ถอดบทเรียนเลือกตั้งล่วงหน้าสู่ 14 พ.ค. จับตาพื้นที่คุมเข้ม ‘คืนหมาหอน’ ศลต.ตร.ลั่นวางตัวเป็นกลางทุกมิติ

บทความโล่เงิน

 

ถอดบทเรียนเลือกตั้งล่วงหน้าสู่ 14 พ.ค.

จับตาพื้นที่คุมเข้ม ‘คืนหมาหอน’

ศลต.ตร.ลั่นวางตัวเป็นกลางทุกมิติ

 

แน่นอนความอลหม่านการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบความผิดพลาดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการกรอกรหัสจังหวัด และรหัสเขตเลือกตั้งหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด

จนเกิดแฮชแท็ก “กกต.มีไว้ทำไม” และ “กกต.ต้องติดคุก” ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ไทย

นอกจากทัวร์ลง กกต.แล้ว เอฟเฟ็กต์ไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย แต่ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือจัดการเลือกตั้ง หนีไม่พ้นต้องรับบทหนัก เพราะต้องเตรียมรับมือความไม่สงบที่เกิดจากความไม่เรียบร้อยของการทำหน้าที่ กกต.

“บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศลต.ตร.) ดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง

กำหนด “แผนพิทักษ์เลือกตั้ง/66” เป็นคู่มือในการทำงาน เพื่อสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้ง ผบ.ตร. และ ผอ.ศลต.ตร.ได้สั่งการให้ถอดบทเรียนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พฤษภาคม แล้วนำปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม

โดยเฉพาะเรื่องการจัดการจราจร ในจุดที่มีประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก ให้หัวหน้าสถานีตำรวจอำนวยการการบริการจัดการจราจร และประสานงานเรื่องจุดจอดรถ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน

และให้ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาในวันหย่อนบัตรด้วย ถ้าอากาศร้อนให้เตรียมพัดลมระบายอากาศให้เพียงพอรองรับสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีพายุลมแรง ฝนตก เต็นท์เลือกตั้งต้องมีความแข็งแรง

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์

ผบ.ตร.ระบุว่า ภาพรวมทั่วประเทศ ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่ได้รับรายงานเหตุความรุนแรง แต่มีการเฝ้าระวัง

พื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง คือ ตำรวจภูธรภาค 2, 7, 8 และ 9 ระหว่างนี้กำลังระดมกวาดล้างอาชญากรรม ผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง ได้เน้นย้ำให้มีผลการจับกุมอาวุธปืนและความผิดต่างๆ จนถึงวันเลือกตั้ง

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ทำหน้าที่โฆษก ศลต.ตร. ขยายให้ฟังว่า ข้อมูลที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูง ที่ ผบ.ตร.หยิบยก มาจากพื้นที่ที่เคยมีเหตุรุนแรงในอดีตซึ่งเป็นข่าวเปิด เช่น จันทบุรี, นครปฐม, ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เคยมีเหตุลอบยิงนายก อบต.

ผบ.ตร.ได้กำชับ ศลต.ตร.นำข้อมูลเหล่านี้มาดูเทียบเคียงข้อมูลที่ให้เก็บมาตั้งแต่เปิด ศลต.ตร.เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา คือการทำลายป้ายหาเสียง ที่ตำรวจรับเรื่องไว้ จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม มี 171 เหตุ เฉพาะทำลายป้ายหาเสียง 135 เหตุ เสียหายรวม 925 ป้าย เกิดขึ้นกับทุกพรรคการเมือง แต่พรรครวมไทยสร้างชาติถูกทำลายป้ายหาเสียงมากที่สุด

พื้นที่ที่ทำลายป้ายหาเสียงมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร อันดับ 2 ตำรวจภูธรภาค 6 คือ เหนือตอนล่าง และภาค 8 ภูเก็ต กระบี่ เป็นอันดับ 3

 

พล.ต.ท.นิธิธรเปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่เข้าข่ายแข่งขันรุนแรงหรือไม่ ได้ให้สันติบาลเอากรอบ ผบ.ตร. มาเป็นเกณฑ์ที่เรียกว่า แนวทางประเมินพื้นที่แข่งขันสูง ต้องจับตาเป็นพิเศษ

1. พื้นที่ที่มีการแพ้ชนะเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่เกิน 3,000 คะแนน คือสูสี อาจเป็นเหตุกระทบกระทั่งกันได้

2. พื้นที่ที่มีการย้ายพรรคการเมืองของอดีต ส.ส.ที่มีคะแนนนิยมสูงและมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

3. พื้นที่ที่เคยขัดแย้งส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส.

4. การสูญเสียผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ หากผู้สมัคร ส.ส.ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

5. พื้นที่ที่มีกลุ่มการเมืองเดิม เรียก “บ้านใหญ่” กับกลุ่มการเมืองใหม่ เรียก “บ้านใหม่”

6. พื้นที่ที่เกิดเหตุอาชญากรรมมาก่อน

7. พื้นที่ที่ผู้สมัคร ส.ส.เคยมีพฤติกรรมกระทำผิดเลือกตั้งมาก่อนจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ

8. พื้นที่ที่แข่งขันเพื่อศักดิ์ศรีของผู้สมัคร หรืออดีต ส.ส.แพ้ไม่ได้ ทำทุกมิติเพื่อรักษาศักดิ์ศรีตัวเองให้ชนะเลือกตั้ง

และ 9. พื้นที่ที่เคยก่อเหตุความไม่สงบในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“สำหรับคืนหมาหอน ก่อนวันเลือกตั้งนั้น จะเกิดใน 9 พื้นที่แข่งขันสูงที่สันติบาลได้คัดมา ประกอบกับพื้นที่ที่ทำลายป้ายหาเสียงสูง เป็นข้อมูลประกอบวิเคราะห์ ถ้าทุกอย่างข้อมูลทับกัน ต้องไปตั้งจุดตรวจ จุดสกัดเพิ่มความเข้มตรงนั้นเลย จะลดความพยายามทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และลดการซื้อขายเสียงลงได้ ที่สำคัญ พล.ต.อ.รอยกำชับทุกวันให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องวางตัวเป็นกลางทุกมิติ” โฆษก ศลต.ตร.ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปกางแผน “พิทักษ์เลือกตั้ง/66” คู่มือการทำงานตำรวจ ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม ได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ศลต.ตร.ดังต่อไปนี้

 

การรักษาความปลอดภัย

จัดกำลังพลข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย” ประจำสถานที่เลือกตั้ง ตามจำนวนที่ กกต.ขอรับการสนับสนุน หากกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ ให้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลจากฝ่ายปกครอง หน่วยทหารในพื้นที่ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณีตามกฎหมายหรือตามที่ กกต.ร้องขอ

ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ดังนี้

1. รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณสถานที่เลือกตั้ง

2. สนับสนุนและช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

3. รักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ตามที่ไดรับมอบหมาย

การรักษาความสงบเรียบร้อย

 

จัดกำลังพลข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ “เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย” ประจำสถานที่เลือกตั้งตามกฎหมายหรือตามที่ กกต.ร้องขอ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจหน้าที่

1. รักษาความปลอดภัยและความมสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสถานที่เลือกตั้ง

2. อำนวยความสะดวกและจัดระเบียบการจราจรโดยรอบสถานที่เลือกตั้งตลอดระยะทางจนเสร็จสิ้นภารกิจ

3. สนับสนุนและช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ กกต.ตามที่ได้รับมอบหมาย

 

การจัดการจราจร

จัดกำลังพลข้าราชการตำรวจ อาสาสมัครจราจร ปฏิบัติหน้าที่จัดการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไปใช้สิทธิ

สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นห่วง โฆษก ศลต.ตร.ฝากประชาสัมพันธ์ คือตอนปิดหีบเลือกตั้งมีการนับคะแนนกันที่หน่วยเลือกตั้ง

ถ้าแต้มออกมาสูสี กองเชียร์แต่ละฝ่ายอาจมีการกระทบกระทั่ง ขอให้พึงระวัง ต้องไม่ให้ละเมิดพื้นที่นับคะแนน มีระยะที่สังเกตการณ์ให้เห็นการนับคะแนนได้ชัดเจนแต่อย่าล้ำเข้าไป

กรณีที่เกิดเหตุฝ่ายสนับสนุนผู้สมัครเกิดปะทะกัน ศลต.ตร.ได้มีการเตรียมการตามแผนเผชิญเหตุ มีชุดเคลื่อนที่เร็ว กองร้อยควบคุมฝูงชน เข้าทำการควบคุมบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

เพราะฉะนั้น หลังเวลาปิดหีบแล้วให้ไปเป็นไปตามขั้นตอนของการนับคะแนน ในส่วนบัตรที่กา ทั้งตำรวจและ กกต.ต้องเก็บบัตรเลือกตั้งไว้ในที่ปลอดภัย อยู่ในความคุ้มครอง

ผบ.ตร. จะปิด ศลต.ตร.ในวันที่ 17 พฤษภาคม พร้อมถอดบทเรียนและเก็บข้อมูลไว้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป