึงเดือน อาจเสร็จไม่ทันหากยังไม่เตรียมการ มีหวังปีนี้ถูกวัดบางเขียดล้มแชมป์แน่ ถ้าเป็นเช่นนั้นสู้แล่นเอาหัวล้านชนประตูโบสถ์ให้ตายๆ เสียดีกว่า ไม่ต้องอายท่านนุ้ย หัววัดบางเขียด
ท่านย้อย ท่านนุ้ย เป็นคู่มูลกันมานาน ชนิดที่ว่างานไหนนิมนต์ท่านย้อยต้องไม่มีท่านนุ้ย งานไหนมีท่านนุ้ยต้องไม่มีท่านย้อย ข้อนี้ญาติโยมทั้งสองวัดรู้ดี
แรกเริ่มเดิมทีของการไม่ลงรอยกัน สืบสาวราวเรื่องแล้ว เกิดจากชนวนเล็กๆ ตอนไปสวดศพงานหนึ่ง ครั้งนั้นท่านย้อยไปถึงงานก่อนเลยนั่งหัวเตียง ท่านนุ้ยมาทีหลังจำเป็นต้องนั่งรองคอ ทั้งๆ ที่ทั้งสองบวชวันเดียวกัน นับพรรษาแล้วไม่มีใครอ่อนใครแก่กว่ากัน แถมอายุก็เท่ากันอีก คืนนั้นเมื่อสังกะหรี (สังฆการี) คนทำหน้าที่ดำเนินศาสนพิธีในงานศพตามชาวบ้านท้องถิ่นที่นี่เรียก อาราธนาธรรมเสร็จ ท่านย้อยขึ้นสวดอภิธรรม แรกๆ ไม่มีปัญหา พอมาถึงข้อเจ็ด มหาปัฏฐาน เท่านั้นเอง ความไม่ลงรอยบังเกิด
ปกติทั่วๆ ไป ข้อนี้เวลาสวดออกเสียงที่อื่นจะออกเป็น เห ตุ ปัจ จะ โย อา รัม มะ ณะ ปัจ จะ โย ต่อยาวกันไปจนจบ แต่ท่านย้อยหัวเตียงสวดออกไมค์เป็น เห ตุ ปัจ จะ โย…หึ… อา รัม มะ ระ ปัจ จะ โย…หึ… มี หึ คั่นระหว่างคำ เป็นจังหวะหายใจเข้า ทำให้ท่านนุ้ยนั่งคอรองรับไม่ถูกจังหวะ คร่อมกันไปคร่อมกันมา มั่วตั้วหมด ญาติโยมนั่งหน้าศพหัวเราะครืนๆ เปลี่ยนบรรยากาศงานโศกเป็นงานรื่นเริงทันทีไม่เว้นเจ้าภาพ ท่านนุ้ยทนไม่ไหวคว้าไมค์มาถือเอง แล้วนำสวดตามที่ตนถนัด เท่านั้นแหละเหมือนเปิดศึกระหว่างหัวกับรอง ท่านย้อยลุกขึ้นจังก้า พระทั้งเตียงหยุดสวด
“สวดหมาๆ พรรค์นี้กูไม่สวดแล้ว…”
ว่าแล้วท่านย้อยก็เดินลงจากปะรำพิธีแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
ญาติโยมหน้าศพเห็นท่าทีอย่างนั้นแทนที่จะตกใจ กลับส่งเสียงหัวเราะหนักเข้ากว่าเดิมอีก
ตั้งแต่วันนั้นท่านย้อยได้รับสมญานามใหม่ว่า ‘ย้อยโย…หึ’
นี่คือรอยร้าวแรก สำหรับหัววัดทั้งสอง หลังจากนั้นย้อย/นุ้ยเหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เมา ไม่ลงรอยกันทุกเรื่อง
