การควบคุมบงการการเลือกตั้ง เพื่อเอาชนะความไม่แน่นอน

ปัญหาสำคัญที่ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งทั่วโลกต้องเผชิญนั้น เกิดจากตัวมันเองมีส่วนผสมของสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย คือความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าผู้ครองอำนาจอาจแพ้การเลือกตั้งได้

กล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นดาบสองคมสำหรับผู้นำอำนาจนิยม เพราะด้านหนึ่งถูกคาดหวังให้ช่วยปัดเป่าปัญหาพื้นฐานในการปกครองแบบอำนาจนิยม (เช่น ความชอบธรรม การได้รับความยอมรับจากทั้งภายในและนอกประเทศ) แต่อีกด้านหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ภัยคุกคามต่อระบอบจะถูกก่อขึ้น

ดังนั้น การควบคุมบงการ (manipulation) การเลือกตั้ง จึงถูกนำมาใช้เพื่อบิดเบือนผลการเลือกตั้งจากคะแนนนิยมที่เป็นจริงของประชาชนมีต่อระบอบ โดยมีเป้าหมายระยะใกล้ คือ กำจัดความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้ง

ส่วนเป้าหมายสูดสุด คือ ป้องกันความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงระบอบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ครองอำนาจต้องเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือ “ปัญหาเขาควายของการเลือกตั้ง (electoral dilemma)” ว่าจะต้องจัดการบงการมากขนาดไหน

เพราะด้านหนึ่ง การกระทำอย่างโจ่งแจ้งเพื่อให้มั่นใจว่าชนะอย่างแน่นอนจะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้ง

กลับกัน แนวทางที่ละเอียดกว่าจะทำให้ผู้ครองอำนาจได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งได้มากกว่าแต่ลดโอกาสในการได้คะแนนข้างมากเช่นกัน

 

รายการในการควบคุมบงการการเลือกตั้ง

งานที่น่าสนใจของ Schedler คือ The Menu of Manipulation (2002) ที่มักถูกอ้างอิงในการศึกษาวิธีควบคุมบงการการเลือกตั้ง เสนอว่าผู้ปกครองอำนาจนิยมทั่วโลกจะเลือกใช้หลายวิธีการในการตัดหัวใจของประชาธิปไตยออกจากการเลือกตั้ง โดยเรียกว่า การประดิษฐ์การเลือกตั้งแบบอำนาจนิยม (Engineering Authoritarian Elections) ได้แก่

ประการแรก สงวนตำแหน่งและพื้นที่การตัดสินใจที่สำคัญเอาไว้นอกขอบเขตอำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

วิธีการนี้เป็นการระงับหรือป้องกันการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า

โดย (1) ระบอบนี้อาจจะยอมให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งในระดับรองได้ แต่สงวนตำแหน่งระดับสูงที่เป็นศูนย์กลางอำนาจเอาไว้ ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งได้รับอำนาจที่แท้จริง

หรือ (2) แม้ตำแหน่งเป็นทางการอาจเต็มไปด้วยผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่นโยบายสำคัญถูกกันออกไปจากเขตอำนาจ ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งถูกตัดออกจากการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง กีดกันคู่ต่อสู้/ฝ่ายค้านออกจากสนามหรือทำให้ล้มเหลว

ผู้ปกครองสามารถใช้ประโยชน์จากความลื่นไหลในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อแบ่งแยกหรือกีดกันฝ่ายค้านซึ่งยังไม่มีประสบการณ์มากพอให้ไปอยู่ชายขอบ

โดยการกีดกันคู่แข่งนี้มีสารพัดวิธี เช่น การสังหารฝ่ายตรงกันข้าม

แต่วิธีที่รุนแรงน้อยกว่าแต่ง่ายและเด็ดขาดที่ใช้ร่วมกัน คือ การแบนหรือยุบพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ

นอกจากนั้น ยังสามารถออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือกีดกันฝ่ายตรงข้ามจากการแข่งขัน ทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่ฝ่ายค้าน โดยทำให้พรรคฝ่ายค้านผิดกฎหมายและอนุญาตให้เพียงปัจเจกที่ไม่สังกัดพรรคเท่านั้นที่ลงแข่งขันได้

ประการที่สาม กดปราบการแสดงออกและไม่ให้ผู้เลือกตั้งเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการเลือกตั้ง

ขณะที่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ผู้ปกครองในระบอบนี้จะขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับทางเลือกที่มีอยู่อย่างยุติธรรม โดยไม่ให้ฝ่ายค้านเผยแพร่ข้อความหาเสียงของตน

ผู้เห็นต่างถูกปิดกั้นจากพื้นที่สาธารณะ ปฏิเสธสิทธิในการพูด ชุมนุมอย่างสันติหรือเคลื่อนไหวอย่างเสรี หรือไม่ให้เข้าถึงสื่อและทรัพยากรในการรณรงค์ ระบอบอำนาจนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “การจำกัดการมีส่วนร่วมอย่างเสรี” ในหลายที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

ประการที่สี่ กีดกันผู้ลงคะแนนบางส่วนออกจากการเลือกตั้ง โดยวิธีที่ไม่เป็นทางการและเลือกปฏิบัติ

