ประวัติศาสตร์การเมือง 2566

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

 

ประวัติศาสตร์การเมือง 2566

 

“ศึกเลือกตั้ง 2566” ประวัติศาสตร์ทางการเมืองจะจารึกชื่อไว้อย่างไร วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 รู้แจ้งแทงทะลุ กับผู้ตอบโจทย์ “สัญชาติไทย” ที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 52 ล้านคน จากจำนวนราษฎรทั่วอาณาจักร 66,090,475 คน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

เป็นการเลือกตั้ง 2 ระบบ กาบัตร 2 ใบ เขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” 100 คน โดยเขตเลือกตั้งมาจาก “ภาคเหนือ” 37 คน “ภาคอีสาน” หรือ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” 133 คน “ภาคกลาง” รวมกรุงเทพมหานคร 122 คน “ภาคตะวันออก” 90 คน “ภาคตะวันตก” 19 คน และ “ภาคใต้” 60 คน

จังหวัดที่มี “ผู้แทนราษฎร” มากที่สุดคือ “กรุงเทพมหานคร” จำนวน 33 คน “นครราชสีมา” 16 คน “ขอนแก่น-อุบลราชธานี” 11 คน “ชลบุรี-เชียงใหม่-นครศรีธรรมราช-บุรีรัมย์-อุดรธานี” จังหวัดละ 10 คน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” มีโปรแกรมให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีผู้ลงทะเบียนมากถึง 2.2 ล้านคน มีผู้ไปใช้สิทธิกันคึกคัก สถิติสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ของยอดลงทะเบียน

เป็นการส่งสัญญาณเชิงประจักษ์ บ่งบอกนัยยะว่า วันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายกันมากที่สุด ทำลายประวัติศาสตร์ศึกเลือกตั้งของประเทศไทย

“สภาผู้แทนราษฎร” ชุดที่ 26 จะมีผู้มาสิทธิมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าชุดที่แล้วที่เลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ 74 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของผู้ใช้สิทธิคาดว่าทะลุ 42 ล้านคน

แม้ศึกเลือกตั้ง 2566 กับ 2562 จะดำเนินการใต้ร่มเงารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ตำราเล่มเดียวกันก็จริง แต่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ กติกาเล็กน้อย จาก “บัตรใบเดียว” มาเป็น “บัตรสองใบ” สัดส่วนเดิมเขตเลือกตั้ง 350 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง

เป็น 400 กับ 100 ที่นั่ง สูตรการคำนวณคะแนนพึงมี เปลี่ยนจาก หาร 500 มาเป็นหาร 100 โอกาสที่แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฐานตัวเลขเพิ่มมากขึ้น โอกาสแตะ 400,000 เสียงต่อ ส.ส. 1 คน มีความเป็นไปได้สูง

 

เนื่องจากขณะที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้วางตลาด อยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย “คืนหมาหอน” ไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ได้เต็มที่ เกรงว่าจะไปให้คุณให้โทษกับพรรคการเมือง-ผู้สมัคร “ลึกแต่ไม่ลับ” เลยทำหน้าที่ “คู่มือเลือกตั้ง”

ยกยอดจำนวน “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ทั้ง 62 จาก 43 พรรคการเมือง และหมายเลข มาเตือนความทรงจำกันอีกครั้ง เรียงตามลำดับอักษรพรรค

1. “พรรคก้าวไกล” เบอร์ 31 “นายพิธา ลิ้มเจิรญรัตน์” 2. “พรรคคลองไทย” เบอร์ 61 “นายสายัณห์ อินทรภักดิ์” 3 .”พรรคความหวังใหม่” เบอร์ 60 “นายชิงชัย มงคลธรรม” 4. “พรรคช่วยชาติ” เบอร์ 59 “น.ส.นงนุช บัวใหญ่” 5. “พรรคชาติไทยพัฒนา” เบอร์ 18 “นายวราวุธ ศิลปอาชา”

6. “พรรคชาติพัฒนากล้า” เบอร์ 14 “นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ-นายกรณ์ จาติกวณิช-นายเทวัณ ลิปตพัลลภ” 7. “พรรคชาติรุ่งเรือง” เบอร์ 52 “นางพิมไหมทอง ศักดิพัตโภคิน” 8. “พรรคท้องที่ไทย” เบอร์ 4 “นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล” 9. “พรรคทางเลือกใหม่” เบอร์ 30 “นายราเชน ตระกูลเวียง” 10. “พรรคไทยก้าวหน้า” เบอร์ 55 “นายวัชรพล บุษมงคล-พล.อ.สิทธิ์ สิทธิมงคล”

11. “พรรคไทยชนะ” เบอร์ 13 “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” 12. “พรรคไทยธรรม” เบอร์ 41 “นายกิตติกร วิชัยเรืองธรรม-นายอโณทัย ดวงดารา-น.ส.รัตติกาล โสวะภาส” 13. “พรรคไทยเป็นหนึ่ง” เบอร์ 33 “พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์” 14. “พรรคไทยพร้อม” เบอร์ 41 “นายวิทยา อินาลา-นายวิษณุ กรองกันภัย” 15. “พรรคไทยภักดี” เบอร์ 21 “นายวรงค์ เดชกิจวิกรม”

16.”พรรคศรีวิไลย์” เบอร์ 42 “นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” 17. “พรรคไทยสมาร์ท” เบอร์ 67 “นายเกียรติภูมิ สิริพันธุ์” 18. “พรรรคไทยสร้างไทย” เบอร์ 32 “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-นายสุพันธุ์ มงคลสุธี-น.ต.ศิธา ทิวารี” 19. “พรรคแนวทางใหม่” เบอร์ 45 “นายยุทธนา รักชลธี” 20. “พรรคประชากรไทย” เบอร์ 63 “นายคณิศร สมมะลวน-น.ส.ภคมน วงศ์ใหญ่-นายหรรษธร ณรงค์”

21. “พรรคประชาชาติ” เบอร์ 11 “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” 22. “พรรคประชาไทย” เบอร์ 56 “นายบุญยงค์ จันทร์แสง” 23. “พรรคประชาธิไตยใหม่” เบอร์ 2 “นายสุรทิน พิจารณ์” 24. “พรรคประชาธิปัตย์” เบอร์ 26 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” 25. “พรรคประชาภิวัฒน์” เบอร์ 40 “นายสมเกียรติ ศรลัมพ์-พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี”

26. “พรรคเปลี่ยนอนาคต” เบอร์ 65 “นายอัครนันท์ อริยศรีพงษ์” 27. “พรรคพลัง “เบอร์ 9 “นายชัยยพล พสุรัตน์บรรจง-นายลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง” 28. “พรรคพลังประชารัฐ” เบอร์ 37 “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” 29. “พรรคพลังปวงชนไทย” เบอร์ 50 “นายฑิฏิวุฒิ ศรีมานพ” 30. “พรรคพลังเพื่อไทย” เบอร์ 57 “นายเอกวรพงศ์ อำนวยทรัพย์-นายพงษ์ศักดิ์ พัวพรพงษ์-น.ส.ปภาดา ถาวรเศรษฐ”

31. “พรรคพลังสังคมใหม่” เบอร์ 5 “นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ” 32. “พรรคพลังสังคมใหม่” เบอร์ 5 “นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ” 33. “พรรคเพื่อชาติ” เบอร์ 24 “นายเรวัติ วิศรุตเวช-ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ” 34. “พรรคเพื่อชาติไทย” เบอร์ 36 “นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล” 35. “พรรคเพื่อไทย” เบอร์ 29 “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร-นายเศรษฐา ทวีสิน-นายชัยเกษม นิติสิริ”

36. “พรรคเพื่ออนาคตไทย” เบอร์ 48 “นายประเสริฐ เลิศยะโส” 37. “พรรคภูมิใจไทย” เบอร์ 7 “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” 38. “พรรคมิติใหม่” เบอร์ 39 “นายปรีชา ไข่แก้ว” 39. “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เบอร์ 22 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” 40. “พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย” เบอร์ 49 “นายณัชพล สุพัฒนะ” 41. “พรรคราษฎร์วิถี” เบอร์ 44 “นายสุชาติ บรรดาศักดิ์” 42. “พรรคเสมอภาค” เบอร์ 17 “นางรฏาวัญ วงศ์ศรีวงศ์” และ 43. “พรรคเสรีรวมไทย” เบอร์ 25 “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมีเวส”

อย่าลืม” เลือกคนที่รักกาบัตร “สีม่วง” เลือกพรรคที่ชอบ กาบัตร “สีเขียว”