Smart Buyer! จะซื้อ (เรือดำน้ำ) ทั้งที ต้องฉลาดซื้อ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดไม่ได้อยู่ที่ส่วนล่างของกองทัพ แต่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาส่วนบน”
Winslow T. Wheeler (2009)

 

หากย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 แล้ว จะเห็นได้ว่าสิ่งตามมากับความสำเร็จของการยึดอำนาจคือ การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก

จนอาจกล่าวได้ว่ารัฐประหารในปีนั้นกลายเป็น “นาทีทอง” ของบรรดานักจัดหาอาวุธในกองทัพ ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว เราอาจต้องยอมรับว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถที่จะจัดซื้ออาวุธจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ เพราะการกระทำเช่นนั้น ย่อมต้องเผชิญกับการวิจารณ์อย่างมากจากสังคม

และอาจตกเป็นเป้าโจมตีอย่างรุนแรงของพรรคฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถจะใช้งบประมาณจำนวนมากไปเพื่อการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยไม่มีคำตอบของความต้องการทางยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะใช้ในการอธิบายกับสังคมได้อย่างแท้จริง แต่สำหรับ “ระบอบทหาร” ที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจนั้น การจัดซื้ออาวุธเป็น “ประชานิยม” ที่ต้องการสร้างนิยมชมชอบจากบรรดาคนในกองทัพ และเป็นการยืนยันถึงความเป็น “รัฐบาลทหาร” ที่ความต้องการของกองทัพจะต้องมาก่อน

และอยู่เหนือความต้องการทางสังคมทั้งปวง

 

การเมืองเรื่องเรือดำน้ำ

สิ่งที่เป็นประเด็นสาธารณะอย่างมากก็คือ การจัดซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่าสูงเป็นจำนวนมากหลังรัฐประหารนั้น เป็นปัญหา “เสนาพาณิชยนิยม” ในอีกรูปแบบหนึ่ง

แม้ข้อมูลในเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นเพียงการ “ซุบซิบนินทา” ในสื่อต่างๆ และไม่สามารถมีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการก็ตาม

แต่ดูเหมือนสังคมเองรู้ดีว่า การเปิดเผยการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังจะเห็นได้ว่าจวบจนปัจจุบัน คดีการคอร์รัปชั่นในเรื่องอาวุธ แทบไม่เคยปรากฏให้เห็นในการฟ้องร้อง

หากเกิดขึ้นเช่นกรณี “จีที-200” ก็เป็นเพียงการเอาผิดต่อนายทหารระดับรอง ทั้งที่นายทหารในระดับสูงที่เกี่ยวข้องโดยตรง สามารถลอยตัวอยู่เหนือความผิดที่เกิดขึ้น โดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบและปราบปรามคอร์รัปชั่น ไม่เคยมี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ที่จะตรวจสอบ “ความไม่โปร่งใส” จากการซื้ออาวุธกับบรรดานายทหารระดับสูงแต่อย่างใด

การจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำ “ชั้น Yuan- S26T” ของราชนาวีไทยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ก็คือ ภาพแทนของปัญหาที่กล่าวถึงในข้างต้น จนต้องกล่าวว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนกลายเป็น “ความทุลักทุเล” อย่างเห็นได้ชัด และอาการนี้ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การจัดซื้อครั้งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการทูตอย่างดีในการแสดงออกถึง “การตอบแทน” ทางการเมืองต่อการที่รัฐบาลปักกิ่งให้การรับรองรัฐบาลทหารกรุงเทพหลังรัฐประหาร โดยกองทัพไทยจะเลือกใช้อาวุธจีนเป็น “แบบแผนหลัก” ในอนาคต

 

การตัดสินใจเช่นนี้เป็นคำตอบว่า จีนจะมีบทบาทเป็น “ผู้อุปถัมภ์” กองทัพไทยอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น ที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลจีนพยายามเสนอตัวอย่างมากในการขอเป็น “ผู้อุปถัมภ์” กองทัพเมียนมา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากทางฝ่ายเมียนมา… ภาพ “จีนอุปถัมภ์” เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับกองทัพไทยในปัจจุบัน

