‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ให้ระวังเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง เกิดสุญญากาศยาว (เกือบปี)

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างงัดกลยุทธ์ต่อสู้กันอย่างดุเดือดชนิดร้อนระอุไม่แพ้อุณหภูมิอากาศยามนี้ ก่อนที่ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศ ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร พรรคไหนจะได้ร่วมรัฐบาลบ้าง ล้วนต้องติดตามแบบอย่ากะพริบตา

ช่วงเวลาก่อนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย อีกทั้งคาดว่าจะเป็นทีมงานที่จะขับเคลื่อนนโยบายการคลังของพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม “ดร.ศุภวุฒิ” ออกตัวกับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่ว่า

“ผมไม่ได้ต้องการจะเข้าการเมือง แต่มาช่วยให้คำปรึกษาเท่านั้น ถ้าเข้าการเมืองคงแย่ สุขภาพคงตกต่ำ คงเครียดกว่าเดิม” (หัวเราะเสียงดัง)

 

การเปลี่ยนแปลง
คือ ความไม่แน่นอน

นับแต่แต่ละพรรคการเมืองกระโดดขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง แน่นอนว่านโยบายของหลายพรรคไม่พ้นเรื่อง “ประชานิยม” ที่เตรียมควักกระเป๋าการเงินการคลังของประเทศแจกจ่ายแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ดร.ศุภวุฒิมองว่ามีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศแน่นอน รวมทั้งส่งผลต่อเงินเฟ้อด้วย ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น แยกย่อยออกเป็น 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง-ความต้องการเปลี่ยน ทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีมานานแล้ว ฉะนั้น ทั้งกระแสเสรีนิยมและอนุรักษนิยมคือต้องการเปลี่ยน ไม่เอาอันเก่า และแน่นอนว่าพวกนักลงทุน ผู้ประกอบการพยายามตีความว่าการเลือกตั้งว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะต้องใช้เงินหาเสียง ซึ่งปกติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของจีดีพี ของไตรมาส

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การตีความการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก พอมีการเปลี่ยนแปลง แปลว่า “มีความไม่แน่นอน” และทุกคนต้อง “รอดูก่อน” สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

ถ้าเกิดโชคไม่ดี เกิดตั้งรัฐบาลช้าและมีปัญหาความไม่แน่นอนที่ต้องลากยาว เมื่อความไม่แน่นอนลากยาว หมายถึงว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศยาว” ซึ่งมีผลกับเศรษฐกิจ อันนี้คือข้อที่สอง

สาม-คือฝ่ายที่เสนอการเปลี่ยนแปลง เสนอในเชิงการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวหลัก เขาจะพูดแต่ “G” (Government) ไม่มีใครกล้าพูดเรื่อง “T” คือ Tax ฉะนั้น ถ้าทุกคนพยายามทำตามที่ตัวเองสัญญากับประชาชน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ น่าจะมีความเสี่ยงที่ดุลงบประมาณจะขาดมากขึ้น ไม่ใช่ขาดน้อยลง เพราะไม่มีใครอยากจะเพิ่มเรื่อง T

“ถ้าถึงวันนั้น คุณมีนโยบายการคลังที่มีสถานะของการกระตุ้นแบบขาดดุลงบประมาณ คือ การเอาเงินในอนาคตมาใช้ มันเหมาะสมกับภาวะในตอนนั้นหรือเปล่า ถ้าเกิดภาวะตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำมาก แล้วจีดีพีเราต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ไม่ว่ากัน เพราะในหลักการ ถ้าจีดีพีโตต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ต้องกระตุ้น แต่…แบงก์ชาติยังยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพราะเขาบอกว่าเขายังต้องคุมดีมานด์อยู่ แม้ว่าตอนนี้เงินเฟ้อจะชะลอลงแล้ว แต่ผู้ประกอบการ 80% ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น ฉะนั้น แบงก์ชาติถึงต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นนโยบายการเงินแบบบีบเศรษฐกิจให้โตช้า ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายการคลังที่บีบเศรษฐกิจให้โตเร็ว”