ปีที่แล้ว…งานชักพระจัดยิ่งใหญ่ เนื่องจากเว้นว่างหลายปีด้วยพิษโรคโควิดระบาด วัดหนองปรือของท่านย้อย กับวัดบางเขียดนำโดยท่านนุ้ย ส่งเรือพระขับเคี่ยวกันมาตลอดหลายปีดีดัก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ บางปีเสมอกัน ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร ปีกลายเรือพระวัดท่านย้อยชนะ จำเป็นอย่างยิ่งต้องรักษาศักดิ์ศรีแชมป์ไว้ให้ได้ ชัยชนะได้มายากก็จริง แต่การรักษาชัยชนะนั้นให้อยู่ยงคงทนยากลำบากยิ่งกว่า อย่างไรเสียปีนี้เรือพระวัดหนองปรือต้องได้แชมป์อีกปี ถึงจะตอกฝาโลงเรือพระวัดบางเขียดฝังลงหลุมได้
งบประมาณสำหรับการตบแต่งเรือพระปีที่แล้วคิดเป็นยอดกลมๆ แปดแสนบาท ได้เงินรางวัลชนะเลิศห้าหมื่นบาท พร้อมโล่มาตั้งโชว์บนตู้พระไตรปิฎก หากคิดเป็นตัวเงินค่าตอบแทนติดลบอย่างหนัก แต่มันมีค่าทางศักดิ์ศรี ยิ่งเมื่อเห็นสีหน้าท่านนุ้ยวัดบางเขียดตอนเขาประกาศรางวัลแล้ว คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม หน้าเหมือนกระป๋องน้ำอัดลมโดนวัวเหยียบ
ขณะนั่งใจรุบๆ ด้วยกังวลเรื่องเตรียมเรือพระ จู่ๆ รถเก๋งคันใหม่เอี่ยมก็เอี้ยวหัวเข้าซุ้มประตูวัดคลานมาจอดหน้ากุฏิท่านย้อย ไม่ใช่ใครอื่น เสี่ยเจียงนั่นเอง
“เชิญๆๆๆ เชิญเข้ามานั่งข้างในกุฏิก่อนโยม นึกว่าจะไม่มาซะแล้ว…”
“ไม่มาได้ยังไงล่ะครับท่าน นัดกันแล้ว”
เสี่ยเจียงเจ้าของธุรกิจสารพัดสารเพ ตั้งแต่ขายวัสดุก่อสร้าง ร้านอาหาร เจ้าของท่ารถสองแถวเข้าเมือง ร้านคาราโอเกะวับๆ แวมๆ ตลอดถึงปล่อยเงินกู้ก้อนโตๆ ให้วัดในพื้นที่
“เอาเท่าไหร่ครับท่าน รอบนี้”
หลังจิบน้ำเย็น วางแก้ว ยืดตัวขึ้นในท่าสง่าผ่าเผย เสี่ยเจียงเข้าเรื่องทันที วัดไม่ใช่สถานที่ชวนนั่งนานสำหรับคนเช่นเขา
“ว่าจะเอาสักห้าแสน…โยมขัดข้องไหม”
“ไอ้ขัดข้อง ผมไม่ขัดข้องหรอกครับ แต่ท่านต้องให้หลักประกันผมหน่อย ผมมันคนทำมาหากิน เกิดผิดพลาดอะไรมา ผมลำบาก…”
ได้ยินแบบนี้ท่านย้อยถึงกับสะท้อน คราวก่อนกว่าจะหาเงินมาคืนทั้งต้นดอก ทอดผ้าป่าก็แล้ว กฐินก็แล้วยังไม่พอ ต้องผัดเสี่ยเจียงไปหลายรอบ
“โยมจะเอาหลักประกันอะไร ว่ามาได้เลย”
เสี่ยเจียงเหมือนคิดคำพูดไว้ล่วงหน้าเสร็จสรรพ พอได้ยินจึงยื่นข้อเสนอทันที
“รอบนี้ผมขอทำสัญญาใหม่ ไม่เอาแบบปีก่อนๆ หักจากยอดผ้าป่า ทอดกฐิน ท่านก็รู้วัดท่านยอดกฐินได้ไม่ถึงแสน ผ้าป่าไม่ต้องพูดถึง ผมเสี่ยงถ้าจะรอยอดกฐินผ้าป่าอย่างเดียว… เอาเป็นว่ารอบนี้ผมขอทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากเงินกฐิน-ผ้าป่าแล้ว ผมขอเอาสวนยางวัดเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดไม่จ่ายครบตามกำหนดสองปี หรือมีเหตุอะไรให้ไม่จ่าย ผมขอสัมปทานกรีดยาง มีสิทธิ์ขาดจะจัดการกับสวนยางวัดแต่เพียงผู้เดียว ท่านจะตกลงไหม…”
