จรัญ มะลูลีม : ความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่านว่า ด้วยนิวเคลียร์ (1)

จรัญ มะลูลีม

ในที่สุดทรัมป์ผู้นำของสหรัฐก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอิหร่านอีกครั้งว่าด้วยข้อตกลงนิวเคลียร์ในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม (2017) ที่ผ่านมา

ทรัมป์กล่าวอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์เช่นเคยในวันที่ 13 ตุลาคม ว่าเขาได้ยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ฝ่ายบริหารของโอบามาพร้อมๆ ไปกับรัฐบาลอีกห้าประเทศที่ทำกับอิหร่านแล้ว แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะได้มาด้วยความยากลำบากก็ตาม

ทรัมป์ประกาศว่าเขาไม่ให้การยอมรับว่าอิหร่านได้ทำตามแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุม (JCPOA) ที่ทำกับสหรัฐและอีกห้าประเทศ หลังจากมีการตกลงกันอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว

 

ในความเป็นจริงประธานาธิบดีจะต้องให้การยอมรับข้อตกลงนี้ในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทรัมป์บอกว่าเขาได้กำชับฝ่ายบริหารของเขาให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐสภาและพันธมิตรเพื่อนำเสนอว่าข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านมีความผิดพลาดอยู่อย่างรุนแรงเพื่อที่ว่ารัฐบาลอิหร่านจะไม่สามารถข่มขู่โลกด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้

ปฏิบัติการของทรัมป์ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐได้ถอนตัวออกมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่เป็นขั้นตอนสำคัญของเขาที่จะปูทางไปสู่การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและเริ่มนำเอาการแซงก์ชั่นอิหร่านกลับมาใช้อีกครั้ง

ในคำพูดของเขาทรัปม์ได้ใช้รูปแบบการพูดที่ขาดความน่าเชื่อถือเช่นเคยเพื่อร่ายถึงข้อตกลงอิหร่าน-สหรัฐโดยเรียกการตกลงครั้งนี้ว่าเป็นหนึ่งในความเลวร้ายที่สุดที่เป็นการแลกเปลี่ยนฝ่ายเดียวที่สหรัฐเคยกระทำลงไป

เขาบอกว่าฝ่ายอิหร่านได้มีข้อต่อรองอย่างมากเพื่อให้ข้อตกลงเหล่านั้นเป็นจริง เมื่อข้อตกลงมีการลงนามในปี 2015 ได้มีการแสดงความยินดีด้วยความกระตือรือร้นโดยชุมชนนานาชาติยกเว้นอิสราเอลและสหรัฐ รวมทั้งพันธมิตรที่ค้นพบใหม่ในโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ในปัจจุบันเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่าอิหร่านเป็นประเทศที่มีความสำคัญประเทศเดียวในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางที่ให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และการสร้างรัฐปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่องและด้วยความแข็งขัน

รัฐสภาสหรัฐซึ่งเต็มไปด้วยสมาชิกจากพรรครีพับลิกันต่างก็ต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์ที่สหรัฐและประเทศตะวันตกทำกับอิหร่านกันอย่างท่วมท้น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าว เวลานี้ทรัมป์จึงหาทางผลักดันให้ล้มเลิกขัอตกลงนี้เสีย

ฝ่ายรีพับลิกันจำนวนมากเป็นกลุ่มคนที่มีความร่ำรวยและมีอิทธิพลอยูในกลุ่มผู้สนับสนุนอิสราเอล (pro-Israeli lobby) ในสหรัฐ

เบญจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลมีความพยายามมาตลอดที่จะหยุดยั้งข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐและประเทศตะวันตกกับอิหร่าน เขาได้ไปพบทรัมป์ก่อนที่ความเคลื่อนไหวเรื่องนิวเคลียร์จะก่อตัวขึ้น

ทรัมป์ได้เลือกซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลเป็นประเทศแรกๆ ที่เขาจะติดต่อด้วยในช่วงที่เขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในเดือนมกราคม ปี 2017

 

ในคำพูดของทรัมป์ เขาเรียกร้องให้มีการตกลงโครงการนิวเคลียร์กับอิหร่านเสียใหม่ให้เป็นไปตามแนวทางที่ว่าอิหร่านจะต้องหยุดยั้งอย่างถาวรในการทดลองจรวดและทำวิจัยด้านนิวเคลียร์ในอนาคต

จนถึงเวลานี้คำพูดต่อต้านอิหร่านของเขามีมากว่าประธานาธิบดีคนใดๆ ของสหรัฐ เป็นคำพูดที่ประกอบขึ้นจากอารมณ์และความไม่สมจริงโดยเฉพาะการต่อต้านประชาชานอิหร่านและผู้นำของพวกเขา

ทรัมป์อ้างออกมาต่อหน้าเลยว่าข้อตกลงกับอิหร่านทำเงินให้กับอิหร่านมากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลอิหร่านสามารถนำเอาไปเป็นทุนให้กับผู้ก่อการร้าย

