อุษาวิถี (28) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (28)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

อย่างไรก็ตาม การปกครองเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงมาตรการอันป่าเถื่อนโหดร้ายไปไม่ได้อย่างแน่นอน และภายใต้เสถียรภาพโดยผ่านนโยบายดังกล่าว ซึ่งจัดได้ว่ายังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นนั้น จึงไม่ใช่เสถียรภาพที่ปราศจากการสั่นคลอนใดๆ

ความจริงก็คือว่า หลังจากที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกสถาปนาโดยจักรพรรดิฉินสื่อแล้ว รัฐฉินอันเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอำนาจยังคงถูกรบกวนจากรัฐอื่นๆ ที่เพลี่ยงพล้ำไปก่อนหน้านี้อยู่เป็นระยะๆ

และที่ขาดไม่ได้โดยธรรมชาติทางการเมืองก็คือ การรวมตัวของขบวนการชาวนาเพื่อล้มล้างระบอบทรราชของราชวงศ์ฉิน ตราบจนถึงปลายราชวงศ์นั้นเอง ขบวนการชาวนาที่นำโดย หลิวปัง (ก.ค.ศ.256-195) ก็สามารถรวมตัวก่อกวนจนอำนาจของราชวงศ์ฉินสั่นคลอนสุดที่จะยืนอยู่ได้อีกต่อไป

และต้องถูกโค่นล้มลงไปในที่สุดเมื่อถึง ก.ค.ศ.206 แล้วหลิวปังก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty, ก.ค.ศ.206- 220) มีพระนามว่า ฮั่นเกาจู่

 

ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปีของราชวงศ์ฮั่นนั้น สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไปก็คือว่า ใครก็ตามที่คิดจะขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีนหลังจากนี้จะต้องยอมรับหลักคิดที่ว่า จีนต้องเป็นแผ่นดินเดียวกัน มิใช่แตกเป็นรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นต่อกัน

การเป็นอาณาจักรเดียวกันจึงเป็นเสมือนกับอุดมคติทางการเมืองของจีนมาโดยตลอด

เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาจึงมีต่อไปว่า การรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวที่จักรพรรดิฉินสื่อเป็นผู้ริเริ่มโดยใช้หลักคิดนิตินิยมนั้น ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับราชวงศ์ฮั่นจึงคือ การย้อนกลับไปทบทวนหลักคิดของสำนักคิดอื่นๆ ที่ถูกจักรพรรดิฉินสื่อทำลายไปก่อนหน้านี้ และแล้วลัทธิขงจื่อก็เป็นหลักคิดที่ถูกเลือก

ประเด็นที่เหลือจึงมีอยู่แต่เพียงว่า จะนำหลักคิดนี้มารับใช้ระดับนโยบายของฮั่นได้อย่างไรเท่านั้น

 

ราชวงศ์ฮั่นได้เลิกล้มนโยบาย “เผาตำรา ฝังผู้รู้” แล้วหันมาอุปถัมภ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตสำนักคิดต่างๆ และสามารถทำให้บุคคลเหล่านี้หันมายอมรับหลักคิดสำนักหญูของขงจื่อเพื่อความเป็นเอกภาพ

หลักการทางการเมืองว่าด้วยเรื่อง “เจิ้งหมิง” หรือ “ความเที่ยงแห่งนาม” ถูกนำมารับใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์ฮั่นอย่างชาญฉลาด ทั้งๆ ที่ในสมัยฉินสาวกของขงจื่อถึงกับยอมพลีชีพเพื่อรักษาหลักคำสอนของอาจารย์ของตน

จากหลักคำสอนของขงจื่อที่ครั้งหนึ่งเคยยึดเอาราชวงศ์โจวเป็นรัฐในอุดมคติ จึงไม่เพียงจะถูกแก้ไขเพื่อให้สนองตอบต่อการคงอยู่ของราชวงศ์ฮั่นเท่านั้น หากในเวลาต่อมาราชวงศ์ฮั่นยังสนับสนุนให้ลัทธิขงจื่อเป็นอุดมการณ์หลักของจีนอีกด้วย

ตราบจนรัชสมัยของจักรพรรดิอู่ตี้ (ก.ค.ศ.141-187) ผ่านไปหนึ่งปี ลัทธิขงจื่อก็ถูกยกให้เป็นหลักการปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเป็นทางการเพื่อ “เอกภาพอันยิ่งใหญ่”

นโยบายนี้ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับกีดกันนักปราชญ์จากสำนักคิดอื่น ไม่ให้เข้ามามีบทบาทในทางราชการหรือการปกครองโดยดุษณี