วัดหนองปรือมีพื้นที่กว้างขวาง แต่เดิมบริเวณเปรวหรือป่าช้าทั้งหมดถูกปล่อยให้รกร้าง พอท่านย้อยได้เป็นหัววัดได้จ้างรถไถมาปรับพื้นที่ปลูกยางพารา พ้นฝนนี้ก็ได้ฤกษ์เบิกหน้าแล้ว พอได้ยินข้อเสนอแบบนี้ ท่านย้อยก้มหน้าคิดครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า
“งั้น สัญญานี้ ให้ทำในฐานะเจ้าอาวาสวัดหนองปรือนะ ถือเป็นสัญญากู้หนี้โดยวัด ไม่ใช่ของอาตมา…”
“ได้ครับ ผมไม่ขัดข้อง แต่ขอให้กรรมการวัดสักสองคนมาเซ็นเป็นสักขีพยาน…”
ท่านย้อยพยักหน้าตกลง ครุ่นคิดถึงใบหน้าพยาน ต้องเป็นคนเก็บความลับ ไว้ใจได้ ปากมีหูรูด ไม่แพร่งพรายไปถึงหูท่านนุ้ยวัดบางเขียดเด็ดขาด ถ้าเป็นเช่นนั้นมีหวังได้อายเอาหน้ามุดรูดินแน่ ว่าแล้วก็กดเบอร์มือถือกรรมการวัดสองคน ไม่ถึงชั่วสวดอิติปิโสจบ สองฆราวาสก็โผล่หน้ามาเซ็นสัญญาเป็นพยานฝ่ายผู้กู้ให้ ได้ค่าน้ำร้อนน้ำชาจากท่านย้อยไปคนละสองใบเทาๆ
สัญญาเงินกู้ ระบุชื่อเจ้าอาวาสวัดหนองปรือ กรรมการวัดสองคนลงชื่อเป็นสักขีพยาน
เมื่อมีเงินอะไรๆ ก็ง่ายดายขึ้น ท่านย้อยกดโทรศัพท์หาช่างเจ้าประจำเป็นแม่หม้ายสาวใหญ่ เคยเรียนมาทางสายศิลปะ แต่ไม่จบ ได้วิชาติดตัวมาบ้าง ออกรับงานตามวัดวา ตั้งแต่งานปูนปั้น งานวาดศิลป์ งานแทงหยวกกล้วยลายข้างโลง จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชุมชน ฝีมือไม่ถึงกับสวยเลิศเลอแต่ก็พอดูได้
ท่านย้อยบวชนานจนได้เป็นสมภารก็จริง แต่ขาดบารมีให้คนรอบวัดศรัทธา ที่มาวัดกันวันพระวันสำคัญทางศาสนา แค่มาทำหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ หาพระดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เลยต้องทำใจทำไปแก้ขัดดีกว่าไม่มีพระ สถานการณ์ตอนนี้สำหรับชาวบ้าน เลือกพระไม่ได้เลย แต่ละวัดละแวกนี้คุณภาพเหมือนๆ กัน ไม่เลี้ยงนกเขา นกกรงหัวจุก ก็ขุนวัวชน โขกหมากรุก
