เกษียร เตชะพีระ : “มองร่างรัฐธรรมนูญมีชัยยาวๆ”

เกษียร เตชะพีระ
(ภาพจาก www.matichon.co.th/news/90010 )

นับแต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติออกสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้เป็นต้นมา (www.cdc.or.th/conference-report/2016-02-04-06-29-29/32-ewt-dl-29mar2016/file) โดยปรับแก้ผนวกรวมเอาข้อเสนอของ คสช. เข้าไว้ด้วยแล้วนั้น

ผู้นำรัฐบาลและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมักร้องเตือนประชาชนให้อ่านร่างทั้งฉบับจนจบก่อนออกมาแสดงความเห็นวิเคราะห์วิจารณ์และตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างดังกล่าว (www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000049958; www.komchadluek.net/detail/20160125/221186.html)

ขณะที่ผลการสำรวจโพลบางสำนักชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 58.2% เมินที่จะอ่านร่างรัฐธรรมนูญ (http://www.thaipost.net/?qปชช58เมินอ่านรธน)

ผมเผอิญได้รับการไหว้วานจากเพื่อนอาจารย์ให้ช่วยวิเคราะห์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวงเสวนาวิชาการ จึงลงแรงไปอ่านทั้งฉบับดู ซึ่งก็ไม่ง่ายนะครับ ต้องตั้งสติเพ่งสมาธิใช้เวลาเป็นวันๆ เพราะยาวถึง 16 หมวดบวกบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 279 มาตรา กินเนื้อที่ถึง 105 หน้ากระดาษ A4

อ่านจบแล้ว ผมมีข้อสังเกตขั้นต้น 2 ประการ :-

1) เผอิญช่วงที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยเรากำลังตรวจข้อสอบไล่นักศึกษาอยู่พอดี ผมจึงลองทำใจฉันครูบาอาจารย์ สมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบข้อสอบไล่ของนักศึกษาที่ส่งมาให้ตรวจ ในฐานที่ผมเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ จะให้คะแนนด้วยเจตนาบริสุทธิ์ทางวิชาการเท่าใด?

ผมประเมินแล้ว เห็นว่าเฉพาะ 16 หมวดของร่างรัฐธรรมนูญ ผมให้เกรด D (Dog) แต่หากรวมบทเฉพาะกาลเข้าไปด้วย ผมคงต้องให้เกรด F คือตกครับ

ทำไมจึงให้เกรดเช่นนั้น? ผมขออนุญาตอธิบายโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า…

2) ผมยังพบด้วยว่าต่อให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญจบทั้งฉบับแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะช่วยให้เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ครับ เพื่อให้เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญนี้ทะลุปรุโปร่ง จำต้องเอาตัวบททั้งฉบับไปเชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้, บริบททางความคิดการเมืองไทย, ระเบียบอำนาจที่เป็นจริงนอกรัฐธรรมนูญ และปัญหาใหญ่ที่บ้านเมืองเรากำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้ด้วย…

พูดอีกอย่างก็คือ เพื่อเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติของคุณมีชัย จำต้องมองมันถึง 4 มุมด้วยกัน กล่าวคือ :-

– มองยาว
: โดยเชื่อมโยงร่างรัฐธรรมนูญกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรอบ 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งผมเห็นว่าเป็นกระบวนการพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะผลักดันการเมืองไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy)

– มองลึก : โดยเชื่อมโยงแนวคิดเบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญเข้ากับความคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ

– มองเป็นระบบ : โดยเชื่อมโยง [ร่างรัฐธรรมนูญ+ระเบียบอำนาจที่ คสช. พยายามสร้างขึ้นในรอบสองปีที่ผ่านมาและสืบทอดต่อไปภายหน้า] ให้เป็นแพ็กเกจเดียวกัน

– มองไปข้างหน้า : โดยเชื่อมโยงร่างรัฐธรรมนูญกับปัญหาใหญ่ๆ ในอนาคตอันใกล้ของประเทศที่เรียกร้องต้องการรัฐที่เข้มแข็งไปดำเนินการปฏิรูป

ผมขออธิบายขยายความโดยพิสดารไปตามลำดับ

1)มองร่างรัฐธรรมนูญมีชัยยาวๆ

วิกฤตการเมืองไทยรอบสิบปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2549-ปัจจุบัน) ทำให้ประเทศประสบพบผ่านรัฐบาลหลายชุด รัฐธรรมนูญหลายร่างหลายฉบับ การประท้วงใหญ่หลายครั้ง และการรัฐประหารถึง 2 รอบ

