ความกลัว ความหวัง ความจริง | คำ ผกา

คำ ผกา

หายใจอีกแค่สอง-สามเฮือก เราคนไทยก็ได้เลือกตั้งแล้ว

และสิ่งที่สนุกมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างที่ฉันได้เขียนไปหลายต่อหลายครั้งว่า มันมีสองโจทย์ซ้อนทับกันอยู่

นั่นคือโจทย์ว่าด้วยการกำจัดอำนาจของกลุ่มเผด็จการอำนาจเก่า โดยมีตัวเล่นเป็น ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคร่วมรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2562

และอีกโจทย์หนึ่งคือการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคฝั่งประชาธิปไตยสองพรรคที่นำเสนอภาพสังคมในอุดมคติคนละแบบ

พรรคก้าวไกล มาพร้อมกับสโลแกน “วางความกลัวไว้ข้างหลัง วางความหวังไว้ข้างหน้า” เน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตัดงบประมาณกองทัพ สร้างรัฐสวัสดิการ ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร แก้กฎหมายมาตรา 112

พูดกันในเชิงการตลาด นี่เป็นการจุดความหวังใหม่ให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทยที่มีจุดแข็งเป็นเรื่องความสามารถในการก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดนำมาสู่ภาพจำว่า

พรรคก้าวไกล คือพรรคที่เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

พรรคเพื่อไทย คือพรรคที่เน้นการแก้ปัญหาปากท้อง

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการทำให้คนจดจำว่านี่คือพรรคการเมืองประชาชน

นั่นคือ บอกว่านี่คือพรรคที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของประชาชน ดังนั้น จึงเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุน

พูดแบบนี้ปุ๊บก็ทำให้พรรคเพื่อไทย (เมื่อเทียบกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันกลายเป็นพรรค “นายทุน” ขึ้นมาทันที หนักกว่านั้น สื่อว่าเป็นพรรคที่มี “เจ้าของ” พรรค “ครอบครัว”)

ภาพของพรรรคก้าวไกลจึงถักทอขึ้นมาในการรับรู้ของสังคมว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคของประชาชน เพราะมีประชาชนเป็นนายทุน เป็นพรรคที่กล้าหาญ ท้าชนกับโครงสร้าง พร้อมทำเรื่องยากๆ เช่น เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ปฏิรูปกองทัพ แก้ไขมาตรา 112 เป็นพรรคทุนน้อย ไม่มีจัดตั้ง ไม่มีเกณฑ์คนมาฟังปราศรัย เป็น “หัวคะแนนออร์แกนิกส์” ดังนั้น จึงไม่ต้องถามเรื่องซื้อเสียง ไม่มีแน่นอน

ครบทุกองค์ประกอบเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจึงเทียบเคียงได้กับพรรคประชาธิปัตย์ยุครุ่งเรือง มีหัวหน้าพรรคเป็นคนหนุ่ม รุ่นใหม่ ไฟแรง เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้อ่อนโยน จินตนาการต่อได้ถึงว่าที่นายกฯ ที่เอาไปยืนเคียงกับผู้นำระดับโลกร่วมสมัยได้ และมีแต้มเหนือกว่าทุกพรรคในเรื่องจุดยืนประชาธิปไตย อยู่เคียงข้างม็อบ มวลชน คนกลุ่มน้อย คนชายขอบ

ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ทำให้ก้าวไกลกลายมาเป็นพรรคที่ “คนสมัยใหม่” คนมีอุดมการณ์ คนที่สมาทานคุณค่า “สากล” คนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง คนที่เบื่อหน่ายกับการเมืองเก่า การเมืองระบบอุปถัมภ์ การเมืองนายทุนหน้าเดิม (ที่ครั้งหนึ่งไปร่วมกับ กปปส. ปฏิรูปประเทศ) เปลี่ยนมาเลือกพรรคก้าวไกลด้วยความภาคภูมิใจ

 

โจทย์ที่พรรคเพื่อไทยเจอในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการถูกนำไปวางเปรียบเทียบกับพรรคก้าวไกล และถูกมองว่าเป็นพรรคที่สนใจแต่เรื่อง “ปากท้อง” ไม่มีความหาญท้าชน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จนเกิดวาทกรรม “เลือกแบบเดิมก็ได้แบบเดิม”

ฉันไม่แน่ใจว่าเป็นความอาภัพ หรือเป็นบุคลิกของพรรคเพื่อไทยที่มีสไตล์การสื่อสารเชิงรับมากกว่ารุก และไม่มีทักษะในการสื่อสารเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่านี่คือจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย นั่นคือ ไม่พูดในสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้

และโดยอุดมการณ์ของพรรคก็ไม่ใช่พรรคที่ต้องการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนส่วนใหญ่มากกว่าเสนอวาระ “การต่อสู้” เชิงอุดมการณ์

แต่ถามว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจริงหรือไม่?

สำหรับฉัน เรื่องนี้ไม่จริง

 

การแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมือง เราต้องมานั่งดูว่า 8 ปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ พวกเขาได้ทำอะไรลงไป?

หนึ่ง พวกเขาเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แต่ตั้งเงื่อนไขให้การแก้กฎหมายต่างๆ ทำได้ยากยิ่งเพราะต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม

สอง พวกเขาจงใจที่จะแก้กฎหมาย และบริหารประเทศเพื่อสร้างความอ่อนแอให้กับประชาชน

เหตุที่เขาบริหารประเทศ “ล้มเหลว” ในสายตาของเรา เป็นความตั้งใจของเขา เพราะความสำเร็จของเขาคือการได้เห็นประชาชนยากจนลง อ่อนแอลง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐมากขึ้น

การประกาศความสำเร็จของบัตรคนจนด้วยตัวเลขคนจนที่มากขึ้นจึงเป็น “ความสำเร็จ” ของเขาจริงๆ เพราะคีย์เวิร์ดแห่งความสำเร็จของเผด็จการคือความยากจน อ่อนแอของประชาชน

ยิ่งประชาชนอ่อนแอ ประชาชนยิ่งไร้ทางสู้ ยิ่งไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐ และยิ่งง่ายต่อการกรรโชก ข่มขู่ ปิดปาก สุดท้าย เราก็เป็นเพียงร่างที่มีหนังหุ้มกระดูก หายใจรวยริน นั่งดูรัฐ abused อำนาจ เก็บส่วย โกงกิน มีเจ้าหน้าที่รัฐไว้เพื่อรีดไถ เรียกเงินค่าคุ้มครองจากประชาชน

เหมือนเรานั่งอ่านเรื่องตำรวจ ทุนจีนเทา บ่อนการพนัน การคอร์รัปชั่นต่างๆ นานา แล้วก็ได้นั่งอ่าน นั่งฟัง แต่นึกไม่ออกว่าต้องทำอะไร นอกจากนั่งดูแล้วปลง ย้ำว่าการทำให้ประชาชนยากจน อ่อนแอท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก

เป็นความตั้งใจที่เขาต้องการทำให้เกิดขึ้น

การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเพื่อไทยคือเอาอุปสรรคหรือเงื่อนไขที่เผด็จการสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนอ่อนแอทางเศรษฐกิจออกไป

ปลดพันธนาการที่ทำให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ออก

เสริมความแข็งแรง อัดวิตามินกันใหม่ สร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจให้คนได้กลับมาทำมาหากิน ยืนด้วยแข้งด้วยขาตัวเองอีกครั้ง มีงานมีเงิน มีกิน

สิ่งที่จะตามมาคือ self-esteem คือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง นั่นคือศักดิ์ศรีของความเป็นคน ศักดิ์ศรีของความเป็นพลเมือง ร่างกายแข็งแรง ท้องอิ่ม เสียงก็จะดังขึ้น ความมั่นใจในตัวเองก็จะมีมากขึ้น มีทั้งหมดนี้แล้ว อำนาจต่อรอง มีความมั่นใจที่จะสบตากับอำนาจรัฐ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “อำนาจทางการเมือง”

พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้พูดเรื่องการท้าชน หรือการถอดถอนโครงสร้างอำนาจการเมืองเก่า แต่มุ่งเน้นไปที่เพิ่มความมั่งคั่ง สร้างจีดีพีให้โตขึ้น เพื่อให้มีความมั่งคั่งมากพอที่จะแบ่งกระจายกันได้อย่างทั่วถึง ไปพร้อมกับการสร้างหลังพิงที่จำเป็น เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โอกาสในการเข้าถึงแหล่เงินทุน เงินกู้เพื่อสร้างตัว สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนในการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เกิดรายได้สูงสุด

และทั้งหมดนี้พยายามจะไม่แตะต้องเรื่อง “ความคิด” ของประชาชน

เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ประชาชนพึงกำหนดด้วยตนเองมากกว่าให้รัฐมาชี้นำ

รัฐมีหน้าที่แค่ “อำนวยความสะดวก” ให้มากที่สุด และปิดกั้นให้น้อยที่สุดในทุกเรื่อง

สําหรับฉัน นี่คือการเปลี่ยนโครงสร้างโดยไม่ต้องพูดคำว่าโครงสร้างให้สิ้นเปลือง แต่เปลี่ยนในนามของคำว่า “กินดีอยู่ดี”

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนอนุรักษนิยม หรือหัวก้าวหน้า ย่อมไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่ต้องการสิ่งนี้

คนไทยจะเป็นเสื้อสีเหลือง สีแดง สีส้ม ถ้าบอกว่าทำพาสปอร์ตไทยไปได้ทั่วโลกไม่ต้องมีวีซ่าก็ย่อมพึงพอใจ ไม่ต่อต้าน โดยไม่จำเป็นต้องพูดว่าเราจะแก้ไขกฎหมายปิดปากประชาชน แก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์

พูดเรื่องทำ e government มันคือการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ ทำ paperless ทุกอย่างอยู่ในระบบออนไลน์ open data ตามมา ความโปร่งใสตามมา การคอร์รัปช่นลดลง และอีกหลายอย่างที่ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลง “วิธีการทำงาน” อันท้ายที่สุดแล้วก็ไปกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอยู่ดี

ทว่า การนำเสนอผ่านนโยบายเชยๆ ผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรม สำหรับฉันมันจับต้องได้มากกว่าพูดคำว่า “โครงสร้าง”

ถึงที่สุดฉันก็ต้องบอกผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดเพอร์เฟ็กต์เป็นเทวดา และทุกพรรคการเมืองมีความสามารถที่จะทำให้เราผิดหวังในการทำงานของเขาอย่างสูงยิ่งทั้งสิ้น

สิ่งที่พึงระวังไม่ใช่ภาวะผิดหวังอกหักจากพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่พึงระวังที่จะไม่ผิดหวัง ท้อแท้กับระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาและการเคารพเสียงข้างมาก