ซึ่งผู้นำรัฐประหารและนักวิชาการฝ่ายขวาในเวลานั้นจะออกมาอธิบายว่า การซื้ออาวุธหลากหลายค่ายจะเป็น “เครื่องมือทางการทูต” ของไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการจัดซื้อบนเงื่อนไขทางการเมืองที่รัฐบาลทหารไทยต้องการพาไทยเข้าไปมี “ความใกล้ชิดที่แนบแน่น” กับจีน

ด้วยความเชื่อว่า จีนคือ “ผู้ปกป้อง” รัฐบาลทหารให้พ้นจากแรงกดดันของรัฐบางตะวันตกที่ไม่ตอบรับกับการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ

ในการนี้ รัฐบาลจีนได้แสดงการตอบแทนต่อนโยบายทางทหารของไทย ด้วยการทำ “การตลาด” ในแบบที่ธุรกิจอาวุธทั่วโลกไม่เคยเห็นมาก่อน คือ “ซื้อ 2 แถม 1″… ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จีนแถมฟรีให้ไทยอีก 1 ลำ

การทำการตลาดแบบจีนเช่นนี้ เป็นการ “เอาใจสุดๆ” ในแบบที่ “นายพลนักจัดหา” ไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลจีนทำสัญญาขายเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยไม่ต่างจากการ “ขายเบียร์” ในร้านสะดวกซื้อ

 

ในความเป็นจริงแล้ว เรือดำน้ำมีมูลค่าสูง จนไม่มีใครเคยเห็นสัญญาซื้อขายระบบอาวุธหลักแบบ “แถมฟรี” เช่นนี้มาก่อน

แต่การทำ “การตลาด” แบบนี้ ก็อดชวนให้คิดถึงปัญหา “เสนาพาณิชยนิยม” จากระบบอุปถัมภ์ของจีนอย่างมากด้วย เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเรือดำน้ำจีนมีราคาเท่าใด (ราคาประกาศ 2 ลำมูลค่า 3 หมื่น 6 พันล้านบาท)

สังคมไทยรับทราบแต่เพียงว่า เราต้องจ่ายเท่าใดในการจัดซื้อ (อยากจะเปรียบว่าไม่มีบริษัทรถเก๋งเจ้าไหนกล้าเสนอ “ซื้อ 2 แถม 1” อย่างแน่นอน!)

ข้อเสนอจากจีนเช่นนี้ ทำให้บรรดานายทหารเรือที่สมาทาน “ลัทธิเรือดำน้ำนิยม” ดีใจ โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเป็นยิ่งกว่าความฝันที่ ทร.ไทยจะได้เรือดำน้ำฟรี 1 ลำ (เป็นอะไรยิ่งกว่าการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อแถว บก.ทร.)

แต่ก็ตามมาด้วยสัญญาที่ต้องต่อ “เรือพี่เลี้ยง” สำหรับเรือดำน้ำชุดนี้จากจีน ต้องจัดจ้างจีนสร้าง “อู่แห้ง” เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงสำหรับเรือดำน้ำ และยังตามมาด้วยสัญญาพ่วงในทางทหาร โดยเฉพาะความพยายามในการจัดสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอาวุธของจีน ที่จีนต้องการขยายตลาดการส่งออกอาวุธโดยมีไทยเป็นหัวหาด

โดยเฉพาะ ทร.ไทยจะเป็นกองทัพแรกของโลกที่ใช้เรือดำน้ำและเครื่องยนต์ของจีน และตามมาด้วย “ระบบจีนอุปถัมภ์” ในทางการเมือง

 

เรือไร้เครื่อง

ดังที่สังคมรับรู้ การจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยกลายเป็น “ดราม่า” ชุดใหญ่จนถึงวันนี้