“เพราะฉะนั้น นโยบายสองตัวนี้จะขิงกันไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล (ใหม่) คุยกับแบงก์ชาติตกผลึกได้แค่ไหน อย่างไร”

 

ถ้าจัดตั้งรัฐบาลช้า เกิดภาวะ “สุญญากาศ”
ยาวถึงสิงหาคม

นอกจากนั้น ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เมื่อดูจากไทม์ไลน์การออกมาพูดของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ว่าเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 60 วัน กว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งสุดท้าย ซึ่งดูเหมือน กกต.จะรอถึง 60 วัน

“โอ้โห…ตั้ง 60 วัน ยังไม่รู้ผล คราวที่แล้วใช้เวลา 44 วัน ถ้าเกิดเงียบเลย 60 วัน เท่ากับสองเดือน เท่ากับ 2 ใน 3 ของไตรมาส หนักกว่านั้นยังต้องมีเวลาอีก 14 วัน ให้มีการเปิดสภา แล้วเลือกประธานสภา แล้วจึงค่อยไปเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น ตามเงื่อนไขเวลามันยาวไปถึงเดือนสิงหาคมโน่น นึกภาพสิ แค่ตอนนี้เราต้องยอมรับแล้วว่าข้าราชการเขาปล่อยเกียร์ว่าง รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น มันกิดสุญญากาศมาตั้งแต่วันยุบสภาแล้ว เราเกียร์ว่างกันมาแล้วเกือบสองเดือน และจะเกียร์ว่างไปอีก 3 เดือน”

“ความเกียร์ว่างนี่ ทุกอย่างนักลงทุนทุกคนเขาคอย คนที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ก็อยากจะรอให้รัฐบาลอนุมัติ คอยหมด หรือแม้กระทั่งที่อนุมัติแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจ งบประมาณยังไม่ได้ผ่าน ในงบประมาณมีโปรเจ็กต์เยอะแยะ ดังนั้น นิ่งหมดเลย เพื่อรอรัฐบาลใหม่มาดู ขณะที่เครื่องยนต์ 3-4 ตัว หยุดหมด มีท่องเที่ยวตัวเดียวที่เดิน แต่ว่าท่องเที่ยวเองก็เจอพีเอ็ม 2.5 เจอค่าไฟแพง เจอแรงงานขาด แล้วยังเป็นโลว์ซีซั่นอีก ทำอะไรไม่ได้…”

อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่พูดถึงกันมากคือ กระเป๋าดิจิทัล แต่ไม่ได้ทำในทันที ยังต้องรอไตรมาส 1 ปีหน้า (2567) กว่าจะเซ็ตระบบ ฉะนั้น ช่วงนี้จึงว่างยาวไปถึง 3 ไตรมาส ที่น่าจะดีคือไตรมาส 4 คงมีการท่องเที่ยวเข้ามาตามฤดูกาล ซึ่งก็ต้องคาดหวังว่าการส่งออกจะดีขึ้นขณะที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่

ถึงกระนั้นก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วยว่าเขาอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่ เพราะภาพรวมของโลก สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยขนาดนี้ ดังนั้น เศรษฐกิจอเมริกานั่นแหละจะถดถอย ถ้าเศรษฐกิจอเมริกาถดถอย การส่งออกของไทยก็ลำบาก แล้วยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะแล้ง การปลูกข้าวอาจจะได้ปริมาณน้อยลง แต่มองในแง่ดีเมื่อผลิตได้น้อยราคาข้าวอาขขึ้นได้อีก ได้ราคาดี เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้มีผลกับหนี้ครัวเรือนหรือไม่นั้น ดร.ศุภวุฒิบอกวว่ามีแน่ๆ เพราะเวลานี้หนี้ครัวเรือนมีมากเกินไป ส่วนวิธีแก้มีอยู่ 2 วิธี แต่คนส่วนใหญ่พูดถึงวิธีเดียว คือ ลดหนี้ ซึ่งใช้ไม่ได้แล้ว แต่มีอีกวิธีหนึ่ง คือ โตรายได้ แล้วให้แบงก์ยืดหนี้ให้