ผู้ปกครองสามารถควบคุมผลการเลือกตั้งโดยควบคุม “องค์ประกอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ด้วยวิธีการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แต่ในโลกสมัยใหม่วิธีการอย่างเป็นทางการ อย่างการเพิกถอนสิทธิ การแบ่งแยกสีผิว ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ระบอบอำนาจนิยมต้องยอมให้สิทธิเลือกตั้งอย่างทั่วถึงแก่พลเมือง

ดังนั้น จึงหันมาใช้วิธีที่ไม่เป็นทางการ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการบังคับให้พลเมืองบางกลุ่มต้องพลัดถิ่น เป็นวิธีที่เลวร้ายที่สุดที่เคยใช้มา

แต่เผด็จการที่อนารยะน้อยกว่าอาจใช้เทคนิคที่ละเอียดอ่อนกว่า โดยคิดค้นวิธีการขึ้นทะเบียน ข้อกำหนดในการระบุตัวตน และขั้นตอนการลงคะแนนเสียงที่เป็นสากลแต่เลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ

มากไปกว่านั้น อาจเวียนเทียนผู้เลือกตั้ง เพิ่มหรือลบชื่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือกันผู้มีสิทธิออกจากหน่วยเลือกตั้งโดยใช้เหตุผลทางกฎหมายหรือเทคนิค

ประการที่ห้า สร้างแรงกดดันไม่ให้เกิดการเลือกอย่างอิสระหรือควบคุมผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์

โดยทั่วไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องถูกปกป้องจากแรงกดดันภายนอก-ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจหรือเงินตรากำหนดทางเลือกของประชาชน-เพื่อให้พวกเขาเลือกตั้งได้อย่างอิสระ

แต่ผู้ปกครองแบบอำนาจนิยมมักใช้ความรุนแรงหรือการคุกคามอย่างเป็นระบบต่อผู้สมัครฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม และสื่ออิสระ

นอกจากนั้น ยังมีการใช้การควบคุมผู้ลงคะแนนเสียงคนจนที่อยู่ใต้อุปถัมภ์ ในบริบทที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน

ดังนั้น จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดใหม่ พรรคการเมืองสายปฏิรูปและกลุ่มพลเมืองจึงกังวลเรื่องการพยายามซื้อเสียงคนจน

ประการที่หก โกงการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงกติกาการจัดสรรตำแหน่งใหม่

แม้เงื่อนไขก่อนเลือกตั้งจะเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ผู้ครองอำนาจอาจบิดเบือนหรือทำลายเจตจำนงของประชาชนผ่านปฏิบัติการโกงการเลือกตั้งหรือกติกาการเป็นตัวแทน

การโกงการเลือกตั้งเป็นการบริหารการเลือกตั้งแบบมีอคติ เกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจนถึงการนับคะแนนในขั้นสุดท้าย เช่น การปลอมบัตรประชาชน การเผาหีบลงคะแนน หรือการเพิ่มผลรวมคะแนนของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองชอบ

นอกจากนั้น ผู้ครองอำนาจสามารถกำหนดกติกาการเป็นตัวแทนที่ตัวเองได้เปรียบในการแปรผลโหวตเป็นที่นั่ง ด้วยการออกแบบการกระจายที่นั่งใหม่ที่ทำให้การแพ้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ ที่สุดแล้วไม่นำไปสู่การสูญเสียอำนาจ

การเล่นแร่แปรธาตุผลการเลือกตั้งนี้เป็นครรลองสำคัญของผู้ครองอำนาจที่กังวลเรื่องความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ประการที่เจ็ด ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจที่แท้จริงและขึ้นต่อผู้อภิบาล

การเลือกตั้งจะเป็นการแสดงออกที่มีความหมายของการปกครองประชาธิปไตยต่อเมื่อผู้ลงคะแนนเสียงสามารถมอบอำนาจที่แท้จริงให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่หากผู้แทนฯ นั้นตกอยู่ใต้ภายใต้ “อำนาจแบบอภิบาล ( tutelary powers)” การอภิบาลหรือถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยตัวแสดงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องขึ้นต่อความปรารถนาของเจ้านายที่ไร้ความรับผิดชอบแล้ว ผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเพียงในกระดาษเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้บ่อนทำลายสิทธิอำนาจของการเมืองแบบประชาธิปไตย

 

รายการควบคุมบงการ
การเลือกตั้งในอาเซียน

ขณะที่ในการศึกษาการเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์กับระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ของ William Case ชื่อ “Manipulative Skills : How Do Rulers Control Electoral Arena” พบว่ามีการนำวิธีควบคุมบงการมาใช้ที่สำคัญ ดังนี้

การจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ผู้ปกครองจะควบคุมการสร้างความต้องการหรือความเห็นของประชาชน โดยทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพของพลเมือง ควบคุมการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ผ่านการควบคุมด้วยกฎหมาย การออกใบอนุญาต และรูปแบบการเป็นเจ้าของสื่อของผู้ปกครองและพรรคการเมืองที่ครองอำนาจ

