ความตึงเครียดใหม่ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ จีน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ความตึงเครียดใหม่

สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ จีน

 

ปลายสัปดาห์แรกเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานว่า สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ได้วางแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงทวิภาคี ที่พร้อมใช้กำลังหากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตีในทะเลจีนใต้

ผู้เขียนไม่แปลกใจในพันธมิตรอันใกล้ชิดโดยเฉพาะทางการทหารของสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์

เพราะทั้งสองประเทศลงนามในสนธิสัญญาร่วมป้องกันประเทศตั้งแต่ปี 1951

แต่อยากรู้ว่า อะไรเป็นเหตุให้ทั้งสองประเทศมีท่าทีแข็งกร้าวหากมีการโจมตีด้วยอาวุธในทะเลจีนใต้

 

ความตึงเครียดใหม่ในทะเลจีนใต้

29 เมษายนมีการตอบโต้กันทั้งในทางทหารและทางการทูต เมื่อเรือยามฝั่งจีนเข้าไปภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone-EEZ) ฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ สำนักงานโฆษก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์สรุปอย่างย่อคือ1

“…สหรัฐยืนอยู่ข้างพันธมิตรฟิลิปปินส์ของเรา ในการสนับสนุนกฎเกณฑ์ระเบียบทะเลระหว่างประเทศตามหลักการทางกฎหมาย และยืนยันอีกครั้งว่า กองกำลังทหารฟิลิปปินส์ในแปซิฟิกอันรวมถึงทะเลจีนใต้ กองกำลังทหารฟิลิปปินส์ กองเรือสาธารณะหรือเครื่องบิน รวมทั้งหน่วยงานยามฝั่งของพวกเขาจะก่อให้เกิดความยึดมั่นการป้องกันร่วมของสหรัฐ ภายใต้มาตรา iv ของสนธิสัญญาการป้องกันร่วมสหรัฐและฟิลิปปินส์ 1951 (U.S. Philippines Mutual Defense Treaty)…”

การปะทะกันระหว่างจีนและฟิลิปปินส์มีการอ้างว่า เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งหลายหน กุมภาพันธ์ 2023 ฟิลิปปินส์เผยแพร่วิดีโอเหตุการณ์เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนยิงแสงเลเซอร์ที่ใช้ทางการทหาร ไปที่เรือยามฝั่งฟิลิปปินส์

ตั้งแต่ปี 1995 จีนได้ยึดครองดินแดนฟิลิปปินส์ที่ Mischief ในทะเลจีนใต้ และที่เกาะเทียมอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจจำพาะฟิลิปปินส์

ตามมาตรา iv สนธิสัญญาป้องกันร่วมฯ “…แต่ละฝ่ายยอมรับว่าการโจมตีด้วยอาวุธในเขตแปซิฟิกของฝ่ายใดจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพ ความปลอดภัยของตนและประกาศว่าจะทำให้พบกับอันตรายร่วมกัน ในทางกระบวนการต่างๆ ของรัฐธรรมนูญของตน การโจมตีด้วยอาวุธใดๆ และมาตรการต่างๆ ก่อผลควรจะรายงานทันทีต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มาตรการที่ว่าควรยุติเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อฟื้นฟูและรักษาสันติภาพและความมั่นคงนานาชาติ…”

สำนักงานโฆษก กระทรวงต่างประเทสหรัฐเห็นว่า จีนและรัสเซียจะใช้สิทธิวีโต้การกระทำใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการป้องกันฟิลิปปินส์ แล้วยังคงดูว่าสหรัฐและความต้องการร่วมกันกับสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นและออสเตรเลียที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะป้องกันฟิลิปปินส์จากกองทัพประชาชนปลดแอกจีนที่มีความก้าวร้าวต่อไป

ภาษาของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในแถลงการณ์ ที่รวมทั้งการอ้างสนธิสัญญาป้องกันร่วมสหรัฐ-ฟิลิปปินส์เร่งให้เห็นประเด็นทะเลจีนใต้ แล้วสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ Ferdinand Marcos Jr. มีความใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่าประธานาธิบดีคนที่แล้ว โลดริโก้ ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte)

ที่เห็นกันต่อมาคือ สหรัฐปรับแนวทางใหม่ต่อฟิลิปปินส์เนื่องจากจีน ฟิลิปปินส์ได้ร้องขอเงินกู้เพื่อการพัฒนามูลค่า 180 พันล้านดอลลาร์จากสหรัฐ แม้ว่าจะมีเงินกู้ออกมาเพียง 422 ล้านดอลลาร์ แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับจีน และฟิลิปปินส์ผิดหวังเมื่อรู้ว่าจีนไม่ได้มีความเป็นมิตร

 

สหรัฐ-ฟิลิปปินส์ พันธมิตรที่เหนียวแน่นขึ้น

การเคลื่อนตัวของสหรัฐและฟิลิปปินส์รุนแรงขึ้น มีการซ้อมรบร่วมฟิลิปปินส์-สหรัฐเมื่อ 28 เมษายน กำลังทหารอเมริกันและฟิลิปปินส์รวม 18,000 นายซ้อมรบร่วมกัน 3 สัปดาห์ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดระหว่างสหรัฐและฟิลิปปินส์

