อำนาจประชาชน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก่อนเลือกตั้งใหญ่ บรรยากาศ “อำนาจประชาชน” ดูจะแผ่ซ่านครอบคลุมไปทั่วสังคมไทย โทรทัศน์ทุกช่องจัดรายการเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายลักษณะ เช่น เชิญตัวแทนพรรคต่างๆ มาพูดหรือถกเถียงนโยบายที่ใช้หาเสียง บางสถานีถึงกับจัดตั้ง “ประชาชน” กลุ่มต่างๆ มาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ แล้วช่วยกันสรุปเป็นนโยบาย เชิญพรรคการเมืองมาฟังบทสรุป แล้วทีวีก็สรุปต่อเองว่านี่คืออนาคตประเทศไทย หรือประชาชนมีอำนาจในการกำหนดนโยบายผ่านพรรคการเมือง

เหมือนเด็กเล่นขายของนะครับ คือขายจริง ซื้อจริง ได้ของมาจริง แต่ไม่จริงทั้งขาย, ทั้งซื้อ, ทั้งของ แม้กระนั้นก็สนุกดีสำหรับเด็ก

นับเป็นเวลานานมาแล้วที่สื่อไทยมักสะท้อนความเห็นของ “ประชาชน” ว่า ส.ส.ทั้งหลายนั้น พอได้รับเลือกตั้งก็ “หายหัว” ไปหมด จนกว่าจะมีเลือกตั้งอีกจึงโผล่หน้ากลับมาคารวะกราบไหว้ราษฎรกันใหม่ เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ถึงไม่จริงก็ไม่แปลก เพราะสื่อไทยมีชื่อทางด้าน “ไข่” ในข่าวอยู่แล้ว ถึงจริงก็ไม่แปลก เพราะปราศจากการจัดองค์กรของประชาชน บทบาทและคุณค่าของประชาชนมีอยู่ได้เฉพาะในตอนเลือกตั้งเท่านั้น

ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนั้น ผู้เลือกตั้งจะบังคับให้ผู้ได้รับเลือกตั้งผลักดันนโยบายตามที่ตนต้องการได้อย่างไร หากไม่มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวกดดันให้นักการเมืองดำเนินนโยบายนั้น พูดภาษาประชาธิปไตยก็คือมีส่วนร่วม ยิ่งการมีส่วนร่วมเป็นไปอย่างกว้างขวางและสืบเนื่องเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นโยบายที่ตกผลึกออกมามีความรอบคอบและความเป็นไปได้มากเท่านั้น เพราะต้องถกเถียงต่อรองและประนีประนอมกับ stake-holders หรือผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่มมาแล้ว

ถ้าขาดเครื่องมือของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ อำนาจของประชาชนเป็นเรื่องเด็กเล่นขายของครับ และถูกแล้วที่ทีวีทำรายการเด็กเล่นขายของเสนอในช่วงก่อนเลือกตั้งใหญ่

 

แม้การด้อยค่าการเลือกตั้งของปัญญาชนของ กปปส.อาจผิดหลักของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมนักการเมือง มีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ไม่มีการเลือกตั้งที่เสมอภาคเท่าเทียมของพลเมือง ก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้เหมือนกัน

และเพราะประชาธิปไตยไทยมีการเลือกตั้งเป็นเด็กเล่นขายของ “ผู้ใหญ่” หลากหลายชนิดของไทยจึงชอบเตือนสติประชาชนให้เลือกคนดีเข้าสภา ประหนึ่งว่าคนดีย่อมมีแสงเรืองๆ ออกจากร่างให้เราหมายรู้ได้ง่ายๆ

นอกจากการหมายรู้ว่าใครดีต้องใช้เวลาและประสบการณ์ร่วมกับเขามายาวนาน ซึ่งไม่มีทางที่ผู้เลือกตั้งจะทำได้ คติยกอำนาจให้คนดียังมีอันตรายด้วย