นอกจากเห็นถึง “ความทุลักทุเล” แล้ว ยังเห็นถึง “ความคลุมเครือ” ของปัญหาอีกด้วย จึงต้องมีความพยายามอย่างมากที่จะต้องยุติเรื่องนี้ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้น เพราะหากรัฐบาลประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว กรณีเรือดำน้ำไทยน่าจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องสะสาง

ว่าที่จริง ปัญหาเรือดำน้ำจีนมีมาอย่างต่อเนื่อง และมาถึงจุดสำคัญเมื่อรัฐบาลจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ให้แก่เรือดำน้ำที่ราชนาวีไทยสั่งต่อ

กล่าวคือ จีนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ต้องใช้เครื่องยนต์ของเยอรมัน (MTU 396) ในเรือดำน้ำนี้ได้ หรือกล่าวในทางสัญญาจัดซื้อจัดจ้างคือ เกิดการที่ผู้รับสัญญาไม่อาจดำเนินการตาม TOR ในเรื่องของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นสาระสำคัญ… ถ้า ทร.บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ ลองนึกว่า เราไปซื้อรถใหม่ แล้วคนขายเปลี่ยนเครื่องยนต์ ให้เครื่องที่มีคุณภาพต่ำกว่า จะยอมไหม?

ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐสภาจะต้องจัดให้เกิดกระบวนการ “การไต่สวนในรัฐสภา” (parliamentary hearing) เพื่อให้ได้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในการกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (ในประเด็นเรื่อง accountability-ความรับผิดชอบในตำแหน่งอำนาจหน้าที่)

อย่างไรก็ตาม เรื่อง “การเปลี่ยนสาระสำคัญของสัญญา” กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารเรือไทย พยายามที่จะหาหนทางประนีประนอมกับจีนอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหา “เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์” ด้วยการเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจาก “เครื่องยนต์เยอรมัน” ไปเป็น “เครื่องยนต์จีน” (CHD 620)

 

วันนี้ ผู้นำทหารไทยที่เป็น “ลูกค้าอาวุธจีน” จะมีท่าทีแบบ “ยอมจำนน”

จีนจะเสนออะไร ผู้นำทหารไทยก็ต้องยอมรับ โดยไม่คำนึงว่าข้อเสนอนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาเพียงใดหรือไม่ก็ตาม ท่าทีแบบยอมจำนนเช่นนี้

ทำให้เกิดสถานะ “ผู้ซื้อที่ไร้อำนาจต่อรอง” (และไม่อยากต่อรอง) และคอย “งอนง้อ” ขอจีนไม่เลิก ทั้งที่ไทยเป็นผู้ซื้อ แต่ทำไมไทยเป็นผู้ซื้อแบบยอมจำนน จนทำให้เกิดคำถามตามมาลับหลังว่า จีนให้อะไรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแก่บรรดา “นายพลเหล่าจัดซื้อ” ของกองทัพไทยหรือไม่

(นายพลในกองทัพไทยเมื่อเติบโตในทางราชการแล้ว พวกเขาหลายคนไม่ว่าจะอยู่ในเหล่าทัพใด มักย้ายสังกัดไปอยู่หน่วยเดียวกันคือ “เหล่าจัดซื้อ” ซึ่งเป็นเหล่าที่ใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุด และเข้มแข็งที่สุดในกองทัพและกระทรวงกลาโหม)

ในกรณีเรือดำน้ำจึงน่าแปลกใจว่า ราชนาวีไทยไม่เคยแสดงบทบาทเป็น “smart buyer” การเป็นผู้ซื้อแบบยอมจำนน ทำให้เมื่อผู้ขายผิดสัญญาในสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ฝ่ายทหารเรือไทยที่เป็นผู้ซื้อกลับยอมคิดตามข้อเสนอของจีนแบบง่ายๆ ว่า “ปลอดภัย-ไม่มีปัญหา”