ยิ่งใกล้วันออกพรรษาทางอำเภอแม่งานใหญ่ มีผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักวัฒนธรรมจังหวัด กระทรวงวัฒนธรรม ภาคเอกชนบริษัทห้างร้านในอำเภอ ติดป้ายไวนิลโฆษณางานลากพระขนาดใหญ่ทุกหัวมุมถนนสามแยก-สี่แยก จ้างรถกระบะตั้งเครื่องเสียงกระจายข่าวไปทั่วหมู่บ้าน เรือพระของท่านย้อยยังเสร็จไม่ถึงครึ่ง ช่างขาดลูกมือด้วยประหยัดงบประมาณ พระทั้งวัดมีท่านย้อยคนเดียวทำหน้าที่เป็นลูกวัดและสมภารในคนเดียวกัน เลยต้องยอมลงมาเป็นลูกมือช่างอีกแรง พอฉันข้าวเช้าเสร็จ ท่านย้อยเปลื้องจีวรเหลือแค่ซับเหงื่อตัวเดียวคลุมท่อนบน โชว์พุงเขียวเหมือนแบงก์ยี่สิบ นั่งจับพู่กันจุ่มสีระบายกระหนกโฟมหน้าดำหน้าแดง หยดสีเลอะหัวล้านเนื้อตัว จนดูไม่ได้
มดกับน้ำตาลอยู่ใกล้กันไม่ได้ฉันใด พระกับสีกาอยู่ใกล้กันไม่ได้ฉันนั้น สาวใหญ่แม่หม้ายช่างทำกระหนกลายเรือพระ แม้ไม่โฉมสะคราญแต่เนื้อหนังไม่ถึงกับยานโตงเตง ยังคงร่องรอยสะพรั่งให้เห็น หากได้พินิจพิจารณาใกล้ๆ และคนที่ใกล้ที่สุดยามนี้คือท่านย้อย
โบราณพร่ำสอนทั้งพระเก่าพระบวชใหม่เสมอสำหรับวิธีการรับมือกับอิสตรีที่แปลตามตัวว่าผู้ฆ่าพรหมจรรย์ คือ อย่าพึงเห็น ถ้าเห็นอย่าพึงสนทนา ถ้าต้องสนทนาพึงตั้งสติไว้ให้มั่น นารีดั่งสายน้ำหนุนนำเรือไปสู่โพธิธรรมก็จริง ขณะเดียวกันก็ยิงเรือคว่ำเรือให้อับปางมานักต่อนัก
ท่านย้อยบวชหลายพรรษาจนได้เป็นสมภาร แต่ไม่ได้ฝึกจิตข่มกิเลสให้ขาดหาย มิหนำซ้ำกลับเพิ่มพูนขึ้นทุกวันตามอายุพรรษา ไม่ต่างงูพิษซ่อนอยู่ในรู ขอเพียงมีมือไปกวนงูพิษนั้นพร้อมฉกกัดได้เสมอ
แค่รอเวลาโอกาสเหมาะเท่านั้น
ย้ายไปฝั่งท่านนุ้ยวัดบางเขียด ชวดแชมป์ปีที่แล้ว หมายมั่นปั้นมือต้องเอาชนะเรือพระวัดท่านย้อยให้ได้ปีนี้ ถึงกับยอมลงทุนขายวัวชนผ่านศึกหลายสนาม ใช้เป็นทุนตกแต่งเรือพระ คนแก่รอบวัดส่ายหัวต่อพฤติกรรมไม่สมผู้ทรงศีลของท่านนุ้ย แต่เด็กวัยรุ่นกลับชอบ วัดกลายเป็นแหล่งซ่องสุม ทั้งขี้ยา พวกเกกมะเหรกเกเรไม่เอาถ่าน ชาวบ้านรอบวัดเอือมระอา แต่หัววัดอย่างท่านนุ้ยกลับไม่ยี่หระ บาตรไม่ยืน หุงข้าวกินเอง เลี้ยงวัวชนเป็นล่ำเป็นสัน มีพวกขี้ยาเป็นมือตีนใช้งานได้ทุกเรื่อง ขอให้มีเงิน สามารถเนรมิตผีดิบพวกนั้นเป็นลูกมือได้สารพัด ท่านนุ้ยมีหัวทางด้านศิลป์ เหมือนมีพรสวรรค์ติดตัวมา พวกลายไทยเกี่ยวกับวัดวาสามารถประดิษฐ์สร้างได้ไม่ยาก แทงหยวกเอย เอาใบตาลมาทำเป็นลายกระหนกประดับเอย รู้จักนำวัสดุรอบวัดมาปรับแปลงขึ้นลายตบแต่งเรือพระได้สารพัด แถมประหยัดอีกด้วย