ประการแรกคือคนดีก็คือมนุษย์ย่อมตกอยู่ในกฎความไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนไปได้เสมอ ประการที่สองนั้นน่ากลัวกว่า บรรทัดฐานว่าอะไรดีอะไรไม่ดีนั้นไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นตามกิเลสของมนุษย์ (นี่ว่าตามหลักพุทธเถรวาทเป๊ะเลยนะครับ) อะไรที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับตนก็ว่าดีเป็นธรรมดา ดังนั้น เมื่อไรที่เอาความดีเป็นเกณฑ์ของการมีอำนาจ ก็เท่ากับยกอำนาจให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในสังคมอยู่แล้ว เพราะคนเหล่านี้คือคนที่คอยชี้นิ้วว่าใครคือคนดีที่ควรมีอำนาจ (แทนตน) บ้าง

สรุปก็คือ คติยกอำนาจให้คนดี เป็นคติที่จะรักษา”สถานะเดิม”ทางอำนาจในสังคมไว้ไม่ให้เปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยนั่นเอง

 

ดังนั้น แทนที่จะมองหาคนดีในการเลือกตั้ง เราควรเสริมสร้างระบบที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจคอยตรวจสอบและควบคุม ส.ส.ของเขาอย่างได้ผลและสืบเนื่องดีกว่า

หลายสิบปีมาแล้ว ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยพูดถึงรัฐล้อมสังคมในเมืองไทย รัฐกับสังคมเป็นองค์กรสองอย่างที่ทำงานไม่เหมือนกัน แต่มีผลให้เกิดการถ่วงดุลกันและกัน ในรัฐที่สังคมเข้มแข็ง ประชาชน (หรือสังคม) อาจควบคุมนักการเมืองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจผ่านรัฐได้ แม้ในบางกรณีไม่มีกฎหมายเลย เช่น นักการเมืองที่ไม่สุจริตแต่กฎหมายจับไม่ได้ หรือมีเรื่องอื้อฉาวที่ผิดศีลธรรมทางสังคมที่ยึดถือกันอยู่ (เช่น เรื่องชู้สาวหรือชู้หนุ่ม)

สังคมไทยไม่เข้มแข็ง จึงควบคุมรัฐ (ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ) ไม่ได้ เลือกตั้งก็เลือกกันไป แต่ ส.ส.ย่อมฟังพรรค, นายทุนพรรค, พรรคร่วมรัฐบาล, หัวหน้าพรรค ฯลฯ มากกว่าฟังประชาชน เพราะเอาเข้าจริง เสียงที่ประชาชนแต่ละคนแสดงออกมานั้น เป็นพลังที่อาจไม่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งเลยก็ได้ เป็นพลังที่ด้อยกว่าพลังของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในท้องถิ่น หรือพลังนโยบายประชานิยม หรือพลังบีบคั้นของระบบราชการฝ่ายปกครองและตำรวจ หรือพลังโกงของผู้จัดการเลือกตั้ง

ความอ่อนแอของสังคมเช่นนี้ ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันหรือไม่? บางคนอาจคิดว่าลดลงไปแล้วเพราะสื่อโซเชียล ที่เปิดโอกาสให้การจัดองค์กรเป็นไปโดยง่ายและใช้ทุนน้อย ใครๆ ก็มีอำนาจใกล้เคียงกันในการจัดองค์กรเพื่อมีส่วนร่วมในการวางนโยบายสาธารณะ แม้แต่ร่วมกันกดดันด้วยการลงชื่อได้เป็นหมื่นเป็นแสนในไม่กี่วันผ่านเว็บไซต์บางอย่างก็เป็นไปได้

ข้อนี้ก็มีส่วนจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่การจัดองค์กรผ่านสื่อโซเชียลนั้น ทำให้ขาดพลังของการจัดองค์กรที่จะกำกับควบคุมการบริหารสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยไปหลายอย่าง เช่น ประเด็นที่ทำให้เกิดการจัดองค์กร มักเป็นประเด็นร้อนที่ “อื้อฉาว” หรือ “เรียกแขก” ซึ่งมักมีอายุสั้น และเพราะมีอายุสั้น จึงขาดการถกเถียงแลกเปลี่ยนจากคนหลากหลายกลุ่ม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือขาดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการฟอร์มนโยบาย ดังนั้น เมื่อรับไปปฏิบัติเป็นนโยบายสาธารณะ จึงมักเผชิญอุปสรรคมาก

ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ นักการเมืองถอนเรื่องที่สื่อโซเชียลพร้อมใจกันต่อต้านคัดค้าน รอเวลาและอาจเสนอเข้ามาอีกในจังหวะอันเหมาะสม และในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่มีผลอย่างเดิม

 

เพราะอำนาจประชาชนในทางปฏิบัติไม่มีจริง สภาที่มาจากการเลือกตั้งของไทยจึงแทบไม่มีอำนาจอยู่จริง (การฟอร์มรัฐบาลไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านแนวโน้มความต้องการของประชาชนจากผลการเลือกตั้ง แต่มาจากการตกลงกันนอกสภาของพรรคการเมือง และมักจะร่วมกับตัวแทนของชนชั้นนำในรูปกองทัพบ้าง, บุคคลใกล้ชิดบ้าง หรือเอาด้านๆ เลยคือระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภาจากการแต่งตั้งร่วมฟอร์มรัฐบาลด้วย) ประชาชนก็รู้ว่าสภาไม่มีอำนาจจริง ในขณะที่โครงสร้างอำนาจในท้องถิ่นมีอำนาจจริง จึงมักหาทางอยู่ร่วมกับอำนาจนั้นๆ โดยไม่สร้างความเป็นอริกับอำนาจ (เช่น รับเงินจากหัวคะแนนในระหว่างฤดูเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่รับก็คือการประกาศตนเป็นศัตรูกับอำนาจที่อยู่เบื้องหลังหัวคะแนนนั้น… เพื่ออะไรล่ะ?)

น่าประหลาดที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง บางทีก็สับสนระหว่างบทบาทของสภากับประชาชนเหมือนกัน เช่น ผู้สมัครและพรรคการเมืองบางพรรคเห็นว่า การเคลื่อนไหวผลักดันของประชาชนบางกลุ่มต่อนโยบายสาธารณะบางเรื่อง แหลมคมเกินไปจนอาจเกิดความขัดแย้งกันในสังคมได้ ควรปล่อยให้ไปพูดกันในสภาดีกว่า

โดยหลักการแล้ว คำตอบสุดท้ายต้องอยู่ที่สภาแน่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสภาจะผูกขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อภิปรายกันเองแต่ฝ่ายเดียว การผลักดันและโต้เถียงกันในหมู่ประชาชนควรมีพลังมากพอจะกำกับการอภิปรายในสภาได้ แต่เพราะอำนาจประชาชนไม่มีอยู่จริงดังที่กล่าวมาแต่ต้น จึงทำให้เสียงของประชาชนมีส่วนในการกำกับการอภิปรายในสภาได้น้อยมาก นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่การปรามไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวหรือหยิบยกประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เห็นว่าสำคัญออกมาโต้เถียงอภิปรายกันนอกสภา กลับยิ่งรอนอำนาจของประชาชนหนักขึ้นไปอีก

และสภาจะเป็น “ผู้แทนราษฎร” ได้อย่างไร ถ้าไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย

ดังกรณีปรับเปลี่ยนพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเวลานี้ ถ้าประชาชนหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงในที่สาธารณะเลย “ผู้แทนราษฎร” จะรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร หากเรื่องนี้ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของสภาในวันใด ส.ส.จะลงมติโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลยหรือ

 

อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าสภาแล้ว คือที่ประชุมอันสามารถพูดได้ทุกเรื่อง แต่น่าประหลาดที่รัฐธรรมนูญไทยและข้อบังคับการประชุมซึ่ง ส.ส.ร่างขึ้นเอง กลับยกประเด็นต่างๆ ที่ห้ามสภานำมาอภิปรายไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก หรือเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยมีประธานสภาคอยห้ามปรามการอภิปรายของ ส.ส. ด้วยการตีความข้อบังคับการประชุมไปในทางลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของ ส.ส.