การสงวนตำแหน่งและพื้นที่บางส่วนไว้ โดยกันตำแหน่งสำคัญหรืออำนาจรัฐออกจากผู้เลือกตั้ง เช่น สมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การสงวนที่นั่งไว้กับทหาร และให้คนเหล่านี้มีอำนาจยังยั้งการตัดสินของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งได้ รวมทั้งให้พวกเขาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญบางอย่าง เช่น รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญต่างๆ

การกีดกันและการทำให้พรรคฝ่ายค้านเป็นเบี้ยหัวแตก ผู้ปกครองพยายามกีดกันหรือทำให้พรรคฝ่ายค้านกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เพื่อจำกัดตัวเลือกของผู้ลงคะแนนเสียง โดยทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถเข้าสู่การแข่งขันได้หรือทำให้ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ การกระทำแบบนี้มักได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือใช้วิธีการที่ทันสมัยกว่า คือ เทคนิคการทำให้พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอ โดยการออกแบบเขตการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านแข่งขันได้ยาก

การทำให้เสียสิทธิในการเลือกตั้ง นอกจากกีดกันและทำให้เป็นเบี้ยหัวแตกแล้ว เทคนิคอย่างหนึ่งที่ถูกมาใช้ คือ การทำให้ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ด้วยวิธีการย่อย เช่น การสร้างเขตเลือกตั้งที่มีอัตราส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อผู้แทนฯ ต่างกัน การทำให้รายชื่อตกหล่นจากบัญชี การระบุตัวตนผิดพลาด การปรากฏชื่ออยู่ในเขตหรือหน่วยเลือกตั้งอื่น

การซื้อเสียง การซื้อเสียงยังถูกนำมาใช้โดยผู้ปกครองด้วยเทคนิคที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ผู้สมัครของรัฐบาลจะให้งบประมาณสนับสนุนการพัฒนา การสร้างสถานพยาบาลแห่งใหม่ การสร้างถนน มัสยิด การบริจาค การจัดงานรื่นเริงก่อนช่วงการเลือกตั้ง

การข่มขู่คุกคาม ในกรณีที่การซื้อเสียงใช้การไม่ได้ รัฐบาลอำนาจนิยมอาจหันมาใช้การข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ โดยทำให้การลงคะแนนเสียงไม่เป็นความลับ อย่างน้อยจะรู้ได้ว่าในพื้นที่ไหนเลือกอะไร หรือการคุกคามที่รุนแรงโดยการใช้หน่วยข่าวกรองหรือพวกอันธพาลคุกคามผู้สมัครหรือผู้สนับสนุนฝ่ายตรงกันข้าม

และสุดท้ายคือ การโกงการเลือกตั้ง (Electoral Fraud) ซึ่งเป็นความพยายามของผู้ปกครองในการควบคุมการเลือกตั้ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายขั้นตอนในกระบวนการเลือกตั้ง

 

สรุป

จากประสบการณ์ทั่วโลกและอาเซียนเอง เห็นได้ว่า ผู้ครองอำนาจมีรายการควบคุม จัดการกับความไม่แน่นอน เพื่อครองอำนาจต่อไปอย่างหลากหลายและซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง คือ การจัดการกับตัวเลือกหรือทางเลือกของประชาชน ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างอิสระ โดยสามารถสรุปได้ออกเป็น 3 กลุ่มวิธีการ

1) วิธีการที่เป็นทางการหรือเชิงสถาบัน ผ่านการสร้างกฎหมาย กติกา ที่กีดกันคู่แข่งหรือผู้สนับสนุน ออกจากการแข่งขันการเลือกตั้ง หรือทำให้เสียเปรียบ การแบ่งเขตเลือกตั้ง กติกาการเปลี่ยนคะแนนเป็นที่นั่ง การแบนหรือยุบพรรค จัดอยู่ในกลุ่มนี้

2) วิธีการที่เป็นไม่ทางการ รวมทั้งวิธีการนอกกฎหมาย รุนแรงและไม่รุนแรง เช่น การข่มขู่คุกคาม การเลือกปฏิบัติ ทำให้การแข่งขันเป็นด้วยความยุ่งยากและเสี่ยง และจูงใจด้วยผลประโยชน์ภายใต้การอุปถัมภ์

3) การจำกัดขอบเขตอำนาจของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้เป็นตัวแทนหรือใช้อำนาจของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ประเทศไทย หนึ่งในกรณีศึกษาประเทศอาเซียนข้างต้น เมื่อถอยหลังเข้าสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมอีกครั้ง วิธีควบคุมบงการการเลือกก็ถูกขุดออกมาใช้อย่างหลากหลายและได้ผลในการเลือกตั้งปี 2562 แต่น่าสนใจว่าจะเป็นอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งนี้

 


อ้างอิง

Andreas Schedler. 2002. “Elections without Democracy : The Menu of Manipulation”. Journal of Democracy, 13(2), pp. 36-50.

William Case. 2006. “Manipulative Skills : How Do Rulers Control Electoral Arena” in Electoral Authoritarianism : The Dynamics of Unfree Competition. Boulder, Colo. : Lynne Rienner Publishers, Inc. Pp.95-122