ท่านนุ้ยขายวัวชนเจนสนามได้เงินมาแปดหมื่น แม้ไม่เพียงพอหากจะตบแต่งเรือพระให้วิจิตรงามตาตามสมัยนิยม แต่ถ้าใช้ความคิดสร้างสรรค์หาวัสดุตามธรรมชาติมาประกอบสร้างด้วย ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ ก็พอถูๆ ไถๆ ค่าจ้างช่างไม่ต้อง ลูกมือช่างไม่ต้อง ท่านนุ้ยดำเนินการเอง มีวัยรุ่นขี้ยาเป็นลูกมือเจ็ดแปดคน
ขณะกำลังง่วนอยู่กับการตบแต่งเรือพระ จู่ๆ รถเก๋งใหม่เอี่ยมก็เอี้ยวหัวเข้าประตูวัดมาจอดใกล้ๆ ท่านนุ้ยรู้จักเสี่ยเจียงดี และรู้ลึกไปถึงจุดประสงค์การมา จึงวางสีหน้าเฉยๆ ไม่แสดงอาการอะไร
“ยุ่งหรือครับท่าน”
“นิดหน่อยโยม มีธุระอะไรกับอาตมาหรือ”
แม้รู้จุดประสงค์อยู่เต็มอก แต่แสร้งถามออกไป เพราะไม่รู้จะถามอะไรดีไปกว่านี้
“ผมผ่านมาแถวนี้พอดีเลยแวะเข้ามาเยี่ยม เผื่อว่าท่านต้องการเงินทุนสำหรับทำเรือพระส่งประกวด เมื่อวานไปวัดหนองปรือมา ทางนั้นทำอลังการมาก น่าจะได้แชมป์อีกปี…”
คำพูดของเสี่ยเจียงเหมือนน้ำมันราดเข้ากลางเพลิงหัวใจ ท่านนุ้ยถึงกับแค่น หึ ออกมาในลำคอ แล้วถามออกไปตรงๆ
“ทางนั้นกู้ไปเท่าไหร่”
“ก็โขอยู่ครับท่าน ล้านนิดๆ”
การไม่พูดความจริงคือคุณสมบัติสำคัญของคนประกอบธุรกิจแบบเสี่ยเจียง ท่านนุ้ยพอได้ยินถึงกับแบะปาก แค่นเสียงดูถูกออกมาแบบจงใจ
“หึ คงมีปัญญาหาจ่ายหนี้อยู่หรอก ไม่เจียมกะลาหัวล้านตัวเองเล้ย…”
“ว่าแต่ท่าน ปีนี้ไม่ต้องการเงินทุนเหรอครับ”
เสียเจียงไม่ยอมเสียเวลาโอ้เอ้วิหารรายอีก พุ่งเข้าจุดประสงค์ทันที
“อาตมา พอมีทุนอยู่บ้างแล้วปีนี้ ไว้คราวหน้าละกัน…”
เสี่ยเจียงพอได้ยินอย่างนี้จากปากท่านนุ้ย ถึงกับหน้าสลดวูบด้วยผิดหวัง แต่รีบยิ้มกลบเกลื่อนอย่างทันเกม
“ไม่กลัวแพ้ท่านย้อยอีกปีหรือท่าน…”
ท่านนุ้ย แบะปากนิดหนึ่งตามนิสัย
“ไม่มีทาง”
น้ำเสียงท่าทีของหัววัดบางเขียด ทำให้เสี่ยเจียงไม่เห็นประโยชน์ ปลาไม่ยอมฮุบเหยื่อ รีบขอตัวลา ขับรถออกจากวัดอย่างผิดหวัง
วัดหนองปรือกับวัดบางเขียด เหมือนเรือสำเภาโบราณผ่านมหาทะเลเวลามาหลายชั่วอายุคน มีสักขีพยานจากพระลากของทั้งสองวัด รอดพ้นโจรกรรมมายุคแล้วยุคเล่า ทั้งโจรกรรมภายนอกและภายใน พระลากวัดหนองปรือมีพุทธศิลป์แบบศิลปะตระกูลช่างพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ปางห้ามสมุทร วงพักตร์น่ากลัว