ต่อมา สหรัฐและฟิลิปปินส์ประกาศ ตั้งฐานทัพสหรัฐใหม่ในฟิลิปปินส์ 4 แห่ง รวมทั้งที่เกาะ Palawan ซึ่งอยู่ติดกับทะเลจีนใต้ และอีก 2 แห่งทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ใกล้กับไต้หวัน ฐานทัพ 2 แห่งทางตอนเหนือนี้จะใช้เพื่อสนับสนุนทั้งทางเรือและทางอากาศในการสลับสับเปลี่ยนกองกำลังสหรัฐ ที่จะช่วยป้องกันการรุกรานไต้หวันจากจีน

ฐานทัพสหรัฐบริเวณแห่งที่ 4 คือที่เกาะลูซอนกลาง (Central Luzon) ตอนเหนือของกรุงมะนิลา ซึ่งให้การสนับสนุนอีก 2 ฐานทัพตอนเหนือ อีกทั้งยังสนับสนุนการรื้อฟื้นพลังการรณรงค์ต่อต้านกลุ่มกำลังกองโจรคอมมิวนิสต์ติดอาวุธท้องถิ่น ที่ได้เข้าร่วมทำสงครามกับมะนิลามายาวนานกว่า 50 ปี

ต้นเดือนพฤษภาคมมีการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่ทำเนียบขาว

ทั้งสองฝ่ายตกลงเพิ่มความร่วมมือทางทหาร ทั้ง 2 ฝ่ายจะแลกเปลี่ยนเครื่องบิน C-130 จำนวน 3 ลำไปให้ฟิลิปปินส์

แล้วยังพิจารณาส่งกองเรือป้องกัน รวมทั้งวางแนวทางการป้องกันทวิภาคี โดยวางแนวทางโครงการพัฒนาเพื่อให้ทันสมัยทางทหารร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ในรายะเวลา 5 ปี

4 วันของการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและฟิลิปปินส์เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดสูงมากในอินโด-แปซิฟิก ระหว่างที่จีนใช้ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อสิทธิต่างๆ และอธิปไตยของฟิลิปปินส์ โดยการจับปลาอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำของชาติอื่นๆ แม้แต่การใช้เลเซอร์ทางการทหารกับลูกเรือเรือย่ามฝั่งของฟิลิปปินส์ ซึ่งจีนก็ไม่สนใจ

ตอนนี้ ความก้าวร้าวของจีนขยายตัวเหนือข้อความขัดแย้งเรื่องการประมง และเข้าสู่การคุกคามโดยสมบูรณ์ต่อชีวิตของชาวฟิลิปปินส์

ควรทำความเข้าใจด้วยว่า การขยายความตกลงสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Enhanced Defense Cooperation Agreement-EDCA ที่ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ เท่ากับว่า การดำรงอยู่ของสหรัฐในฟิลิปปินส์เติบโตขึ้นผ่านการเข้าถึง 4 ฐานทัพใหม่ของสหรัฐในฟิลิปปินส์

EDCA ลงนามปี 2014 ระยะเวลาของข้อตกลงนี้อยู่ที่ 10 ปี

EDCA เพิ่มการหมุนเวียนหน่วยงานทหารโดยเฉพาะการฝึกร่วม การซ้อมรบร่วมและอนุญาตให้ 2 พันธมิตรปฏิบัติการร่วม

จากการศึกษาของ Julio S. Amador iii and Deryk Baladjay2 ตาม EDCA ไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นฐานทัพอเมริกัน EDCA ไม่ใช่ข้อตกลงตั้งฐานทัพของต่างชาติ

มันเป็นข้อตกลงด้านโลจิสติกส์ แท้จริงมันเป็นเงื่อนไขอันแรกเพื่อให้ฟิลิปปินส์มั่นใจการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและควบคุมอธิปไตยของตนได้

อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์ว่า EDCA ไม่ประสบความสำเร็จในเวลาเร็ววัน มีความล่าช้าในการปฏิบัติ

ส่วนใหญ่มากจากการลดระดับความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐ ของอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เต

ในความเห็นของสหรัฐ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ละเมิดคำสัญญาต่างๆ ทำการรุกรานดินแดนในหลายๆ ประเทศเพื่อนบ้าน

และอ้างว่า การสร้างอำนาจนำในภูมิภาค (regional Hegemony) กำลังเป็นเหตุจากการแข่งขันทางด้านอาวุธ ระหว่างไม่เพียงแค่ระหว่างสหรัฐและจีน แต่เป็นการแข่งขันทางด้านอาวุธระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านของจีนด้วย ซึ่งกำลังพยายามขัดขวางความก้าวร้าวทางดินแดนของจีน โดยใช้ความร่วมมือทางทหารทีใกล้ชิดมากขึ้นของญี่ปุ่น อินเดีย ภูฏาน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้ล้วนมีความขัดแย้งด้านดินแดนกับจีนด้วย

ตามความเห็นของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ความมุ่งหวังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจนำภูมิภาค โดยกันเอามหาอำนาจอื่นๆ ออกไปจากเอเชีย

การตอบโต้จากทางการจีน 30 เมษายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่า สหรัฐประเทศนอกภูมิภาค ต้องไม่แทรกแซงประเด็นทะเลจีนใต้ หรือใช้ประเด็นทะเลจีนใต้หว่านเมล็ดพันธุ์ความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

แล้วจุดเดือดอีกแห่งหนึ่งในแปซิฟิกก็ปะทุขึ้น

1U.S. support for the Philippines in the South China Sea, press Statement, Office of Spoke person, April 29, 2023

2“Why China Should Learn To Live With U.S.-Philippines EDCA” Fulcrum, ISEAS, 3 May 2023.