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาสาวกของลัทธิขงจื่อยังได้เข้าไปเป็นอาจารย์ให้กับรัชทายาทหรือโอรสของจักรพรรดิ และบรรดากุลบุตรของชนชั้นสูงอีกด้วย อันเท่ากับมีอิทธิพลเหนือชนชั้นสูงของสังคมจีน

ถึงเวลานั้น สาวกของขงจื่อและปัญญาชนที่สมาทานลัทธิขงจื่อก็ก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของราชสำนักฮั่น และทำให้หลักคิดนี้เป็นลัทธิหลักของสังคมจีนอย่างไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฮั่นพึงจะจัดตั้งสถานศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตในลัทธิขงจื่อขึ้นมาสนองตอบต่อราชสำนัก และจากการดำเนินการอย่างช้าๆ เป็นขั้นเป็นตอนนับตั้งแต่ ก.ค.ศ.124 ไปจนถึงอีกประมาณ 100 ปีต่อมา บัณฑิตเหล่านี้ก็เพิ่มจาก 50 คนมาเป็น 3,000 คน

จนถึงปี ค.ศ.1 ก็ให้ปรากฏว่า มีผู้สอบผ่านการคัดเลือกเข้ารับราชการตามมาตรฐานลัทธิขงจื่อปีละ 100 คน โดยมีราชสำนักฮั่นเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการจัดสอบ

เวลานั้นหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อที่ว่าด้วย “หลี่” หรือ “รีต” ได้ค่อยๆ ถูกผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกฎหมาย การฟื้นความสำคัญให้กับรีตนี้นับว่ามีความหมายต่ออนาคตของสังคมจีนอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการให้ความสำคัญพิธีการและพิธีกรรมต่างๆ

อาจกล่าวได้ว่า ราชวงศ์ฮั่นนับเป็นราชวงศ์แรกที่วางรากฐานให้แก่ลัทธิขงจื่อ ถึงแม้จะเป็นลัทธิที่ผ่านการแก้ไขตีความขึ้นมาใหม่ก็ตาม และนับจากนั้นลัทธินี้ก็อยู่ในกระแสหลักของการเมืองจีนมาโดยตลอด

ทั้งนี้ โดยตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจที่ว่า มีบางสมัยลัทธินี้อาจไม่ได้รับความสำคัญ หรือไม่ก็มีลัทธิหรือความเชื่ออื่นๆ เข้ามาอยู่ในกระแสหลักแทนเช่นกัน แต่ก็ในช่วงสั้นๆ

 

การไม่ได้รับความสำคัญก็ดี หรือการมีลัทธิความเชื่ออื่นเข้ามาแทนก็ดี นอกจากมีที่มาจากชนชั้นปกครองในยุคใดยุคหนึ่งมีความคิดความเชื่อเช่นใดแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมีที่มาจากบางเวลาที่สังคมจีนเกิดความปั่นป่วนอันเนื่องจากวิกฤตการเมืองภายใน หรือไม่ก็จากการถูกคุกคามจากภายนอก

โดยเฉพาะจากชนชาติที่มิใช่จีนที่เป็นศัตรูของจีนมาเป็นเวลายาวนาน

ความจริงข้อนี้ก็คือว่า จีนเป็นสังคมที่แม้จะปรารถนาความเป็นปึกแผ่นไม่ต่างจากสังคมอื่นก็ตาม แต่ในที่สุดก็หนีไม่พ้นภาวะความไร้เอกภาพที่สลับกันไปมากับภาวะที่มีเอกภาพ

ราชวงศ์ฮั่นก็ไม่อาจหลีกหนีความจริงข้อนี้ไปได้ ด้วยหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นไปแล้ว จีนก็เข้าสู่ยุคสามรัฐ (Three Kingdom Era, ค.ศ.220-280) อันเป็นยุคที่ทั่วโลกรู้จักดีผ่านวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่อง สามก๊ก

ในยุคนี้แม้จีนจะแตกแยกเป็นสามรัฐ แต่บนความอิสระที่แต่ละรัฐมีอยู่ในยุคนี้ นับว่าเป็นหนทางอันดีต่อการเปิดให้หลักคิดของศาสนาพุทธได้เข้ามามีบทบาทในสังคมจีน

รวมทั้งการก้าวเข้ามามีบทบาทของลัทธิเต้า

ทั้งพุทธและเต้ามีอะไรที่คล้ายๆ กันในหลักคำสอน โดยเฉพาะในเรื่องของการปลีกวิเวกเพื่อละจากทางโลกและการไม่ฝืนธรรมชาติ