อาชีพไหน AI ไม่แย่ง | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ประเด็นเรื่อง AI จะมาแย่งงานมนุษย์ไหม แย่งงานประเภทไหนบ้าง เป็นเรื่องที่พูดคุยถกเถียงกันมาหลายปีจนฉันเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงรู้สึกเบื่อหรือด้านชาไปแล้ว

แต่ไหนๆ ปีนี้ก็ดูเป็นปีที่ความนิยม AI พุ่งแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา เพราะ AI ทำให้เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่ามันอยู่ใกล้เราแค่ไหน AI ได้แสดงให้เห็นถึงความเก่งกาจของมันแบบที่เราไม่สามารถปิดหูปิดตาไม่รู้ไม่ชี้ได้อีกต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องมาสำรวจกันอีกสักครั้งว่าอาชีพหรืองานในแบบที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

รายงานจาก Goldman Sachs ที่ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม 2023 คาดประมาณว่า AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ได้จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้มากถึง 1 ใน 4 ของงานทั้งหมดที่มนุษย์ทำอยู่ในตอนนี้

งานกว่า 300 ล้านตำแหน่งในยุโรปและสหรัฐอาจถูกยกให้ระบบอัตโนมัติรับไปทำแทน

ความน่ากลัวก็คือ มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนๆ ไป

แต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนใหม่แบบยกระบบและเกิดขึ้นพร้อมๆ กันอย่างกะทันหันด้วย

ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด

 

เรื่องดีๆ ก็ยังพอมีอยู่บ้าง ตรงที่ AI ไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ไปได้เสียหมดทุกประเภท

ดังนั้น แทนที่เราจะไปโฟกัสว่าอาชีพไหนจะถูกแทนที่บ้าง วันนี้เราลองเปลี่ยนโฟกัสใหม่แล้วไปดูว่าอาชีพหรือทักษะไหนบ้างล่ะที่ AI ยังห่างชั้นจากเรานัก

BBC บอกว่ามีหมวดหมู่อาชีพอยู่ 3 หมวดหมู่ที่มนุษย์น่าจะยังเก็บรักษาไว้ได้

หมวดหมู่แรกก็คือ อาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ “ที่แท้จริ”

อาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อาชีพแรกๆ ที่เราก็มักจะนึกออกทันทีก็คืออาชีพอย่างเช่น นักวาดภาพ ศิลปิน จิตรกร หรือกราฟิกดีไซเนอร์ ซึ่งแม้จะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่กลับไม่ถูกรวมอยู่ในหมวดหมู่นี้ และดีไม่ดีอาจจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกแย่งงานอีกต่างหาก

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเราได้เห็นกันมาแล้วว่า AI สามารถสร้างภาพขึ้นมาได้แล้วทุกแบบ ทุกสไตล์ และยังทำได้ภายในเวลาอันน้อยนิด

การสั่งงานให้ AI วาดภาพที่ต้องการให้ก็ง่ายดายเพียงแค่ป้อนคำสั่งเป็นข้อความเข้าไปเท่านั้น

ถ้าเช่นนั้นแล้ว อาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบไหนกันล่ะที่จะอยู่รอดปลอดภัยได้

 

BBC บอกว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ประเภทอื่นค่ะ ตัวอย่างเช่น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์หรือกฎหมาย

อาชีพที่จะต้องคิดค้นกลยุทธ์ทางกฎหมายหรือทางธุรกิจแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในแง่มุมนี้อาชีพไหนก็ตามที่คนทำอาชีพใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในงาน สร้างสิ่งใหม่ คิดไอเดียใหม่ ไม่ทำซ้ำของเดิม ก็จะถูกควบรวมอยู่ในหมวดหมู่แรก ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยปกป้องคุ้มครองให้ยังมีงานทำต่อไปได้อีกยาวๆ

หมวดหมู่ที่สองคือ งานใดๆ ก็ตามที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างบุคคล อย่างเช่น พยาบาล ที่ปรึกษาบริษัท และนักข่าวสืบสวน เป็นต้น

หมวดหมู่ที่สองครอบคลุมอาชีพใดๆ ก็ตามที่คนประกอบอาชีพต้องใช้ทักษะในการทำความเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง มีปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณค่าและความหมายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน นี่ไม่ใช่ทักษะที่ AI สามารถลอกเลียนและเรียนรู้ได้ง่ายๆ

