‘กรรม’ การเลือกตั้ง เทรนด์ไล่ ‘กกต.’ กระฉูด เพาะเชื้อ หย่อนบัตร ‘โมฆะ’

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับงบประมาณจัดการเลือกตั้ง 2566 กว่า 5,945 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้แล้ว เมื่อ กกต.ใช้เงินภาษีของประชาชน สูงขนาดนั้น กกต.ย่อมต้องถูกคาดหวังอย่างสูงจากประชาชนว่า กกต.ชุดนี้จะต้องจัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ประกอบกับ กกต.ชุดนี้ เดินทางไปศึกษาดูงานการเลือกตั้งในต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเห็นรูปแบบการจัดการเลือกตั้งที่ดี เพื่อเอามาปรับใช้กับประเทศไทย

แต่ทันทีที่การเลือกตั้งล่วงหน้า อาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม เกิดความผิดพลาดและมีสิ่งผิดปกติมากมาย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

ปรากฏการณ์ในโลกโซเชียล ถึงขั้นรณรงค์ขับไล่ กกต. และแห่ติดแฮชแท็ก #กกต.มีไว้ทําไม ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ หรือแฮชแท็ก #กกต.ต้องติดคุก แต่ที่หลายคนแอบกังวลใจลึกๆ ว่า ความผิดพลาด บกพร่อง จากการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม สู่การเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม จะนำไปสู่ปัญหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจส่อไปในทางไม่สุจริต และตกเป็นโมฆะ หรือไม่?

เกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม จนทำให้ต้นทุนความน่าเชื่อถือของ กกต.ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ

 

พรรคเพื่อไทยเปิดข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก พบปัญหาสำคัญๆ ดังนี้

หนึ่ง การจ่าหน้าซองส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาด พบว่ากรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง จ่าหน้าซองส่งบัตรเลือกตั้งผิด เช่น ที่จังหวัดนนทบุรี และกาฬสินธุ์เขต 6 ลงคะแนนที่เขตเลือกตั้งหนึ่ง แต่คะแนนถูกส่งไปอีกเขตเลือกตั้งอื่น เป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ อาจทำให้คะแนนมีการคลาดเคลื่อนและไม่ควรเกิดขึ้น และการนับคะแนนจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

สอง การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาด พบว่าในวันสุดท้ายที่มีการลงทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ระบบล่ม ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้ แม้ กกต.จะยอมรับความผิดพลาดแต่กลับไม่แก้ไข เช่น การเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ภูมิลำเนาขอนแก่น ได้รับแจ้งจากประธาน กกต.เขต 14 ว่าการลงทะเบียนของทั้งสองคนไม่สมบูรณ์ ต้องกลับไปใช้สิทธิที่ขอนแก่น ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม

สาม ความไม่สะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขต 2.2 ล้านคน ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เกิดปัญหาหลายจุด เช่น ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 52,771 คน และมีอีกหลายที่มีผู้ลงทะเบียนหลายหมื่นคน พบว่าเกิดความแออัดคับคั่งในการลงคะแนน หลายคนต้องคอยนานกว่า 3 ชั่วโมง และมีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ทันเวลา

สี่ ข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมือง บนป้ายประชาสัมพันธ์หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางไม่ครบถ้วน และยังสร้างความสับสน เช่น เขตหนองแขม ใบแนะนำตัวผู้สมัครไม่ครบ ที่จังหวัดสุรินทร์ เขต 4 รูปผู้สมัครไม่มี

 

สอดรับกับโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ที่ออกมาสะท้อนปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม คือ การจ่าหน้าซองของบัตรเลือกตั้งผิด ซึ่งไม่ใช่การผิดรายครั้งหรือผิดเฉพาะบางคูหา แต่เกิดความผิดพลาดเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ความเสียหายที่เป็นข่าวอย่างน้อยหลายร้อยบัตรลงคะแนน ขณะที่ความเสียหายที่ยังไม่ตกเป็นข่าวนั้นไม่สามารถประมาณได้

