ปรากฏการณ์เอลนีโญ เมื่อไทยร้อน โลกก็ร้อน

หลังจากที่ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่ขึ้นเมื่อราวกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลายคนพากันคาดว่า ดินฟ้าอากาศน่าจะเย็นลงสักหน่อยเมื่อพฤษภาคมย่างกรายเข้ามา

เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นไปอย่างที่คาด สภาพอากาศในเมืองไทยยังคงร้อนจัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สอดคล้องกับบรรยากาศการเมืองที่ระอุคุกรุ่นในสัปดาห์สุกดิบก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

อุณหภูมิสูงสุดที่เป็นสถิติใหม่ของไทยเมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมา คือสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส และจนถึงขณะนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเราก็ยังคงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสมาอย่างต่อเนื่อง เล่นเอาหลายคนที่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งบ่นอุบไปตามๆ กัน

ไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่ร้อนจัดอย่างนี้ รายงานของจัสมีน อึ้ง แห่งบลูมเบิร์ก นิวส์ เมื่อ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา บอกว่า ทั่วทั้งเอเชียยังคงร้อนจัดจาก “คลื่นความร้อน” หรือฮีตเวฟ ที่ครอบคลุมไปทั่ว

สอดคล้องอย่างเหมาะเหม็งกับการทำนายทายทักของ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ที่บอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

 

เอเชียกำลังอยู่ในฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ แต่ฮีตเวฟช่วยให้ภูมิภาคตอนใต้ของทวีปร้อนจัดเป็นพิเศษ

จีน อินเดีย ไทย ลาว ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง

บลูมเบิร์กระบุว่า ชาติล่าสุดที่เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันก็คือ เวียดนาม ที่ในช่วงสุดสัปดาห์ (7-8 พฤษภาคม) อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44.2 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงมาก การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นก็สูงตามไปด้วย ผลก็คือทางการต้องออกประกาศเตือนว่า การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอาจก่อให้เกิดภาวะไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่

ที่ฟิลิปปินส์ ทางการที่นั่นจำเป็นต้องหดชั่วโมงเรียนของนักเรียนให้สั้นลง เมื่ออุณหภูมิพุ่งขึ้นถึงระดับ “อันตราย” ที่อาจก่อให้เกิดภาวะ “สโตรก” ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างภาวะอากาศร้อนกับความชื้นในอากาศ อันเป็นเหตุร้ายแรงที่อาจถึงเสียชีวิตได้

 

รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตาม “รูปแบบของภาวะอากาศแบบสุดโต่ง” ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงหลายปีหลังมานี้ ที่นำพาทั่วทั้งโลกเข้าสู่สภาวะที่ไม่เคยพานพบกันมาก่อน

สภาพ “ร้อนเหลือเหงื่อไหล” นี้ คือบททดสอบสำคัญของรัฐบาลในภูมิภาคในการให้ความคุ้มครองด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชน และทดสอบฝีไม้ลายมือของรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโกลาหลขึ้นกับภาคเกษตรกรรมและการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19

ก่อนหน้านี้ ฟาฮัด ซาอีด นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากไคลเมต อนาลิติกส์ องค์กรวิชาการด้านภูมิอากาศในกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เคยเตือนเอาไว้ว่า

“ภาวะอุณหภูมิร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ในไทย จีน และภูมิภาคเอเชียใต้ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นแนวโน้มของภูมิอากาศซึ่งจะก่อให้เกิดความท้าทายในแง่ของสาธารณสุขในอีกหลายปีต่อไปข้างหน้า”

 

ที่มาของภาวะร้อนจัดดังกล่าวคือ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้นกว่าปกติอย่างทั่วถึง ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบของดินฟ้าอากาศทั่วโลก

ในทางหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้นำพาฝนฟ้าไปสู่ดินแดนส่วนที่เคยแล้งจัดในอาร์เจนตินาและพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่ในเวลาเดียวกัน

อีกทางหนึ่งก็ทำให้พื้นที่ตอนใต้ของทวีปเอเชีย เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์อุณหภูมิสูงและแห้งแล้งกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อพืชเกษตรในภูมิภาค อย่างกาแฟ, อ้อย, ปาล์มน้ำมัน และโกโก้ เป็นพิเศษ

ในมาเลเซีย ปริมาณฝนในบางพื้นที่หายไปมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก

ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มในอนาคต

 

บลูมเบิร์กบอกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ มีวันที่อุณหภูมิของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียสอยู่น้อยมาก ส่งผลให้ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงสุดตามไปด้วย

กลุ่มผู้นำทางธุรกิจกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องรัฐบาล ให้เตรียม “แอ๊กชั่นแพลน” แผนปฏิบัติการสำหรับรับมือกับภาวะแล้งจัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาและเชื่อว่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องถึง 3 ปี

ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลไทยในเวลานี้

อาจจำเป็นต้องรอให้บรรยากาศเร่าร้อนทางการเมืองสร่างซาลง รอให้ภาวะ “ฝุ่นตลบ” จากการเลือกตั้งทั่วไปเบาบางลงเสียก่อน

ส่วนจะเป็นคำตอบที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกทีครับ