นักธุรกิจ 5 ภาค เขย่ารัฐบาลใหม่ ขีดเส้นใต้ ‘สิ่งที่อยากได้’ มากกว่า ‘ประชานิยม’

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันจัดการลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ พรรคใดจะออกหัวหรือพรรคใดจะออกก้อย ก็จะได้รับรู้กันแล้ว!

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ก็คาดหวังว่าผู้มาใหม่จะผลักดันประเทศไทยเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพเพียงพอในการบริหารจัดการประเทศให้เป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งจับตานโยบายพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง

วันนี้หากดูไส้ในของปัญหาเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2566 ของหน่วยงานหลักเริ่มนิ่งและคงคาดการณ์เดิมๆ อยู่

อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเมินจีดีพีไทยอยู่ที่ 3.6% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่ที่ 3.0-3.5%

แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนต้องใช้ยาแรงหรือทุ่มงบฯ ก้อนโตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีคำถาม “นโยบายรูปแบบใดจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และควรเทน้ำหนักบริหารจัดการไปในแบบใด”

ระหว่างนโยบายประชานิยม ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น

กับนโยบายสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เตรียมไว้สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

จากการที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ได้สอบถามภาคธุรกิจทั่วประเทศผ่านหอการค้าไทย 5 ภาค บนความคาดหวังการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ได้เทน้ำหนักไปในเรื่องอยากเห็นการแก้เศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง มากกว่าประชานิยมรายวัน

ข้อมูลทางวิชาการ โดย “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2566 เรื่องความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง พบว่า นโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก คือ

1. ลดค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในระดับเหมาะสม

2. เพิ่มเติมสวัสดิการด้านต่างๆ ให้ประชาชน โดยเฉพาะสวัสดิการการรักษาพยาบาลและเบี้ยผู้สูงอายุ

3. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และพัฒนาทักษะแรงงาน ส่วนนโยบายที่รองลงมา เช่น แก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาหนี้สิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

จากการสำรวจพบอีกว่า สิ่งที่ประชาชนอยากถามนักการเมือง คือ นโยบายที่หาเสียง (ล้วนสายเปย์) เอาเงินมาจากไหน จากภาษีประชาชน หรือเงินนอกงบประมาณ หรือกู้ยืมอีก ทั้งสงสัยล้วนเป็นนโยบายเร่งด่วน เมื่อทำแล้วเศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหน รวมถึงผลเสีย และก่อหนี้สาธารณะเพิ่มอีกหรือไม่

 

เมื่อได้สอบถามตรงกับประธานหอการค้าทั้ง 5 ภาค พบว่า “ธวัชชัย เศรษฐจินดา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า อยากเห็นรัฐใหม่ทำนโยบายมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเฉพาะการแก้ระบบการศึกษา เพราะอนาคตเศรษฐกิจโลกและไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้สอดรับกับทุกอุตสาหกรรมที่อาจปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่จะมีนวัตกรรมเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ส่งผลให้อาชีพผู้ใช้แรงงานถูกจ้างน้อยลง เพราะความรู้ ความสามารถไม่รับรองการทำงานในอนาคต

ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนการศึกษา และพัฒนาเรื่องคุณภาพและทักษะการทำงาน เพื่อเตรียมยกระดับแรงงานไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับแรงงานในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อดึงนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยที่คนไทยยังถูกจ้างงานต่อเนื่อง

ทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจเกิดขึ้นในระยะยาว

 

“ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า อยากให้รัฐใช้นโยบายมุ่งแก้โครงสร้างพื้นฐาน หรือสานนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การส่งออกผลไม้ อยากให้รัฐเพิ่มตลาดการค้าขายผ่านการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้มีหลากหลายประเทศ หรือหลายภูมิภาคมากขึ้น

เช่น ประเทศฝั่งสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไทยยังไม่มีการค้าเสรีร่วมกัน รัฐควรเร่งเจรจา เพราะภาคการส่งออกไทยรับผลกระทบและควรแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 60% ต่อจีดีพีของไทย

ดังนั้น รัฐควรเพิ่มการค้าเพื่อหารายได้ที่หายไปกลับมาเร็วที่สุด

และยกระดับการส่งออกสินค้าไทยไปทั่วโลก

 

“สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เบื้องต้นอยากเห็นนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาทางโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก

เพราะการใช้นโยบายระยะสั้นทำให้เสียเวลาพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งเขตภาคอีสานมีพื้นฐานที่ดีทั้งจำนวนคน และพื้นที่ตั้งที่ดีต่อการค้าขายชายแดน

ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องคือการต่อยอดโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมรถไฟไทยไปลาว เพื่อประโยชน์ของภาคอีสาน

เพราะหากสะพานเส้นนี้แล้วเสร็จจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทางทั้งการส่งออกที่ลำเลียงสินค้ามากขึ้น

และการท่องเที่ยวที่จะโดยสารนักท่องเที่ยวให้มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

 

“สมบัติ ชินสุขเสริม” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนทั่วทั้งภาคเหนือต้องการมากที่สุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตให้หลุดพ้นจากฝุ่นพิษ (PM2.5) เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขมากที่สุด

เพราะผลกระทบที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวภาคเหนือลดลง หลังนักท่องเที่ยวกังวลปัญหาสุขภาพ

หากรัฐบาลสามารถจัดการได้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ 2 ทาง โดยวิธีดำเนินการต้องแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ เพราะที่ผ่านมา รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้ฝุ่นพิษเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง ส่งผลให้ประชาชนเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น

โดยเฉลี่ยประชาชนสูดดมฝุ่นพิษที่อยู่ในระดับรุนแรงต่อสุขภาพใน 3-5 ปี จะทำให้เกิดโรคโดยที่พฤติกรรมไม่มีการดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ร่วม

ดังนั้น หากมีมาตรการดูแลและแก้ไขตรงสาเหตุโดยเฉพาะเชื่อว่าปริมาณฝุ่นพิษจะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

 

“วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า งานเร่งด่วนของภาคใต้คือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เสียโอกาสไปนานมาก เพราะปัญหาเรื่องระบบการเดินทางทั้งถนน ระบบราง ท่าเรือ เป็นหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจ

หากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เติบโตขึ้นระบบการขนส่งต้องผ่านภาคใต้ เช่น ท่าเรือน้ำลึกระนอง แต่เดิมเล็กและทรุดโทรม ขณะนี้กำลังหาท่าเรือใหม่

หากได้โปรเจ็กต์นี้ หรือเป็นโปรเจ็กต์ของรัฐบาลชุดเก่าทำโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) และรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงา (ท่านุ่น) การพัฒนาทั้ง 2 ทางสามารถเชื่อมทะเลอันดามัน-อ่าวไทยได้ หากสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง ระเบียงเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาและเฟื่องฟูอย่างยั่งยืนภายใน 2-3 ปี

เมื่อได้ฟังแล้ว เห็นได้ว่านักธุรกิจระดับท้องถิ่น มองการณ์ไกล อยากเห็นการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยมีอยู่

พร้อมคำถามดีกว่าไหม ถ้าเราพึ่งพาตนเองได้ ลดเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกอย่างยั่งยืน

นี่คือกลุ่มฐานหลักของประเทศ ฝากถึงทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่