จากการรับฟังปัญหาที่อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งและประชาชนทั่วไปแจ้งเข้ามายัง Vote62 พบว่า ช่องที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องกรอกรหัสเขตเลือกตั้ง มักมีข้อผิดพลาดจากการกรอกผิดเลข จากที่ต้องกรอกรหัสเขต กลายเป็นการกรอกรหัสไปรษณีย์แทน

ตัวอย่างสำคัญคือ กรณีเขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่กรอกรหัสไปรษณีย์ ‘57210’ แทนที่จะเป็นรหัสเขตเลือกตั้ง ‘57002’ ซึ่งหลังอาสาสมัครได้เข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่า ทุกซองจะต้องกรอกรหัสไปรษณีย์เท่านั้น

กรณีเช่นนี้ อาจทำให้ซองบัตรลงคะแนนถูกส่งไปนับคะแนนผิดที่ กล่าวคือ บัตรเลือกตั้งอาจไม่ได้ไปถูกนับที่ภูมิลำเนาของแต่ละคน แต่อาจจะถูกส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่บังเอิญมีรหัสเขตเลือกตั้งตรงกับรหัสไปรษณีย์พอดี จนทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิของเขตเลือกตั้งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หรือเรียกกันว่า เกิด ‘บัตรเขย่ง’ ขึ้น จากการที่จำนวนบัตรในหีบมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในคูหา

 

ไอลอร์รายงานว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ประชาชนรายงานปัญหาเข้ามาไม่น้อยกว่า 589 กรณี

มากที่สุดเป็นเรื่องการเขียนรายละเอียดเขตและรหัสเขตหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิดคิดเป็นจำนวน 202 กรณี

และปัญหาอื่นๆ เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว แต่วันจริงพบว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบหรือสร้างความสับสน และการปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง รวมถึงปัญหาความแออัดและอากาศที่ร้อนจัดในหน่วยเลือกตั้งที่เปิดโล่ง

ในบรรดาปัญหาทั้งหมด ปัญหาที่จะก่อผลเสียอย่างมากคือ การกรอกเขตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิดเป็นเขตอื่นที่มีอยู่จริง ซึ่งมีโอกาสที่ซองดังกล่าวจะถูกส่งไปผิดเขตและการนับคะแนนในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะขัดต่อเจตจำนงของผู้ออกเสียง เนื่องจากบัตรเลือกตั้งที่ กกต.ใช้เป็น “บัตรโหล” ทุกเขตเหมือนกันหมด และหมายเลขผู้สมัครของแต่ละเขตไม่ตรงกัน อย่างกรณีของผู้ร้องเรียนที่มีสิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 7 แต่ถูกเขียนเป็นเขต 1 หากเลือกผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย เขต 7 อาจกลายเป็นคะแนนของพรรคไทยสร้างไทย เขต 1 ได้

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีการจ่าหน้าซองผิดเขตเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าหลายเขต เช่น เขตดินแดง เขตบางเขน และเขตในจังหวัดชลบุรี ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ซอง โดยยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับแจ้งซึ่งอาจมีอีกเป็นจำนวนมาก

 

อดีต กกต.อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ออกมาร่วมถล่มซ้ำ โดยชี้ว่า กรณีการจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด นั้นมาจากการออกแบบการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดและหละหลวม เป็นการออกแบบที่เฮงซวย

1. หากไม่พิมพ์บัตรเขตเป็นบัตรโหล ยังมีวิธีการพิสูจน์ และนำบัตรที่ส่งไปผิดเขต นับคะแนนที่เขตที่ส่งไปผิด แล้วส่งผลคะแนนกลับยังเขตที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อพิมพ์บัตรโหล จะไม่มีทางรู้ว่าเป็นบัตรของเขตใดเลย

2. กำหนดจำนวนวัน และสถานที่ในการลงคะแนนน้อยเกินไป หากมีคนลงทะเบียนมาก ควรเพิ่มวัน และกระจายสถานที่ลงคะแนน ไม่ใช่ให้คน 4-5 หมื่นไปลงคะแนนที่เดียวกัน

