ว่าด้วยพรรคการเมือง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยพรรคการเมือง

การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง จะเกี่ยวข้อง เกี่ยวเนื่อง และเชื่อมโยงมิติสังคมมากกว่าครั้งใดๆ

แม้มีความรู้วงในแวดวงการเมืองอย่างจำกัด ความสนใจ ติดตามการเมืองอย่างไม่กระชั้นชิด แค่ให้ความสนใจในระดับกว้างๆ ในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ขอนำเสนอมุมมองเฉพาะตน ซึ่งให้สำคัญในการพิเคราะห์พิจารณา จะขอว่าต่อไป

ว่าด้วยการเลือกพรรคการเมือง ด้วยข้อจำกัดบางประการ ในที่นี้ จึงขอพิจารณาเพียงบางพรรค แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ระหว่าง พรรคผู้ท้าทาย (แกนนำฝ่ายค้าน)-พรรคเพื่อไทย (1)และพรรคก้าวไกล (2) กับพรรคผู้ยึดครอง (แกนนำรัฐบาลปัจจุบัน)-พรรครวมไทยสร้างชาติ (3) และพรรคพลังประชารัฐ (4)

 

นโยบาย

ว่าด้วยหลักการ นโยบายพรรคการเมือง เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นไปตามวิวัฒนาการทางการเมืองไทย แสดงให้เห็นในช่วง 2 ทศวรรษมานี้ โดยเฉพาะนโยบายที่เรียกขานกันว่า “ประชานิยม” ซึ่งเป็นมรดกของพรรคการเมือง (1) ตั้งแต่ใช้ชื่อพรรคไทยรักไทย สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้ง ตามเงื่อนไขที่ว่ามา ถือว่าเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งงนานที่สุด (2545-2549) ก็ว่าได้

จากนั้นนโยบาย “ประชานิยม” ดูจะมีอิทธิพลต่อเนื่อง ปรากฏในนโยบายพรรคการเมืองในเวลาณรงค์หาเสียง ไปจนถึงอยู่ในแผนปฏิบัติของรัฐบาลในระยะต่อมา แม้ในรัฐบาลว่ากันว่ามาจาก หรือสืบเนื่องจากการรัฐประหาร

ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง กับเอกสารส่งถึงครัวเรือน จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในนาม #ไทยโหวต ให้ความสำคัญนโยบายด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะบรรจุไว้อย่างสั้นๆ พอจะจับความคิดหลักพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายได้ว่า มีความแตกต่างกันพอสมควร

อย่างที่ว่าไว้ ตั้งใจยกมาบางตอนอย่างกระชับ มีใจความ ความยาวอย่างเท่าเทียมกัน “สร้างรายได้ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ยึดหลักรดน้ำที่ราก” (พรรค 1)

“…ผ่าน 300 นโยบายที่จะแก้ปัญหาที่ต้นตอ และสร้างประเทศที่การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” (พรรค 2)

“…สร้างความสามัคคี สร้างรายได้ให้ประเทศโอกาสการศึกษาและการมาหากิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและสังคม” (พรรค 3)

และ “…ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” (พรรค 4)

แค่นี้คงไม่พอ ขอพิจารณาอย่างจริงจัง จาก official website ของแต่ละพรรค เชื่อว่าเป็นที่ๆ สำคัญเป็นข้อมูลต้นแหล่งและเป็นทางการ ซึ่งตั้งใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จะพบความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น สะท้อน 2 มิติที่สำคัญซึ่งควรตั้งขึ้น หนึ่ง-ความตั้งใจนำเสนอ และ สอง ความเป็นระบบและครบถ้วนของข้อมูล

พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา พรรคผู้ท้าทาย ทั้งตั้งใจ และดูจริงจัง ในการนำเสนข้อมูลนโยบาย อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างเด่นชัดมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคผู้ยึดครอง ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด

หากจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในสายตาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การนำเสนอของพรรค 2 มีความแตกต่างจากพรรคอื่นๆ พอสมควร

มิติแรก-ว่าด้วยเนื้อหา จากนโนยายแต่ละเรื่อง สู่ความเชื่อมโยงเป็นระบบให้ภาพใหญ่ ในเชิงโครงสร้าง ในบางแง่มุมเข้าถึงอุดมคติทางการเมืองที่แตกต่างด้วย

อีกมิติ-สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้การเข้าถึงข้อมูล ง่ายๆ หลากหลายแบบ ทั้งกว้าง และเฉพาะเจาะจง ด้วยระบบสืบค้น

 

ทีมงาน

เชื่อว่าโดยทั่วไป มักให้ความสนใจผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคมากเป็นพิเศษ เชื่อว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งจดจ่อ คงรู้จักตัวตนบุคคลเหล่านั้นมาพอสมควรแล้ว

ในที่นี้จึงให้ความสำคัญในภาพที่กว้างขึ้น ว่าด้วยทีมงาน พิจารณาทั้งจากคณะกรรมการบริหารพรรค และบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ Party list โดยเฉพาะในอันดับต้นๆ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะสะท้อนบุคลิก ศักยภาพของพรรคการเมืองนั้นๆ ในความหมายกว้างๆ

เท่าที่ค้นหาอย่างถี่ถ้วน ไม่สามารถหาข้อมูลที่เปิดเผยอย่างจริงจังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในที่อื่นๆ ใด นอกจากใน official website