“ที่ควรจะทำตอนนี้ คือคนที่เขาเป็นหนี้จำนวนมาก ต้องสร้างโอกาสให้เขามีงานทำ มีเงินเดือนสูงขึ้น เพื่อให้เขาสามารถไปต่อรองหรือคุยกับธนาคารให้ยืดหนี้ออกไป ซึ่งถ้าแบงก์ยอมยืดหนี้ให้อีก สมมุติ 5 ปี รับรองเขามีรายได้มากขึ้น เขาจ่ายหนี้ได้แน่ ระหว่างนี้แบงก์ก็แฮร์คัตดอกเบี้ยไปเสียหน่อยก็ได้ แต่…ถ้าเกิดเป็นหนี้แล้วมาบีบให้แบงก์ตัดทั้งต้นทั้งดอก ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ที่ผ่านมาคุยกับแบงก์ชาติมาสองปีแล้ว ก็ไปไม่ถึงไหน ทุกคนว่าแบงก์รวยๆ ไม่ใช่ แบงก์เอาเงินฝากประชาชนมา ถ้าเขาทำไม่ดีเขาอาจเข้าคุกเพราะว่าเสียหายกับผู้ฝากเงิน ฉะนั้น แบงก์ก็ไม่ยอม ตอนนี้ยังมีปัญหาต้องสำรองมากขึ้นด้วย”

“ดังนั้น ทางแก้ถ้าสร้างโอกาสให้ประชาชนมีงานทำดีๆ อันนั้นเป็นทางออก พูดแต่ว่าจะพักหนี้ๆ การพักหนี้ไม่ตอบโจทย์ระยะยาว หลายพรรคมีแต่กระตุ้นดีมานด์ แต่ผมคิดกระตุ้นซัพพลาย คือสร้างโรงงานมาเพื่อสร้างงาน สร้างให้คนเก่งจะได้หางานทำได้ จะต้องไปขานั้นมากกว่า”

 

รัฐบาลควรแก้หนี้ครัวเรือน
ด้วยการทำให้จีดีพีโตเร็วขึ้น

ดังนั้น ในความเห็นของ ดร.ศุภวุฒิ หนี้ครัวเรือนไม่สามารถลดได้ โดยดูได้จากหนี้ของรัฐบาลก็ไม่เคยลด แต่รัฐบาลสามารถลดสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพี โดยการทำให้จีดีพีโตเร็วขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลก็ควรใช้วิธีนี้แก้หนี้ของประชาชน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในระยะยาวถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้น คือ การศึกษา

“การศึกษาประเทศไทยยิ่งกว่าติดดิน โดยดูจาก “Pisa” สกอร์ คือการประเมินความสามารถของเด็กนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก ว่า เก่งด้านการอ่าน เก่งด้านคณิตศาสตร์ เก่งด้านวิทยาศาสตร์ ยังไงบ้าง เขาจะประเมินเพียง 3 วิชานี้เท่านั้น วิชาที่ยอมรับกันคือ การอ่าน ถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ทำงานไม่ได้ Pisa สกอร์ของเด็กไทย การอ่านตั้งแต่ปี ค.ศ.2000-2018 ลดลง 10% เรียบร้อยครับ ประเทศอื่นเขามีแต่ขึ้น แต่ไทยลดลง ขณะที่ด้านคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ดีขึ้น แต่ว่าการอ่านแย่ลง”

“และยังมีงานวิจัยของเวิลด์แบงก์ค้นพบ ว่าเด็กไทยอายุ 15 ปี จำนวน 33% หรือ 1 ใน 3 อ่านออกเขียนได้แต่ใช้ในการทำงานไม่ได้ แล้วเด็กในต่างจังหวัดอ่านออกเขียนได้ แต่ใช้ในการทำงานไม่ได้ มีถึง 7% โอ้โห…อย่างนี้คุณจะสร้างงานได้ยังไง เขาจ้างไม่ไหว”

