มนุษย์กับโควิด-19 ใครแพ้ ใครชนะ?

เมื่อ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กรีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโลก ที่มีต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 โรคระบาดร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ หรือแพนเดมิกในหลายประเทศครอบคลุมแทบทั่วทั้งโลก

เป็นการยุติความเป็น “ภัยคุกคามเร่งด่วนต่อมนุษยชาติ” ของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อถึง 38 เดือน ไปโดยปริยาย

ข้อคำนึงที่ชวนคิดอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ หลังจากใช้เวลานานถึงกว่า 3 ปี ในที่สุด มนุษยชาติก็สามารถเอาชนะโรคอุบัติใหม่ที่ร้ายแรงอย่างยิ่งนี้ได้แล้ว-ใช่หรือไม่?

ในทางปฏิบัติ การอุบัติขึ้น ดำรงอยู่ และแพร่ระบาดจนกลายเป็นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติตั้งแต่ต้นจนจบ

ตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึง 38 เดือนให้หลัง มนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะเชื้อโรคตัวเล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนี้ได้แม้แต่น้อยนิด

 

โควิด-19 เริ่มต้นขึ้นในห้วงเวลาที่มนุษยชาติอวดตัวเองอย่างอหังการว่า มีเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดเท่าที่จะมีได้อยู่ในกำมือ มีเม็ดเงินมหาศาลสำหรับใช้เป็นทรัพยากรในการต่อสู้กับโรคร้าย โลกมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหึมา และศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงส่งเพื่อรับมือกับการระบาด

กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ไวรัสแพร่ระบาดออกไปทั่วโลก สังหารผู้คนล้มตายหลายล้านคน จนไม่สามารถล่วงรู้จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงในท้ายที่สุดได้

โลกสูญเสียมหาศาลในเชิงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างลดลงจนแทบเป็นศูนย์ สร้างแรงกดดันมหาศาลให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความสูญเสียทางสังคม มนุษย์แทบหมดความเป็น “ตัวของตัวเอง” ไปนานกว่า 3 ปี

มนุษยชาติลงเอยด้วยการปรากฏผู้ป่วย “ลอง-โควิด” หลายสิบล้านคนที่ถูกวินิจฉัยพบแล้วทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะการตรวจวินิจฉัยไม่มีวันทั่วถึง

โดยที่อย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนที่วินิจฉัยพบดังกล่าว ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะสูญเสียทางประสาทวิทยา หรือไม่ก็หลอดเลือด ซึ่งยังผลให้กลายเป็นผู้พิการไปในที่สุด

 

หันไปมองทางฝ่ายไวรัสร้าย ซาร์ส-โควี-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังไม่ได้หายไปไหน เชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุด ยังก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหญ่ขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

แย่ยิ่งไปกว่านั้น ซาร์ส-โควี-2 ยังเพิ่งย่างกรายเข้าสู่ขั้นตอนการวิวัฒนาการระยะแรกของมันเท่านั้น ไวรัสตัวนี้นอกจากจะปรับตัวให้แพร่ระบาดในตัวคนและระหว่างคนต่อคนแล้ว ยังเริ่มต้นปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่และเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกกว่า 10 ชนิด ตั้งแต่ฮิปโป กวาง มิงค์ แมว สุนัข เรื่อยไปจนถึงตัวกินมด

มนุษย์ที่อวดตัวว่ามีวิทยาการสูงส่ง ยังไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ว่า เมื่อใดกันแน่ที่ซาร์ส-โควี-2 ในสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ จะวิวัฒนาการจนร้ายแรงขึ้นทั้งในแง่พยาธิสภาพและในแง่ของความสามารถในการแพร่ระบาด แล้วแพร่กลับมาสู่มนุษย์ได้อีกครั้ง

นักวิทยาศาสตร์ระดับผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาหลายคน คาดหวังว่า ซาร์ส-โควี-2 จะวิวัฒนาการไปจนกลายเป็นเชื้อที่มีความสามารถในการก่อโรคน้อยลง เบาบางลง และกลายเป็นเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่แพร่ระบาดตามฤดูกาลในที่สุด

 

ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยกตัวอย่างกรณีของ H1N1 หรือเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดหมู ซึ่งแพร่ระบาดหนักและคร่าชีวิตคนไป 75-100 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 1918-1919 และจนถึงขณะนี้ก็ยังมีแพร่ระบาดอยู่ แต่อยู่ในรูปแบบที่ไม่ร้ายแรง ก่อโรคเพียงเบาบางในมนุษย์เท่านั้น

แต่กรณีของ H1N1 ไม่ได้เป็นตัวอย่างเดียวสำหรับการคาดการณ์ถึงอนาคตของซาร์ส-โควี-2 โลกยังเคยเผชิญกับการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสเอชไอวี ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์มาแล้วด้วยเช่นเดียวกัน

เอดส์ไม่เคยหมดไป ไม่เคยลดการแพร่ระบาด เราให้ความสำคัญต่อเอดส์น้อยลงเมื่อมีการพบวิธีการรักษา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คิดค้นได้ ก็เป็นเพียงแค่การลดจำนวนไวรัสในตัวผู้ป่วยลงให้เหลือน้อย จนโอกาสที่จะแพร่ระบาดต่อไปลดลงตามไปด้วยเท่านั้น ไม่ใช่การกำจัดเชื้อออกไปจนหมดสิ้น

ดังนั้น เอดส์จึงยังแพร่ระบาดได้อยู่ต่อไป ทำให้ล้มป่วยรุนแรงได้เหมือนเดิม และยังทำให้ตายได้เหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่การรักษากับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์ ช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงเท่านั้น

 

สถานการณ์ของโควิด-19 มีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกับเอชไอวี/เอดส์ มากกว่า H1N1 มนุษย์ทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาเบาบางลงโดยเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ลดการเข้าร่วมในสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน เต็มใจสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

แต่จริงๆ แล้ว เราไม่เคยเอาชนะโควิดได้เลย โควิด-19 ยังคงไม่มียารักษาโดยตรง วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ วัคซีนที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้เพื่อรับมือกับมัน คงประสิทธิภาพอยู่ได้เพียงแค่ 2-3 เดือน จนหลายคนชี้ว่า ไม่ควรเรียกว่าวัคซีน ซึ่งควรจะให้ความคุ้มครองต่อผู้ฉีดได้ตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยเป็นปีขึ้นไป

ที่สำคัญก็คือ แม้เพียงการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมา ซาร์ส-โควี-2 ก็สามารถหลีกเลี่ยงจากภูมิคุ้มกันที่วัคซีนเหล่านี้สร้างขึ้นให้กับเราได้แล้วอีกด้วย

การกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้เชื้อก่อโรครุนแรงขึ้นและแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น สามารถก่อให้เกิด แพนเดมิก 2.0 ได้ไม่ยากเย็นนัก

ในคำประกาศเพื่อยกเลิกสถานะภัยคุกคามเร่งด่วนทางสาธารณสุขโลกของโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก มีประโยคสำคัญปิดท้ายเอาไว้ด้วย ดังนี้

“ไวรัสนี้จะยังคงอยู่ที่นี่ต่อไป มันยังคงสามารถคร่าชีวิตคนได้ และยังปรับเปลี่ยนกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ความเสี่ยงต่อการเกิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ที่สามารถก่อให้เกิดการล้มป่วยและเสียชีวิตได้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป”

ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ มนุษย์เรายังไม่สามารถเอาชนะโควิด-19 ได้แม้แต่นิดเดียว