ซีอีโอ-บิ๊กธุรกิจลุ้น เลือกตั้ง ’66 เปลี่ยนประเทศ เจ้าสัวสหพัฒน์ลั่นไม่มีแลนด์สไลด์

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ซีอีโอ-บิ๊กธุรกิจลุ้น

เลือกตั้ง ’66 เปลี่ยนประเทศ

เจ้าสัวสหพัฒน์ลั่นไม่มีแลนด์สไลด์

 

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ขณะที่สมรภูมิการหาเสียงพรรคการเมืองก็ร้อนแรงดุเดือดขึ้นทุกนาที เปิดเกมกันทุกรูปแบบ

ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มกังวลสถานการณ์หลังศึกเลือกตั้งผ่านพ้น อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

แม้ว่าซีกฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล คาดหวังว่าจะได้ชนะแบบแลนด์สไลด์

แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะออกหน้าไหน และจะยืดเยื้อไปนานขนาดไหน ทั้งอาจนำไปสู่สถานการณ์ไม่คาดฝันหลายอย่าง

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จะเริ่มเห็นผลกระทบด้านลบจากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ผลจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มาก

และเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้อย่างเต็มที่

แต่ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับความคิดเห็นที่บรรดานักธุรกิจทั้งหลาย ค่อนข้างแสดงความกังวลว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ราบรื่น

เช่นกรณีนายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจและบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าขั้นตอนกระบวนการหลังจากที่มีการเลือกตั้ง ว่าจะมีความชัดเจน โปร่งใส เรียบร้อย และไม่สะดุดหรือไม่

หากทุกอย่างสามารถผ่านไปด้วยดี เชื่อว่าประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานของไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว

แต่ตอนนี้ยังมีความกังวลว่า กระบวนการเลือกตั้งจะไม่เรียบร้อย เพราะการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคมที่ผ่านมายังมีความวุ่นวาย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หากมีการร้องเรียนกัน ทุกอย่างก็จะล่าช้าออกไป แต่ถ้าทุกอย่างโปร่งใสและเรียบร้อย เชื่อว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีไม่น่าจะมีปัญหา

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งของประเทศไทยครั้งนี้ ตลาดทุนไทยไม่ได้เลือกข้าง แต่อยากได้ความแน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ตลาดทุนไทยจะปั่นป่วนแน่ เพราะนักลงทุนเกิดความกังวลใจ แต่หากเลือกตั้งเสร็จมีรัฐบาลที่มั่นคง มีนโยบายที่ชัดเจน ตลาดทุนไทยพร้อมปรับตัวได้ทันที

“ตลาดทุนชอบเสถียรภาพของรัฐบาล ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่ได้เสียงข้างน้อย จะมีเสถียรภาพยาก ตลาดทุนจะมีความกังวลใจมาก ถ้าจบเลือกตั้งจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นจุดกำหนดเรื่องความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยต่อไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคคารชุดไทย กล่าวถึงข้อกังวลต่อบรรยากาศการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งว่า ประเด็นใหญ่สุดคือไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่ได้รับโหวตสียงข้างมาก จะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะเราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนน ข้อต่อมา การจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งเข้ามาจัดทำงบประมาณเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ การบริหารภาครัฐเหมือนสุญญากาศ มีโครงการสำคัญถูกชะลอหรือแตะเบรกออกไป ผมเชื่อว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลที่มีศักยภาพสูง สิ่งที่นักธุรกิจต้องการคือให้เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานและผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” นายพีระพงศ์กล่าว

 

ขณะที่นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีความเห็นที่แตกต่างออกไปอีกทางหนึ่งว่า

“ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลเสมอไป หากฝ่ายใดสามารถรวมรวมเสียงได้ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน”

พร้อมกับกล่าวว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีทางชนะแบบแลนด์สไลด์ ตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลประกาศ โดยสิ่งที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้งจบลงคือ การฟอร์มทีมรัฐบาลที่เกิดขึ้นเร็ว ไม่อยากให้มีความยืดเยื้อ หรือไม่ลงตัว ขอให้ฟอร์มรัฐบาลได้ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยก็แล้วแต่

เจ้าสัวสหพัฒน์มองว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อ ตกลงกันไม่ได้ ในแง่ความเสียหายกับภาคธุรกิจคงไม่มากนัก เพียงแต่ภาพที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจว่าทำไมไม่ได้รัฐบาลใหม่เสียที ส่วนต่างประเทศก็อาจจะมองว่ารัฐบาลไม่มีความมั่นคง

“หากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลผสม ดังนั้น ผู้นำหรือผู้ที่เป็นายกรัฐมนตรี จะต้องมีความเข้มแข็ง และสามารถโน้มน้าวและทำให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ยอมเดินไปในทางเดียวกัน อย่าเป็นลักษณะที่มีความเห็นแตกต่างกันเยอะๆ ต้องยอมกันบ้าง นายกรัฐมนตรีจะต้องพูดให้ชัดเจนว่า ถ้ามาร่วมเป็นรัฐบาลด้วยกันแล้วก็ต้องมีแนวทางเดียวกันให้หมด ไม่ใช่ว่าเอาเรื่องของตำแหน่งในรัฐบาลมาเป็นตัวต่อรองมากจนเกินไป” นายบุญชัยกล่าว และว่า

สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากให้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาในเวลานี้ ที่สำคัญที่สุด คือ “เรื่องคอร์รัปชั่น” ซึ่งแก้ไม่ได้มานานหลายสิบปีแล้ว ตรงกันข้ามคอร์รับชั่นมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น ถือว่าสำคัญมากสำหรับรัฐบาลใหม่ ถ้าทำไม่ได้จะถือว่า “ไม่มีผลงาน” ขณะเดียวกันก็ควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ตอนนี้แพงขึ้นมาก