แต่น่าเสียดายที่บางพรรค โดยเฉพาะพรรค 3 พรรค 4 ไม่มีข้อมูลที่ต้องการเท่าที่ควร ว่าด้วย profile บุคคลสำคัญ และทรงอิทธิพลในพรรค อย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับวัย การศึกษาและประสบการณ์

หากจะเปรียบเทียบกันอย่างเข้มข้น ระหว่างพรรค 1 และพรรค 2 จะพบอีกเช่นกันว่า พรรค 2 ให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลในพรรคมากกว่าเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ดี ด้วยพยายามแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่น จึงพอให้ภาพเชิงปรียบเทียบกันในบางประเด็นที่ติดว่าสำคัญได้

ว่าด้วยวัย-คิดว่ามีความสำคัญด้วยเกี่ยวกับรุ่น (generation) โดยภาพรวม มีความแตกต่างกัน ทั้งมุมมองต่อโลก ประสบการณ์ และความคุ้นชิน จนถึงแบบแผนและการปรับตัวในการตอบสนองต่อสภาพและสถานการณ์ต่างๆ

มองภาพกว้างๆ อย่างหยาบๆ จะพบว่า พรรค 1 พรรค 3 และพรรค 4 มีความคล้ายคลึงกัน

บุคคลสำคัญของพรรคส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุไล่เลี่ยกันในช่วง 65-70 ปี

ขณะที่พรรค 2 แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยวัยโดยเฉลี่ย อยู่ในช่วง 40-45 ปี

ว่าด้วยประสบการณ์-ในประเด็นนี้ จะพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน

กรณีพรรค 1 น่าสนใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับรายชื่อบุคคคลผู้เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีถึง 3 คน สะท้อนการปรับตัวเข้าสถานการณ์ในบางระดับ มีทั้งบุตรีอดีตนายกฯ ผู้มีชื่อ (วัย36 ปี) นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ (วัย 60 ปี) และนักการเมืองผู้ผันตัวมาจากระบบราชการ (วัย 74 ปี)

อย่างไรก็ตาม ทีมงานหลัก ยังคงเป็นกลุ่มนักการเมืองผู้เชี่ยวกรำ ผ่านประสบการณ์ในวงจรหลากหลาย ทั้งการเมืองในระบบปิด กี่งเปิดกึ่ปิด และระบบเปิด แม้ว่าจะเริ่มส่วนผสมรุ่นใหม่ๆ แต่ยังไม่ได้มีบทบาทอย่างเต็มที่

พรรคซึ่งหลายคนยอมรับในผลงานการบริหารในอดีต โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า นั้นล่วงเลยมาเกือบทศวรรษมานี้ ด้วยได้ว่างเว้นบทบาทในการบริหารรัฐ ถือเป็นช่วงเวลาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 4 พรรคที่ว่า พรรค 1 ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีความต่อเนื่อง และมองเห็นความพยายามในการปรับตัวอยู่เสมอ

พรรค 2 เมื่อเปรียบเทียบพรรคการเมืองทั้งระบบ ถือว่าเป็นพรรคใหม่อย่างแท้จริง เมื่อพิจารณาทีมงาน แกนนำ และผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในพรรค

ว่าไปแล้วโดยเปรียบเทียบยังถือว่าล้วนเป็น “ผู้มาใหม่” ทางการเมือง ด้วยพรรคก่อตั้ง สืบเนื่องมาประมาณ 5 ปี โดยกลุ่มบุคคลอีกรุ่น (generation) ที่มีการศึกษา และมีประสบการณ์อย่างหลากหลายกว่าพรรคอื่นๆ จะว่าไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย ก็คงไม่ได้

ในช่วง 4 ปีมานี้แสดงบทบาทในฐานะฝ่ายค้านเป็นที่กล่าวถึง

 

ส่วนฝ่ายพรรคผู้ยึดครอง บุคคลสำคัญซึ่งทรงอิทธิพลมากๆ ในฐานะทหารผู้นำกองทัพ เริ่มต้นเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร กำหนดกติกาและคุมเกมบางระดับ ด้วยมีส่วนผสมสำคัญเป็นนักการเมืองพื้นฐานของสังคมไทยมีบุคลิกคล้ายๆ กันอย่างที่ว่ามาจากปรากฏการณ์ย้ายพรรคกันไปมา กับอีกบางคนมีประสบการณ์มาจากธุรกิจขนาดใหญ่

ถ้าจะว่าอย่างกว้างๆ พรรค 3 พรรค 4 มีแนวนโยบายและทีมงานไม่แตกต่างกัน ก็คงได้ เชื่อว่าพรรคผู้ยึดครองต้องการทำงานตามแนวทางอย่างที่เป็นมา อย่างต่อเนื่องไป

ขณะอีกฝ่าย พรรคผู้ท้าทาย ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยเฉดสีที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด จะปรับเปลี่ยนด้วยนโยบายใหม่ๆ ใหญ่ๆ เป็นเรื่องๆ หรือพยายามปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ซึ่งเชื่อมโยงกัน

ที่สำคัญที่สัมผัสได้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ พอสมควร จากฝักฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน สู่ความละเอียดอ่อนมากขึ้น

จากคาดหวังทางเศรษฐกิจ จากนโยบาย “ประชานิยม” เป็นเรื่องๆ เฉพาะหน้า สู่เจตจำนงทางอุดมคติในกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com