ทั้งที่การเปลี่ยนเครื่องยนต์นั้น เป็นประเด็นที่ผู้ซื้อต้องวินิจฉัยด้วยความ “ใคร่ครวญและรอบคอบ” และต้องไม่เริ่มคิดด้วยความต้องการเฉพาะหน้าของ “ลัทธิเรือดำน้ำนิยม” ในกองทัพเรือ ที่มีคำตอบประการเดียวว่า ทร.ไทยจะต้องมีเรือดำน้ำ จีนจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ได้เรือดำน้ำมาก่อน ถ้าปราศจากเรือดำน้ำแล้ว จะทำหน้าที่ในความเป็นกองทัพเรือไม่ได้

แต่สิ่งที่ราชนาวีไทยจะต้องตอบให้ได้คือ เครื่องยนต์จีนมีประสิทธิภาพเท่ากับเครื่องยนต์เยอรมันจริงหรือไม่… เครื่องยนต์จีนจะใช้กับเรือดำน้ำได้จริงเพียงใด… การเอาเครื่องเรือรบบนผิวน้ำมาใช้กับเรือดำน้ำตามข้อเสนอของจีน เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่… หากเกิดปัญหาทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของชีวิตลูกเรือไทยแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

(แค่ปัญหาเรือหลวงสุโขทัยจม จนบัดนี้ยังหาความรับผิดชอบไม่ได้!) เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น ไทยไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญา จีนต่างหากที่ผิดสัญญา

 

ตลาดผู้ซื้อ vs ตลาดผู้ขาย

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงของธุรกิจอาวุธในเวทีโลกนั้น ตลาดไม่ใช่ “ตลาดผู้ขาย” เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต จนทหารไทยต้องเกิดอาการ “งอนง้อ” ของผู้ซื้อ แต่ตลาดอาวุธสมัยใหม่ เป็น “ตลาดผู้ซื้อ” ที่ผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองอย่างมาก อันเป็นผลจากการแข่งขันของผู้ผลิตอาวุธในตลาดโลก

ในทางการเมือง ผู้นำกองทัพเรืออาจเชื่อเสมอว่า สังคมไทยที่ดำรงสภาวะ “ทหารเป็นใหญ่” (military supremacy) นั้น การเปลี่ยนแปลงสัญญาในสาระสำคัญจะไม่ทำให้เกิดการฟ้องร้องในทางกฎหมาย

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง TOR ในการซื้ออาวุธจึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำทหารต้องกังวล (ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนในกรณีนี้ ตอบได้เลยว่า อาจต้องเตรียมย้ายบ้านไปนอนคุก) และจีนก็ไม่กังวล เพราะรัฐบาล/กองทัพไทยไม่กล้าเอาผิดจีนในฐานะผู้ผิดสัญญาอย่างแน่นอน

 

หากกองทัพเรือต้องการให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เปลี่ยน TOR เครื่องยนต์เรือดำน้ำไทยสัญชาติจีน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มักจะพูดสนับสนุนทหารในทุกเรื่องอย่างที่ไม่คิดอะไรอยู่เสมอ

ดังนั้น กองทัพเรือจึงอาจมั่นใจว่า มติ ครม.จะช่วยให้แก้ปัญหา “เรือไร้เครื่อง” แต่ถ้าทำเช่นนั้นจริง ครม.อาจต้องรับผลในทางอาญาด้วย หากการแก้ TOR เป็นความผิดจริง

ในความเป็นจริงแล้ว เรือดำน้ำจีนเป็นตัวแทนของปัญหา “ความไม่โปร่งใส” ของกองทัพ ไม่ต่างจากจีที-200 (กล่องพลาสติกพร้อมก้านเหล็ก) เรือเหาะ (ที่ไม่เหาะ) รถถังยูเครน (ที่ไม่มีเครื่องยนต์เยอรมัน)…

เรื่องทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการขาด “ธรรมาภิบาลทหาร” (military governance) ที่เป็นปัญหาในกองทัพไทยมาโดยตลอด ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยหยิบยกมาถกในสังคมไทยเท่าใดนัก!