ท้องถนนอาจให้เสรีภาพในการอภิปรายมากกว่าสภาไทยก็เป็นได้ โดยเฉพาะถ้ากระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ, อัยการ, ศาล) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายรองรับอย่างเคร่งครัด

เมืองไทยก็เหมือนสังคมก่อนสมัยใหม่อื่นๆ เราเคยมีองค์กรภาคประชาชนมากมาย เพราะรัฐบาลในเมืองหลวงมีอำนาจในการกำกับควบคุมข้าราษฎรของตนน้อยมาก การจัดองค์กรของประชาชนจึงเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำ เช่น วัด, เครือข่ายของวัด, การปกครองท้องถิ่น, กลุ่มเหมืองฝาย ฯลฯ แต่นับจากเริ่มปฏิรูปการบริหารเพื่อสร้างรัฐสมัยใหม่ องค์กรภาคประชาชนเหล่านี้ถูกรัฐขจัดออกไป หรือกลืนเข้ามาเป็นองค์กรของรัฐ จนแทบจะหาองค์กรในภาคสังคมไม่ได้เอาเลย นอกจากองค์กรวิชาชีพซึ่งมีอำนาจดูแลควบคุมกันเองได้ เพราะกฎหมายที่รัฐออกให้ ไม่ใช่ประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ หรือการจัดอันดับของอำนาจภายในกันเอง

แต่องค์กรภาคประชาชนแบบใหม่ ที่มีพลังในการตรวจสอบกดดันการบริหารสาธารณะก็อาจเกิดขึ้นได้อีก หากมีปัจจัยอื่นๆ สนับสนุน เช่น ถ้ามีการกระจายอำนาจจริง กิจการสาธารณะส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งจริง นอกจากพรรคการเมือง (หรือกลุ่มการเมือง) ท้องถิ่นแล้ว ก็อาจมีกลุ่มผลประโยชน์อีกหลายด้าน ที่อาจรวมตัวกันเพื่อต่อรองนโยบาย เช่น ระหว่างการสร้างท่าเรือเพื่อเปลี่ยนท้องถิ่นเป็นเมืองอุตสาหกรรม กับการรักษาประมงชายฝั่งซึ่งกระจายอาชีพให้คนท้องถิ่นจำนวนมากไว้ให้ยั่งยืนต่อไป เป็นต้น

ทัศนคติที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับความขัดแย้งในเรื่องสาธารณะก็มีความจำเป็น เพราะรัฐ – ส่วนกลางหรือท้องถิ่นก็ตาม – จะต้องประกันความปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชนให้ได้ “การมีส่วนร่วม” ในการปกครองก็จะมีต้นทุนต่ำ และดึงให้ผู้คนออกมาต่อรองนโยบายสาธารณะกันอย่างจริงจังมากขึ้น บังคับให้นักการเมืองต้องฟังประชาชน ไม่เฉพาะแต่เพียงฟังปัญหา แล้วคิดคำตอบเอง แต่ต้องฟังคำตอบจากประชาชนหลากหลายกลุ่มและหลากหลายผลประโยชน์ด้วย

 

อันที่จริง เกณฑ์บังคับของรัฐธรรมนูญ (หลายฉบับที่ผ่านมา) ที่จะให้พรรคการเมืองต้องมีสาขาพรรคก็ตาม ต้องมีสมาชิกพรรคในท้องถิ่นก็ตาม ต้องจัดให้ไพรมารีโหวตก่อนส่งบุคคลสมัคร ส.ส.ก็ตาม ล้วนมีเจตนาให้พรรคการเมืองและนักการเมืองอยู่ในกำกับของประชาชนใกล้ชิดขึ้น

แต่ “บัญญัติ” ของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เกิดอำนาจของประชาชนขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยทางการเมือง, การปกครอง, วัฒนธรรม และหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพที่แข็งแกร่ง (ซึ่งไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ตำรวจ, อัยการ, ศาล ที่เที่ยงธรรมและเคารพกฎหมายสำคัญกว่าเสียอีก) หนุนหลัง ประชาชนซึ่งถูกริบประสบการณ์การรวมตัวเพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารสาธารณะที่เคยมีมาในอดีตไป จึงจะสามารถลุกขึ้นมาสร้างองค์กรของตนเอง เพื่อตรวจสอบและกำกับนักการเมืองได้

อย่างต่อเนื่องด้วย ไม่เฉพาะแต่รายการทีวีก่อนฤดูเลือกตั้งเท่านั้น