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเงินก้อนดังกล่าวเป็นสิทธิของอิหร่านและเป็นเงินที่มาจากประเทศอิหร่าน ซึ่งถูกอายัดเอาไว้ในธนาคารของตะวันตกโดยสหรัฐหลังจากชาฮ์ของอิหร่านถูกโค่นอำนาจในปี 1979

กองทุนดังกล่าวทรัมป์บอกว่าถูกใช้โดยรัฐบาลอิหร่านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่อิหร่านนำไปซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสและสหรัฐนับร้อยๆ เครื่อง

ทรัมป์อ้างว่าฝ่ายบริหารของโอบามาลงนามเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านในช่วงที่รัฐบาลอิหร่านกำลังจะล่มอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากการแซงก์ชั่นจากนานาชาติ

 

นับจากปี 1979 หรือหลังการปฏิวัติพบว่าอิหร่านยังไม่เคยก่อสงครามต่อต้านชาติใดๆ ให้เห็นเลย ในเวลาเดียวกันอิหร่านกลับตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามในปี 1979 (Islamic Revolution of 1979)

ชาวอิหร่านนับล้านคนต้องจบชีวิตลงในสงครามแปดปีอิรัก-อิหร่านในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งสงครามครั้งนี้ถูกหนุนหลังโดยสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย

เมื่อมีการลงนามว่าด้านนิวเคลียร์แล้วอิหร่านก็ถอยออกมากหนึ่งก้าวจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำระเบิดปรมณูตามที่บางประเทศกล่าวอ้าง อิหร่านมียูเรเนียมมากพอสำหรับทำระเบิดปรมณูภายในไม่กี่สัปดาห์

เมื่อผู้นำคนใหม่ ฮาซัน โรฮานี ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีขึ้นมาสู่อำนาจเขาเริ่มรณรงค์อย่างจริงจังกับสหรัฐและกลุ่ม P5 (คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติห้าประเทศ) บวกเยอรมนีในเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์

ในช่วงเวลาที่มีการตกลงกัน ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณอะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) และนักการเมืองสายอนุรักษนิยมได้เตือนมาแต่แรกแล้วว่าไม่อาจวางใจสหรัฐได้ในประเด็นเรื่องนิวเคลียร์

 

ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิวเคลียร์และรัฐบาลต่างๆ ของประเทศตะวันตกต่างก็พูดว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามทุกรูปแบบของข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีความสลับซับซ้อน

ตามคำกล่าวของ ยูกิตา อมาโน (Yukiya Amano) เลขาธิการของ IAEA อิหร่านเป็นประเทศที่ปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งร่วมทำกับสหรัฐและประเทศตะวันตกที่มีความสำคัญ

นอกจากนี้ อิหร่านในฐานะประเทศที่ลงนามการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ (NPT) ถูกห้ามจากการได้มาของอาวุธนิวเคลียร์

ผู้นำอิหร่านรวมถึงผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ อะยาตุลลอฮ์ อะลี คอมาเนอี ได้ย้ำอยู่เสมอว่าอิหร่านไม่มีความสนใจที่จะได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณถึงกับพูดว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นปฏิบัติการที่ไม่ใช่อิสลาม (Un-Islamic)

 

ในเวลานี้อาจกล่าวได้ว่าลูกบอลได้เข้าไปอยู่ในรัฐสภาของสหรัฐเรียบร้อยแล้วหลังจากทรัมป์ปฏิเสธที่จะให้การยอมรับว่าอิหร่านทำตามข้อตกลง

ถึงเวลานี้สภาของสหรัฐจะต้องตัดสินแล้วว่าจะยอมรับข้อตกลงหรือรื้อการแซงก์ชั่นขึ้นมาใช้ใหม่ภายใน 60 วัน

รัฐบาลของอังกฤษฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมทั้ง NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐได้เร่งกันออกแถลงการณ์ด่วนเรียกร้องสหรัฐให้ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการทูตที่ใช้มายาวนานถึง 13 ปี

Peter Witting เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐกล่าวว่าการตัดสินใจในฝ่ายบริหารของทรัมป์จะเป็นการส่งสัญญาณว่าการทูตเป็นเรื่องของความเชื่อถือไม่ได้และจะทำให้ข้อตกลงทางการทูตไม่ได้รับความเชื่อถือในตะวันออกกลาง

เขาเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกับความน่าเชื่อถือต่อตะวันตกเมื่อไม่มีการให้เกียรติข้อตกลงที่อิหร่านไม่ได้ละเมิดแม้แต่น้อย

EU เสนอว่า JCPOA ปฏิบัติงานผ่านมติของคณะมนตรีสหประชาชาติ ในกรณีนี้ดูเหมือนสหรัฐมุ่งที่จะก่อวินาศกรรมต่อข้อตกลง TCPOA

รัสเซียและจีนก็ได้เรียกร้องให้สหรัฐกระทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์

Sergei Lovrov รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียได้ตั้งคำถามถึงสิทธิตามกฎหมายของสหรัฐที่จะฝืนข้อตกลงที่ทำกันไว้

เขาเตือนฝ่ายบริหารของทรัมป์ว่า JCPOA ได้รับการยอมรับจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงและเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องนำมาใช้