ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
การเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของระบอบอำนาจนิยมอันยาวนานในสังคมไทย
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานกว่า 9 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำสู่การสิ้นสุดของระบอบอำนาจนิยมที่ยาวนาน
โดยสามารถพิจารณาถึงลักษณะสำคัญสี่ประการต่อไปนี้
การต่อสู้ของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน : ฝั่งอำนาจนิยมอาจไม่สามารถควบคุมการต่อสู้ของฝ่ายค้านได้ และฝ่ายค้านอาจมีการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านฝั่งเผด็จการอย่างมากขึ้น
การทำงานของฝ่ายค้านที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาล ความล้มเหลวเชิงนโยบาย เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาการรณรงค์การเลือกตั้ง
ผลงานของรัฐบาลถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นผลร้ายของฝั่งรัฐบาล ที่ไม่สามารถพูดถึงผลงานอย่างรูปธรรมได้
ขณะเดียวกันในยุคสมัยใหม่ที่รูปแบบการสื่อสารมีหลากหลายทาง และทุกคนสามารถส่งสารของตนได้
การสื่อสารแบบทางเดียวทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ลดความนิยมลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทำให้การทำงานของพรรคฝ่ายค้านในการรณรงค์การเลือกตั้งและเปิดแผลรัฐบาลมากขึ้น
และรัฐบาลเองก็ไม่สามารถผูกขาดความจริงได้อย่างเด็ดขาด
ความไม่พอใจของประชาชน : ฝั่งอำนาจนิยมอาจไม่สามารถรับมือกับความไม่พอใจของประชาชนได้
ซึ่งอาจเกิดจากการละเลยปัญหาของประชาชน พร้อมกับการใช้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและยกระดับให้การต่อสู้ของฝ่ายค้านดูสมเหตุสมผลมากขึ้น
ความไม่พอใจนี้ไม่จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนวัยทำงานจำนวนมากที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลง รู้สึกว่าการบริหารของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถเห็นถึงอนาคต
ขณะเดียวกันกลุ่มคนผู้สูงอายุที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอนุรักษนิยมก็เริ่มตระหนักว่าความล้มเหลวของรัฐบาลนอกจากจะทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา
รัฐบาลอำนาจนิยมอาจทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เคยมีมาทวีความรุนแรงมากขึ้น
ความไม่พอใจต่อรัฐบาลแผ่ขยายไปในทุกช่วงวัยของผู้คนในสังคม
ความไม่เชื่อมั่นของสมาชิกภายใน : ฝั่งอำนาจนิยมอาจไม่สามารถควบคุมสมาชิกภายในได้ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการ การขาดความโปร่งใสในการตัดสินใจ หรือการจัดสรรตำแหน่งที่ผ่านมา
เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญเมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนหลายประการในอนาคต ชุดผลประโยชน์ที่เคยมีเริ่มหดเล็กลง พวกเขาจะเริ่มตีตัวออกห่าง
และเมื่อทรัพยากรน้อยลงการจัดการความขัดแย้งภายในก็จะเริ่มลำบาก
ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านโดยสันติและปราศจากความรุนแรงจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ไปพร้อมกัน
การแข่งขันทางการเมือง : การแข่งขันทางการเมืองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝั่งอำนาจนิยมพ่ายแพ้
ฝ่ายค้านอาจมีผู้สนับสนุนและแรงสนับสนุนที่มากขึ้น
เช่น การมีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้ง หรือการใช้สื่อสารและโฆษณาสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจและเป้าหมายร่วมกัน
ตัวเลือกที่แปลกใหม่ ยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไป จากพรรคไทยรักไทยสู่พรรคเพื่อไทย จากพรรคอนาคตใหม่ สู่พรรคก้าวไกล ลักษณะนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การแข่งขันทางการเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น คาดเดาได้ยากขึ้น รวมถึงการควบคุมต่อรองก็ยากขึ้นเช่นกัน
อันเป็นผลจากการยกระดับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่มีมาตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
การพ่ายแพ้ของฝั่งอำนาจนิยมอาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ และต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการต่อสู้ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในประเทศ
ทั้งนี้ หากฝั่งอำนาจนิยมเห็นถึงแนวโน้มของการสิ้นสุดอำนาจในลักษณะนี้ก็มีความจำเป็นที่ต้องเร่งการวางแผนถ่ายโอนอำนาจ ทำความเข้าใจกับประชาชน และปล่อยมือจากอำนาจอย่างสันติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียจากการพยายามยึดยื้อถือครองอำนาจ
เพราะเวลากำลังจะอยู่ข้างประชาชนและนำพาความเปลี่ยนแปลงมาได้ในท้ายที่สุด
ดังคำกล่าวที่ว่า
“คุณอาจตัดดอกไม้ทั้งหมดได้ แต่คุณไม่อาจยับยั้งฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง” ปาโบล เนรูด้า กวีชาวชิลี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1971
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022