มาถึงอาชีพปลอดภัยหมวดหมู่ที่สามคือ อาชีพใดๆ ก็ตามที่ต้องการความคล่องแคล่ว คล่องตัว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าภายใต้สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้

อาชีพอย่างช่างประปา ช่างไฟ ช่างเชื่อม ซึ่งสถานการณ์หน้างานแตกต่างกันออกไปทุกครั้งจึงถูกรวมเข้าไปในหมวดหมู่นี้

ฉันเองก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าจะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำหน้าที่แทนช่างต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาได้มันจะต้องเป็นแบบไหนถ้าไม่ใช่หุ่นยนต์เก่งๆ ที่เราเห็นในหนังไซ-ไฟ

ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงเรายังไม่สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่เก่งกาจแบบนั้นขึ้นมาได้

 

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม่อยากให้เราย่ามใจว่าหากอาชีพของเราเข้าข่ายหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งแล้วจะไม่มีทางถูก AI แย่งงานได้เลย เพราะความเป็นจริงก็คือเกือบทุกอาชีพไม่ว่าจะในแวดวงไหนก็ตามจะต้องถูกระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงาน “บางอย่าง” ไป อาจจะไม่ได้แย่งไปทั้งอาชีพ แต่มันจะแบ่งภาระหน้าที่บางอย่างของเราไปทำ

อย่างอาชีพหมอที่ทุกวันนี้ AI สามารถตรวจจับวินิจฉัยโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงมะเร็งบางอย่างได้แม่นยำยิ่งกว่ามนุษย์ AI ก็จะแย่งหน้าที่ในการตรวจจับนั้นไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเข้าไปตรวจคนไข้ พูดคุยกับคนไข้ หรือสั่งจ่ายยารักษาคนไข้แทน

อาชีพหมอจะยังคงมีอยู่แต่หน้าที่ในการวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นมะเร็งหรือไม่อาจถูกถ่ายโอนไปให้ AI ที่แม่นยำกว่าทำแทน

สิ่งที่เราต้องปรับตัวอาจจะไม่ใช่การเสิร์ชหางานใหม่ก่อนที่งานจะถูก AI แย่งไปทำ แต่เป็นการหาวิธีในการพัฒนาทักษะของมนุษย์ให้โดดเด่นขึ้นและปรับตัวให้ทำงานไปพร้อมๆ กับ AI ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงคือพนักงานธนาคารหรือเทลเลอร์ที่ครั้งหนึ่งรับหน้าที่นับเงินเป็นปึกๆ ให้ได้รวดเร็วและแม่นยำ

เมื่อแมชชีนเข้ามารับหน้าที่การนับเงินไปทำแทนและทำได้เร็วกว่าชนิดที่มนุษย์ไม่ต้องคาดฝันว่าจะแข่งด้วย อาชีพพนักงานธนาคารก็ยังไม่ได้หายไปไหน

ความเปลี่ยนแปลงก็คือพนักงานธนาคารไม่ต้องนับเงินเป็นปึกเองแล้วแต่หันไปสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและไปเสนอขายผลิตภัณฑ์กับบริการใหม่ๆ แทน

เราอาจจะเข้าใจกันว่าอาชีพใช้แรงงานจะเป็นอาชีพที่ถูก AI แทนที่ได้ง่ายๆ แต่อันที่จริงแล้วอาชีพพนักงานออฟฟิศก็เสี่ยงไม่แตกต่างกัน

แถมในบางกรณีอาจจะเสี่ยงกว่าด้วยเพราะการพัฒนาระบบอัตโนมัติมาแทนที่อาชีพใช้แรงงานหลายอย่างนั้นทำได้ยากกว่า

ถ้าดูจากประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เทคโนโลยีก็ได้ทำให้อาชีพบางอาชีพของมนุษย์หายไปมาแล้วไม่น้อย แต่มนุษย์ก็สามารถปรับตัวและผ่านมันมาได้ทุกครั้ง สำหรับครั้งนี้ข้อคิดสำคัญก็คือ การต้องสำรวจอาชีพตัวเองและหาแง่มุมที่ AI ทดแทนไม่ได้ แล้วพัฒนาจุดนั้นให้แข็งแรงขึ้นเพื่อให้เรายังเก็บงานของเราเอาไว้ได้ต่อไป

จนถึงวันที่มันเก่งขึ้นกว่านี้มากหรือมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็ค่อยมาประเมินสถานการณ์กันอีกที