เตรียมรับมือภัย ‘เอลนีโญ’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ตื่นมาตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 พฤษภาคม ตั้งใจไปเดินเล่นริมแม่น้ำโขงฝั่งตัวเมืองนครพนม ประเมินว่ายามเช้าอากาศน่าจะเย็นดี แต่ผิดคาด แค่โผล่ออกมากลางแจ้ง แสงอาทิตย์สาดเต็มๆ จนสัมผัสความร้อนที่ร้อนเหมือนยืนอยู่ใกล้เตาไฟ

ออกจากตัวเมืองนครพนม เดินทางมุ่งหน้าไปอำเภอนาหว้า ยิ่งใกล้เที่ยงยิ่งร้อนระอุ เปิดประตูรถออกมา ความรู้สึกบอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่ร้อนธรรมดา แต่เป็นคลื่นความร้อนที่ร้อนอย่างแสบสันต์ ร้อนจนขนลุก ผิวหนังแทบไหม้ เหงื่อทะลักไหลชุ่มไปทั้งตัว

ยืนอยู่กลางแดดระอุในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ไม่มีลมพัด ต้นไม้ใบหญ้านิ่งสงบไม่ไหวติง ถ้าใครร่างกายไม่แข็งแรง ยืนแค่เพียง 10 นาทีโอกาสเป็นลมช็อกหมดสติสูงมาก

ตลอดเส้นทางจากนาหว้ามาตัวเมืองสกลนครเห็นเปลวแดดแผดเผาส่องประกายแสงระยับ ท้องนาส่วนใหญ่เป็นดินแตกระแหง หญ้าแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล มองไปทางไหนก็ไม่เห็นใครอยู่กลางทุ่ง

กลับมาถึงกรุงเทพฯ อากาศร้อนกว่าภาคอีสานมาก อุณหภูมิของวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้งซ่อม ตอนเที่ยงเศษๆ ทะลุไปอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส ความเร็วของกระแสลมแค่ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกชั่วโมงถัดมาอุณหภูมิลดลง 1 องศาเซลเซียส แต่แรงลมลดวูบเหลือ 3 ก.ม./ช.ม. ยิ่งเพิ่มความร้อนให้ร้อนระอุมากขึ้นอีก

 

นี่เป็นบันทึกการเดินทางจากอีสานมากรุงเทพฯ

เป็นการเดินทางที่ได้สัมผัสกับอากาศสุดร้อนของตอนต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหมายกันว่าโลกกำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”

เป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะรุนแรงถึงขั้น “ซูเปอร์เอลนีโญ”

เอลนีโญจะส่งผลให้ฤดูร้อนปีนี้นานขึ้น อาจยืดยาวไปถึงปลายเดือนพฤษภาคมแล้วเข้าสู่ฤดูฝน เป็นฤดูฝนที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2558 มีผลรุนแรงกับภาคการเกษตร

ฝนตกลงมาน้อยมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง สถานการณ์บีบบังคับให้รัฐบาลในเวลานั้นต้องออกคำเตือนชาวนาหยุดปลูกข้าวนาปรัง

เกษตรกรปลูกพืชไร่ เช่น สับปะรด ยางพารา ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากขาดแคลนน้ำ สภาพอากาศร้อนจัด ผลผลิตลดลง

ต้นยางพาราให้น้ำยางน้อย ต้นปาล์มน้ำมันก็มีผลผลิตลดลงด้วยเพราะฝนทิ้งช่วงทำให้ปาล์มมีช่อดอกตัวผู้มากกว่าตัวเมีย จำนวนปาล์มทะลายจึงลดลงและมีขนาดเล็กลง

เช่นเดียวกับผลไม้สำคัญๆ อย่างเช่น ทุเรียน มังคุดและเงาะ มีผลผลิตลดลงเพราะอากาศร้อน การติดดอกออกผลก็ต่ำลง

ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี เพิ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ภาวะแห้งแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคมมาถึงเมษายนที่เพิ่งผ่านมากระทบกับการปลูกทุเรียน ต้องจ้างรถบรรทุกน้ำขนาด 9 พันลิตรไปรดน้ำต้นทุเรียนเที่ยวละ 800 บาท หมดเงินเฉพาะค่าน้ำรดต้นทุเรียนกว่า 2 แสนบาท