ปากทาสีแดงชาด ตามองบน เหมือนช่างจงใจแกะเปลือกหอยมุกประดับส่วนที่เป็นดวงตาดำ ติดขอบตาบน มองผิวเผินคล้ายพระมองบนแบบหยิ่งๆ องค์พระแกะสลักจากไม้เนื้อแข็งลงรักทาสีทองเก่าร่อน คนโบราณเรียกขาน “พระพ่าย” มีนิทานประกอบว่า ท่านไม่ชอบให้ใครบนบาน ไม่ชอบการแข่งขัน ชอบความพ่ายแพ้ ไม่เป็นที่โปรดปรานของพวกนักเลงวัวชน ชนไก่ กัดปลา
ส่วนพระลากวัดบางเขียด อยู่อีกฟากหมู่บ้าน พุทธศิลป์และขนาดแบบเดียวกันกับพระพ่าย สันนิษฐานว่า ช่างคนเดียวกันสร้าง คนโบราณเรียกชื่อ “พระแพ้” เหมือนช่างจงใจแกะสลักเปลือกหอยมุกประดับดวงตาพระแพ้ให้มองต่ำ และเช่นกันไม่เป็นที่เคารพบูชาของนักเล่นพนันทุกรูปแบบ
‘พระพ่ายมองบน พระแพ้มองต่ำ ค่ำๆ พวกเด็กเหออย่าซน เดี๋ยวอี้ถูกค้างคูดจับกิน…’
นี่คือบทสำหนวน (สำนวน) ที่คนแก่ๆ บอกเล่าลูกหลาน เวลาดื้อ ซน ไม่รีบอาบน้ำเข้าบ้านก่อนพลบค่ำ ค้างคูดหรือเสือไฟจะย่องมากิน โดยไม่ลืมยกเอาลักษณะพิเศษของพระลากทั้งสองวัดมาร่วมด้วย บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ผูกโยงกับวัดทั้งสองอย่างเข้าไปในวิถีชีวิต
ย้อนไปสักสองชั่วอายุคน วัดหนองปรือกับวัดบางเขียดเคยมีการลากพระแบบดั้งเดิม เพราะถือเป็นประเพณีท้องถิ่นวันออกพรรษา เรือพระไม่มีล้อใช้ต้นแคนาทั้งต้นแกะสลักเป็นหัวพญานาค ลำตัว หาง แยกส่วนออกได้ บุษบกหรือนมพระ (พนมพระ) ทำเป็นซุ้มมียอดจตุรมุขแบบบ้านๆ ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ลากเสร็จถอดเก็บค่อยประกอบใหม่เมื่อถึงวันลากพระปีถัดไป นมพระประดับด้วยแผงไม้ไผ่สานลายลูกแก้ว งานศิลปะทุกอย่างเกิดจากแรงศรัทธาชาวบ้านช่วยกันทำ
ถึงเวลาลากเสียงกลองให้จังหวะสม่ำเสมอหมายถึง ลากเดิน ถ้ากลองเปลี่ยนจังหวะเป็นรัวหมายถึงลากแล่น เรือพระลากผ่านถนนดินฝนตกใหม่ๆ มีโคลนให้เด็กๆ หนุ่มสาว เล่นกันสนุกสนาน ผ่านหน้าบ้านใคร เจ้าของบ้านเอาพวงต้ม (ขนมทำจากข้าวเหนียวห่อใบกะพ้อ) มาคล้องหัวพญานาคถวายเป็นพุทธบูชา ตามคติพุทธกาล วันพระเจ้าเปิดโลกเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีประชาชนคอยต้อนรับมหาศาล ตั้งใจหุงข้าวมาใส่บาตร แต่คนมาก เข้าไม่ถึง เลยหาใบไม้มาห่ออธิษฐานเหนือเกศาแล้วโยนไปถวาย