ผู้สันทัดกรณีทางรัฐศาสตร์ส่วนมากมักเสนอว่ามันสะท้อนความพยายามที่ล้มเหลวหลายครั้งหลายคราของสังคมการเมืองไทยที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (Transition to Democracy)

ส่วนผมเองเห็นต่างออกไป โดยเห็นว่ามันอาจจะเข้าท่าสมเหตุสมผลกว่าหากลองมองกลับกันว่ามันเป็นความพยายามของชนชั้นนำเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลุ่มต่างๆ (ซึ่งเรียกกันในภาษาการเมืองไทยว่า “อำมาตย์”) ที่จะผลักดันการเมืองไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy) ต่างหาก

กล่าวคือ พวกเขาพยายามแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จริงของระบอบประชาธิปไตยไทยซึ่งเกิดจากการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบและคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง อาทิ :-

– กรณีการละเมิดสิทธิผู้คนอย่างกว้างขวางในสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดและสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ในสมัยรัฐบาลทักษิณ@พรรคไทยรักไทย

– หรือกรณีผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์@พรรคเพื่อไทย

แต่ทว่า เลือกแก้มันด้วยระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการและเสียงข้างน้อย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาพยายามแก้ปัญหาจุดอ่อนของประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ด้วยการลดประชาธิปไตยลง แทนที่จะเพิ่มประชาธิปไตยขึ้นนั่นเอง

ข้อน่าสังเกตคือมันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่ายในโลกและสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งที่ชนชั้นนำเหล่านี้ระดมกำลังกันรณรงค์ผลักดันการเมืองไทยให้ไปสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยต่อเนื่องกันมาแล้วร่วมสิบปี แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สำเร็จอยู่ดี, แปลกไหมครับ?

ขอยกตัวอย่างความพยายามเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยซึ่งมีหลากสูตรหลายแนวมาประกอบเป็นเบื้องต้น อาทิ

– สภาเลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 เปอร์เซ็นต์ของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล@พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000060872)

– สภาเลือกตั้ง 0 แต่งตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ@กปปส. (http://www.isranews.org/isranews-news/item/26319-su_26319.html)

แม้จะมีความผันแปรหลากหลายแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ปมเงื่อนที่เป็นจุดร่วมของความพยายามเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยเหล่านี้คือ :

– มันล้วนมุ่งสร้างระบอบใหม่ที่มีการเลือกตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งไปเสียเลยทีเดียว

– เพียงแต่ในระบอบนี้ เหล่าสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย (elected majoritarian institutions เช่น สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาจากการเลือกตั้ง, พรรคการเมืองใหญ่ ฯลฯ) ล้วนตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมชักเชิดของเหล่าสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (unelected non-majoritarian institutions เช่น ตุลาการ, องค์กรอิสระ, กองทัพ, ข้าราชการประจำ, วุฒิสภาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา ฯลฯ)

– พร้อมทั้งยักย้ายถ่ายโอนอำนาจสำคัญๆ บางประการของสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไปให้แก่สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง เช่น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ, อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี, อำนาจกำหนดแนวนโยบาย, อำนาจจัดสรรงบประมาณ, อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ เป็นต้น

หากจะดูความแตกต่างของบรรดาเวอร์ชั่นล่าสุดของความพยายามเหล่านี้ในปัจจุบัน ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ดี หรือข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ก็ดี ล้วนต้องการเปลี่ยนย้ายอำนาจใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จากเหล่าสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไปไว้ยังเหล่าสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น

ความแตกต่างอยู่ตรงจะเอาอำนาจของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งที่ถูกดูดดึงเปลี่ยนย้ายมานี้ไปฝากฝังไว้ให้กับสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันใด ระหว่าง

– เวอร์ชั่น บวรศักดิ์@คนดีเอ็นจีโอ

– เวอร์ชั่น มีชัย@ตุลาการภิวัตน์+วุฒิสภาจากการเลือกสรรกันเอง 20 กลุ่ม

– เวอร์ชั่น คสช.@กองทัพ+วุฒิสภาจากการแต่งตั้งล้วนๆ เท่านั้นเอง

(ยังมีต่อสัปดาห์หน้า)