“ฉะนั้น ต้องมาแก้ที่การศึกษา ณปัจจุบัน ในกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานประมาณ 30% ได้รับการศึกษามัธยมปลายหรือมากกว่านั้น สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สัดส่วนนี้ต้อง 70% ดังนั้น คุณต้องทำให้โดยเฉลี่ยแล้วเด็กไทยจบมัธยมปลายต้องมี 70-80% หรือมากกว่านั้น ถึงจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าคุณไม่ช่วยตรงนี้ อย่างอื่นมันทำไม่ได้ จริงไหม ต้องทำอันนี้ก่อน Pisa สกอร์ เด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐานเกือบ 200 คะแนนของทั้งโลก คนที่ได้ที่ 1 คือจีน ที่ 2 คือ สิงคโปร์ ที่ 3 รับรองเดาไม่ถูกคือ เอสโตเนีย ประเทศนี้ดิจิไทซ์ (Digitizing) ทั้งประเทศ คนของเขาเก่งมาก คนแค่ 1.3 ล้านคน และเป็นประเทศเพิ่งเกิดเมื่อ 30 ปีเท่านั้นตอนรัสเซียล่มสลาย แล้วทำไมไทยจะทำไม่ได้”

“เราบอกว่าเราอยู่มา 800 ปีแล้ว มันทำได้ แต่คุณจะทำหรือเปล่า ประเทศไทย 22 ปีที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ 21 คน เฉลี่ยปีละคน ฉะนั้น ความหลากหลายของรัฐมนตรีมีแน่นอน รัฐมนตรีมีทุกประเภท ตอนนี้ยังเถียงกันเรื่องไข่ต้มครึ่งฟองกับน้ำปลาอยู่เลย เหนื่อยนะ…และที่สำคัญตรงนี้คือตัวเริ่มต้นการแก้ความเหลื่อมล้ำด้วย”

ดร.ศุภวุฒิอธิบายต่อถึงเรื่องการสร้างงานอีกอัน คือ ครีเอทีฟอีโคโนมี หรือซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งถ้าไปดูการวิจัยของทีดีอาร์ไอ เพิ่งทำเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รายได้ของครีเอทีฟอีโคโนมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และมีคนอยู่ในไลน์นี้ประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่ผู้ประกอบการอยากได้คนในการทำครีเอทีฟอีโคโนมี ต้องเก่งภาษาอังกฤษ เพราะทุกวันนี้ต้อง have to go globle

“อย่างพวกที่ทำแอนิเมชั่น เขาก็ต้องการทำแอนิเมชั่นส่งฮอลลีวู้ด ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ แล้วปรากฏว่า ranking ภาษาอังกฤษของเด็กไทย แย่มาก ผู้ประกอบการเขาก็บ่น เด็กที่เขาอยากได้มี 3 ด้าน คือ 1.เก่งภาษาอังกฤษ 2.เก่งดิจิทัลอีโคโนมี 3.ด้านอองเทรอเพรอเนอร์ชิพ (Entrepreneurship) ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้น คุณต้องสร้างเด็กให้ตอบโจทย์สามข้อนี้ ต่อจากนั้นเด็กจะมีความสามารถพิเศษ ร้องรำทำเพลงก็ว่าไป แต่ขอ 3 อันนี้เป็นพื้น”

“แล้วปัญหามันมีอยู่ว่า ถ้าคุณจะครีเอทีฟ คุณต้องคิดนอกกรอบ ต้องค้านสิ่งที่มีอยู่ถึงจะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ การศึกษาไทยนี่ คุณบอกเด็กต้องเป็นคนดีรู้จักศิลปวัฒนธรรม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรียบร้อย! ถ้าคุณตีกรอบแบบนี้ ห้ามคิดต่างนะ ต้องคิดเหมือนกันนะ แล้วมันจะครีเอทีฟได้ยังไง คุณต้องกล้าให้เด็กเขาคิดต่าง ถ้าเขาผิดก็ต้องปล่อยให้เขาผิด เขาจะได้รู้ว่าเขาผิด แต่ในหลายครั้งเขาถูก แล้วเราไม่มีทางใช้คณะกรรมการมาทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้”

“จะให้คณะกรรมการมาแต่งเพลงทรงอย่างแบด ไม่มีทางแต่งได้ ขนาดทำแบรนด์เสื้อมีอยู่สมัยโน้น เจ๊งหมด มันได้เท่าที่รัฐบาลซับซิไดซ์”