ชาวบ้านสองวัดทั้งฝ่ายวัดหนองปรือมีพระพ่าย กับชาวบ้านวัดบางเขียดมีพระแพ้ ประดิษฐานอยู่บนนมพระ ช่วยกันลากตามเสียงกลองเสียงโพนจนถึงศาลาชนแดนระหว่างหมู่บ้าน จุดพักสมโภชของสองเรือพระ เชื่อมไมตรีผู้คนสองหมู่บ้าน ทำบุญด้วยกัน มีมหรสพพื้นบ้าน หนังตะลุง มโนราห์เล่นถวายพระพ่าย-พระแพ้ แม่ค้าพ่อค้าขายขนมจาก ขนมโค ข้าวหลาม ของกินบ้านๆ ตลอดงาน เป็นที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย ครื้นเครง รุ่งขึ้นอีกวันชาวบ้านทั้งสองวัดช่วยกันลากพระกลับวัด
ทั้งสองวัดปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งก้าวสู่โลกยุคใหม่ ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหวังดึงเม็ดเงินจากต่างชาติแบบตะกละตะกลาม ทุกแห่งทั่วที่ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ และท่องเที่ยวแนววัฒนธรรม ลากพระแบบบ้านๆ เปลี่ยนใหม่เป็นจัดเอิกเกริกมีการแข่งชันประชันโฉมเรือพระจากวัดทั่วอำเภอ ชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ งานสมโภชจัดแบบสมัยนิยม มีวงดนตรี นักร้อง โคโยตี้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อดีตกาลชาวบ้านทั้งวัดหนองปรือและวัดบางเขียด หนักแน่นในวิถีบ้านๆ ไม่ยอมส่งเรือพระเข้าแข่งตามคำเชิญชวนภาครัฐ ถือธรรมเนียมปฏิบัติ พระพ่าย-พระแพ้ ท่านไม่ชอบการแข่งขันทุกรูปแบบ คนรุ่นเก่าล้มตายไป อีกรุ่นลืมเลือนปณิธาน ล้อกาลหมุนเวียนถึงปัจจุบัน สู่ยุคเสื่อมทรามตามเหตุปัจจัยทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ หัววัดหนองปรือตกอยู่ในมือท่านย้อย หัววัดบางเขียดอยู่ในมือท่านนุ้ย
เช้าตรู่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านใกล้วัดหนองปรือเจ็ดแปดคนที่ยังไม่ทอดธุระเรื่องวัดวา มาชุมนุมกันหมายลากเรือพระไปร่วมสมโภชที่สนามอำเภอ แต่กลับเห็นเรือพระจอดนิ่งเงียบเหงา การประดับประดาทาสีเหมือนทำยังไม่เสร็จ ทุกอย่างไม่มีการจัดเตรียมอะไรทั้งสิ้น หัววัดคือท่านย้อยเองก็ไม่อยู่ให้เห็น กุฏิปิดเงียบ สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า ท่านย้อยตัดสินใจยกเลิกส่งประกวดเรือพระ เข้าไปในโบสถ์กล่าวคำลาสิกขากับพระประธาน สวมชุดฆราวาสนั่งรถไปกับแม่หม้ายช่างทำเรือพระ โดยมีเงินกู้ในนามวัดติดตัวไปด้วย ชาวบ้านพอรู้แบบนั้นต่างรู้สึกสมเพชเวทนา แต่ไหนๆ ตั้งใจมาลากพระกันแล้ว จึงชวนกันไปโรงเก็บพระพ่าย เพื่อนำมาวางบนนมพระ แล้วช่วยกันลากไปร่วมสมโภชแบบตามมีตามเกิด แต่พระพ่ายไม่อยู่อีกแล้ว ไม่ว่าที่โรงเก็บ ในโบสถ์ บนโรงธรรม ชาวบ้านชวนกันงัดกุฏิท่านย้อย พบแต่ความว่างเปล่า พระพ่ายอันตรธานไปอย่างไรร่องรอย ความหวังจะร่วมกันลากพระเป็นอันจบสิ้น
