โลกจะลดการพึ่งพาดอลลาร์ เงินหยวนจะผงาด…จริงหรือ?

สุทธิชัย หยุ่น
(Photo by FRED DUFOUR / AFP)

การฟาดฟันระหว่างสองยักษ์ระดับโลกกำลังจะบานปลายกลายเป็นเรื่องว่าเงินสกุลของใครควรจะใหญ่กว่าใคร

สองวลีที่กำลังร้อนแรงในเวทีระหว่างประเทศขณะนี้คือ

Internationalization of the Yuan

อันหมายถึงการให้หยวนของจีนกลายเป็นเงินสกุลสากล

และ Dedollarisation อันหมายถึงการลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ลง

สองกระแสนี้จะเกิดหรือไม่เกิด หรือจะเกิดเมื่อไหร่ และจะเกิดด้วยเงื่อนไขอะไรเป็นหัวข้อถกแถลงที่น่าติดตามมาก

โดยเฉพาะสำหรับคนไทยอย่างเราที่ต้องใช้เงินบาทเป็นหลักประกันแห่งชีวิตที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้

 

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียไปเยือนปักกิ่ง พูดจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แล้วก็เสนอว่าควรจะรื้อฟื้นแนวคิดที่จะตั้ง “กองทุนการเงินเอเชีย” หรือ Asian Monetary Fund (AMF) เพื่อช่วยเหลือประเทศในเอเชียในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเงิน

ความหมายคือไม่ต้องพึ่งพา IMF ที่มีชาติตะวันตกเป็นผู้บงการอยู่ข้างหลังอีกต่อไป

ว่าแล้ว อันวาร์ก็เสริมว่า “ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องพึ่งพาดอลลาร์ในทุกเรื่องแล้ว”

นั่นคือการส่งสัญญาณที่สอดคล้องกับกระแส Dedollarisation เช่นกัน

ตามมาด้วยความเห็นของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ซึ่งก็ไปพบสี จิ้นผิง เหมือนกัน

เหมือนจะต้องมนต์ของท่านสีอีกคนหนึ่ง

เพราะมาครงให้สัมภาษณ์ประเด็นดอลลาร์ในทำนองเดียวกัน

โดยบอกว่าโลกจะต้องลดระดับของความเป็นผู้ทรงอิทธิพลของเงินดอลลาร์

นั่นก็ว่าตามกระแส “ด้อยค่าดอลลาร์” อีกระลอกหนึ่ง

ที่ออกหมัดตรงแรงๆ ประเด็นนี้เลยคือประธานาธิบดีบราซิล Luiz In?cio Lula da Silva

พอไปเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการก็เปิดใจอย่างหนักหน่วงรุนแรง

ก่อนหน้านั้น เขาเคยให้สัมภาษณ์ The Financial Times ตั้งประเด็นว่า

“ทำไมเราไม่สามารถซื้อขายโดยใช้สกุลเงินของเราเองได้ ใครเป็นคนตัดสินใจว่าเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินของโลกหลังจากการยกเลิกมาตรฐานทองคำ?”

พอไปถึงเมืองจีน ก็ไปพูดที่ New Development Bank of Shanghai เรียกร้องให้ประเทศในกลุ่ม BRICS สร้างสกุลเงินร่วมกันเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมด้วยกัน

“เหตุใดกลุ่มประเทศอย่าง BRICS จึงไม่สามารถมีสกุลเงินสำหรับสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบราซิลกับจีน ระหว่างบราซิลกับประเทศอื่นๆ ได้ อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะเราไม่คุ้นเคย (กับแนวคิดนี้) เพราะที่ผ่านมา ทุกคนพึ่งพาเงินสกุลเดียวมาตลอด”

BRICS คือการรวมตัวของ Brazil, Russia, India, China และ South Africa

รัสเซียพร้อมจะทำศึกกับดอลลาร์อยู่แล้ว

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียประกาศเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติเลยว่าจะค้าขายกับประเทศต่างๆ ด้วยเงินสกุลของตนเอง ไม่ใช้ดอลลาร์อีกต่อไป

ซาอุดีอาระเบียก็บอกว่าจะรับชำระค่าน้ำมันที่ขายเป็นเงินหยวนแทนดอลลาร์ได้กับลูกค้าจีน

คำถามใหญ่ก็คือว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่เงินหยวนจะมาแทนที่ดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้

 

คําตอบคือต้องมองไปให้รอบๆ และวิเคราะห์กันอย่างถ้วนถี่ถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ, การเมือง, ความมั่นคง และเหตุอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง

เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่า Dedollarisation นั้นเป็นกระบวนการที่จะหาทางทำให้เงินสกุลอื่นมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐสำหรับกิจกรรม

1. ซื้อขายน้ำมันและ/หรือสินค้าอื่นๆ (เช่น petrodollar)

2. ซื้อดอลลาร์สหรัฐสำหรับทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

3. ข้อตกลงการค้าทวิภาคี และ

4. สินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์

ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการลดการพึ่งพาดอลลาร์นั้น เราต้องบอกด้วยว่าเราหมายถึงอะไรบ้าง