3. การอบรมห่วย กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่สนใจฟังสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ บางพื้นที่บางคนไม่อบรม แต่ตามดูคลิปภายหลัง จึงเกิดข้อผิดพลาด แล้วยังมีมาย้อน “ไม่เห็นมีใครบอก”

4. ขาดกลไกในการกำกับติดตามและแก้ไขแบบทันทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ตัว กกต.ทำเป็นแค่เดินทางไปตรวจเยี่ยม ถ่ายภาพ ทำข่าว แต่พอเกิดปัญหาไม่มีวอร์รูมที่ติดตามและแก้ไขแบบทันที ปล่อยให้เวลาเดินไปข้างหน้า เช่น ซองที่มีปัญหา ก็เดินตามขั้นตอนส่งให้ไปรษณีย์ ไม่ดึงออกมาแก้ไข

 

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะในโลกโซเชียลว่า บรรยากาศของความไม่เชื่อใจมาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ต้องมีการตรวจสอบและยืนยันอย่างเป็นทางการจาก กกต.ให้ชัดเจนว่าสิทธิของประชาชนที่ใช้ไปนั้นจะไม่สูญหาย ไม่เป็นบัตรเสีย และจะไม่ถูกบิดเบือนไป

“นี่ขนาดไปดูงานต่างประเทศมาแล้วนะครับ”

“จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของ กกต.ในการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการจัดการเลือกตั้งในวันจริงด้วยครับ”

 

ความเคลื่อนไหวในโลกชาวโซเชียลที่น่าสนใจคือ Change.org ได้สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียน คนไทยทุกคน การร่วมลงรายชื่อ ในแคมเปญ “ถอดถอน กกต.” หลังเลือกตั้งล่วงหน้าเจอความผิดพลาดมากมาย ล่าสุดมีผู้ลงชื่อทะลุล้านคนอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้า 1,500,000 คน

“ขออำนาจพลังประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ ล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้งที่ดูมีมลทินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย การลงชื่อของท่านจะไม่สูญเปล่า เราจะรวบรวมหลักฐานการทุจริตเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เพื่อนำไปสู่การถอดถอนและลงโทษ กกต.”

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาด บกพร่องมากมายของ กกต. อาจกลายเป็นเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ต่อไปก็ได้ หากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การเลือกตั้งปี 2566 เป็นโมฆะ!?!

 

ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในวงเสวนาเรื่อง การเลือกตั้งทั่วไป 2566 : เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน หรือเป็นต่อ? เมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 ตอนหนึ่งว่า ความเชื่อที่ว่า กกต.มีหน้าที่เพียงเลือกตั้งแล้วจบเท่านั้น อาจไม่จริงเสียทีเดียว หน้าที่ กกต.จะยังไม่จบลงในวันเลือกตั้งเท่านั้น เพราะหลังเลือกตั้งจะมีเรื่องของการฟ้องร้อง ตรวจสอบ และยุบพรรคอีก

“กกต.ยังมีหน้าที่สำคัญต่อจากนี้อีกเป็นปี อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในรัฐบาลที่จะจัดตั้งใหม่ได้”

“1 ปีจากนี้ไป เมื่อผลการเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นน่ากังขา อาจเป็นช่องให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปก็ได้ บางคนถึงกับเรียก กกต.ว่า กองกำลังตุ๊ดตู่ ตั้งข้อหายิบย่อยไปหมด ตีความให้ผิดไปหมดกับฝ่ายหนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด เช่น ยิงเลเซอร์โฆษณาพรรคการเมืองบนสะพานพระราม 8 ก็ไม่ผิด เป็นความบิดเบี้ยวขององค์กรคุมกฎของบ้านเรา”

นาทีนี้ แต้มบุญของ กกต. เหลือน้อยเต็มที ถ้าการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ซ้ำรอยเลือกตั้งล่วงหน้า เราอาจได้เห็นรายชื่อคนหลายล้านคน ร่วมลงชื่อไล่ กกต. ก็เป็นได้