เมื่อไม่มีเรือพระจากวัดหนองปรือ รางวัลชนะเลิศตกเป็นของวัดท่านนุ้ยตามคาด ด้วยแนวคิดใช้วัสดุจากท้องถิ่นตบแต่ง ได้ถ้วยรางวัลจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมเงินรางวัลห้าหมื่นบาท ท่านนุ้ยยิ้มปากไม่หุบ ยิ่งรู้ข่าวท่านย้อยอดีตหัววัดหนองปรือย่องสึกหนีหอบเงินวัดไปกับแม่หม้ายด้วยแล้วยิ่งรู้สึกสาแก่ใจเหลือเกิน
“ทำงามหน้าไว้แบบนี้ คงไม่กล้ากลับมาสู้หน้าชาวบ้านตลอดชาติ…”
ท่านนุ้ยยิ้มกริ่มในใจเมื่อนึกไปว่า ตอนนี้หาพระยาก บางทีตนอาจได้ควบเป็นหัววัดสองวัด วัดหนองปรือมีสวนยางรอบวัดหลายสิบไร่ ถือเป็นโชคสองชั้นถ้าได้เป็นสมภารต่อ
เสร็จงานสมโภช วัยรุ่นขี้ยากลุ่มเดิมช่วยกันลากเรือพระแบบมีล้อกลับวัดบางเขียด ท่านนุ้ยนั่งพรมน้ำมนต์หัวเรือพระ ชาวบ้านสองฟากถนนไม่มีใครอยากได้น้ำมนต์ คนเฒ่าคนแก่ที่ยังจดจำคืนวันเก่าก่อนและยังคงจดจำเรื่องราวพระพ่าย-พระแพ้ ได้ ยกมือประนมหลับตาไหว้ด้วยจิตใจเลื่อมใสพระพุทธ แต่แสนหม่นหมองใจเมื่อเห็นพระสงฆ์อย่างท่านนุ้ย
ค่ำวันเรือพระกลับถึงวัดบางเขียด ตำรวจหนึ่งคันรถพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในวัด มีชาวบ้านพลเมืองดีแจ้งเบาะแสว่ามีการซ่องสุมเสพยากันโจ่งแจ้ง ตำรวจไปถึงเห็นสภาพวัยรุ่นนอนเปรมยาไม่เป็นผู้เป็นคน เจอหลักฐานของกลางครบครัน ท่านนุ้ยปฏิเสธพัลวันไม่มีส่วนร่วม แต่พอตำรวจบังคับให้ตรวจฉี่ รีบกระโจนหนีจีวรปลิว แต่ยังเร็วไม่พอ ถูกตำรวจนายหนึ่งตะครุบไว้ทันท่วงที ผลตรวจฉี่พบสีม่วงหลักฐานคาตาหนาแน่น
ท่านนุ้ยถูกตำรวจนำตัวไปให้เจ้าคณะจังหวัดจับสึก เรือพระถูกทิ้งปล่อยตากแดดตากฝน ผุ เก่ากร่อนไปตามสภาพ ไม่มีใครเห็นพระแพ้-พระลากบนนมพระอีกเลย ชาวบ้านสันนิษฐานไปต่างๆ นานา บ้างว่าถูกโจรขโมย
มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่เชื่อว่า พระแพ้ไปอยู่กับพระพ่าย ณ ที่ไหนสักแห่งที่วัดและชาวบ้านยังคงลากพระแบบดั้งเดิม •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022