การซื้อน้ำทำให้ต้นทุนปลูกทุเรียนสูงขึ้น เกษตรกรบางคนแก้ปัญหาขุดบ่อน้ำบาดาล แต่ต้องเจาะลึกเกือบ 200 เมตรจึงจะได้น้ำ ค่าเจาะบ่อลูกละ 8 หมื่นบาท

ดูแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดจากภาวะ “เอลนีโญ” ปีนี้และสภาพภูมิอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์เอาการ

ถ้าเกษตรกรไม่เตรียมรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสเสี่ยงสูงจะได้รับผลกระทบในทางร้าย น้ำไม่มี พืชผลแห้งตายซาก หนี้สินจะท่วมหัว

 

ปีนี้ ผมมีโอกาสไปสัมผัสกับพี่น้องชาวอีสานในหลายจังหวัด ได้ฟังคำปราศรัยของนักการเมืองหลายพรรค คำปราศรัยส่วนใหญ่เน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฝั่งประชาธิปไตยมักจะตะโกนถามคนมาฟังการปราศรัยเป็นระยะๆ ว่า ตั้งแต่ “ประยุทธ์” มาบริหารประเทศ มีใครบ้างเป็นหนี้ให้ยกมือขึ้น

ปรากฏว่า ทุกเวทีมีแต่คนชูมือ บางคนชูทั้งสองมือ

เป็นสัญญาณบอกว่า ตลอด 8 ปีที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ครองเมือง คนไทยตกอยู่ในความยากจน ภาวะหนี้สินรุงรัง ค่าครองชีพแพงขึ้น คุณภาพชีวิตตกต่ำอย่างหนักหน่วง

เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลจึงเป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ซึ่งล้วนแล้วประสบปัญหาเดียวกันคือปัญหาการทำมาหากินฝืดเคือง

การซื้อขายไม่คล่องปรื๋อเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ รายได้ลดลง จนลง แม้จะมีงานทำแต่รายได้ไม่เพิ่ม

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของคนไทย เมื่อปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 86.8 ต่อจีดีพี

คนไทยเป็นหนี้ราว 25 ล้านคน เฉลี่ยเป็นหนี้คนละ 5 แสนบาท

ในจำนวนนั้นมีอยู่ 5.8 ล้านคน มีหนี้เสียส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

สำหรับกลุ่มเกษตรกรมีภาระหนี้สูงมากและเป็นหนี้เสียสุ่มเสี่ยงไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ และมีโอกาสน้อยมากที่จะหลุดพ้นปัญหาความยากจน

 

วกกลับมาที่เวทีปราศรัยของพรรคการเมือง เกือบทุกพรรคล้วนให้สัญญากับผู้มานั่งฟังว่าจะพักหนี้ แก้หนี้เสีย จะมีเงินอุดหนุนเกษตรกร จะช่วยฟื้นหนี้ ปลดทุกข์พ้นจากความยากจน

เสียงตบมือดังกึกก้องทุกครั้งที่ผู้ปราศรัยถามว่า เราจะให้บำเหน็จคนสูงอายุ เอามั้ย เราจะพักหนี้ให้กู้เงิน เอามั้ย?

สีหน้าและแววตาของผู้มาฟังคำปราศรัยของพรรคการเมืองต่างมีความหวัง หวังว่าพรรคการเมืองที่ให้สัญญาเช่นนั้นจะช่วยให้พวกเขาพ้นจากความยากจน พ้นจากภาวะหนี้ที่ล้นพ้นตัว

หวังว่าพรรคการเมืองที่ให้คำสัญญาต่อหน้าประชาชน เมื่อได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศแล้วจะไม่ทิ้งคำสัญญาและทำนโยบายให้เป็นจริง มิใช่เพียงแค่ขายฝันเพื่อหวังคะแนนเสียงเท่านั้น

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ก็คือการมีแผนปฏิบัติการรับมือ “เอลนีโญ” ซึ่งจะทำให้เกิดภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ผลผลิตเกษตรหดหาย ชาวนาชาวไร่รายได้ตกต่ำ คนยากจนมากขึ้น สังคมจะปั่นป่วนวุ่นวายตามมา

ผมได้แต่หวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่มีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้สามารถแก้ปัญหาที่มากับ “เอลนีโญ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการเมืองหลังเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลใหม่ทำให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน หันมารวมพลังพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้ายั่งยืน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และการศึกษาดีขึ้น จะถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นเยี่ยมยอด •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]