เฉพาะเรื่องค้าขายระหว่างกันใช่ไหม

ถ้าอย่างนั้นก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งเกือบจะทันที

แต่ก็จะเป็นเฉพาะประเทศที่คบหากับจีนและรัสเซียเป็นหลัก…กับคู่ค้าของจีนที่พร้อมจะใช้เงินหยวนเพื่อการซื้อขายกันในบางกรณี

การซื้อขายน้ำมันก็เริ่มจะใช้เงินสกุลได้หากผู้ซื้อและผู้ขายยินยอมพร้อมใจกันโดยที่มีความแน่ใจว่าเงินหยวนกับเงินสกุลที่เป็นคู่ค้านั้นจะไม่มีความผันผวนเกินกว่าที่จะบริหารความเสี่ยงได้

แต่เรื่องการซื้อมาเก็บไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นคงจะเป็นกรณีที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางกันต่อไป

 

เพราะมีปัจจัยเรื่องความโปร่งใสของกฎกติกา…และการเมืองแบ่งขั้วที่อาจจะทำให้การโยกมาใช้เงินหยวนมากขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องผ่านการทดสอบอีกหลายด้าน

ดังนั้น การทำให้เงินหยวนเป็น “เงินสกุลสากล” มากขึ้นกับการทำให้โลก “ลดการพึ่งพาดอลลาร์” อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งกันเสมอไป

อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนผ่านนั้นจะมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนและผลต่อเนื่องทางด้านการเมืองและความมั่นคงจะไปในทิศทางใด

ต้องไม่ลืมว่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มเข้ามาแทนที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

โดยที่สหรัฐได้รับความเสียหายจากสงครามน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

และเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมากในช่วงสงคราม

จากนั้น สหรัฐก็ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ข้อตกลง Bretton Woods ในปี 1944 ได้จัดตั้งระบบการเงินระหว่างประเทศหลังสงคราม

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้นเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกสำหรับการค้าระหว่างประเทศ

และเป็นเพียงสกุลเงินเดียวที่เชื่อมโยงกับทองคำที่อัตรา 35 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

 

หลังจากการก่อตั้งระบบ Bretton Woods เงินดอลลาร์สหรัฐถูกใช้เป็นสื่อกลางในการค้าระหว่างประเทศโดยที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างหนักยอมรับในความเป็น “มหาอำนาจ” ของอเมริกาเป็นครั้งแรก

ตามมาด้วยข้อตกลงให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาควบคุมดูแลเครือข่ายการโอนเงิน SWIFT

ซึ่งมีผลอย่างมากต่อระบบธุรกรรมการเงินทั่วโลก

SWIFT คือชื่อย่อของ The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT)

กฎหมาย S.W.I.F.T. SC ระบุกลไกนี้เป็นสมาคมที่มีฐานอยู่ที่เบลเยียมซึ่งให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกรรมทางการเงินและการชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกที่ทุกประเทศที่มาร่วมกิจกรรมให้ความไว้วางใจ

เมื่อระบบ Bretton Woods ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดมูลค่าของทองคำก็ไว้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็แปลว่ามูลค่าของดอลลาร์สหรัฐ จึงยึดไว้กับมูลค่าของทองคำซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวโลกว่ามีเสถียรภาพที่สุด

แต่แล้วระบบมาตรฐานทองคำก็ต้องมีอันล้มเลิกไปเพราะสหรัฐเอง

ต้องย้อนถามว่าเหตุใดสหรัฐจึงละทิ้งมาตรฐานทองคำ?

 

เหตุผลแรกเริ่มก็เพื่อช่วยต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า The Great Depression เมื่อต้องเผชิญกับการว่างงานที่ก้าวกระโดดอย่างน่าตกใจ

และภาวะเงินฝืดที่พึ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930

แม้จะฉีดยากระตุ้นแต่ก็ได้ผลเพียงน้อยนิด

เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำเงินไปฝากและทำให้อุปทานทองคำหมดลง สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอื่นๆ ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยให้สูง

แต่นั่นทำให้การกู้ยืมของประชาชนและธุรกิจแพงเกินไป

ดังนั้น ในปี 1933 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ จึงตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ระหว่างดอลลาร์กับทองคำ

เป้าหมายคือเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐสามารถปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและลดอัตราดอกเบี้ยได้

หลังจากนั้น สหรัฐยังคงอนุญาตให้รัฐบาลต่างชาติแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำจนถึงปี 1971

อันเป็นปีที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน สั่งยุติความเชื่อมโยงดอลลาร์กับทองคำทั้งหมด…เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้ชาวต่างชาติที่ใช้เงินดอลลาร์แลกทองคำสำรองของสหรัฐ

วันนี้มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจึงไม่ได้ผูกติดกับทองคำอีกต่อไป

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ที่จะรักษามูลค่าของสกุลเงินสหรัฐ

แต่อย่างที่รู้กันว่าธนาคารกลางสหรัฐยังคงเพิ่มปริมาณเงินที่เรียกให้ไพเราะว่า QE (Quantitative easing) อย่างต่อเนื่อง

เมื่อรู้ที่มาที่ไปของเรื่องดอลลาร์แล้ว…สัปดาห์หน้ากลับมาพิจารณาว่าปรากฏการณ์ลดความซ่าของดอลลาร์ หรือที่เรียกว่า Dedollarisation จะเกิดขึ้นได้หรือไม่…และจะเกิดอย่างไร?